×

รายงานคาด ประเทศยากจนส่วนใหญ่อาจต้องใช้เวลาถึงปี 2024 กว่าจะฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ประชาชนได้ตามเป้า

โดย THE STANDARD TEAM
27.01.2021
  • LOADING...
ประเทศยากจน วัคซีนโควิด-91

องค์กรวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ Economist Intelligence Unit เผยแพร่รายงานบทวิเคราะห์ล่าสุดในเมื่อวันที่ 27 มกราคม คาดว่าประเทศยากจนส่วนใหญ่จะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ให้แก่ประชาชนจำนวนมากได้ จนกว่าจะถึงปี 2024 เป็นอย่างน้อย ขณะที่บางประเทศอาจไม่สามารถฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้ตามเป้าหมาย

บทวิเคราะห์ดังกล่าวฉายให้เห็นภาพความแบ่งแยกและความไม่เสมอภาคของโลก ต่อกรณีการแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลก ซึ่งในอีก 2-3 ปีข้างหน้าจะมีประเทศพัฒนาแล้วหรือประเทศร่ำรวยเพียงไม่กี่ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการให้วัคซีนประชาชนได้ตามเป้า ขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ยังคงต้องดิ้นรนแข่งขันในการจัดหาวัคซีน

โดยประเทศอย่างสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา อิสราเอล และบางประเทศในกลุ่ม EU จะเป็นประเทศลำดับต้นๆ ที่สามารถให้วัคซีนแก่ประชาชนได้ครอบคลุมเป็นวงกว้าง หรือเกือบทั้งหมดของประชากรทั้งประเทศภายในปลายปีนี้ ตามด้วยประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ในช่วงกลางปี 2022 จากนั้นจึงเป็นกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางส่วนใหญ่ ในช่วงสิ้นปี 2022

แต่สำหรับ 84 ประเทศในกลุ่มประเทศยากจนที่สุดของโลกนั้น คาดว่าอาจต้องรอถึงปี 2024 กว่าจะได้รับวัคซีนมากพอที่จะทำให้ประชากรทั่วประเทศมีภูมิคุ้มกัน จนสามารถลดหรือป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้

“มันจะเป็นตัวกำหนดเศรษฐกิจโลก ภูมิทัศน์การเมืองโลก การเดินทาง แทบจะทุกอย่าง” อกาเธอ เดมาเรส ผู้อำนวยการฝ่ายพยากรณ์โลกของ Economist Intelligence Unit และผู้เขียนรายงานดังกล่าวระบุ

สาเหตุหลักที่ทำให้ประเทศยากจนส่วนใหญ่ต้องใช้เวลานานกว่าที่จะได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 มากพอในการยุติการแพร่ระบาดนั้นมาจากอุปสรรคหลายด้าน ทั้งการส่งมอบวัคซีนล่าช้า การจัดหาวัตถุดิบ ข้อจำกัดในกระบวนการผลิต และโครงสร้างพื้นฐานด้านการแพทย์ในบางประเทศที่ย่ำแย่ ตลอดจนขาดแคลนการฝึกฝนและให้ความรู้แก่บุคลากรทางการแพทย์ในการฉีดวัคซีน

ซึ่งในประเทศอย่างจีนและอินเดียที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลก กว่า 1.3 พันล้านคนอาศัยอยู่ทั่วทุกพื้นที่ของประเทศที่กว้างใหญ่ ทำให้การให้วัคซีนต่อประชาชนในภูมิภาคที่ห่างไกลนั้นเป็นสิ่งที่ต้องใช้ความพยายามอย่างสูง

สำหรับผลวิเคราะห์ดังกล่าวใช้การประเมินข้อมูลจากกว่า 200 ประเทศ โดยอ้างอิงปัจจัยต่างๆ เช่น ข้อตกลงจัดหาวัคซีนที่มีอยู่ในตอนนี้ กำลังการผลิตวัคซีน วัคซีนที่ส่งมอบแล้ว ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการแจกจ่ายและฉีดวัคซีน และอัตราความลังเลในการฉีดวัคซีนของประชาชน ซึ่งในประเทศอย่างญี่ปุ่น ที่แม้จะเป็นประเทศพัฒนาแล้ว แต่เนื่องจากกระแสความไม่มั่นใจและข้อสงสัยเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนในหมู่ประชาชน ส่งผลให้ญี่ปุ่นอาจไม่สามารถให้วัคซีนแก่ประชาชนได้ตามเป้าหมายในปีนี้

นอกจากนี้รายงานที่ออกมายังก่อให้เกิดข้อสงสัยถึงความเป็นไปได้ของโครงการ Covax หรือโครงการพันธมิตรแบ่งปันวัคซีนแก่ทั่วโลกอย่างเท่าเทียม ที่ริเริ่มโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งตั้งเป้าจัดหาวัคซีนให้เพียงพอและครอบคลุมประชากรทั่วโลก 27% ภายในปีนี้

“มีความหวังทางการเมืองมากมายว่าเป้าหมายจะบรรลุผลได้ แต่เราสามารถเห็นได้แล้วว่ามีความล่าช้าในการผลิตและการจัดส่งในประเทศที่ร่ำรวยกว่า ดังนั้นเราจึงคาดการณ์ได้ว่าอาจมีความล่าช้าเกิดขึ้นในประเทศยากจน” เดมาเรส ระบุ

ทั้งนี้ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา มีหลายกลุ่มผู้พัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 ที่ออกมาเปิดเผยความสำเร็จของวัคซีน ที่มีความปลอดภัยและประสิทธิภาพสูง ซึ่งจุดประกายความหวังแก่ทั่วโลก แต่จากข้อมูลของรายงานฉบับนี้ทำให้แสงแห่งความหวังในประเทศส่วนใหญ่นั้นริบหรี่ลง ซึ่งหมายความว่าโอกาสที่ทั่วโลกจะยุติวิกฤตโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคระบาดที่รุนแรงที่สุดโรคหนึ่งในประวัติศาสตร์มนุษยชาติอาจต้องใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่า 1 ปี



ภาพ: Sai Aung Main / AFP

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising