บรรดาผู้นำประเทศ รัฐมนตรี และผู้แทนระดับสูงจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก เข้าร่วมประชุมความมั่นคงมิวนิก (Munich Security Conference: MSC) 2025 ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 61 แล้ว โดยทั้งหมดจะร่วมกันหารือถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความท้าทายด้านความมั่นคงระดับโลกที่เร่งด่วน ท่ามกลางบริบทโลกที่มีแนวโน้มจะมีหลายขั้วอำนาจ และภูมิทัศน์ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น โดยสรุปเป็นประเด็นสำคัญ ดังนี้
-
ประชาคมโลกต้องอาศัย ‘การร่วมมือกันมากยิ่งขึ้น’ เพื่อรับมือความท้าทาย
การประชุม MSC 2025 จัดขึ้นในช่วงเวลาสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาบริหารประเทศของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาชุดใหม่ ภายใต้ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยที่ 2 รวมถึงการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการยุโรปชุดใหม่ และการเลือกตั้งครั้งสำคัญของหนึ่งในเสาหลักของยุโรปอย่างเยอรมนี ซึ่งจะเกิดขึ้นในราว 1 สัปดาห์ข้างหน้านี้
คริสตอฟ ฮอยส์เกน ประธาน MSC เน้นย้ำถึงความสำคัญของการตอบสนองและการเจรจาหารือระดับโลก เพื่อรับมือกับภัยคุกคามด้านความมั่นคงในด้านต่างๆ ร่วมกัน เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความมั่นคงทางไซเบอร์และปัญญาประดิษฐ์ ทุกฝ่ายจึงจำเป็นต้องร่วมมือกันมากยิ่งขึ้น เจรจาหารือกันบ่อยครั้งขึ้น เพื่อรับมือกับทุกความท้าทายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะที่ แฟรงก์-วอลเตอร์ สไตน์ไมเออร์ ประธานาธิบดีเยอรมนี เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของเยอรมนี ซึ่งเป็นหนึ่งในเสาหลักของสหภาพยุโรปในการสนับสนุนความมั่นคงพหุภาคี พร้อมทั้งแสดงความกังวลเกี่ยวกับแนวทางของรัฐบาลใหม่สหรัฐฯ ที่สร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ให้กับระเบียบโลกในปัจจุบัน
-
ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-ยุโรปที่ถูกสั่นคลอน
ผู้นำหลายประเทศในยุโรปต่างแสดงความกังวลใจต่อจุดยืนของรัฐบาลทรัมป์ 2.0 โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการกล่าวสุนทรพจน์ครั้งแรกของ เจ. ดี. แวนซ์ ในฐานะรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ บนเวที MSC 2025 โดยแวนซ์กล่าวโจมตีบรรดาประเทศพันธมิตรในยุโรป พร้อมอ้างว่า ยุโรปกำลังจำกัดเสรีภาพในการพูดแสดงความเห็น ซึ่งนั่นเป็นภัยคุกคามจากภายใน ซึ่งอันตรายยิ่งกว่าจีนและรัสเซีย ทั้งยังแนะผู้นำชาติยุโรปฟังเสียงประชาชนของตนเอง โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับนโยบายผู้อพยพ
ก่อนหน้านี้ พีต เฮกเซธ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เน้นย้ำในที่ประชุม NATO ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียมว่า สหรัฐฯ จะไม่มุ่งเน้นหรือให้ความสำคัญกับความมั่นคงของยุโรปอย่างเช่นในอดีต โดยยุโรปจะต้องแสดงบทบาทนำในกรณีของสงครามยูเครน ขณะที่โอกาสที่เส้นพรมแดนของยูเครนจะกลับไปเป็นเหมือนช่วงก่อนปี 2014 รวมถึงการเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของ NATO เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก
แวนซ์ยังวิพากษ์วิจารณ์การเมืองภายในของประเทศต่างๆ ในยุโรป เช่น กรณีศาลสูงสุดโรมาเนียตัดสินให้ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบแรกเป็นโมฆะ โดยอ้างว่ารัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้ง และจำเป็นต้องเริ่มกระบวนการเลือกตั้งใหม่ตั้งแต่ต้น รวมถึงกรณีที่หลายรัฐบาลในยุโรปปฏิเสธที่จะทำงานร่วมกันกับพรรคฝ่ายขวา ซึ่งสะท้อนเสียงของพลเมืองยุโรปบางส่วนที่เริ่มได้รับผลกระทบจากนโยบายเปิดรับผู้อพยพ
-
สงครามยูเครนกลายเป็นประเด็นสำคัญ โดยยุโรปถูกกันออกจากการเจรจา
อนาคตของสงครามยูเครนถูกตั้งคำถามเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะหลังจากที่ทรัมป์หวนคืนทำเนียบขาวได้สำเร็จ โดยทรัมป์เคยให้คำมั่นสัญญาว่า เขาจะช่วยทำให้สงครามยูเครนยุติลงในทันที หากชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยที่ 2
ทรัมป์เริ่มกระบวนการเจรจากับรัสเซียแล้ว โดยผู้นำทั้ง 2 ประเทศต่างส่งผู้แทนระดับสูงร่วมหารือกันที่ซาอุดีอาระเบียในอนาคตอันใกล้นี้ หลังจากที่ทรัมป์และ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ได้พูดคุยผ่านโทรศัพท์สายตรงและเห็นพ้องที่จะเจรจาเพื่อยุติสงครามยูเครนในทันที โดยที่บรรดาผู้นำชาติยุโรปต่างถูกกันออกจากเวทีเจรจาในครั้งนี้
ทางด้าน โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครนที่เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ ยอมรับว่า ยูเครนมีโอกาสที่จะรอดพ้นจากการโจมตีของรัสเซียน้อยมาก หากสหรัฐฯ ไม่ให้ความช่วยเหลือ โดยเซเลนสกียังเผยว่า ยูเครนไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการเจรจาระหว่างทีมผู้แทนสหรัฐฯ และรัสเซียที่ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งนั่นอาจทำให้เขาและยูเครนตกอยู่ในที่นั่งลำบาก อย่างไรก็ตาม เซเลนสกีเน้นย้ำว่า ยูเครนจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับรัสเซีย ก่อนที่จะได้ปรึกษาหารือกับพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ อีกทั้งยูเครนจะไม่ยอมรับเงื่อนไขใดๆ ในการเจรจาที่ยูเครนไม่ได้มีส่วนร่วม
-
ข้อเรียกร้องให้จัดตั้ง ‘กองทัพแห่งยุโรป’
หลังจากที่เซเลนสกีได้หารือกับแวนซ์ในระหว่างเข้าร่วมประชุม MSC 2025 ผู้นำยูเครนระบุว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และยุโรปที่เก่าแก่และแน่นแฟ้นได้สิ้นสุดลงแล้ว และยุโรปจำเป็นต้องปรับตัวกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปนี้
โดยเซเลนสกีได้เรียกร้องให้บรรดาประเทศต่างๆ ในยุโรปร่วมกันจัดตั้ง ‘กองทัพแห่งยุโรป’ ขึ้น ท่ามกลางความไม่แน่นอนและความกังวลใจที่สหรัฐฯ อาจยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือยุโรปน้อยลง โดยเฉพาะในมิติด้านความมั่นคงและการทหาร
เบื้องต้น ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า มีผู้นำประเทศใดบ้างสนับสนุนข้อเรียกร้องดังกล่าวของเซเลนสกี แต่ผู้นำยุโรปส่วนใหญ่เห็นพ้องถึงความจำเป็นในการเพิ่มความร่วมมือและงบประมาณด้านกลาโหม เพื่อรับมือกับภัยคุกคามจากรัสเซียและความไม่แน่นอนในการสนับสนุนจากสหรัฐฯ
ขณะที่ ราดอสลาฟ ซิโกร์สกี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศโปแลนด์ แสดงความเห็นว่า ประเทศยุโรปจะไม่จัดตั้งกองทัพที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อรับมือกับความท้าทายต่างๆ โดยเฉพาะความแข็งกร้าวจากรัสเซีย พร้อมเน้นย้ำว่า การมีทหารโปแลนด์บนภาคพื้นดินของยูเครนไม่เคยถูกนำมาพิจารณา เนื่องจากโปแลนด์มีภาระผูกพันกับองค์การ NATO ที่จะต้องปกป้องพื้นที่ทางด้านตะวันออก ซึ่งเป็นดินแดนของโปแลนด์เอง อีกทั้งการจัดตั้งกองทัพร่วมขึ้นใหม่ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงและทำให้ยุโรปต้องแบกรับภาระด้านความมั่นคงมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ซิโกร์สกียังได้สนับสนุนให้บรรดาชาติยุโรปทั้งหลายพัฒนาขีดความสามารถด้านการป้องกันประเทศของตนเอง และเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับกองกำลังความมั่นคงของสหภาพยุโรปที่จัดตั้งขึ้นมานานแล้วหลายทศวรรษ
-
การปรับเปลี่ยนบทบาทครั้งสำคัญของมหาอำนาจโลก
ด้วยแนวนโยบายของทรัมป์ 2.0 ที่ทยอยถอนสหรัฐฯ ออกจากความร่วมมือพหุภาคีที่ทรัมป์มองว่าไม่เป็นธรรม เพื่อผลักดันให้สหรัฐฯ กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งนั้น กำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญให้แก่ระบบระเบียบระหว่างประเทศ โดยสหรัฐฯ ที่ครั้งหนึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็นผู้นำฝ่ายโลกเสรีกำลังปรับเปลี่ยนท่าที และขยับเข้าใกล้การโดดเดี่ยวตัวเองมากยิ่งขึ้นทุกขณะ
ขณะที่จีนปรับเปลี่ยนบทบาทของตนเองอย่างมาก ทั้งในฐานะผู้สนับสนุนการเจรจาสันติภาพและข้อตกลงหยุดยิงในหลายพื้นที่ขัดแย้ง เช่น การที่จีนเป็นกาวใจสนับสนุนการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดีอาระเบียและอิหร่าน เพื่อเสถียรภาพของตะวันออกกลาง รวมถึงการที่จีนสนับสนุนความร่วมมือทวิภาคีและพหุภาคีกับบรรดาประเทศต่างๆ มากยิ่งขึ้น สิ่งเหล่านี้กำลังช่วยปรับบทบาทและเพิ่มพื้นที่ของจีนในเวทีโลก
หวังอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนที่เข้าร่วมการประชุม MSC 2025 ระบุว่า จีนจะเล่นสหรัฐฯ ไปจนจบเกม โดยจีนจะตอบโต้อย่างเด็ดขาดต่อการกลั่นแกล้งแต่เพียงฝ่ายเดียว แม้ว่าจีนไม่ต้องการที่จะขัดแย้งกับสหรัฐฯ และยังเชื่อว่า ทั้ง 2 ประเทศสามารถร่วมมือกันได้ นอกจากนี้หวังอี้ยังระบุว่า จีนพัฒนาและเติบโตขึ้นจากการเอาชนะทุกอุปสรรคและความยากลำบาก จีนจะไม่หวาดกลัวต่อสิ่งเหล่านี้
บทบาทของมหาอำนาจโลกที่เปลี่ยนแปลงไปจากนี้จะส่งผลกระทบต่อประชาคมโลกมากน้อยแค่ไหน ระเบียบโลกใหม่จะหน้าตาเป็นอย่างไร ต้องติดตาม
แฟ้มภาพ: Reuters / Shutterstock
อ้างอิง:
- https://www.reuters.com/world/trump-team-start-russia-ukraine-peace-talks-saudi-arabia-coming-days-politico-2025-02-15/
- https://www.theguardian.com/us-news/2025/feb/14/jd-vance-stuns-munich-conference-with-blistering-attack-on-europes-leaders
- https://www.bbc.com/news/articles/cvgl27x74wpo
- https://www.ft.com/content/f268359a-7347-4285-b646-4353f7d6a865?utm_source=chatgpt.com
- https://www.reuters.com/world/china-will-play-along-end-with-us-its-top-diplomat-says-2025-02-15/
- http://en.people.cn/n3/2025/0215/c90000-20277139.html
- https://securityconference.org/en/msc-2025/