×

เจาะลึก Moderna วัคซีนโควิด-19 ทางเลือกของไทย ประสิทธิภาพและผลข้างเคียงเป็นอย่างไร

04.05.2021
  • LOADING...
เจาะลึก Moderna วัคซีนโควิด-19 ทางเลือกของไทย ประสิทธิภาพและผลข้างเคียงเป็นอย่างไร

HIGHLIGHTS

6 mins. read
  • ก่อนหน้านี้ในประเทศไทยไม่ค่อยมีใครพูดถึงวัคซีน Moderna มากนัก ทั้งที่เป็นวัคซีน 1 ใน 3 บริษัทที่องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (US FDA) อนุมัติให้ใช้กรณีฉุกเฉินในเดือนธันวาคม 2564 ต่อจากวัคซีน Pfizer-BioNTech เพียง 1 สัปดาห์ และก่อนวัคซีน Johnson & Johnson หลายเดือน และได้รับอนุมัติให้ใช้ในสหภาพยุโรปด้วย
  • โดยภาพรวมอาการรุนแรงหลังจากได้รับวัคซีนในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนและกลุ่มที่ได้รับยาหลอกใกล้เคียงกัน ผู้เสียชีวิตระหว่างการทดลอง 2 รายไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน ส่วนภาวะแพ้รุนแรงสามารถพบได้ 2.5 รายต่อ 1 ล้านโดส 
  • ล่าสุดวันที่ 3 พฤษภาคม 2564 ผู้แทนบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ตัวแทนจำหน่ายวัคซีน Moderna เข้าหารือกับ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อหารือแผนการจัดหา ‘วัคซีนทางเลือก’ ให้กับภาคเอกชน แต่บริษัทผู้ผลิตต้องการขายผ่านภาครัฐเท่านั้น อนุทินจึงยืนยันว่าไม่ได้มีการกีดกันวัคซีนที่จะเข้ามาเป็นวัคซีนทางเลือก

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา ผู้แทนบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ตัวแทนจำหน่ายวัคซีน Moderna เข้าพบกระทรวงสาธารณสุขเพื่อหารือแผนการจัดหา ‘วัคซีนทางเลือก’ ให้กับภาคเอกชน วัคซีน Moderna จึงน่าจะเป็นอีกหนึ่งวัคซีนที่นำเข้ามาภายในปีนี้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

 

ก่อนหน้านี้ในประเทศไทยไม่ค่อยมีใครพูดถึงวัคซีน Moderna มากนัก ทั้งที่เป็นวัคซีน 1 ใน 3 บริษัทที่องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (US FDA) อนุมัติให้ใช้กรณีฉุกเฉินในเดือนธันวาคม 2564 ต่อจากวัคซีน Pfizer-BioNTech เพียง 1 สัปดาห์ และก่อนวัคซีน Johnson & Johnson หลายเดือน และได้รับอนุมัติให้ใช้ในสหภาพยุโรปด้วย

 

วัคซีน mRNA คู่เปรียบเทียบกับวัคซีน Pfizer

วัคซีน Moderna เป็นวัคซีนสัญชาติอเมริกัน ผลิตด้วยเทคโนโลยีชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) เหมือนกับวัคซีน Pfizer ทำให้เป็นคู่เปรียบเทียบกันมาตลอด ประสิทธิภาพของทั้งคู่ >90% ใกล้เคียงกัน และในสหรัฐอเมริกาวัคซีน Moderna ถูกฉีดไปประมาณ 132 ล้านโดส (อัตราการฉีด 1 ล้านโดสต่อวัน) ในขณะที่วัคซีน Pfizer ถูกฉีดไปแล้ว 162 ล้านโดส

 

บริษัท Moderna ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2010 เดิมเขียนว่า ModeRNA จึงเป็นบริษัทที่วิจัยเทคโนโลยี mRNA มาตั้งแต่แรก และในเดือนมีนาคม 2020 รัฐบาลของประธานาธิบดีทรัมป์หารือร่วมกับผู้บริหารของบริษัท นำมาซึ่งการร่วมลงทุนพัฒนาวัคซีนในโครงการ Operation Warp Speed (OWS) ด้วยงบ 1.5 พันล้านดอลลาร์ 

 

สำหรับวัคซีน mRNA ผลิตจากสารพันธุกรรมของไวรัส ตัดมาเฉพาะส่วนที่จะถูกถอดรหัสเป็นหนาม (Spike) เพราะเป็นส่วนที่ไวรัสใช้เกาะกับผิวเซลล์ของมนุษย์ ถ้าร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อส่วนนี้ได้ก็จะสามารถป้องกันไวรัสไม่ให้เข้าสู่เซลล์ได้ โดย mRNA จะถูกหุ้มด้วยอนุภาคนาโนไขมัน (Lipid nanoparticle) อีกชั้นหนึ่งก่อนฉีดเข้าร่างกาย

 

เพราะ mRNA เสื่อมสภาพได้ง่าย เดิมหลายคนน่าจะเคยได้ยินว่าวัคซีนชนิดนี้ต้องเก็บรักษาในอุณหภูมิติดลบ (-50 ถึง -15 องศาเซลเซียส) แต่ปัจจุบันศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (CDC) แนะนำว่าวัคซีน Moderna สามารถเก็บในตู้เย็น 2-8 องศาเซลเซียสได้นานถึง 30 วัน แต่ไม่สามารถนำกลับไปแช่แข็งได้ และเก็บในอุณหภูมิห้อง 2-25 องศาเซลเซียสได้ 12 ชั่วโมง

 

ภาพหลักการโดยทั่วไปของวัคซีนชนิด mRNA เมื่อสารพันธุกรรมของไวรัสเข้าสู่เซลล์ได้รับการถอดรหัสเป็นโปรตีน (สีฟ้า) แล้วจะถูกนำมาแสดงที่ผิวเซลล์เพื่อกระตุ้นเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

 

ประสิทธิภาพของวัคซีน Moderna

วัคซีน Moderna ต้องฉีดทั้งหมด 2 เข็ม ห่างกัน 4 สัปดาห์ ต่างจากวัคซีน Pfizer ที่ฉีดห่างกัน 3 สัปดาห์ โดยวัคซีน Moderna เริ่มทดลองเฟส 1 ระหว่างวันที่ 16 มีนาคม-14 เมษายน 2563 พบว่าวัคซีนไม่มีปัญหาด้านความปลอดภัย และกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี จากนั้นทดลองโดสที่เหมาะสมในเฟส 2 ระหว่างวันที่ 29 พฤษภาคม-8 กรกฎาคม 2563 

 

เฟส 3 ซึ่งเป็นการทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีน ทดลองในสหรัฐอเมริการะหว่างวันที่ 27 กรกฎาคม-23 ตุลาคม 2563 อาสาสมัครทั้งหมด 30,420 คน อายุมากกว่า 18 ปี รวมถึงผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป (มีสัดส่วนประมาณ 25%) ครึ่งหนึ่งได้รับวัคซีน อีกครึ่งหนึ่งได้รับยาหลอก ประเมินประสิทธิภาพที่ 14 วันหลังจากได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม พบว่า

 

  • ประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ 94.1% โดยกลุ่มอายุ 18-65 ปีมีประสิทธิภาพ 95.6% ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุมีประสิทธิภาพ 86.4%
  • ป้องกันอาการรุนแรง 100% โดยกลุ่มที่ได้รับวัคซีนไม่พบผู้ป่วยอาการรุนแรงเลย แต่กลุ่มที่ได้รับยาหลอกพบผู้ป่วยอาการรุนแรง 30 ราย

 

นอกจากนี้บริษัทยังทดลองประสิทธิภาพของวัคซีนในกลุ่มเด็กอายุ 12-18 ปี (เริ่มเดือนธันวาคม 2563 แต่ยังไม่ตีพิมพ์) และกลุ่มเด็กอายุ 6 เดือน-12 ปี (เริ่มเดือนมีนาคม 2564) ถ้าประสบความสำเร็จก็จะทำให้วัคซีนนี้สามารถใช้สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในโรงเรียนได้ ซึ่งวัคซีน Pfizer ประกาศผลเบื้องต้นออกมาแล้วว่ามีประสิทธิภาพ 100% ในกลุ่ม 12-15 ปี

 

ปัจจุบันวัคซีน Moderna ได้รับอนุมัติให้ใช้ในอย่างน้อย 15 ประเทศ รวมถึงสิงคโปร์ และเวียดนาม สำหรับประสิทธิภาพต่อสายพันธุ์ใหม่จากการทดสอบในห้องทดลองด้วยน้ำเหลืองของผู้ที่ได้รับวัคซีนพบว่าใกล้เคียงกับวัคซีน Pfizer คือสายพันธุ์อังกฤษมีประสิทธิภาพลดลงเล็กน้อย ส่วนสายพันธุ์บราซิล และแอฟริกาใต้ลดลง 4.5 และ 8.6 เท่า

 

ความปลอดภัยของวัคซีน Moderna

ผลข้างเคียงที่พบในการทดลองเฟส 3 แบ่งเป็นผลข้างเคียงเฉพาะที่ และผลข้างเคียงตามระบบของร่างกาย ดังนี้

 

  • เฉพาะที่: ปวดบริเวณที่ฉีดวัคซีน 84.2% บวม 12.2% ผื่นแดง 2.8% ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้บวม/กดเจ็บ 10.2% ส่วนใหญ่เป็นอาการระดับเล็กน้อย และดีขึ้นภายใน 4-5 วัน
  • ตามระบบของร่างกาย: อ่อนเพลีย 37.2% ปวดศีรษะ 32.7% ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ 22.7% คลื่นไส้อาเจียน 8.3% มักเกิดขึ้นภายใน 2-3 วันหลังจากฉีดวัคซีน
  • ผลข้างเคียงเหล่านี้พบในกลุ่มอายุน้อย (18-65 ปี) มากกว่ากลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป

 

โดยภาพรวมอาการรุนแรงหลังจากได้รับวัคซีนในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนและกลุ่มที่ได้รับยาหลอกใกล้เคียงกัน ผู้เสียชีวิตระหว่างการทดลอง 2 รายไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน ส่วนภาวะแพ้รุนแรงสามารถพบได้ 2.5 รายต่อ 1 ล้านโดส ทั้งนี้วัคซีน mRNA ไม่มีส่วนประกอบของไวรัสที่มีชีวิตจึงไม่สามารถทำให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนติดเชื้อโควิด-19 ได้

 

นอกจากนี้มักจะมีผู้กังวลว่าสารพันธุกรรมของไวรัสในวัคซีนชนิด mRNA ที่ฉีดเข้าสู่ร่างกายจะมีผลต่อสารพันธุกรรมของมนุษย์หรือไม่ แต่ประเด็นนี้ CDC ระบุว่าวัคซีนจะไม่ทำให้สารพันธุกรรมของมนุษย์เปลี่ยนแปลง เพราะถึงแม้ mRNA จะเข้าไปในเซลล์ แต่ไม่เข้าไปถึงนิวเคลียสซึ่งเป็นที่เก็บ DNA ของมนุษย์ วัคซีน Moderna จึงน่าจะมีความปลอดภัย

 

เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2564 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้อนุมัติให้ใช้วัคซีน Moderna ในกรณีฉุกเฉินได้แล้ว เป็นลำดับที่ 5 ต่อจากวัคซีน Pfizer, AstraZeneca, Covishield (วัคซีน AstraZeneca ที่ผลิตโดย Serum Institute of India) และวัคซีน Johnson & Johnson ซึ่งจะช่วยลดปัญหาวัคซีนไม่เพียงพอ โดยเฉพาะที่เกิดกับโครงการ COVAX ได้

 

วัคซีน Moderna กับประเทศไทย

ถ้ายังจำข่าวโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร รับจองวัคซีนโควิด-19 เมื่อเดือนธันวาคม 2563 ได้ ซึ่งวัคซีนดังกล่าวคือวัคซีน Moderna แต่หลังจากนั้นอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพแถลงข่าวว่า เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย พ.ร.บ. สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ฐานไม่ขออนุมัติให้โฆษณา และฐานโฆษณาในลักษณะอันเป็นเท็จ โอ้อวดเกินความจริง

 

ต่อมาเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564 อ้างอิงจากสำนักข่าวไทยโพสต์ระบุว่า ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ข้อมูลวัคซีนโควิด-19 ที่จะนำเข้าไทยมี 2 บริษัท คือวัคซีน Sinovac ของจีน จะนำเข้ามาในเดือนกุมภาพันธ์ และอีกบริษัทคือวัคซีน Moderna ของสหรัฐอเมริกา แต่ไม่ได้ระบุช่วงเวลา 

 

จนกระทั่งวันที่ 30 เมษายน 2564 เลขาธิการ อย. ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่าขณะนี้บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ตัวแทนจำหน่ายวัคซีน Moderna ในประเทศไทยได้ยื่นเอกสารประกอบการขึ้นทะเบียนแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณา คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม (ตามกรอบการพิจารณาในสถานการณ์ฉุกเฉินของ อย. คือ 30 วัน)

 

ล่าสุดวันที่ 3 พฤษภาคม 2564 ผู้แทนบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด เข้าหารือกับ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเพื่อหารือแผนการจัดหา ‘วัคซีนทางเลือก’ ให้กับภาคเอกชน แต่บริษัทผู้ผลิตต้องการขายผ่านภาครัฐเท่านั้น อนุทินจึงยืนยันว่าไม่ได้มีการกีดกันวัคซีนที่จะเข้ามาเป็นวัคซีนทางเลือก

 

โดย “กระทรวงสาธารณสุขก็พร้อมให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นผู้นำเข้าวัคซีน แต่ภาคเอกชนต้องยืนยันยอดการซื้อมาให้ อภ. เพราะ อภ. ไม่สามารถซื้อมาสต๊อกเพื่อรอให้เอกชนมาซื้อต่ออีกทอดหนึ่งได้” สำหรับผู้ที่ต้องการฉีดวัคซีน Moderna จึงต้องติดตามความคืบหน้าของการขึ้นทะเบียนของ อย. และการจองวัคซีนของโรงพยาบาลเอกชนต่อไป

 

สำหรับราคาของวัคซีน Moderna อยู่ระหว่าง 25-37 ดอลลาร์ หรือประมาณ 785-1,160 บาทต่อเข็ม ส่วนราคาวัคซีน 2 เข็มที่โรงพยาบาลเอกชนข้างต้นประเมินไว้เมื่อปลายปี 2563 อยู่ที่ 6,000-10,000 บาท ซึ่งรวมค่าแพทย์และค่าบริการของโรงพยาบาลแล้ว

 

พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X