×

กันติด ลดป่วย ประสิทธิผลวัคซีน mRNA กับบุคลากรด่านหน้า

07.07.2021
  • LOADING...
วัคซีน mRNA

บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าถือเป็นกลุ่มอาชีพที่มีความเสี่ยงสูงในการได้รับเชื้อจากผู้ป่วยโควิด ถ้าหากติดเชื้อจะต้องหยุดงานแยกกักโรคและรักษาตัว ส่วนเพื่อนร่วมงานบางส่วนอาจกลายเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูงจะต้องหยุดงานกักกันโรคเพื่อสังเกตอาการตนเอง ส่งผลให้มีบุคลากรปฏิบัติงานไม่เพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์การระบาดรุนแรงมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น

 

ประเทศไทยให้ความสำคัญกับบุคลากรเป็นอันดับแรก เกือบทั้งหมดจึงได้รับการฉีดวัคซีน Sinovac ครบ 2 เข็มเมื่อ 3-4 เดือนก่อน ปัจจุบันยังไม่มีรายงานการศึกษาภูมิคุ้มกันในกลุ่มบุคลากรว่ายังคงระดับเดิมอยู่หรือไม่ แต่ถ้าเปรียบเทียบกับการติดเชื้อตามธรรมชาติ ระดับภูมิคุ้มกันจะเริ่มลดลง ในขณะที่มีการระบาดของสายพันธุ์เดลตา บุคลากรจึงมีโอกาสที่จะติดเชื้อและนำมาซึ่งปัญหาข้างต้น

 

THE STANDARD เคยนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับสายพันธุ์เดลตาและประสิทธิภาพของวัคซีนต่อสายพันธุ์นี้เมื่อสัปดาห์ก่อน ครั้งนี้จึงขอหยิบยกงานวิจัยประสิทธิผลของวัคซีนในบุคลากรทางการแพทย์ กู้ชีพ/กู้ภัย และอาชีพด่านหน้าที่สัมผัสใกล้ชิดผู้อื่นมาพูดถึงบ้าง โดยเป็นงานวิจัยเกี่ยวกับการป้องกันและการลดอาการป่วยจากโควิดด้วยวัคซีนชนิด mRNA 2 ยี่ห้อคือ Pfizer และ Moderna

 

ผลวิจัยชิ้นนี้เพิ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ NEJM เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งติดตามบุคลากรด่านหน้า 3,975 คน ใน 6 รัฐของสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 14 ธันวาคม 2563 – 10 เมษายน 2564 ตรวจหาเชื้อเป็นประจำทุกสัปดาห์ พบว่าวัคซีนชนิด mRNA ทั้ง 2 ยี่ห้อมีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อ (ทั้งที่มีและไม่มีอาการ) มากถึง 81% และ 91% ในผู้ที่ได้รับวัคซีน 1 และ 2 เข็ม

 

เมื่อวิเคราะห์ในกลุ่มผู้ที่ติดเชื้อ เปรียบเทียบระหว่างผู้ที่ได้รับวัคซีนและไม่ได้รับวัคซีน พบว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนตรวจพบปริมาณไวรัสลดลง 40% และสัดส่วนของผู้ที่ตรวจพบไวรัสนานเกิน 1 สัปดาห์ลดลง 66% นอกจากนี้อาการป่วยยังลดลงด้วย โดยอาการไข้ลดลง 55% ระยะเวลาที่มีอาการลดลง 9.4 วัน และจำนวนวันที่นอนป่วยบนเตียง (นอนพักเกินครึ่งวัน) ลดลง 2 วัน

 

วัคซีนชนิด mRNA จึงมีข้อมูลสนับสนุนประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อในบุคลากร ซึ่งมีความเสี่ยงสูงจากการได้รับเชื้อ และถึงแม้จะยังมีผู้ติดเชื้อหลังได้รับวัคซีนไปแล้ว แต่ผู้ติดเชื้อกลุ่มนี้จะมีอาการป่วยน้อยกว่า ซึ่งหมายถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย การจัดสรรวัคซีน Pfizer ที่ได้รับบริจาคจากสหรัฐฯ มาให้กับบุคลากรด่านหน้าน่าจะสร้างขวัญกำลังใจได้เป็นอย่างดี

 

กระทรวงสาธารณสุขจะต้องกำหนดหลักเกณฑ์และกำกับติดตามว่าผู้ที่จะได้รับวัคซีนล็อตนี้เป็นบุคลากร ‘ด่านหน้า’ ที่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้ป่วยโควิดจริง ในขณะเดียวกันรัฐบาลควรปรับแผนจัดหาวัคซีนใหม่ โดยลดสัดส่วนวัคซีนชนิดเชื้อตายลง แล้วเพิ่มวัคซีนชนิดอื่นที่มีประสิทธิภาพสูงแทน (ตั้งแต่เนิ่นๆ) มิฉะนั้นการทำงานของบุคลากรด่านหน้าก็จะยังยืดเยื้อต่อไปอีก

 

 

ภาพประกอบ: ฉัตรชัย เฉยชิต

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising