mangozero.com เว็บไซต์ข่าวเชิงไลฟ์สไตล์แนว Social Creative News ก่อตั้งโดย ขจร เจียรนัยพานิชย์ ที่อยู่ภายใต้ แรบบิทส์ ดิจิทัล กรุ๊ป ซึ่งมีบริษัทเอเจนซีโฆษณาเป็นแรงหนุน เป็นอีกบทพิสูจน์ที่ยืนยันการอยู่รอดของสื่อใหม่ไซส์เล็กที่มีทีมงาน 6 คน (เฉพาะทีมคอนเทนต์) ได้อย่างดี เพราะหลังเปิดเว็บเพียง 4 เดือน mangozero.com ก็หารายได้จนเลี้ยงบริษัทได้ทั้งปี
ถามว่าวันนี้สื่อออนไลน์ในเมืองไทยมีเยอะไหม เยอะ แต่ช่องทางทำเงินออนไลน์ยังมีอีกไหม มีอีกเพียบ
ขจรไม่ใช่หน้าใหม่ในโลกออนไลน์ เขาคืออดีตโปรแกรมเมอร์ที่ผันตัวมาเป็นบล็อกเกอร์ ก่อตั้งเว็บ macthai.com เป็นแฟนพันธุ์แท้สตีฟ จ็อบส์ ก่อนออกมาตั้งบริษัท The Zero Publishing ทำเว็บไซต์ mangozero.com
เขารู้จริตของคนในโลกโซเชียล มองว่าการทำคอนเทนต์ไม่ใช่แค่เนื้อหา แต่ทะลุถึงแท็กติก ‘หลังบ้าน’ และคอยติดตามสถิติต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์
“ผมมีความเชื่อลึกๆ ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในอเมริกา 3 ปีที่แล้วจะเกิดขึ้นในเมืองไทยปีนี้”
ถ้าเมืองไทยวันนี้คือเมื่อ 3 ปีที่แล้วของอเมริกา แล้ววันนี้ที่อเมริกาเป็นอย่างไร? ผมถามเพื่อให้เขาพยากรณ์อนาคตแบบอ้อมๆ
“กลุ่มพวกบล็อกเกอร์ที่รวมตัวกันมาทำสื่อออนไลน์ 100% เริ่มกลายเป็น publisher ที่คนส่วนใหญ่ให้ความเชื่อถือมากกว่าสื่อหลักแล้ว เช่น BuzzFeed หรือ Mashable แม้แต่โดนัลด์ ทรัมป์ ตอนให้สัมภาษณ์ก็ยังเอ่ยชื่อ BuzzFeed บ่อยกว่า CNN
“คุณรู้ไหม? Mashable ขาย advertorial ชิ้นละ 300,000 บาท ขณะที่ BuzzFeed ไปจับมือกับค่ายมือถือ Virgin Mobile เหมาขาย advertorial ปีหนึ่งประมาณ 170 กว่าชิ้น ทำกันเป็น year plan”
ขจรหยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมาเปิดภาพกราฟ “นี่คือยอด ad spending เทียบกันระหว่างหนังสือพิมพ์กับออนไลน์ในอเมริกา…
“เมื่อประมาณ 6 ปีที่แล้ว (ปี 2011) ยอด ad spending ของหนังสือ (สีทอง) กับออนไลน์ (สีเทา) มันตัดกันพอดี ซึ่งตอนนี้ออนไลน์ทิ้งไม่เห็นฝุ่นแล้ว นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ผมเปิด mangozero.com”
ขจรบอกว่า ถ้าดูตัวเลข ad spending ในเมืองไทยตอนนี้เทียบกับอเมริกาจะอยู่ที่ประมาณปี 2007 “ถ้าเชื่อว่าเมืองไทยจะมีแนวโน้มแบบอเมริกา แสดงว่าเงินมันจะเยอะขึ้นอีกมาก ถามว่าวันนี้สื่อออนไลน์ในเมืองไทยมีเยอะไหม เยอะ แต่ช่องทางทำเงินออนไลน์ยังมีอีกไหม มีอีกเพียบ”
ถ้าคุณอยากรู้ว่าช่องทางทำเงินในโลกออนไลน์มีมากแค่ไหน ขจรแนะนำสั้นๆ ให้ลองขอแพ็กเกจโฆษณาจากเว็บไซต์ในอเมริกา เช่น BuzzFeed แล้วจะพบคำตอบ
ตอนนี้มีหลายคนทำออนไลน์ แต่ยังไม่เข้าใจออนไลน์ ผมว่านี่แหละคือโอกาส
“ตอนนี้มีหลายคนทำออนไลน์ แต่ยังไม่เข้าใจออนไลน์ ผมว่านี่แหละคือโอกาส ในเมื่อเม็ดเงินที่เข้ามาในโลกออนไลน์มันโตขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่เม็ดเงินในสื่อเก่าค่อยๆ หายไป
“คำถามคือเราจะเอาเงินจากออนไลน์ที่โตขึ้นเรื่อยๆ มาได้สักเท่าไร”
DID YOU KNOW?
มีคำแนะนำสำหรับสื่อที่กำลังปรับตัวไหม
ขจร เจียรนัยพานิชย์: “ผมฟันธงให้ได้ครับว่า หนึ่ง ถ้าคุณยังทำแบบเดิม คุณไปไม่รอดแน่ๆ คุณต้องปรับตัว อย่าคิดว่าปรับพรุ่งนี้ มะรืนนี้ เดี๋ยวอีก 3 เดือนค่อยปรับ หรือศึกษาก่อนค่อยปรับ คุณต้องปรับเลย ไม่อย่างนั้นคุณก็จะเป็นเหมือนกับหลายสำนักที่มันหายไปแล้ว
“สอง ถ้าคุณรู้ตัวว่าต้องปรับ คุณควรจะรู้สเตปในการปรับที่ชัดเจน คุณต้องปรับอะไรก่อน 1 2 3 อย่าหวังว่าเอาคนใหม่ๆ เข้ามา เอาคนเก่าๆ ออก แล้วมันจะรอด คุณต้องปรับตั้งแต่ความคิดคุณเลย คุณต้องคิดให้ออกว่าคุณเข้าใจโลกดิจิทัลจริงๆ หรือยัง โดยเฉพาะคนที่เป็น CEO คนที่กำเงิน คนที่กำนโยบาย กลุ่มหัวหน้าของบริษัททั้งหมด ถ้าคุณคิดว่าคุณยังไม่เข้าใจก็หาทางทำให้ตัวเองเข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจจริงๆ ก็เอาคนที่คิดว่าเขาเข้าใจที่สุดเข้ามาอยู่ และเชื่อใจคนนั้น หลายองค์กรอยู่รอดได้เพราะการนำคนที่เข้าใจเรื่องอะไรบางอย่างเข้ามาในองค์กรแล้วก็เปลี่ยนองค์กรได้แค่ไม่กี่คน เพราะฉะนั้นเรื่องคนคือเรื่องที่ต้องปรับที่สุด
“สุดท้ายถ้าคุณเข้าใจ การนำเสนอ การขาย ทุกอย่างมันก็จะตามมาเอง”