×

MEDIA is DEAD or ALIVE? ตอนที่ 6 ฟรีทีวียังไม่ตาย เพราะทีวีออนไลน์อยู่แค่ในเมือง

31.01.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยยังขึ้นอยู่กับความสามารถในการจ่ายเงิน (ค่าอินเทอร์เน็ต 590 บาทต่อเดือน)
  • ปัจจัยที่จะทำให้ทีวีตายคือราคาในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต
  • “แต่ถ้าเน็ตไม่ฟรี มันก็จะเป็นอยู่อย่างนี้” ชลากรณ์ ปัญญาโฉม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานดิจิทัลทีวี บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน)

กระแสออนไลน์ฟีเวอร์ในวันนี้อาจแรงเกินความจริงที่เป็นอยู่ และเป็นอุปทานหมู่ของคนในอุตสาหกรรมโฆษณา สื่อสารมวลชน ฯลฯ ซึ่งเป็นกลุ่มที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต


“ชนชั้นกลางเสียงดังเสมอในประเทศเรา มันก็เลยดูเสมือนว่าอุตสาหกรรมออนไลน์น่าจะตื่นตูมทีเดียว”


ชลากรณ์ ปัญญาโฉม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานดิจิทัลทีวี บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ Workpoint ตั้งข้อสังเกตว่าทีวีไม่ตาย ในวันที่หลายคนเชื่อว่าทีวีตายแล้ว

การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยยังขึ้นอยู่กับความสามารถในการจ่ายเงินอยู่ ซึ่งบังเอิญว่าชนชั้นกลางเป็นคนที่พอมีความสามารถในการจ่ายเงิน มันเลยดูเสมือนว่าอุตสาหกรรมออนไลน์น่าจะตื่นตูมทีเดียว เพราะชนชั้นกลางเสียงดังเสมอในประเทศเรา

 

หลายเดือนก่อน หลังเริ่มทดลองทำออนไลน์ทั้งยูทูบ เฟซบุ๊ก โดยเฉพาะการใช้ฟีเจอร์ Facebook LIVE ถ่ายทอดสดรายการ The Mask Singer ชลากรณ์ได้เห็นข้อมูลบางอย่างที่ฟ้องว่าทีวียังไม่ตาย และออนไลน์ไม่ได้มาฆ่าทีวี


“อุตสาหกรรมทีวีไทยพูดถึงภาพใหญ่ ไม่เหมือนใครในโลก เอาแบบง่ายสุดคือทีวีบ้านเรามันดูฟรี แล้วค่าใช้จ่ายมีเรื่องเดียวคือค่าไฟ แต่ว่าต่างประเทศมันมี subscription fee


“พอดูฟรี 100% คนในอุตสาหกรรมก็มีรายได้หลักอย่างเดียวคือโฆษณา เพราะว่ามันไม่มีรายได้อื่น


“สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ ถ้าดูในภาพใหญ่ เทคโนโลยีมันทำให้ทุกอย่างฟรี หรือไม่ฟรีก็ถูกลง ซึ่งในมุมมองผม เราเองอาจจะปรับตัวได้ง่ายที่สุด เพราะว่าเราคุ้นชินกับของฟรีอยู่แล้ว”


ชลากรณ์มองว่าวันนี้จำนวนช่องทีวีมีเยอะมากและหลากหลายช่องทาง แม้ฟากอุตสาหกรรมจะแบ่งประเภทเป็นฟรีทีวีเก่า ทีวีดิจิทัล ทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวี หรือแม้กระทั่งทีวีออนไลน์ แต่ในแง่ของคนดูไม่ได้แบ่งแยก แค่ดูทีวีชัดและมีช่องเยอะๆ แค่นี้ก็มีความสุข


ถึงตรงนี้ ชลากรณ์บอกว่าในสายตาของเขาแบ่งคนดูทีวีทั่วไปกับคนดูทีวีออนไลน์เป็นคนละกลุ่ม


“ทีวีที่ชาวบ้านดูกันส่วนใหญ่ผ่านคลื่นหรือผ่านดาวเทียม ผมแยกเป็นอีกกลุ่มหนึ่ง เนื่องจากมันง่าย เพราะซื้ออุปกรณ์ครั้งเดียวแล้วจบ ซื้อกล่องหนึ่งกล่องแล้วจบ แต่ทีวีออนไลน์ผมถือว่าเป็นอีกกลุ่มหนึ่ง มันดูเหมือนฟรี แต่มันไม่จบเรื่อง และไม่ฟรีจริง


“อินเทอร์เน็ตมีค่าใช้จ่าย ถูกที่สุดในวันที่เราคุยกัน อินเทอร์เน็ตบ้านราคา 590 บาท


ความเชื่อผม สื่อออนไลน์ยังไม่ได้เข้าถึงคนทั้งประเทศจริง แต่ถ้าเป็นข้อความหรือ text ผมไม่เถียง แต่ถ้าเป็นวิดีโออาจจะไม่ใช่แล้ว”


แม้สถิติจากค่ายมือถือจะระบุว่าคนไทย 85-90% ใช้สมาร์ทโฟน แต่ชลากรณ์บอกว่าถ้าดูสัดส่วนการใช้งานจะพบว่า 85% ใช้บัตรเติมเงินเดือนละไม่เกิน 200 บาท


“ขัดแย้งกับ 590 บาทเมื่อกี้ไหม?” ชลากรณ์ชวนตั้งข้อสังเกต


“มันแสดงว่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยยังขึ้นอยู่กับความสามารถในการจ่ายเงินอยู่ ซึ่งบังเอิญว่าชนชั้นกลางเป็นคนที่พอมีความสามารถในการจ่ายเงิน มันเลยดูเสมือนว่าอุตสาหกรรมออนไลน์น่าจะตื่นตูมทีเดียว เพราะชนชั้นกลางเสียงดังเสมอในประเทศเรา

 

 

เพื่อให้เห็นภาพใหญ่ ชลากรณ์พาผมถอยออกมาดูโครงสร้างรายได้ประชากรไทย (ไม่แบ่งภูมิภาค) ที่เขาแบ่งเองแบบง่ายๆ ในสัดส่วน 50-30-20

 

  • 50% รายได้ต่อครัวเรือนไม่เกิน 20,000 บาท
  • 30% รายได้ต่อครัวเรือนไม่เกิน 70,000 บาท
  • 20% รายได้ต่อครัวเรือนเกิน 70,000 บาทขึ้นไป


“ไม่แปลกใจหรอก ทำไมเลือกตั้งแล้วขัดใจชนชั้นกลาง” คำพูดนี้ของชลากรณ์ช่วยให้ผมเห็นภาพกลุ่มคนดูทีวีได้กระจ่างชัด


“ผมมีตัวอย่างจะเล่าให้ฟัง รายการชื่อ ‘ไมค์ทองคำเด็ก’ เป็นรายการที่เรตติ้งเยอะที่สุดของช่อง พอมาทำ Facebook LIVE ก็ดีขึ้นหน่อย ยอดคน current (ดูระหว่างถ่ายทอดสด) ประมาณ 4,000-10,000 วิว ถ้าเทียบกับ I Can See Your Voice ยอดคน current ขั้นต่ำประมาณ 50,000 วิว แต่เรตติ้งช่วงหนึ่งน้อยกว่า ไมค์ทองคำเด็ก แต่ไม่ได้เป็นปรากฏการณ์ เพราะในออนไลน์ไม่ค่อยได้พูดถึง ทั้งที่ผลลัพธ์ก็ดีมาตลอดนะ ในแง่คนทำทีวีหรือคนในอุตสาหกรรมอาจคิดว่าคนวัดเรตติ้งอาจจะวัดผิด แต่ผมว่าไม่ใช่ เขาอาจจะไม่ได้วัดถูกในแบบที่เราอยากใช้”


สิ่งที่คุณแกะได้จากการปล่อยคอนเทนต์บนทีวีและออนไลน์คืออะไร?


“ถ้าดี มันจะดีทั้งคู่ ไม่ค่อยเห็นว่าทีวีดีแล้วออนไลน์ไม่ดี หรือออนไลน์ดีแล้วทีวีจะไม่ดี คือถ้าพื้นฐานคอนเทนต์ดี ไม่ว่าอยู่ที่ไหนมันจะดี ผมเห็นตัวเลขพวกนี้ ผมเชื่อว่ามันไม่ทำลายกัน แต่มันจะช่วยด้วยซ้ำ


คำพูดของเขาทำให้ผมนึกถึงคำพูดของวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ผู้อำนวยการอาวุโสส่วนงานข่าว ช่อง PPTV ที่บอกว่า Facebook LIVE ไม่ได้แย่งเรตติ้งทีวี ‘เรตติ้งของข่าวทีวีก็ไม่ได้ลดลง มันไปด้วยกัน’


กลับมาที่ข้อสังเกตของชลากรณ์ เขาเล่าว่าเคสที่ยืนยันว่าออนไลน์ช่วยให้เรตติ้งทีวีเพิ่มขึ้นคือเคส The Mask Singer


“เคสนี้น่าจะชัดที่สุด คนที่ไม่ดูทีวีมาพักหนึ่งแล้ว มีบางส่วนก็กลับมาดูทีวีด้วยซ้ำ เพราะเห็นจากทางออนไลน์ว่ามันฮิต


“เหมือนกับว่าออนไลน์เป็นเครื่องมือที่ทำให้คนชนชั้นกลางพูดถึง ดังนั้นทีวีเป็นความบันเทิงราคาถูกที่สุดที่ดูฟรี ดูไม่ดูค่อยว่ากัน แต่มันเข้าถึงทุกคนแน่ๆ”

ถ้าพื้นฐานคอนเทนต์ดี ไม่ว่าอยู่ที่ไหนมันจะดี ผมเห็นตัวเลขพวกนี้ ผมเชื่อว่ามันไม่ทำลายกัน แต่มันจะช่วยด้วยซ้ำ

 

ถอยมาดูภาพโมเดลธุรกิจสื่อทีวีวันนี้ ไม่มีอะไรซับซ้อน คนดูเยอะ โฆษณาเยอะ คนดูน้อย โฆษณาก็น้อย นอกจากออนไลน์จะไม่ได้แย่งคนดูทีวีแล้ว ชลากรณ์ยังมองเห็นโอกาสในการหารายได้จากแพลตฟอร์มออนไลน์


“คุณคิดว่าคนดู ชิงร้อยชิงล้าน ขับเบนซ์ไหม?” ชลากรณ์ตั้งคำถาม


“ต้องมีบ้าง แต่เบนซ์ไม่น่าเลือกลงโฆษณา” ผมตอบ


แต่พอเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่สามารถเก็บข้อมูลรายบุคคล ชลากรณ์บอกว่าถ้ามีคนดูคลิป ชิงร้อยชิงล้าน ในยูทูบ แล้วช่วงนั้นคนคนนั้นกำลังอยากได้เบนซ์พอดี เช่น อาจเข้าไปหาข้อมูลหรือเว็บไซต์ซื้อ-ขายรถเบนซ์ ระบบออนไลน์จะจดจำข้อมูลเอาไว้ ระหว่างที่ดูคลิป คนคนนั้นก็จะเห็นโฆษณาเบนซ์ใน ชิงร้อยชิงล้าน


“ถ้าเป็นวิธีคิดแบบเดิมๆ ชิงร้อยชิงล้าน สินค้าแบรนด์อย่างเบนซ์, มินิ คูเปอร์, กระเป๋าแบรนด์เนมหรูๆ อาจจะไม่ได้โผล่เลย แต่ตอนนี้มันเริ่มไม่ใช่แล้ว”


วันนี้คนสามารถดูทีวีได้ทุกที่ทุกเวลา คุณคิดว่า ‘ไพรม์ไทม์’ ยังมีอยู่ไหม? ผมโยนคำถาม ชลากรณ์นิ่งคิดสักพัก


“ยังมีนะ คลิปตัวเดียวกัน พี่ลงเก้าโมงเช้ากับลงสองทุ่ม คนดูไม่เท่ากัน แปลว่าสองทุ่มคือไพรม์ไทม์”


ชลากรณ์บอกว่า ถึงจะดูได้ตลอดเวลา แต่จังหวะแรกที่ลงต้องเลือกเวลา ส่วนจะคนดูเยอะหรือน้อย ต้องวัดกันที่ความสามารถของคอนเทนต์


“ถ้าคอนเทนต์นั้นเป็นเสมือนลูกบอลวิเศษ ไม่ว่าลงตอนไหนมันก็จะดี แล้วอาจทำให้เราหลงคิดไปว่าลงเมื่อไรก็ได้ แต่ไม่ใช่ลูกบอลวิเศษ มันเป็นน้ำธรรมดาแก้วหนึ่ง คนจะกินตอนสองทุ่ม ไม่กินตอนเก้าโมง”


นอกจากเรื่องช่วงเวลา บางตำราระบุว่ากลุ่มคนเสพสื่อจะ niche และจับกลุ่มผู้ชมที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น แต่ในความคิดของชลากรณ์ การทำสื่อจำเป็นต้องแมส


“ยุคนี้แมสมันมีหลายระดับ สมมติเราทำเว็บไซต์สื่อสารกับคนดูหมื่นคนต่อเดือน มันแปลว่าเราทำสื่อเพื่อคุยกับเพื่อน แต่ถ้าเราต้องการสื่อสารกับคนดูหลักแสนหรือล้านคนต่อเดือน แบบนี้ถือว่าแมสแล้วนะ พี่ว่าสื่อใหม่ก็ต้องการแมส แต่แมสในสเกลไหนมากกว่า”

 

 

สุดท้าย คุณคิดว่าสื่อทีวีจะตายไหม?


“ในระยะ 5-10 ปี ยังไปได้” ชลากรณ์คิด เพราะปัจจัยที่จะทำให้ทีวีตายคือราคาในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต


ถ้าวันหนึ่งเน็ตบ้าน 100 MB เหลือเดือนละ 200 บาท หรือเหมือนอินเดียที่เพิ่งประกาศว่าอินเทอร์เน็ตเป็นปัจจัยที่ห้า ทุกคนต้องมีใช้ฟรี เราอาจจะดูทีวีกันทางอินเทอร์เน็ต คลื่น (ทีวีดิจิทัล) ที่ไปประมูลมาก็อาจจะไม่มีประโยชน์แล้ว


“แต่ถ้าเน็ตไม่ฟรี มันก็จะเป็นอยู่อย่างนี้”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising