×

ชุมชนมุสลิมลาว คนกลุ่มน้อยกับเสน่ห์แห่งพหุวัฒนธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

29.11.2022
  • LOADING...

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) แม้จะเป็นประเทศที่ไม่ได้ใหญ่มาก ด้วยขนาดพื้นที่ 236,800 ตารางกิโลเมตร ไม่มีทางออกสู่ทะเล มีประชากร 7,529,475 คน แต่ในปัจจุบันกำลังเป็นที่สนใจมากขึ้นหลังจากที่โครงการรถไฟความเร็วสูงในสปป.ลาว เปิดใช้งานแล้ว ทำให้เกิดความเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟจากจีนเข้าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมไปถึงการเชื่อมโยงเครือข่ายทางรถไฟทั่วเอเชีย ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในเส้นทางสำคัญนี้

 

พัฒนาการด้านการขนส่งคมนาคมในสปป.ลาว กำลังถูกจับตามองว่าจะเป็นตัวเร่งสำคัญของเศรษฐกิจการค้าขายที่จะเติบโตในอนาคต สปป.ลาวจึงเป็นอีกประเทศที่กำลังก้าวสู่การพัฒนาครั้งใหญ่ โครงการรถไฟความเร็วสูงของสปป.ลาว ไม่เพียงแต่จะผลักดันเรื่องการค้าหรือเรื่องเศรษฐกิจในภูมิภาคเท่านั้น แต่จะยิ่งทำให้เกิดความเชื่อมโยงสายสัมพันธ์ในมิติทางสังคมและวัฒนธรรมระหว่างรัฐหรือระหว่างประชาชนกับประชาชนมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ การทำความเข้าใจสปป.ลาวในมิติต่างๆ จึงเป็นเรื่องที่เราในฐานะเพื่อนบ้านของสปป.ลาวควรให้ความสำคัญอย่างยิ่ง

 

บทความนี้ผู้เขียนจึงต้องการถ่ายทอดเรื่องราวของมุสลิมลาวเพื่อให้เห็นภาพความเป็นอยู่ในสังคมพหุวัฒนธรรมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเพื่อนำเสนอประวัติศาสตร์ของมุสลิมลาวในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา โดยได้รวบรวมข้อมูลจากเอกสารจากแหล่งต่างๆ และได้ไปสังเกตสัมภาษณ์ผู้นำชุมชนมุสลิมในสปป.ลาว โดยขอแบ่งการนำเสนอเป็นรายประเด็น ดังนี้

 

พหุวัฒนธรรมและมุสลิมในสปป.ลาว เสน่ห์ในความหลากหลายของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

หลังจากต่อสู้กับฝรั่งเศสมายาวนาน ในที่สุดสปป.ลาวก็ได้รับเอกราชและอิสรภาพในปี 1953 แต่การเข้าสู่ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของสปป.ลาวก็เต็มไปด้วยปัญหาความวุ่นวายและความไร้เสถียรภาพจากพิษภัยของสงครามเย็น ทำให้เกิดการต่อสู้หรือสงครามกลางเมืองระหว่างกลุ่มกองกำลังต่างๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา หรือไม่ก็ขบวนการคอมมิวนิสต์ลาว (Pathet Lao) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเวียดนามและจีน ท้ายที่สุดจบลงด้วยชัยชนะของกลุ่มคอมมิวนิสต์ลาวที่สามารถควบคุมประเทศได้ทั้งหมดและเปลี่ยนชื่อจากประเทศลาวเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในปี 1975

 

แม้สปป.ลาวจะเป็นประเทศที่มีระบบการปกครองแบบรัฐเดี่ยวโดยพรรคการเมืองเดียวหรือพรรคประชาชนปฏิวัติลาว (Lao People’s Revolutionary Party: LPRP) ที่ยึดอุดมการณ์สังคมนิยมแบบคอมมิวนิสต์ (มาร์กซ์-เลนิน) แต่ก็ยอมรับเสรีภาพในการนับถือศาสนาและความเชื่อของผู้คนในสังคม สปป.ลาวเป็นเมืองพุทธที่มีความสงบท่ามกลางความหลากหลายทางด้านชาติพันธุ์และความเชื่อที่อาศัยอยู่ในสังคมเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นคนลาว ขมุ ม้ง ผู้ไท ไท กะตาง ลื้อ อาข่า ปัชตุน และจาม เป็นต้น ถ้าจำแนกตามความเชื่อทางศาสนาที่มีอยู่ในสปป.ลาว จะประกอบด้วย ร้อยละ 64.7 นับถือพุทธ ร้อยละ 31.4 นับถือผี/ไม่มีศาสนา ร้อยละ 1.7 นับถือคริสต์ และอื่นๆ ร้อยละ 2.1

 

ความหลากหลายทางชาติพันธุ์และศาสนาในสปป.ลาว สะท้อนลักษณะความหลากหลายของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งถือเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของภูมิภาคนี้ เพราะในทุกประเทศจะมีผู้คนหลากหลายความเชื่อและศาสนาอยู่ร่วมกันเป็นพหุวัฒนธรรม และหากมองในภาพใหญ่ก็จะพบว่าเป็นเอกลักษณ์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีศาสนาใหญ่ของโลกดำรงอยู่ร่วมกันในฐานะศาสนาของคนส่วนใหญ่ในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นศาสนาพุทธในประเทศไทย เมียนมา และสปป.ลาว ศาสนาอิสลามในมาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน ศาสนาคริสต์ในฟิลิปปินส์ อีกจุดเด่นหนึ่งคือหากมองในแง่ของจำนวนประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามจะพบว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีทั้งประเทศที่มีมุสลิมมากที่สุดในโลกอย่างอินโดนีเซีย และในขณะเดียวกันก็มีประเทศที่มีมุสลิมน้อยที่สุดในโลกอย่างสปป.ลาวด้วย กรณีมุสลิมในสปป.ลาวแม้จะมีอยู่น้อยแต่ก็มีความหลากหลายและมีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ

 

มุสลิมในสปป.ลาวมีประมาณ 1 พันคน หากเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศยังไม่ถึงร้อยละ 1 แต่ก็เป็นกลุ่มคนที่สามารถเชื่อมโยงกับโลกมุสลิมที่มีประชากรกว่า 1,800 ล้านคน มุสลิมลาวส่วนมากนับถืออิสลามสายสุหนี่ ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในเมืองหลวงเวียงจันทน์ มุสลิมในสปป.ลาวประกอบไปด้วยหลายเชื้อชาติ ได้แก่ มุสลิมจีนฮ่อ (Chin Haw) ที่มาจากมณฑลยูนนานของจีน มุสลิมจาม (Cham Muslims) มาจากกัมพูชา มุสลิมทมิฬ (Tamil) และปัชตุน (Pushtun) จากเอเชียใต้ นอกจากนี้ยังมีคนสปป.ลาวพื้นเมืองบางส่วนที่เปลี่ยนศาสนาเพราะแต่งงานกับคนมุสลิม

 

มุสลิมลาวประกอบอาชีพที่หลากหลาย ทั้งธุรกิจค้าขายเครื่องสำอาง เสื้อผ้า ขายเนื้อ ปศุสัตว์ กิจการร้านอาหาร ทำการเกษตร และบางส่วนทำงานราชการกับรัฐบาลสปป.ลาว

 

ในเรื่องเสรีภาพทางศาสนา รัฐบาลสปป.ลาวได้รับรองศาสนาอิสลามอย่างเป็นทางการไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 1991 และในฉบับแก้ไขปรับปรุง 2003 ได้ให้เสรีภาพทางศาสนามากขึ้น ชาวมุสลิมสามารถปฏิบัติศาสนกิจตามความเชื่อทางศาสนาได้อย่างเสรี ปัจจุบันรัฐบาลสปป.ลาวได้รับรอง 4 ศาสนา ได้แก่ พุทธ คริสต์ อิสลาม และบาไฮ

 

ด้วยจำนวนมุสลิมที่ไม่มากนักและส่วนใหญ่อยู่ในเวียงจันทน์ ทั้งประเทศจึงมีมัสยิดอยู่เพียง 2 แห่ง และอยู่ในเวียงจันทน์เท่านั้น เมืองอื่นก็มีมุสลิมอยู่ประปรายเช่นที่หลวงพระบางและสะหวันนะเขต เป็นต้น ทางการสปป.ลาวยังให้ความสำคัญกับการจัดสรรห้องละหมาดสำหรับผู้เดินทางมุสลิมทั้งคนสปป.ลาวและต่างชาติ ณ สนามบิน Wattay International Airport ซึ่งเป็นสนามบินหลักของประเทศ

 

ปัจจุบันมีประเทศมุสลิมจำนวนหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับสปป.ลาว มีทั้งกลุ่มประเทศในภูมิภาคเดียวกันและจากนอกภูมิภาคที่ได้เข้ามาตั้งสถานทูตของตัวเองในเวียงจันทน์ ไม่ว่าจะเป็นบรูไน มาเลเซีย อินโดนีเซีย คูเวต และตุรกี หรือแม้แต่ปาเลสไตน์ก็มีสถานทูตในสปป.ลาว

 

อิสลามและการเข้ามาของมุสลิมในสปป.ลาว

 

ศาสนาอิสลามเข้าสู่สปป.ลาวผ่านการเดินทางเข้ามาของมุสลิมชาติพันธุ์ต่างๆ ทั้งเข้ามาค้าขายและเข้ามาเพราะเหตุผลของการลี้ภัยสงครามจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นระยะๆ แต่ในบางช่วงก็อพยพออกจากสปป.ลาวเพราะพิษภัยสงครามกลางเมืองและความขัดแย้งภายใน โดยเราอาจแยกการเข้ามาของมุสลิมกลุ่มต่างๆ ได้ ดังนี้

 

มุสลิมจีนฮ่อจากมณฑลยูนนาน (Chin Haw / Haw Chinese)

 

ศาสนาอิสลามเข้าสู่สปป.ลาวผ่านการเดินทางเข้ามาของมุสลิมกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เรื่อยมา โดยมีทั้งกลุ่มที่เดินทางเข้ามาค้าขาย กลุ่มที่เข้ามาในยุคอาณานิคม และกลุ่มที่อพยพลี้ภัยสงครามเข้ามาในช่วงศตวรรษที่ 20 ทั้งนี้ มุสลิมกลุ่มแรกๆ ที่เข้ามาค้าขายและอาศัยในสปป.ลาวคือกลุ่มที่คนไทยกับคนสปป.ลาวมักนิยมเรียกว่า ‘จีนฮ่อ’ (Chin Haw) เป็นมุสลิมจากมณฑลยูนนานประเทศจีน คนจีนฮ่อมีความชำนาญในการค้าขายตามเขตพื้นที่ภูเขา เส้นทางเชื่อมโยงระหว่างภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน สปป.ลาว ไทย และเมียนมา

 

ในอดีตจีนฮ่อถือเป็นกลุ่มมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในสปป.ลาว แต่ต่อมาจำนวนมุสลิมกลุ่มนี้ก็ลดลงอย่างมากในช่วงสงครามกลางเมือง โดยในช่วงกลางทศวรรษ 1960 มุสลิมจีนฮ่อในสปป.ลาวมีอยู่ถึง 7,000 คน แต่เพราะสงครามและพัฒนาการทางการเมืองในทศวรรษ 1970 ทำให้จีนฮ่ออพยพออกไปจากสปป.ลาว ซึ่งบางส่วนกลับไปจีน บางส่วนเข้ามาไทย แม้ว่ามุสลิมฮ่อจำนวนมากอพยพออกไปจากสปป.ลาวในช่วงนั้น แต่ก็ยังพอมีชุมชนมุสลิมเล็กๆ หลงเหลืออยู่บางส่วนคือมุสลิมลาว ซึ่งเป็นคนพื้นเมืองที่เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามเพราะแต่งงานกับคนมุสลิมที่อพยพเข้ามา

 

มุสลิมจีนฮ่อในสปป.ลาวนิยมอาศัยอยู่ที่สูงหรือแทบภูเขา พวกนี้เป็นพ่อค้าคนกลางที่เชื่อมต่อการค้าระหว่างคนที่อยู่พื้นที่ต่ำ (Lowlanders) กับคนที่อยู่บนภูเขาสูง (Hill People) คนจีนฮ่อจะมีชุมชนของตัวเองอยู่แถบภูเขาสูงห่างไกล แต่ในขณะเดียวกันก็จะมีญาติๆ จำนวนหนึ่งที่อาศัยอยู่ที่ราบในเขตเมือง ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนสินค้ากันไปมา แต่ต่อมาชาวมุสลิมจีนฮ่อต้องอพยพออกจากสปป.ลาวเพราะสงครามเย็นและปัญหาระหว่างโซเวียตกับจีน โดยสปป.ลาวถูกมองว่าอยู่ใต้อิทธิพลของเวียดนาม เลือกอยู่ฝ่ายโซเวียตและต่อต้านจีน

 

ทมิฬมุสลิมและปัชตุนจากเอเชียใต้ในสปป.ลาว

 

มุสลิมในสปป.ลาวอีกกลุ่มหนึ่งที่สำคัญคือมุสลิมที่มีเชื้อสายมาจากเอเชียใต้ โดยกลุ่มที่เข้ามาก่อนคือมุสลิมเชื้อสายทมิฬจากทางใต้ของอินเดีย เข้ามาในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 คนกลุ่มนี้เข้ามาทางเมืองโฮจิมินห์ที่ในขณะนั้นอยู่ภายใต้อาณานิคมของฝรั่งเศส และอีกกลุ่มหนึ่งมาจากชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของอ่าวเบงกอล หรือดินแดนที่เรียกว่า ‘ปุฑุเจรี’ (Pondicherry) ซึ่งเคยอยู่ภายใต้อิทธิพลของฝรั่งเศสมาก่อน มุสลิมกลุ่มนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ ‘Labbay’ หรือในภาษาทมิฬแปลว่า ‘ฉันอยู่ที่นี่’ อันหมายถึงกลุ่มคนทมิฬที่เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม หรือมุสลิมที่พูดภาษาทมิฬ โดยมากจะอาศัยอยู่ทางใต้ของอินเดียในรัฐทมิฬนาฑู (Tamil Nadu) กรณาฏกะ (Karnataka) เกรละ (Kerala) คนเหล่านี้ที่เข้ามาส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย เข้ามาทำงานเป็นแรงงานและทำอาชีพรักษาความปลอดภัยอยู่ในเวียงจันทน์

 

มุสลิมอีกกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในสปป.ลาวและเป็นกลุ่มที่เข้ามาในสปป.ลาวกลุ่มแรกๆ คือกลุ่มเชื้อสายปัชตุนหรือมุสลิมปาทาน ซึ่งมีร่องรอยหลักฐานที่บ่งบอกว่าเข้ามาแล้วตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 หลักฐานหนึ่งที่ผู้เขียนได้เห็นคือภาพหลุมฝังศพของมุสลิมเชื้อสายปัชตุนที่ระบุว่าเสียชีวิตปี 1906

 

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 อังกฤษได้นำกลุ่มมุสลิมเชื้อสายปัชตุนจากเอเชียใต้จำนวนหนึ่งเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งส่วนหนึ่งเข้ามาในเวียงจันทน์

 

ต่อมาไม่นานมุสลิมปัชตุนหรือมุสลิมเชื้อสาย ‘ปาทาน’ จากพื้นที่แคว้นนอร์ท เวสต์ ฟรอนเทียร์ (North West Frontier Province ปัจจุบันอยู่ในประเทศปากีสถาน) ก็อพยพเข้ามา โดยในจำนวนนี้หลายคนเป็นอดีตทหารเก่าของกองทัพอังกฤษที่ประจำการอยู่ในเมียนมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ดังนั้นมุสลิมกลุ่มแรกๆ ที่เข้ามาในสปป.ลาวจึงเป็นมุสลิมเชื้อสายเอเชียใต้ ทั้งทมิฬและปัชตุน

 

ปัจจุบันแม้จำนวนของคนสปป.ลาวเชื้อสายปัชตุนจะมีไม่มากนักหรือเป็นอันดับสองรองจากมุสลิมจาม แต่ก็ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมความสัมพันธ์และกิจกรรมระหว่างมุสลิมกลุ่มต่างๆ อีกทั้งยังมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการทำงานระหว่างมุสลิมกับทางการสปป.ลาว ในสปป.ลาวมีองค์กรมุสลิมเพียงหนึ่งเดียวคือ สมาคมมุสลิมลาว (Muslim Association of Laos) มีประธานคือ สมบูรณ์ ข่าน (Somboun Khan) องค์กรนี้ทำหน้าที่บริหารกิจการอิสลามในสปป.ลาว และให้คำปรึกษารัฐบาลในเรื่องที่เกี่ยวกับอิสลาม ตำแหน่งของสมบูรณ์จึงเทียบเท่ากับ Sheikhul Islam หรือจุฬาราชมนตรีของไทย

 

ปัจจุบันมุสลิมเชื้อสายปัชตุนในสปป.ลาวอาจมีจำนวนไม่มากหรือประมาณ 50 ครอบครัว ชายมุสลิมปัชตุนส่วนหนึ่งแต่งงานมีครอบครัวกับผู้หญิงสปป.ลาวที่เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม มุสลิมเชื้อสายปัชตุนจำนวนหนึ่งรับราชการโดยมีบางคนเป็นนายตำรวจระดับสูง ทั้งนี้ส่วนใหญ่ประกอบธุรกิจขายผ้าและทำเนื้อส่งร้านอาหาร เป็นต้น มุสลิมปัชตุนในสปป.ลาวจำนวนหนึ่งตัดสินใจไปใช้ชีวิตอยู่ที่ปากีสถานหลังแต่งงานกับคนปากีสถานเชื้อสายปัชตุนเหมือนกัน บางส่วนเดินทางไปอยู่ยุโรปและอเมริกา ทั้งนี้มุสลิมปัชตุนในสปป.ลาวยังคงสานสัมพันธ์กับเครือญาติของพวกเขาทั้งในปากีสถานและทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง

 

มุสลิมเชื้อสายจามจากกัมพูชา

 

มุสลิมลาวที่มีจำนวนมากที่สุดในปัจจุบันคือมุสลิมที่มีเชื้อสายจามจากกัมพูชา หรือเรียกว่า ‘มุสลิมจาม’ (Cham Muslim) มุสลิมจามมีอยู่ทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ในสปป.ลาวถือว่ามีน้อยมากหรือประมาณ 300 คน เมื่อเทียบกับจำนวนมุสลิมที่มีเชื้อสายจามในประเทศไทย เวียดนาม และมาเลเซีย

 

โดยประวัติศาสตร์มุสลิมจามในสปป.ลาวกลุ่มแรกๆ ที่เข้ามาเป็นกลุ่มที่หลบหนีมาจากกัมพูชาในช่วงที่มีสงครามกลางเมือง อันเนื่องมาจากเหตุการณ์การไล่ล่าและการประหัตประหารของเขมรแดง (Khmer Rouges) ภายใต้การนำของ พล พต (Pol Pot) ซึ่งชาวมุสลิมจามและชาวเวียดนามในกัมพูชาเป็นชนกลุ่มน้อยที่ตกเป็นเป้าหมายสำคัญของการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุอย่างโหดเหี้ยม

 

มุสลิมจามกลุ่มแรกๆ ที่เข้ามาเวียงจันทน์มาในลักษณะของแรงงานและการค้าขายเล็กๆ น้อยๆ แม้พวกนี้ส่วนหนึ่งอพยพหนีมาในช่วงที่เขมรแดงยึดอำนาจระหว่างปี 1975-1979 แต่การเข้ามาระลอกใหญ่จริงๆ คือในช่วงกลางทศวรรษ 1980 มุสลิมกลุ่มนี้ทำการค้าขายสมุนไพรเป็นอาชีพดั้งเดิม โดยนำเข้าสมุนไพรจากกัมพูชา ปัจจุบันก็ยังคงทำธุรกิจนี้เป็นหลัก

 

ชุมชนและองค์กรมุสลิมในสปป.ลาว

 

แม้จะมีประชากรมุสลิมไม่มาก แต่ในสปป.ลาวก็มีการส่งเสริมกิจการทางศาสนา โดยองค์กรหลักของสังคมมุสลิมคือ ‘สมาคมมุสลิมลาวแห่งเวียงจันทน์’ (Muslim Association Vientiane) มีโครงสร้างการทำงานที่ประกอบไปด้วยตำแหน่งต่างๆ ดังนี้

 

  • ประธานสมาคม: Mr.Somboune Khan
  • รองประธานคนที่ 1: Mr.Sofi Sengsone
  • รองประธานคนที่ 2: Mr.Somsak Sivilai
  • รองประธานคนที่ 3: Mr.Med Komphavong
  • ที่ปรึกษาคนที่ 1: Mr.Habib Mohamed Choudry
  • ที่ปรึกษาคนที่ 2: Kaloun Keobandith
  • กรรมการสมาคม: Mr.Lathsavong Bali, Mr.Yaline Vilavanh, Mr.Mohameddall Bounechalurn และ Mr.Vasion Khanh
  • ฝ่ายกิจการภายในและการต่างประเทศ: Mr.Bounpasong Musthafa, Mr.Koundalath Boriboun และ Mr.Vina Keobandith

 

ผู้เขียนได้มีโอกาสพบและพูดคุยกับ สมบูรณ์ ข่าน มุสลิมเชื้อสายปาทานที่มีตำแหน่งหน้าที่เทียบเท่าจุฬาราชมนตรีของไทย โดยท่านได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับสังคมมุสลิมในสปป.ลาว สมบูรณ์บอกว่าในปัจจุบันจำนวนมุสลิมในสปป.ลาวที่เป็นคนที่มีถิ่นฐานถาวรอยู่ที่นี่นั้นมีประมาณ 1 พันคน และมีมุสลิมที่เดินทางเข้ามาทำงานทำธุรกิจอีกไม่เกิน 500 คน ดังนั้นทั้งประเทศจึงมีไม่เกิน 1,500 คน สมบูรณ์เล่าว่า คนสปป.ลาวให้เกียรติมุสลิมมาก คนมุสลิมในสปป.ลาวก็อยู่ร่วมกับคนส่วนใหญ่ที่เป็นชาวพุทธได้อย่างปกติสุขเพราะต่างก็ให้เกียรติซึ่งกันและกัน

 

มุสลิมปาทานที่นี่สามารถสื่อสารได้หลายภาษา ทั้งภาษาลาวท้องถิ่น ภาษาปัชตุน และภาษาอูรดู การพูดภาษาถิ่นทำให้พวกเขากลมกลืนกับวัฒนธรรมลาวได้เป็นอย่างดี

 

ทั้งประเทศมีมัสยิดอยู่ 2 แห่ง คือมัสยิดญาเมียะห์ (Jamia Masjid) เป็นมัสยิดที่สร้างโดยมุสลิมลาวที่มีเชื้อสายมาจากเอเชียใต้ สร้างเสร็จในปี 1970 อีกแห่งคือมัสยิดอัลอัซฮัร (Azhar Masjid) เป็นมัสยิดของชุมชนมุสลิมเชื้อสายจาม สร้างขึ้นในปี 1986 คนในเวียงจันทน์จะเรียกมัสยิดกัมพูชา (Masjid Cambodia) เป็นการเรียกตามเชื้อสายของคนในชุมชนที่ส่วนใหญ่มีเชื้อสายจามอพยพมาจากกัมพูชา นอกจากนี้ยังมี ‘มูซอลลา’ หรืออาคารสถานที่สำหรับละหมาดเล็กๆ อีก 2 แห่งในเมืองสะหวันนะเขต ที่ตั้งอยู่ในภาคกลาง และอุดมไซ ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ

 

มัสยิดญาเมียะห์ในกรุงเวียงจันทน์ หรือชื่อทางการเรียกว่า ‘Vientiane Jamia Masjid’ อายุราว 52 ปี ตั้งอยู่ไม่ไกลจากลานน้ำพุที่สวนสาธารณะประตูชัยซึ่งนักท่องเที่ยวมักนิยมมาเยี่ยมชมกัน (Nam Phou Fountain) ถือเป็นมัสยิดที่เก่าที่สุดในสปป.ลาว มี 2 ชั้น โดยพื้นที่ชั้นล่างมีห้องรับแขกและสถานที่สำหรับจัดการเรียนการสอน และบริเวณสำหรับประกอบอาหารเพื่อจัดเลี้ยงทั่วไปในโอกาสต่างๆ ส่วนชั้นบนใช้สำหรับประกอบพิธีละหมาด หอคอยของมัสยิดเป็นสถาปัตยกรรมแบบโมกุล (Mughal Architecture)

 

ชุมชนรอบมัสยิดญาเมียะห์รายล้อมไปด้วยตึกรามบ้านช่อง ใกล้ถนน Setthathirath ฮัจยี Sofi Sengsone รองประธานสมาคมมุสลิมลาวคนที่ 1 และคณะกรรมการมัสยิดญาเมียะห์ พร้อมกับตัวแทนมุสลิมเชื้อสายปาทานได้บอกเล่าเรื่องราวประวัติชุมชนและสภาพความเป็นอยู่ของมุสลิมในเวียงจันทน์ได้อย่างน่าสนใจ โดยชี้ว่ามุสลิมในสปป.ลาวมีความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนศาสนาอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นพุทธหรือคริสเตียน เพราะอยู่กันด้วยความเข้าใจและให้เกียรติกันเสมอมา มีกิจกรรมปฏิสัมพันธ์กันอยู่เรื่อยๆ โดยในโอกาสต่างๆ ที่มัสยิดจัดงานเลี้ยงก็จะเชิญเพื่อนๆ ชาวพุทธและที่นับถือศาสนาอื่นรอบๆ มัสยิดญาเมียะห์มารับประทานอาหารร่วมกันเป็นประจำ

 

รัฐบาลสปป.ลาวเองก็ส่งเสริมการสร้างความสามัคคีและความเข้าใจระหว่างศาสนาต่างๆ ด้วย หนึ่งในผู้ให้ข้อมูลเล่าว่า ทางการจะจัดให้มีการแลกเปลี่ยนสนทนาระหว่างผู้แทนของศาสนาต่างๆ ทุกๆ 3 เดือน เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและความเข้าใจระหว่างกันของคนภายในชาติ ปัจจุบันสปป.ลาวมี 4 ศาสนาที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ ได้แก่ พุทธ คริสต์ (นิกายต่างๆ รวมๆ แล้วมีประชากรราว 200,000 คน) อิสลาม และบาไฮ รัฐบาลสปป.ลาวให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาเป็นอย่างดี ฮัจยี Sofi Sengsone กล่าวทิ้งทายว่า “พวกเราอยู่ที่นี่อย่างเป็นปกติสุข ไม่มีปัญหาใดๆ เลยในเรื่องเกี่ยวกับกิจการทางศาสนา คนสปป.ลาวเป็นคนสุภาพอ่อนโยน พวกเรามีความสุขที่ได้ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่”

 

มัสยิดอีกแห่งหนึ่งที่สำคัญของมุสลิมลาวคือมัสยิดอัลอัซฮัรของชุมชนมุสลิมเชื้อสายจามจากกัมพูชา มัสยิดนี้เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 1976 แล้วเสร็จในปี 1986 ตั้งอยู่ในหมู่บ้าน Banphon Sawattay โดมของมัสยิดเป็นสีทอง ภายในมัสยิดแบ่งพื้นที่ใช้สอยเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกทำเป็นห้องโถงใหญ่ใช้ทำพิธีละหมาด อีกส่วนเป็นห้องสำหรับการจัดการเรียนการสอนและรับรองแขกที่มาเยือน นอกตัวอาคารยังมีบริเวณกว้างขวางสำหรับจอดรถหรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง

 

จากการสัมภาษณ์พูดคุยกับคนในชุมชนมัสยิดอัลอัซฮัร รวมทั้ง Mr.Vina Keobandid อิหม่ามประจำมัสยิด พบว่ามุสลิมในสปป.ลาวมีความพอใจอย่างมากเรื่องเสรีภาพทางศาสนาและการอยู่ร่วมกันกับพี่น้องชาวพุทธ มุสลิมเชื้อสายจามในเวียงจันทน์มีอยู่ราว 300 คน ส่วนใหญ่อพยพหนีเข้ามาในยุคเขมรแดงอย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว เข้ามามีครอบครัวแต่งงานและใช้ชีวิตกับคนสปป.ลาวจนตอนนี้มาถึงรุ่นลูกรุ่นหลานแล้ว คนมุสลิมในจามค่อนข้างให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษาทั้งทางด้านศาสนาและสามัญ ส่วนหนึ่งนิยมส่งไปเรียนที่ประเทศมาเลเซีย ชุมชนยังให้ข้อมูลว่าตอนนี้คนสปป.ลาวกำลังตื่นตัวในการเรียนเกี่ยวกับการทำรางรถไฟ เพราะการสร้างและการขยายรางรถไฟเชื่อมโยงจีนกับประเทศต่างๆ ผ่านสปป.ลาวจะเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่จำเป็นต้องใช้แรงงานจำนวนมาก

 

ในด้านการจัดการเรียนการสอนหรือการให้ความรู้ทางศาสนากับเยาวชนและคนในชุมชนมัสยิดอัลอัซฮัร ครูสอนศาสนาในสปป.ลาวยังขาดแคลนพอสมควร แต่ชุมชนก็ไม่ได้ละเลยเรื่องนี้ โดยพยายามดึงครูจากประเทศเพื่อนบ้านหมุนเวียนกันเข้ามาช่วยสอน ขณะที่ผู้เขียนไปเยือนมัสยิดแห่งนี้พบว่ามีครูหนุ่มจากไทยสองคนจากกรุงเทพมหานครมาช่วยสอนอยู่ด้วย

 

ทั้งหมดนี้จึงเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาและชุมชนของมุสลิมในสปป.ลาว ที่แม้จะมีประชากรไม่มากนักแต่ก็เรียกได้ว่าเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สะท้อนสังคมพหุวัฒนธรรมของภูมิภาคแห่งนี้ สปป.ลาวเป็นประเทศเล็กๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นหนึ่งในประเทศที่มีมุสลิมน้อยที่สุดในโลกและน้อยที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้นในขณะที่โลกมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น มุสลิมลาวก็เป็นกลุ่มก้อนสำคัญที่จะเชื่อมโยงมิติสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ กับมุสลิมในอาเซียนที่มีอยู่กว่า 300 ล้านคน และกับมุสลิมอีกมากกว่า 2,000 ล้านคนทั่วโลก

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising