×

อ่านกลยุทธ์บัตรแรบบิท BTS ปี 2563 ‘ตั๋วร่วม’ พร้อมร่วมไหม?

20.12.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 MINS. READ
  • บัตรแรบบิทเผยต้นทุน ‘ตั๋วร่วม’ ใช้ระบบ OpenLoop และระบบ EMV ใช้เงิน หลักร้อยล้านบาท แต่ยืนยันพร้อมพา 10 สาย BTS ผสาน ‘ตั๋วร่วม’ รอรัฐออกกฎชัดเจนเพื่อปรับระบบภายใน 
  • 2 ความท้าทายปัญหาใหญ่บัตรแรบบิทคือ Rabbit LINE Pay มีคนใช้แค่ 20%, ใช้บัตรแรบบิทบนรถเมล์ไทยทั้งระบบยังยาก  
  • คนไทยใช้บัตรแรบบิท 70% ในการขึ้น BTS ดังนั้นปี 2564 ที่รถไฟฟ้าเปิดสายสีเหลือง สายสีชมพู คาดว่าจะมีเส้นทางให้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 170 กิโลเมตร จากปัจจุบันอยู่ที่ 50 กิโลเมตร

เมื่อรถไฟฟ้าทั้ง BTS และ MRT เริ่มกระจายไปรอบกรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่ยังมีปัญหาหลายเรื่องทั้งค่าโดยสารที่สูงพอๆ กับค่าครองชีพ ไหนจะปัญหา ‘ตั๋วร่วม’ หรือบัตรแมงมุมที่ภาครัฐเลื่อนการใช้มาหลายรอบ 

 

ฝั่งภาคเอกชนอย่างบัตร Rabbit ที่ใช้บนรถไฟฟ้า BTS จะมีส่วนในการแก้ปัญหาระบบขนส่งสาธารณะที่ไม่ใช่แค่รถไฟฟ้าอย่างไร?

 

 

บัตรแรบบิทในระบบขนส่งมวลชนไทย คนใช้เยอะแค่ไหน? 

รัชนี แสนศิลป์ชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอก สมาร์ทการ์ด ซิสเทม จำกัด (BTSS) ผู้ให้บริการบัตร Rabbit (บัตรแรบบิท) กล่าวว่า ปัจจุบันบัตรแรบบิทมีผู้ใช้งาน 13 ล้านใบ โดย 60-70% อยู่ในช่วงอายุ 20-35 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มเพิ่งจบการศึกษา วัยเริ่มงาน และเป็นกลุ่มที่มีการเดินทางค่อนข้างมาก

 

“ทุกวันนี้มีคนใช้บัตรแรบบิทบนรถไฟฟ้า BTS ราว 70% ของยอดเฉลี่ยการใช้ BTS 900,000 ครั้งต่อวัน แต่ละวันมีการออกบัตรใหม่เฉลี่ย 2,000 ใบต่อวัน ทำให้แต่ละปีออกบัตรใหม่อยู่ที่ 15% ต่อปี”

 

ทั้งนี้ฐานบัตรแรบบิทจะขยายขึ้น โดย 2563 คาดว่าจะมีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านคนต่อวัน ส่วนปี 2564 รถไฟฟ้า BTS จะเปิดให้บริการสายสีเขียวเหนือ (หมอชิต-คูคต) สายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) และสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) คาดว่าระยะทางการให้บริการของ BTS จะเพิ่มขึ้นเป็น 170 กิโลเมตร จากปัจจุบันอยู่ที่ 50 กิโลเมตร จะทำให้มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอีก 1.5-2 ล้านคน 

 

โดยจะขยายผ่านรูปแบบบัตรทั้ง 4 ประเภท ได้แก่ 1. บัตรพื้นฐาน 2. บัตร

Co-Brand ร่วมธนาคารกรุงเทพ 3. บัตรลูกค้าองค์กร 4. บัตรลายพิเศษ (สำหรับเก็บสะสม) โดยปี 2563 นี้จะขยายฐานบัตรแรบบิทในกลุ่มคนทำงาน ผ่านพันธมิตรแบบ B2B มากขึ้น เช่น ฐานลูกค้าองค์กร 

 

‘ตั๋วร่วม’ บัตรแมงมุมจะเวิร์กต้องมี OpenLoop แต่ไทยพร้อมหรือยัง?​

รัชนีกล่าวว่า ปัจจุบันระบบบัตรแรบบิทเป็นระบบปิด คือสามารถใช้บัตรของแรบบิทกับรถไฟฟ้า BTS ได้ ต่างจากบางประเทศที่มีระบบ OpenLoop คือระบบที่เปิดรับการใช้บัตรในระบบอื่นๆ อย่างอังกฤษใช้ระบบ EMV (Europay MasterCard Visa) สามารถใช้บัตรเครดิตหรือเดบิตในเครือข่ายนี้แตะจ่ายค่าโดยสารที่สถานีได้เลย 

 

ทั้งนี้ภาครัฐมีทิศทางจะทำให้ระบบขนส่งมวลชนของไทยเป็น OpenLoop หรือการทำระบบ EMV แต่ยังไม่มีกฎระเบียบที่ชัดเจน ดังนั้นทางรัฐมีความชัดเจนว่าจะใช้ระบบใด ทางบริษัทฯ พร้อมจะปรับระบบมาใช้กับรถไฟฟ้า BTS ทั้ง 10 สาย 

 

อย่างไรก็ตาม การทำระบบใหม่อาจใช้ต้นทุนหลักร้อยล้านบาท เช่น ต้นทุนระบบภายใน ระบบหัวจ่าย ที่แตะเพื่ออ่านบัตรในแต่ละสถานีและใช้เวลาพัฒนา

 

ขณะเดียวกันการใช้ระบบ EMV อาจจะไม่ตอบโจทย์ไทย ที่คนบางส่วนยังไม่มีบัญชีธนาคาร หากเริ่มใช้ระบบ EMV ที่สามารถใช้บัตรเครดิต บัตรเดบิตแตะจ่ายค่าโดยสารได้ ก็อาจเข้าไม่ถึงคนบางกลุ่ม ซึ่งปัจจุบันคนไทยยังนิยมใช้ ‘บัตรเติมเงิน’ ในการจ่ายค่าโดยสารเพราะสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้มากกว่า 

 

 

โจทย์ใหญ่ Rabbit LINE Pay คนใช้น้อย หรือยังใช้ง่ายไม่พอ?

ปี 2562 ที่ผ่านมา ทางบริษัทฯ ออกบริการใหม่ Rabbit LINE Pay ให้ลูกค้าสามารถเช็ก เติมเงินผ่านมือถือ เพื่อเพิ่มความสะดวกตามไลฟ์สไตล์คนปัจจุบัน แต่ตอนนี้มีสมัครใช้งานราว 20% เท่านั้น ซึ่งไตรมาส 1 ปี 2563 ทางบริษัทฯ จะเพิ่มช่องทางการเติมเงินผ่าน Mobile Banking เช่น ไทยพาณิชย์, กรุงเทพ, กสิกรไทย 

 

“Rabbit LINE Pay คนยังน้อยมาก แสดงว่าคนยังชอบที่จะใช้บัตรเติมเงินอยู่ ยิ่งตอนนี้การแข่งขันตลาด e-Wallet ยังสูงขึ้นเรื่อยๆ บัตรแรบบิทต้องรักษาจุดแข็งที่ใช้กับระบบขนส่งสาธารณะ และขยายร้านค้าเครือข่ายให้มากขึ้น” 

 

Rabbit LINE Pay เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ในการขยายฐานบัตร และในปี 2563 ทางบริษัทฯ จะร่วมมือกับบัตรเครดิต ออกบัตร Co-Brand ที่สามารถแตะจ่ายค่าโดยสารได้ที่สถานีโดยตรง

 

เปิดกลยุทธ์ป่าล้อมเมือง Rabbit เจาะลูกค้าต่างประเทศ-ใช้บัตรบนรถเมล์

รัชนีกล่าวว่า กลยุทธ์หลักยังเน้นการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ดังนั้นนอกจากการใช้บนรถไฟฟ้า จะขยายไปที่รถประจำทาง (รถเมล์) โดยเฉพาะสายที่เชื่อมระหว่างจังหวัด เจาะหัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัด เช่น บุรีรัมย์, เชียงใหม่, ภูเก็ต ฯลฯ เพื่อขยายฐานผู้ใช้งาน ปัจจุบันมี 2 สาย ได้แก่ สมาร์ทบัสสาย 104 ปากเกร็ด-หมอชิต และสาย 150 ปากเกร็ด-บางกะปิ ภายในไตรมาส 1 ปี 2563 จะขยายระบบในรถสมาร์ทบัส 5 สาย ได้แก่ สาย 51, 52, 147, 167 ส่วนอีกหนึ่งสายอยู่ระหว่างการเจรจา

 

“ตอนนี้การทดลองใช้บัตรแรบบิทจ่ายเงินบนรถเมล์ไทยยังยากมาก เพราะสภาพแวดล้อมแบบไทยต่างจากระบบในต่างประเทศ เช่น รถเมล์ไทยคิดเงินตามระยะทาง เมื่อรถเมล์จอดไม่ตรงป้าย จะคิดเงินอย่างไร ฯลฯ”  

 

 

ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าปี 2563 บัตรแรบบิทใหม่จะเพิ่มขึ้นจากผู้โดยสายรถเมล์อย่างน้อย 3-4 แสนใบต่อปี ทำให้ทั้งปี 2563 คาดว่าจะมียอดบัตรใหม่รวม 15 ล้านใบ

 

อย่างไรก็ตาม แรบบิทยังมุ่งขยายฐานลูกค้าต่างชาติแม้จะมีสัดส่วนราว 5% ปีหน้าจะขยายผ่านช่องทางตัวแทนในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์และจีน รวมถึงโรงแรมต่างๆ

 

นอกจากนี้จะมีความร่วมมือกับ WeChat Alipay ซึ่งน่าจะเห็นความคืบหน้าในช่วงปลายปี 2563  

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising