วานนี้ (7 มิถุนายน) ศาลในกรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงของเมียนมาเผยไทม์ไลน์ เตรียมไต่สวนพิจารณาคดี ออง ซาน ซูจี อดีตที่ปรึกษาประเทศและรัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมาที่ถูกกองทัพรัฐประหาร ให้เสร็จสิ้นภายใน 180 วัน โดยการเปิดเผยดังกล่าวมีขึ้นขณะที่ ออง ซาน ซูจี เข้าฟังขั้นตอนการพิจารณาคดีในชั้นศาลเป็นครั้งที่ 2 นับตั้งแต่เธอและสมาชิกรัฐบาลพลเรือนถูกตั้งข้อหา 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
โดยเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ปี 1991 ในวัย 75 ปี ถูกตั้งข้อหาอย่างน้อย 6 ข้อหา ซึ่ง 5 ข้อหา พิจารณาโดยศาลในเนปิดอว์ ขณะที่อีก 1 ข้อหา พิจารณาโดยศาลในย่างกุ้ง หากพบความผิด ออง ซาน ซูจี อาจต้องโทษจำคุกสูงสุดถึง 26 ปี
ไทม์ไลน์การพิจารณาคดีข้างต้นจะใช้กับคดีต่างๆ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีในเมืองเนปิดอว์ และคาดการณ์ว่า ศาลอาจต้องออกคำตัดสินก่อนกลางเดือนสิงหาคมนี้ โดยการเข้ารับฟังขั้นตอนการพิจารณาคดีในชั้นศาลเมื่อวานนี้ ถูกจัดขึ้นที่ศาลพิเศษที่ออกแบบมาสำหรับการพิจารณาคดีของ ออง ซาน ซูจี และสมาชิกคณะรัฐมนตรีที่ถูกคุมขังอีกสองคน ได้แก่ อดีตประธานาธิบดี วิน มินต์ และ เมียว ออง ประธานสภาเมืองเนปิดอว์ ซึ่งการพิจารณาคดีจะเริ่มต้นสัปดาห์หน้า 3 ข้อหา ในวันที่ 14 มิถุนายน ขณะที่อีก 2 ข้อหา ในวันที่ 15 มิถุนายน โดยศาลจะสอบปากคำโจทก์ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 28 มิถุนายนนี้
ออง ซาน ซูจี ถูกกองทัพเมียนมาตั้งข้อหา 6 ข้อหา โดย 2 ข้อหา ผิดมาตรา 25 ละเมิดกฎหมายบริหารจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติว่าด้วยโรคระบาด โดยละเมิดมาตรการป้องกันโควิด-19 ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง อีก 1 ข้อหา ผิดมาตรา 8 ละเมิดกฎหมายนำเข้าและส่งออก จากการครอบครองวิทยุสื่อสาร อีก 1 ข้อหา ผิดมาตรา 67 ละเมิดกฎหมายโทรคมนาคม และอีก 1 ข้อหา ละเมิดกฎหมายอาญา มาตรา 505(b) ฐานยุยงปลุกปั่น
โดยทั้ง 5 ข้อกล่าวหานี้จะพิจารณาคดีในกรุงเนปิดอว์ ส่วนการฝ่าฝืนกฎหมายความลับของทางราชการ ซึ่งถือเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงมาก จะพิจารณาคดีในชั้นศาลเมืองย่างกุ้ง
เมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ศาลสูงเมียนมามีคำสั่งให้การนัดฟังการพิจารณาคดีในครั้งถัดไปจะมีขึ้นในวันที่ 23 มิถุนายนนี้ รวมถึงบรรดาผู้ถูกกล่าวหาจะเข้าร่วมฟังในชั้นศาลด้วยตัวเอง ทางด้านทีมทนายความของ ออง ซาน ซูจี เผย คำสั่งดังกล่าวไม่ได้สอบถามความยินยอมของ ออง ซาน ซูจี เลย อีกทั้งเธอยังไม่ทราบถึงรายละเอียดที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงเธอยังไม่ได้บอกว่าเธอจะเป็นตัวแทนของตัวเอง เธอต้องการให้ทนายความเป็นตัวแทนของเธอในทุกกรณีในชั้นศาล
ที่ผ่านมาเธอมีโอกาสพบกับทนายความส่วนตัวน้อยมากและกำลังประสบปัญหาทางการเงินที่อาจส่งผลกระทบต่อการพิจารณาคดีในท้ายที่สุด
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- รัฐประหารเมียนมา: ใครเป็นใครใน ‘รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ’ เพื่อคานอำนาจกองทัพ
- 4 ฉากทัศน์ชี้ชะตาอนาคตเมียนมา ไทยควรมีบทบาทอย่างไร โดย รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม
ภาพ: Lam Yik Fei / Getty Images
พิสูจน์อักษร: นัฐฐา สอนกลิ่น
อ้างอิง: