×

‘ผ่าขุมทรัพย์แรงงานชาวเมียนมาในไทย’ โอกาสทางธุรกิจสำหรับสินค้าและบริการที่อยากเจาะตลาดที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง 1.2 ล้านล้านบาท/ปี

20.10.2023
  • LOADING...

เพื่อทำความเข้าใจวัตถุประสงค์และแรงขับเคลื่อนในการย้ายถิ่นฐานเข้ามาเป็นแรงงานที่ประเทศไทย รวมถึงศึกษาพฤติกรรมการบริโภค และการใช้เวลาว่างของกลุ่มเป้าหมาย MI BRIDGE และ MI Learn Lab ได้นำเสนอวิจัยล่าสุดเจาะลึกข้อมูลกลุ่มแรงงานชาวเมียนมา ในหัวข้อ ‘ผ่าขุมทรัพย์แรงงานชาวเมียนมาในประเทศไทย’ ที่คาดการณ์ว่าจำนวนแรงงานเมียนมามีจำนวนสูงถึง 6.8 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่ใกล้เคียงกับ Gen Z ของประชากรไทย

 

ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนโอกาสของภาคธุรกิจที่จะสามารถนำข้อมูลมาใช้พัฒนาสินค้าและบริการที่สอดรับกับความต้องการและพฤติกรรมการจับจ่ายของกลุ่มแรงงานนี้ ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 828,000 ล้านบาท – 1,242,000 ล้านบาทต่อปี

 

รายงานพบว่า แรงงานชาวเมียนมากว่า 88% ปรารถนาที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้น โดยมุ่งที่การหารายได้เป็นสำคัญ และการเข้ามาทำงานในประเทศไทยสามารถช่วยสร้างรายได้ถึง 10,000-15,000 บาทต่อเดือน คิดเป็น 3-15 เท่าของเงินเดือนตอนที่อยู่ประเทศเมียนมา

 

ทั้งนี้ กลุ่มแรงงานที่วางเป้าหมายในการหารายได้ชัดเจนส่วนมากกำหนดระยะเวลาทำงานในประเทศไทย 3-5 ปี เพื่อนำเงินกลับไปตั้งตัวและกลับไปใช้ชีวิตที่ประเทศเมียนมา ในขณะที่กว่าครึ่งของกลุ่มสำรวจไม่ได้กำหนดระยะเวลา แต่มองที่เป้าหมายจำนวนเงินที่ต้องการเก็บให้ครบเป็นสำคัญ

 

ด้วยแรงผลักดันในการเก็บเงินนี้ แรงงานชาวเมียนมาจึงต้องทำงานล่วงเวลามากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน และอย่างน้อย 6 วันต่อสัปดาห์ ส่งผลให้กลุ่มแรงงานดังกล่าวนี้มีเวลาน้อย ทำให้พฤติกรรมการใช้เวลาว่างของกลุ่มแรงงานไปที่กิจกรรมมี 2 ประเภทเมื่อพวกเขามีวันหยุด คือ ‘จับจ่ายซื้อของ’ และ ‘เล่นอินเทอร์เน็ต’

 

จากรายงานผ่าขุมทรัพย์แรงงานชาวเมียนมาในประเทศไทยพบว่า เพื่อเก็บเงินให้ได้ตามเป้าหมาย แรงงานชาวเมียนมาออมเงินได้ถึง 44% หรือเกือบครึ่งของรายรับ โดยภายใต้สัดส่วนการออมเงินดังกล่าวนั้น เป็นเงินที่ส่งกลับบ้านประมาณ 2 ใน 3 เพื่อให้ครอบครัวที่เมียนมามีเงินใช้และมีเงินออม ซึ่งปัจจุบันนิยมให้นายหน้าผู้ดำเนินการโอนเงินให้ และเหลือเงินเก็บที่ตัวเองเพียง 1 ใน 3 

 

นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างมีความสามารถในการเข้าถึง Mobile Banking ชี้ให้เห็นโอกาสทางภาคธุรกิจการเงินที่สามารถพัฒนาหรือต่อยอดการบริการเพื่อรองรับกลุ่มที่มีโอกาสเป็นลูกค้านี้ได้

 

เมื่อพิจารณาในด้านค่าใช้จ่าย แรงงานชาวเมียนมาควบคุมรายจ่ายราว 56% จากรายได้ทั้งหมด โดยมีค่าใช้จ่ายสำคัญคือ ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน (37%) ค่าที่อยู่อาศัย (16%) ค่าโทรศัพท์ (3%) โดยพบว่ากลุ่มตัวอย่างเน้นติดต่อสื่อสารผ่านการใช้แอปพลิเคชันเป็นหลัก

 

จากพฤติกรรมการใช้เงิน เมื่อเชื่อมโยงกับมิติการบริโภคสื่อของแรงงานชาวเมียนมาที่เน้นการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ เพื่อติดตามละคร ภาพยนตร์ และรายการต่างๆ (97%) ดูข่าวและอ่านข่าวสารบ้านเมือง (87%) ฟังวิทยุและฟังเพลง (48%) ข้อมูลส่วนหนึ่งที่น่าสนใจพบว่า 74% ของกลุ่มตัวอย่างนี้ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ในการซื้อของ โดย Lazada เป็นช่องทางอันดับหนึ่ง รองลงมาตามลำดับคือ Facebook, Shopee และ TikTok

 

“ด้วยการวิเคราะห์สัดส่วนพฤติกรรมการเก็บออม การใช้จ่าย ตลอดจนพฤติกรรมการใช้เวลาว่างนอกเหนือจากการทำงาน จะทำให้แบรนด์สามารถเลือกใช้กลยุทธ์การสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ MI BRIDGE และ MI Learn Lab มุ่งหวังให้แบรนด์และองค์กรต่างๆ สามารถบรรลุผลได้ตามเป้าหมาย” ภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จำกัด หรือ MI GROUP กล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising