×

เรื่องเล่าของแม่ ปากคลองตลาด และสังคมพระนครในยุคจอมพลสฤษดิ์

03.05.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 MINS READ
  • ตั่วอี๊มีลูกสัก 2 คน ก็ไปขายผักอยู่ที่ปากคลองตลาด โดยจะหิ้วลูกและหิ้วแม่ของฉันไปด้วย แล้วนั่งรถเมล์ไปปากคลองตลาด แกใช้ให้แม่ของฉันทำหน้าที่อุ้มหลานชาย แล้วพาหลานชายเดินเที่ยวทั่วๆ ตลาดเพื่อให้แม่เขาได้ขายผัก
  • ปากคลองตลาดในสมัยก่อนไม่ได้โดดเด่นด้านขายดอกไม้ริมถนนเหมือนที่เราคุ้นเคยหรือเคยเห็น แต่มันเป็นตลาดขายผัก ขายสมุนไพร แล้วก็ตลาดสดทั่วไปปกติ โดยที่ความหนาแน่นของพื้นที่จะอยู่ในตลาดแล้วไปทางแม่น้ำเสียมากกว่า ไม่ได้ยาวออกมาด้านนอก แล้วไม่ได้กว้างไกลมาถึงสะพานพุทธอย่างที่เคยเห็นกัน
  • ในยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม ให้ย้ายตลาดตรงท่าเตียนไปรวมกันที่ปากคลองตลาดให้หมด เพราะทำให้พระอารามหลวงวัดโพธิ์ดูไม่สวยงาม พร้อมกับย้ายตลาดสดกรมภูธเรศน์มารวมกัน สามตลาดเลยได้มารวมกันแล้วได้รับการสร้างตลาดยอดพิมานขึ้นมาเป็นจุดศูนย์กลาง แล้วกลายเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในพระนครกันเลยทีเดียว

บ้านหม่าม้าของฉันเมื่อแรกเริ่มอยู่เลยก็คือบ้านหลังที่สองที่หว่องกงและหว่องม่าได้เข้ามาอยู่ หลังจากเดินทางอพยพหนีตายมาจากเมืองจีน ก็มาอยู่ที่บ้านของน้องชายของตัวเองอย่างกล้ำกลืนและต้องกัดฟันทนให้น้องชายและน้องสะใภ้พูดจาเสียดสีเสมือนจะขับไล่ไสส่งให้ออกมาจากบ้านอยู่ตลอดเวลา แน่ล่ะ! มันไม่ใช่แค่สองปาก เพราะทั้งคู่ยังมีลูกอีกถึง 5 คนติดตัวมาด้วย บ้านไหนจะใจดีให้อยู่กันตลอด

 

พอแกทั้งสองเริ่มหางานทำได้ หว่องกงเป็นคนงานในโรงไม้ หว่องม่ากรอด้ายส่งโรงงานทอผ้าที่ใกล้บ้าน ทั้งคู่ก็ต้องรีบหาบ้านเช่ากันทันที

 

หม่าม้าบอกว่าบ้านอยู่ในซอยตรงคลองเตย (ซึ่งทุกวันนี้คือตรงป้ายไฟเขียวไฟแดงกลางถนนพระรามสี่ตัดไปทางศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์) ตัวบ้านเป็นบ้านไม้สองชั้น ชั้นล่างก็เป็นโถงพื้นไม้ธรรมดา แล้วก็มีห้องน้ำ ห้องครัวอยู่ด้านในสุด หว่องกงก่ออิฐทำเตาด้วยตัวเอง ให้พอมีพื้นที่วางฟืน หว่องม่าก็ทำกับข้าว

 

ซึ่งพอหม่าม้าของฉันโตมาก็ทำเป็นแค่หุงข้าวในตอนนั้น ซึ่งก็ใช้วิธีหุงแล้วเอาน้ำออก  ฉันก็ไม่เข้าใจเหมือนกันค่ะว่าหุงอย่างไร แต่เข้าใจว่าเป็นแบบไทยเหมือนกัน เป็นแบบหุงข้าวเช็ดน้ำออก เพราะยังไม่มีใครมีหม้อหุงข้าวแบบปัจจุบัน ว่าแต่ตอนนี้มีคนไทยคนไหนหุงข้าวแบบโบราณเป็นบ้างเอ่ย

 

ชั้นบนของตัวบ้านเป็นห้องโถงใหญ่ ไม่ได้กั้นเป็นห้องใดๆ ทั้งสิ้น หว่องกงเอาเสื่อน้ำมันปูทั้งพื้นที่ ไม่มีเตียง ไม่มีหมอนดีๆ มีผ้าห่มบางๆ ไว้ให้กันหนาว ไม่มีตู้เสื้อผ้าหรือโต๊ะเครื่องแป้งอะไรเลย ถึงเวลานอน ใครอยากนอนตรงไหนก็เข้ามุมนั้นไป ไม่แยกชายหญิง ไม่แยกพ่อแม่ลูก เลือกที่นอนได้ตามสบาย

 

จนกระทั่งลูกๆ ของหว่องกงหว่องม่าเริ่มแต่งงานถึงมีการเปลี่ยนแปลงบ้าง ด้านล่างก็มีการกั้นห้องให้บ่าวสาว แล้วแต่ใครจะเข้ามาในครอบครัว ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะอยู่กันสักพักแล้วก็ไปหาที่ทางของตัวเอง เช่น พี่ชายคนโตของหม่าม้าแต่งได้ภรรยาคนไทย ก็มาอยู่ห้องที่กั้นใหม่ด้านล่าง แต่ก็ไม่นาน พี่สะใภ้คนเมืองตาคลีร้องไห้อยากกลับไปอยู่บ้านตัวเอง ก็พากันย้ายออกไป ต่อมาก็เป็นพี่ชายคนรองแต่งเมียจีนเข้ามา แต่อยู่ได้สักพักใหญ่ก็พากันไปหาบ้านอยู่ ซึ่งเป็นบ้านที่อยู่แถวสะพานพุทธที่ยังอยู่จนทุกวันนี้ จนกระทั่งหว่องม่าเริ่มป่วย ก็มานอนที่ห้องข้างล่างแทน

 

ในช่วงที่หม่าม้าเกิด ตั่วอี๊พี่สาวแต่งงานออกไปแล้ว เรือนหอเป็นบ้านไม้หลังติดกันเลยไม่ได้ไปไหนไกล พี่เขยของหม่าม้าเป็นคนงานกุลีขนกระสอบข้าวลงเรือแถวนั้นแหละ (ฉันโตมาก็ยังได้เจอลุงเขยเลย) ผัวเมียคู่นี้ก็ไม่ได้มีชีวิตที่สดชื่นรื่นรมย์ ซึ่งฉันก็รู้มาตลอดว่าตั่วอี๊ลำบากมาก แล้วยังโดนอาเตี๋ย (ลุงเขย) ตบตีตลอดเวลา ซึ่งแม่ฉันเล่าว่า แม่เคยเห็นอาเตี๋ยตีพี่สาวของตัวเอง เพราะบ้านติดกัน แม่ฉันทนไม่ได้ก็วิ่งเข้าไปกระชากผมอาเตี๋ยแล้วกระโดดคร่อมตัวเอามือทุบหัวอาเตี๋ยเพื่อช่วยพี่สาว ส่วนหว่องม่าก็วิ่งเข้ามาช่วยลูกสาวทั้งสองคนเช่นกันเพื่อให้ไม่โดนตบตี แล้วคู่นี้ก็ตีกันจนวันตายจากไป อาเตี๋ยนะคะที่ตาย เพราะตั่วอี๊ของฉันยังมีชีวิตอยู่

 

แม่ฉันเล่าไปก็ขำไป ว่าตัวแม่เองก็ยังเด็ก แต่ก็เป็นนักสู้ ทนเห็นพี่สาวโดนรังแกไม่ได้ ก็บุกเข้าไปช่วยโดยไม่ได้ดูตัวเองเลย แม่ฉันโชคดีกว่าพี่สาวของเธอค่ะ เพราะป๊าไม่เคยตีเมียเลย แต่อากง ปู่ของฉันนี่ก็มียำใหญ่กับอาม่าย่าของฉันเหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่ฉันจะเห็นแค่ด่าทอ เรื่องตบตีนี่พวกลูกๆ ของท่านเล่าว่า อากงอาม่านี่ตอนสาวๆหนุ่มๆ ก็มีซัดกันบ้างเป็นธรรมดา

 

มันอาจจะเป็นเรื่องหวือหวาสำหรับหลายๆ คนที่ได้อ่านเรื่องการตบตีกันของสามีภรรยา บางคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องของความต่ำตมของชนชั้นล่าง แต่สำหรับหลายๆ คนที่พร้อมจะทำความเข้าใจ คือส่วนใหญ่ปัญหาของการตบตีกันที่ฉันได้รับรู้นั้นมักจะมาจากเรื่องฐานะทางการเงิน

 

 

หม่าม้าเล่าให้ฟังว่า ในชีวิตที่ยากจนกัดก้อนเกลือกินก็ว่าได้นั้น ทุกคนต้องทำงาน หว่องกงอยู่โรงงานไม้เป็นเสมียน ทุกเย็นหว่องกงก็จะเอาข้าวเหลือที่แจกที่โรงงานห่อกลับมาบ้าน มาให้คนที่บ้านกิน ซึ่งตอนหลังก็จะหิ้วไปให้ครอบครัวของตั่วอี๊มากกว่า เพราะตั่วอี๊เริ่มมีลูกเล็กๆ หลายคน และก็ยากจนมากกว่าหว่องกงหว่องม่าอีก

 

ตั่วอี๊มีลูกสัก 2 คน ก็ไปขายผักอยู่ที่ปากคลองตลาด โดยจะหิ้วลูกและแม่ของฉันไปด้วย แล้วนั่งรถเมล์ไปปากคลองตลาด แกใช้ให้แม่ของฉันทำหน้าที่อุ้มหลานชายแทน แล้วพาหลานชายเดินเที่ยวทั่วๆ ตลาดเพื่อให้แม่เขาได้ขายผัก

 

ปากคลองตลาดในสมัยก่อนไม่ได้โดดเด่นด้านการขายดอกไม้ริมถนนเหมือนที่เราคุ้นเคยหรือเคยเห็น แต่มันเป็นตลาดขายผัก ขายสมุนไพร แล้วก็ตลาดสดทั่วไปปกติ โดยที่ความหนาแน่นของพื้นที่จะอยู่ในตลาดแล้วไปทางแม่น้ำเสียมากกว่า ไม่ได้ยาวออกมาด้านนอก แล้วไม่ได้กว้างไกลมาถึงสะพานพุทธอย่างที่เคยเห็นกัน

 

จริงๆ แล้วถ้าเดินหลายๆ เส้นทาง ปากคลองตลาดจะกว้างใหญ่กว่าที่เราคาดไว้ ตรงถนนเอ็มไพร์ที่เลี้ยวซ้ายจากถนนจักรเพชรเข้าไปจะเป็นตัวตึก ซึ่งทุกวันนี้เป็นตึกแถวขายผลไม้ จริงๆ แล้วในสมัยก่อนจะเป็นห้องแถวขายสมุนไพรเรียงกันไปทุกร้าน ทุกวันนี้ร้านสมุนไพรไม่เหลือเลย แล้วหลังจากตรงนั้นเลี้ยวไปทางขวาเพื่อไปตลาดยอดพิมาน ก็ยังเป็นเส้นเอ็มไพร์อยู่แต่ขนานไปกับแม่น้ำ แต่ก่อนก็จะเป็นร้านขายหมู ขายไก่ ขายปลากัน เป็นตลาดสดริมแม่น้ำ แล้วข้ามซอยมาก็จะเป็นตลาดผักกับตลาดดอกไม้ จนกระทั่งพวกดอกไม้เริ่มออกมาอยู่ข้างนอกแล้วขยายออกมาจนล้นริมฟุตปาธของถนนจักรเพชร

 

หม่าม้าอายุยังไม่เยอะมาก ประมาณ 9 ขวบ ขี้กลัว เลยไม่ได้เดินไปไหนไกลแผงขายผักของพี่สาวมากมายนักหรอก ความจำเรื่องตลาดก็เลยเลือนราง (ปัจจุบัน ปากคลองตลาดโดนจัดระเบียบ ไม่มีแผงดอกไม้มาวางบนฟุตบาธอีกแล้ว)

 

แต่ฉันไปอ่านหนังสือเจอมาถึงประวัติของปากคลองตลาด ค้นพบว่าในสมัยโบราณ ที่นี่เคยเป็นตลาดปลาที่ใหญ่ที่สุดในพระนคร จะมีเรือปลาจากแม่น้ำท่าจีนมาเส้นปากคลองบางกอกใหญ่แล้วมาขึ้นปลาที่นี่ จนกระทั่งรัชกาลที่ 5 ทรงให้ย้ายไปรวมกันที่ตลาดหัวลำโพง

 

ส่วนที่เป็นตึกตลาดผักที่มีอยู่ ในสมัยก่อนคือโรงเรียนสอนภาษาจีนกลาง พอปิดตัวก็รื้อตึกแล้วสร้างเป็นอาคารตลาด ซึ่งในช่วงมีโรงเรียน ความเป็นตลาดก็เริ่มก่อตัวขึ้นมาแล้ว ความเคลื่อนไหวของความเป็นตลาดต้องใช้เวลาและเป็นการเคลื่อนไปมาระหว่างปากคลองตลาดกับท่าเตียน จนกระทั่งในยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม ให้ย้ายตลาดตรงท่าเตียนไปรวมกันที่ปากคลองตลาดให้หมด เพราะทำให้พระอารามหลวง วัดโพธิ์ดูไม่สวยงาม พร้อมกับย้ายตลาดสดกรมภูธเรศน์มารวมกัน

 

Photo: www.bkkwheels.com

 

สามตลาดเลยได้มารวมกันแล้วได้รับการสร้างตลาดยอดพิมานขึ้นมาเป็นจุดศูนย์กลาง แล้วกลายเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในพระนครกันเลยทีเดียว และคนจีนมากมายที่อพยพมา ก็จะมาเริ่มทำมาค้าขายที่นี่เป็นจุดศูนย์กลางด้วยเช่นกัน

 

นอกจากตั่วอี๊ของฉันจะขายผักแล้ว ยี่กู๋ (ลุงคนที่ 2) ของฉันก็ขายปลาอยู่ด้านในตลาดริมน้ำด้วยเช่นกัน ซึ่งหม่าม้าก็จะเดินไปมาอยู่ระหว่างสองแผงนี่แหละค่ะ พอโตเป็นสาวขึ้นมาหน่อย ตั่วอี๊ก็ย้ายบ้านไปอยู่แถวซอยอรรถกวี ซึ่งเป็นซอยโรงเรียนสายน้ำผึ้งโรงเรียนสายน้ำทิพย์ในปัจจุบัน

 

จนกระทั่งหว่องม่าเริ่มป่วยและจากไป

 

วันที่หว่องม่าเสียคือวันที่หว่องกงไม่อยู่ แกเดินทางไปนครสวรรค์เพื่อไปหาแม่ของหว่องม่า (ณ ตอนนั้นยังมีชีวิตอยู่) และพี่ชายเพื่อไปบอกว่าหว่องม่าป่วยหนักมากแล้ว และคงอยู่อีกไม่นาน การเดินทางก็ไปได้ทางรถไฟเป็นหลัก แต่เมื่อหว่องกงกลับมา หว่องม่าก็จากไปเสียแล้ว มีแม่ของฉันอยู่เคียงข้าง หมอที่ดูแลหว่องม่าเป็นคนญี่ปุ่นที่อยู่มาตั้งแต่สมัยสงครามโลกแล้วไม่กลับไปญี่ปุ่น หม่าม้าพอจะจำความได้อยู่บ้างในช่วงอายุประมาณ 13 ปี

 

แล้วหม่าม้าก็โตมาอย่างผู้หญิงที่ไม่มีแม่และพี่สาวเคียงข้าง อยู่กับพ่อและน้องชาย ชีวิตมีแต่ทำงานและทำงาน พอจะรู้สังคมอะไรกับเขาบ้างแต่ก็น้อยเต็มที

 

หม่าม้าของฉันไปเริ่มงานเป็นคนงานกรอด้ายที่โรงงานตงฮวดที่อยู่บริเวณโรงพยาบาลเทพธารินทร์ เวลาไปทำงานตอนเช้า หม่าม้าก็จะนั่งรถเมล์ สพร สาย 4 ไปทำงาน ขากลับ ถ้ามีเพื่อนกลับมาด้วยกัน ก็จะเดินกลับมาที่บ้านที่คลองเตย หม่าม้าก็เจอพ่อของฉันที่โรงงานตงฮวดนี่แหละค่ะ

 

ในท้ายที่สุดของบ้านคลองเตยก็เหลือเพียงหว่องกง แม่ฉัน และน้องชายของแม่ โซ้ยกู๋ อยู่แค่ 3 คน

 

ฉันถามแม่ว่า “เอ…ทำไมหม่าม้าถึงย้ายออกจากคลองเตยล่ะ ในเมื่อมีบ้านอยู่แล้ว”

 

หม่าม้าบอกว่า “โดนไฟไหม้… เขาไล่ที่”

 

โอ๊ย ฉันก็หงายหลังที่รู้ว่าทั้งพ่อทั้งแม่โดนเหมือนกันหมด สมัยโน้นเป็นสมัยแห่งการเผาไล่ที่หรือไง ไม่ใช่หรอกค่ะ เผามาตลอดแหละ จนฉันโตก็ยังได้ยินข่าวเผาสลัมคลองเตยไล่ที่อยู่เลย

 

คนเรานี่โหดร้ายกันเหลือใจ ว่าแต่ไหนว่าจอมพลสฤษดิ์ไม่ยอมให้มีไฟไหม้ในพระนครไง

 

หม่าม้าบอก “ฮีตายไปแล้วจ้า” ไฟที่ชอบเผาไล่ที่เลยกลับมาไหม้เนียนๆ อีกรอบ โชคดีของแม่ ที่แม่ฉันไม่ได้มีจิตใจที่เก็บความแค้นอะไรในใจ แม่บอกว่ามันเป็นวันตรุษจีน หม่าม้าก็ไปดูหนังเพราะเป็นวันหยุด ดูหนังที่เยาวราชนี่แหละค่ะ แล้วพอกลับมาบ้าน ทุกอย่างมันก็ราบเป็นหน้ากลองหมดแล้ว ไม่มีอะไรเหลือ ไม่มีอะไรให้เก็บได้ทันเลย ได้แต่ย้ายตัวเองไปอยู่ที่บ้านพี่ชายที่สะพานพุทธ ซึ่งตอนฉันโตมายังทันได้เจอหว่องกง ก็ไปเยี่ยมหว่องกงที่บ้านของพี่ชายคนที่สองของหม่าม้านี่แหละค่ะ แล้วแม่ฉันอยู่ที่บ้านสะพานพุทธไม่นานก็แต่งงานออกมาอยู่กับพ่อของฉัน

 

ซึ่งเรือนหอของพ่อแม่ก็อยู่ในสลัมเหมือนกัน สลัมสวนพลู ฉันโตที่นี่แหละค่ะ

 

Photo: proranun.wordpress.com

 

ยุคสมัยของหม่าม้าจากเด็กน้อยจนโตเป็นสาว เป็นยุคที่อยู่ในช่วงการปกครองของจอมพลสฤษดิ์ หม่าม้าเล่าให้ฟังว่าเรื่องซุบซิบของเมียน้อยจอมพลนี่มีมาตลอดแหละ เดี๋ยวก็ดาราคนโน้น นางงามคนนี้ แต่จอมพลก็ไม่ได้ออกทีวีเยอะจนเป็นที่สิเน่หาของเหล่าสาวๆ ในประเทศเหมือน พล.อ. ประยุทธ์ ในทุกวันนี้หรอก เพราะแต่ละบ้านก็ยังยากจน ทีวีก็เป็นของหายาก หม่าม้าก็อาศัยขอข้างบ้านดูทีวี

 

เหตุการณ์ที่สำคัญที่หม่าม้าจำได้ทางทีวีก็คงเป็นข่าวในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จไปเยี่ยมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หม่าม้าจำได้ดีว่ามันไม่ได้มีแต่ภาพนิ่ง แต่มันมีเป็นข่าวออกทีวีด้วย

 

จากปากคำหม่าม้า คนที่สวยและแต่งตัวสวยที่สุดในพระนครคือ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถของเรานี่แหละ

 

แล้วสมัยก่อนพระนครนี่เต็มไปด้วยเวทีเต้นลีลาศเต็มไปหมด เฮฮา สังสรรค์ งานปาร์ตี้เพียบ หม่าม้าจนก็ไม่ได้ไปกับเขาหรอก แต่ก็พอจะรู้ว่าเวทีสวนลุม เวทีนางสาวสยามนี่ก็เป็นงานหลัก เป็นเวทีหลักไว้เต้นลีลาศเลย งานเดียวที่หม่าม้าจะไม่มีวันไปเลยก็คืองานฉลองภูเขาทอง ที่วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร หม่าม้าบอกว่า เขาลือกันว่า ตอนเดินขึ้นภูเขาทองจะมีผู้ชายแอบจับก้น แอบหยิกก้น หม่าม้ากลัวก็เลยจะไม่ไป แต่ก็จะเป็นงานวัดที่สนุกสนานและมีชื่อเสียงมาก

 

ส่วนใหญ่งานดังๆ ก็จะเป็นงานเต้นรำ ที่แม้แต่หม่าม้าก็ต้องซื้อบัตรเข้าไปดูเขาเต้นรำกัน คนเต้นรำก็จะเป็นคนแต่งตัวสวยๆ กิ๊บเก๋ เปิ๊ดสะก๊าด และอยู่ในวงสังคมดังๆ แน่นอน ก็ต้องรวยเลยล่ะ

 

คนรวยเท่านั้นถึงจะได้ไปมีความสุข ส่วนคนจนก็อยู่ส่วนคนจนต่อไป ทำมาหากิน สร้างฐานะกันก่อน ชีวิตมันต้องสู้กันอีกยกใหญ่เลยกว่าจะมีทุกวันนี้ได้

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising