×

กรมอนามัยแนะ ควรกินทุเรียนแบบกึ่งห่าม เพราะแป้ง-น้ำตาลน้อย ไม่ควรกินเกินวันละ 2 เม็ดกลาง เกิน 3 วันต่อสัปดาห์

โดย THE STANDARD TEAM
18.05.2022
  • LOADING...
ทุเรียน

วันนี้ (18 พฤษภาคม) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ระบุถึงข้อแนะนำจากกระทรวงสาธารณสุข ในการบริโภคทุเรียนทั้ง 3 แบบความสุก และที่ผ่านกระบวนการแปรรูปที่ให้พลังงานสูง ว่าทุเรียนจัดอยู่ในอาหารกลุ่มผลไม้ที่มีวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ รวมทั้งเป็นแหล่งของคาร์โบไฮเดรต หากต้องการกินทุเรียนให้ได้รับประโยชน์และคุณค่าทางสารอาหารที่เหมาะสม ควรเลือกทุเรียนแบบกึ่งห่ามเพราะจะมีแป้งและน้ำตาลที่น้อยกว่าแบบสุกงอม ซึ่งไม่ควรกินทุเรียนเกินวันละ 2 เม็ดขนาดกลาง (หนักประมาณ 80 กรัม) และไม่ควรกินเกิน 3 วันต่อสัปดาห์ เพราะหากกินครั้งละประมาณ 2-3 พู หรือ 4-6 เม็ด ร่างกายจะรับพลังงานสูงถึง 520-780 กิโลแคลอรี ซึ่งเทียบเท่ากับกินอาหารมื้อหลัก 2 มื้อ 

 

สำหรับทุเรียนที่ผ่านกระบวนการแปรรูปต่างๆ นั้น หากบริโภคในปริมาณที่ไม่เหมาะสม อาจทำให้ได้รับพลังงานที่มากเกินความจำเป็น ซึ่งพบ 3 ลำดับ ดังนี้ 

 

ลำดับที่ 1 ทุเรียนทอด ถุงละครึ่งกิโลกรัม ให้พลังงานสูงมากถึง 508 กิโลแคลอรี ควรแบ่งกินประมาณ 5 ครั้ง 

 

ลำดับที่ 2 ทุเรียนกวน 1 แท่ง ขนาด 300 กรัม ให้พลังงาน 320 กิโลแคลอรี และมีปริมาณน้ำตาลสูง ทั้งจากทุเรียนที่สุกงอมรวมกับน้ำตาลที่เติมลงไปเพื่อให้จับตัวเป็นก้อนและเก็บไว้ได้นาน จึงควรแบ่งกินอย่างน้อย 2-3 ครั้ง 

 

ลำดับที่ 3 ข้าวเหนียวน้ำกะทิทุเรียน 1 ถ้วย ให้พลังงาน 220 กิโลแคลอรี ใน 1 วันไม่ควรกินเกิน 1 ถ้วย 

 

ดังนั้น หากบริโภคทุเรียนควรเลือกแบบสดที่ยังไม่ผ่านกระบวนการแปรรูป เพราะจะได้พลังงานจากน้ำตาล ไขมันน้อย และได้วิตามินกับสารต้านอนุมูลอิสระมากกว่า

นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า สำหรับคนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือด สามารถกินทุเรียนได้แต่ต้องปริมาณน้อยกว่าคนทั่วไป และควรออกกำลังกายเพื่อเผาผลาญน้ำตาลจากการกินทุเรียนออกไป เช่น เดินอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง กินผลไม้ที่มีน้ำและหวานน้อยควบคู่กัน เช่น มังคุด แตงโม เพราะมังคุดและแตงโมมีฤทธิ์เย็น ส่วนทุเรียนมีฤทธิ์ร้อน จึงสามารถกินคู่กันได้ และควรหลีกเลี่ยงการกินผลไม้ที่มีรสชาติหวานพร้อมกัน เช่น มะม่วงสุก เงาะ ลิ้นจี่ เพราะจะทำให้ร่างกายได้รับปริมาณน้ำตาลสูงเกินไป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising