×

ทำไม Spiced Rum ถึงเป็นรัมยอดนิยม และแบรนด์สัญชาติไทยที่พิสูจน์แล้วว่าเป็นที่ยอมรับในระดับโลก [Advertorial]

24.08.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MINS READ
  • รัม (Rum) หรือ เหล้ารัม เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดหนึ่งที่กลั่นขึ้นจากอ้อยหรือกากน้ำตาล มีรสชาติหวาน หอม และดีกรีสูงถึง 40 ซึ่งถือว่าสูงสุดเท่าที่ร่างกายมนุษย์จะใช้ดื่มได้
  • Spiced Rum เป็นรัมชนิดพิเศษที่เกิดจากการนำเหล้ารัมไปหมักกับเครื่องเทศชนิดต่างๆ เช่น ซินนามอน วานิลลา ส้ม ออลสไปซ์ กานพลู ลูกจันทน์ พริกไทยดำ ฯลฯ
  • Spiced Rum กับสูตรค็อกเทลแสนอร่อยที่ปรุงเองได้ง่าย

ช่วงที่ผ่านมา ตลาดเหล้ารัม (Rum) เติบโตและได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม มีการจัดงานหรือเทศกาลเกี่ยวกับรัมมากมายในหลายประเทศทั่วโลก ที่ไทยเราก็มี Bangkok Rum Week ที่เพิ่งจัดขึ้นเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา สัปดาห์เหล้ารัมที่คอเหล้ารัมต่างตั้งตาคอย กิจกรรมก็มีตั้งแต่การวางจำหน่ายเหล้ารัมหลากประเภทหลายเชื้อชาติ ชม ชิม ทำความรู้จัก และยังมีกูรูรัมระดับโลกมาให้ความรู้พร้อมทั้งสอนวิธีการเทสต์รัมแบบเจาะลึก รวมไปถึง Bar Hopping ที่ชวนนักดื่มออกไปสังสรรค์ตามบาร์รอบกรุงด้วยค็อกเทลสูตรพิเศษ

 

THE STANDARD มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมในหมวด Spiced Rum เหล้ารัมประเภทหนึ่งซึ่งมีเอกลักษณ์โดดเด่นมาก ในงานนั้นทำให้เรารู้ว่า แม่โขง (Mekhong) เป็น Spiced Rum สัญชาติไทยที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก และเราก็อดไม่ได้ที่จะนำเรื่องราวอันน่าภาคภูมิใจนี้มาฝากคอรัมไทย

 

เหล้ารัมคืออะไร ต่างจากแอลกอฮอล์ชนิดอื่นตรงไหน

เชื่อว่าหลายคนคงสงสัยว่าเหล้ารัมต่างจากสปิริตอื่นอย่างไร?

 

รัม หรือ เหล้ารัม เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดหนึ่งที่กลั่นขึ้นจากอ้อยหรือกากน้ำตาล มีรสชาติหวาน หอม และดีกรีสูงถึง 40 ซึ่งถือว่าสูงสุดเท่าที่ร่างกายมนุษย์จะใช้ดื่มได้ (ขีดเส้นใต้ตรงคำว่า ‘อ้อย’ สามร้อยเส้น เพราะหากผลิตด้วยวัตถุดิบอื่นจะใช้คำเรียกต่างกันออกไป) ว่ากันว่าเหล้ารัมถือกำเนิดมาจากชาวอินเดียนแดงในแถบแคริบเบียน จัดเป็นสุราศักดิ์สิทธิ์ เพราะชาวอินเดียนแดงใช้น้ำกลั่นศักดิ์สิทธิ์จากภูเขาสูงมาหมัก และใช้ดื่มกินเฉพาะเทศกาลสำคัญเท่านั้น

 

 

รัมมีหลายประเภท ถูกจำแนกด้วยการแบ่งสี ได้แก่ รัมสีขาว (White Rum) รัมสีใสกระจ่าง เหมาะกับการทำค็อกเทลที่ไม่ต้องการให้สีเปลี่ยน กลิ่นและเท็กซ์เจอร์จะไม่ซับซ้อน กระจ่างและมีรสหวานของอ้อยชัดเจน รัมสีทอง (Gold Rum) เป็นรัมสีเหลืองใส ที่ได้จากการเก็บบ่มรัมไว้ในถังไม้เพื่อให้เกิดสี หรือผสมสีและกลิ่นด้วยคาราเมลเพื่อให้มีรสชาติละมุนขึ้นกว่าเดิม สุดท้ายคือ Dark Rum หรือ รัมสีดำ เหล้ารัมสีเข้มที่มีกรรมวิธีคล้ายกับรัมสีทอง ทว่าเก็บไว้นานกว่า อาจใช้เวลานาน 3-10 ปี และใช้คาราเมลเคี่ยวจนไหม้เพื่อเพิ่มสีและกลิ่น ทำให้มีรสชาติเข้ม ลุ่มลึกมากกว่า White Rum และ Gold Rum

 

 

นอกจากรัมที่กล่าวมา 3 ชนิดข้างต้น มีเหล้ารัมอีกประเภทที่ผู้เขียนได้ไปเวิร์กช็อปมา Spiced Rum เป็นรัมชนิดพิเศษที่เกิดจากการนำเหล้ารัมไปหมักกับเครื่องเทศชนิดต่างๆ เช่น ซินนามอน วานิลลา ส้ม ออลสไปซ์ กานพลู ลูกจันทน์ พริกไทยดำ ฯลฯ แล้วแต่สูตรแต่ละแขนงจะปรุงแต่ง ถ้านึกภาพไม่ออกขอให้นึกถึงยาดอง เหล้าพื้นเมืองบ้านเรานั่นแหละ หากแต่ใช้เบสเหล้าเป็นรัมเท่านั้น ซึ่งประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศไทยเรามีชื่อเสียงในการผลิต Spiced Rum

 

 

‘Mekhong’ Spiced Rum แบรนด์แรกของไทย

กว่า 80 ปีที่แม่โขงอยู่คู่คนไทยมา ผู้เขียนกล้ากล่าวได้เต็มปากว่าน้อยคนนักที่รู้ว่าเหล้าแม่โขงที่เราคุ้นเคยจัดอยู่ในประเภทรัม! บ้างก็ว่าน่าจะเป็นวิสกี้มากกว่า เพราะเกิดมาในช่วงที่คนไทยกำลังนิยมดื่มเหล้านอกซึ่งเป็นวิสกี้เสียส่วนใหญ่ หากแต่มาจำแนกถึงวัตถุดิบของการกลั่นจะพบว่า แม่โขงคือ Spiced Rum ชั้นเลิศที่มีสูตรปรุงตามสำรับเหล้าไทยหลายตัว

 

ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2470 นักดื่มบ้านเราในขณะนั้นกำลังนิยมดื่มวิสกี้อย่างแพร่หลาย ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้สูญเสียเงินตราออกนอกประเทศเป็นจำนวนมาก กรมสรรพสามิตจึงคิดผลิตสุราผสมเป็นของตนเองเพื่อลดการนำเข้าวิสกี้นอก จากสุราผสมก็พัฒนามาสู่สุราปรุงพิเศษ 14 ปีต่อมา จอมพล ป. พิบูลสงคราม เรียกร้องขอสิทธิ์ดินแดน 4 จังหวัดทางฝั่งขวาของลำน้ำโขงคืนจากฝรั่งเศส เกิดข้อถกเถียงจนเกิดกรณีพิพาทและนำไปสู่สงครามอินโดจีนในที่สุด ด้วยหมายสร้างความเป็นอันหนึ่งเดียวกัน หลวงวิจิตรวาทการ อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้นจึงได้ประพันธ์เพลงปลุกใจชื่อ ข้ามโขง เพื่อรณรงค์ให้คนไทยเกิดความเข้าใจว่าแม้จะอยู่ห่างกันคนละฝั่งแม่น้ำ แต่เราก็ยังคงเป็นชาติเดียวกัน เพลง ข้ามโขง โด่งดังมากและสร้างสำนึกรักชาติอย่างรุนแรง อิทธิพลของเพลงจูงใจให้กรมสรรพสามิตตั้งชื่อสุราปรุงพิเศษ 35 ดีกรีที่กำลังออกสู่ท้องตลาดในปี พ.ศ. 2484 ว่า ‘แม่โขง’

 

 

ตั้งแต่แม่โขงวางออกสู่ท้องตลาดก็ได้รับความนิยมมาก ชนิดที่ว่าไปร้านไหนก็มีแต่เหล้าแม่โขงตั้งอยู่ทุกโต๊ะ ใครไม่ร่ำสุราด้วยแม่โขงถือว่าเชยและไม่ทันสมัย แม้กระทั่งชาวยุโรปและทหารอเมริกันก็ร่ำร้องจะดื่มวิสกี้ไทย (ตามความเข้าใจในขณะนั้น) แม่โขงจึงถือเป็นสัญลักษณ์ของเหล้าไทยในยุคแรกที่มาตีตลาดวิสกี้นอกได้แบบจังหนับ

 

ปัจจุบันนอกจากคนไทยจะได้ดื่มด่ำกับรสชาติอันโดดเด่นของแม่โขง ชาวต่างชาติก็สามารถหาซื้อแม่โขงได้ในฐานะเหล้ารัมพรีเมียมจากไทยแลนด์ ตามซูเปอร์มาร์เก็ตหรือห้างสรรพสินค้าชั้นนำ หรือตามเว็บไซต์ขายสปิริตมีชื่อ แบรนด์แม่โขงเริ่มบุกตลาดต่างประเทศเมื่อประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา โดยเริ่มเจาะกลุ่มลูกค้าอเมริกันเป็นกลุ่มแรก ผ่านกระแสการดื่มค็อกเทลที่กำลังเฟื่องฟู ซึ่งในปีนี้สุราสัญชาติไทยอย่างแม่โขง คว้ารางวัลเหรียญเงินในประเภท Spiced Rum จากการแข่งขันบนเวทีระดับโลก International Wine & Spirit Competition 2018 หรือ IWSC เวทีที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับมากที่สุดในโลก และเป็นเครื่องหมายการันตีคุณภาพของสุราไทยในเวทีโลกอีกด้วย  

 

ในงาน Bangkok Rum Week ที่ผ่านมาก็มีบาร์เทนเดอร์ชื่อดังหลายท่านจากประเทศต่างๆ นำแม่โขงไปเป็นส่วนผสมหลัก ยกตัวอย่างเช่น

 

มิกโซโลจิสต์แดนปลาดิบ Hideyuki Saito กับ 3 ค็อกเทลที่ใช้แม่โขงเป็นส่วนผสมหลัก ที่บ้านสุริยาศัย

 

 

Philips Bischoff หัวหน้าบาร์จาก Manhattan Bar ประเทศสิงคโปร์ บาร์ชนะเลิศอันดับ 1 ใน Asia’s 50 Best Bars 2018 ที่นำแม่โขงมารังสรรค์เป็นค็อกเทลหลากรสชาติ

 

 

Sim Sze Wei กับ 4 ค็อกเทลที่ร้าน Bunker ความน่าสนใจคือ มิกโซโลจิสต์คนนี้ใช้ส่วนผสมแบบไทยๆ อย่างใบเตย หรือแม้แต่แมลงทอดที่คนคาดไม่ถึงมาเป็นส่วนผสมด้วยเช่นกัน

 

 

Aki Wang กับ 3 ค็อกเทลที่ร้าน Rabbit Hole และ Hiroyasu Kayama ที่ร้าน Thaipioka

 

แม่โขงถูกผลิตขึ้นโดยใช้เครื่องสมุนไพร มีทั้งสมุนไพรพื้นเมือง เครื่องเทศ และส่วนผสมของเหล้าที่ผลิตจากอ้อยและปลายข้าวเหนียว ด้วยส่วนผสมตามสูตรเฉพาะนี่แหละ ทำให้แม่โขงเป็นรัมที่มีคาแรกเตอร์แบบไทยอย่างชัดเจนและโดดเด่น

 

“ผมว่ารสชาติของแม่โขงสามารถสะท้อนลักษณะของการกินดื่มของคนไทยได้ดี เวลาเราจิบหนึ่งครั้ง จะได้กลิ่นหอมชัดเจนตรงไปตรงมา รสชาติจัดจ้านร้อนแรง ความเข้มแข็งฉบับรสอาหารไทยที่เข้มข้น จัดจ้าน ขณะเดียวกันก็มีความเผ็ดร้อนของเครื่องเทศคลอขึ้นมาด้วย มันสะท้อนถึงความสนุก ความครื้นเครง เมื่อกลืนก็จะได้รสขมเบาๆ ตรงโคนลิ้น และยังคงความนุ่มนวลอบอวลทิ้งค้างไว้ในปาก” 

ปอนด์-กิติภูมิ การไมตรีจิตร์ บาร์เทนเดอร์ประจำแบรนด์แม่โขงกล่าว

 

Spiced Rum กับสูตรค็อกเทลแสนอร่อยที่ปรุงเองได้ง่าย

นอกจากนำไปมิกซ์กับน้ำเปล่าและโซดาแล้ว คนไทยเริ่มคุ้นเคยกับแม่โขงในฐานะของเหล้ารัมที่นำไปเป็นส่วนผสมหนึ่งของค็อกเทลสไตล์ทิกิ ซึ่งหากคุณอยากนำรัมแม่โขงไปทำเป็นเครื่องดื่มในปาร์ตี้ค็อกเทลแบบส่วนตัว ปอนด์ กิติภูมิ แนะนำสูตรง่ายๆ อย่าง แม่โขงไทยสบาย ค็อกเทลซิกเนเจอร์ของแม่โขง

 

ส่วนผสม: รัมแม่โขง มะนาว โหระพา น้ำเชื่อมหรือน้ำตาล ปรุงเปรี้ยวหวานตามใจ

เคล็ดลับ: โขลกโหระพาให้เกิดกลิ่น

 

สูตรจาก ชาช่า-สุวิญชา สิงห์สุวรรณ

มิกโซโลจิสต์ร้าน Rabbit Hole

 

นอกจากสูตรแม่โขงไทยสบายที่เป็นซิกเนเจอร์ของแม่โขงแล้ว ชาช่า-สุวิชญา สิงห์สุวรรณ บาร์เทนเดอร์สาวจากร้าน Rabbit Hole ผู้ได้รับรางวัล Bar of the Year Awards จากงาน Bar Awards ปีล่าสุด ยังแนะนำส่วนผสมอื่นที่เหมาะกับรัมแม่โขง อย่าง Mekhong Manhattan หรือแค่ผสมก็เป็นค็อกเทลสไตล์ทิกิได้ง่ายๆ

 

“รัมแม่โขงมีลักษณะโดดเด่นมาก จะมีกลิ่นเครื่องเทศ กลิ่นอบเชย การจะปรุงรสชาติให้กลมกล่อมนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากเช่นกัน แนะนำตามนี้ค่ะ”

 

  1. แม่โขง+น้ำมะพร้าว
  2. แม่โขง+ชาหมักคอมบูชา (Konbucha)
  3. แม่โขงปั่น+น้ำสับปะรดหรือน้ำส้ม
  4. แม่โขง+ชานมไข่มุก สำหรับคนที่อยากได้รสแบบนัวๆ

 

ได้สูตรกันไปขนาดนี้ งานปาร์ตี้หน้าอย่าลืมนำ Spiced Rum สัญชาติไทย ‘แม่โขง’ ไปปรุงเป็นค็อกเทลแสนอร่อยจิบกันเพลินๆ เชื่อมสัมพันธ์ฉันมิตร รับรองว่าอร่อย กินง่าย เข้ากับอาหารไทยสุด เพราะเราลองมาแล้วทุกสูตร เวิร์ก!

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X