×

สำรวจมาตรการ ‘ไม่เอาคุกหอใน’ ถ้านักศึกษาในหอพักติดโควิด-19 จะต้องกักตัวทั้งหอพักหรือไม่

17.04.2021
  • LOADING...
ไม่เอาคุกหอใน

HIGHLIGHTS

  • หลังพบผู้ป่วยโควิด-19 ภายในหอพักของนิสิต มหาวิทยาลัยแห่งนี้จึงประกาศกักบริเวณนิสิตทั้งหอพัก โดยให้นิสิตที่พำนักในหอพัก สามารถดำเนินชีวิตปกติภายในพื้นที่รั้วหอพักเท่านั้น” เพื่อจำกัดความเสี่ยงของการแพร่ระบาด ในขณะที่ฝั่งนิสิตบางส่วนประท้วง ‘ไม่เอาคุกหอใน’ ไม่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว
  • การระบาดในหอพักมักมีลักษณะเป็นคลัสเตอร์ คือพบผู้ป่วยจำนวนมากที่มีความเชื่อมโยงกันทางระบาดวิทยา การสอบสวนโรคจึงต้องสืบหาความเชื่อมโยงกันระหว่างผู้ป่วยว่า ใครเริ่มป่วยก่อน แพร่ให้ใครต่อ และมีปัจจัยเสี่ยงด้านพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง 
  • การพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากในคราวเดียว สิ่งแรกที่เกิดขึ้นคือ ‘ความตื่นตระหนก’ นักศึกษาอาจคิดว่าฉันติดหรือไม่? เพื่อนร่วมห้องจะติดหรือเปล่า? ส่วนผู้บริหารอาจคิดว่าอย่างนี้น่าจะติดกันทั้งหอพักหรือไม่ ถ้าไม่ทำอะไรเลยจะควบคุมการระบาดได้หรือเปล่า หรือสั่ง ‘ล็อกดาวน์’ เลยดีกว่า?

หลังจากที่มีนิสิต ‘หอใน’ หอพักภายในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งตรวจพบว่าเป็นโรคโควิด-19 จำนวน 10 ราย มหาวิทยาลัยแห่งนี้จึงประกาศกักบริเวณนิสิตทั้งหอพัก โดยให้ “นิสิตที่พำนักในหอพักช่วงวันอังคารที่ 13 เมษายน ถึงวันจันทร์ที่ 26 เมษายน 2564 นิสิตสามารถดำเนินชีวิตปกติภายในพื้นที่รั้วหอพักเท่านั้น” เพื่อจำกัดความเสี่ยงของการแพร่ระบาด 

 

ในขณะที่ฝั่งนิสิต บางส่วนประท้วง ‘ไม่เอาคุกหอใน’ ไม่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว เพราะผู้ป่วยได้รับการแยกตัวในโรงพยาบาล ส่วนผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูงถูกกักตัวแล้ว เหลือผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงต่ำ และผู้ที่ไม่มีความเสี่ยงอยู่ที่หอพัก จึงไม่จำเป็นต้องกักตัวนิสิตทั้งหมด มาตรการนี้จำเป็นหรือไม่ และหากเกิดเหตุการณ์เดียวกันนี้อีกควรมีมาตรการอย่างไร

 

ผมขอแบ่งคำตอบออกเป็น 3 ระดับคือ การสอบสวนโรคตาม ‘ปกติ’ การสอบสวนโรคที่ ‘เริ่ม’ ไม่ปกติ และการควบคุมโรคในเหตุการณ์ที่ ‘ไม่ปกติ’ ดังนี้

 

การสอบสวนโรค ‘ตามปกติ’

การสอบสวนโรคตามปกติ เริ่มต้นจาก ‘ผู้ป่วย’ หรือผู้ติดเชื้อ จะต้องถูกซักประวัติย้อนกลับไป 14 วันก่อนมีอาการเพื่อหาแหล่งโรค (Source) และย้อนกลับไป 2 วัน + ไปข้างหน้าจนกว่าจะได้รับการแยกตัวเพื่อระบุผู้สัมผัสใกล้ชิด (Close Contact) หรือ ‘วงที่ 1’ ตามความเข้าใจของประชาชนทั่วไป โดยวงที่ 1 จะแบ่งออกเป็น ‘เสี่ยงสูง’ กับ ‘เสี่ยงต่ำ’ ขึ้นกับการสวมหน้ากาก

 

 

  • วงที่ 1 เสี่ยงสูง จะต้องตรวจหาเชื้อทุกคน หาก ‘พบเชื้อ’ ก็จะกลายเป็นผู้ป่วย แล้วต้องเริ่มกระบวนการสอบสวนโรคเพื่อหาวง 1 ใหม่ แต่ถ้า ‘ไม่พบเชื้อ’ จะต้องกักตัว (Quarantine) จนครบ 14 วัน 
  • วงที่ 1 เสี่ยงต่ำ ไม่ต้องกักตัว แต่ให้หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด สังเกตอาการตนเอง (Self-monitoring) จนครบ 14 วัน หากมีอาการ ถึงจะไปตรวจหาเชื้อ คือไม่จำเป็นต้องตรวจหาเชื้อทุกคน
  • วงที่ 2 และ 3 ยังสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ ไม่ต้องกักตัว แต่ยังสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือ หากวง 1 กลายเป็นผู้ป่วย คนในวง 2 ก็จะเลื่อนมาเป็นวง 1 ใหม่แทน ขยายวงออกไปเรื่อยๆ

 

ปัจจุบันกรมควบคุมโรคได้ปรับปรุงแนวทางการสอบสวนโรคใหม่จากเดิมวงที่ 1 เสี่ยงสูง จะได้รับการตรวจหาเชื้อเพียงครั้งเดียวในวันที่ 5 เป็นต้นไปหลังสัมผัสกับผู้ป่วยครั้งสุดท้าย 

 

เปลี่ยนเป็นการตรวจหาเชื้อ 2 ครั้ง โดยครั้งแรกในวันที่สามารถระบุผู้สัมผัสได้ และครั้งที่ 2 นับจากครั้งแรกไป 7 วัน หรือในวันที่ 13 หลังสัมผัสกับผู้ป่วยครั้งสุดท้าย 

 

แนวทางใหม่นี้จะช่วยให้ตรวจพบผู้ป่วยรายใหม่ได้เร็วขึ้น (Early Detection) เมื่อตรวจพบเร็วก็จะสอบสวนโรคขยายผลไปยังวงถัดๆ มาได้เร็วขึ้นด้วย ทว่าสถานที่ที่คนอยู่รวมกันจำนวนมาก เช่น สถานศึกษา หอพัก (ยิ่งเป็นหอพักในสถานศึกษา) โรงงาน หรืออยู่รวมกันอย่างแออัด เช่น เรือนจำ มักจะไม่ได้มีผู้ป่วยเพียงคนเดียว 

 

การสอบสวนโรคที่ ‘เริ่ม’ ไม่ปกติ

การระบาดในหอพักมักมีลักษณะเป็นคลัสเตอร์ คือพบผู้ป่วยจำนวนมากที่มีความเชื่อมโยงกันทางระบาดวิทยา (ตามนิยามของ ‘คลัสเตอร์’ คือจำนวนผู้ป่วยตั้งแต่ 5 รายขึ้นไป) การสอบสวนโรคจึงต้องสืบหาความเชื่อมโยงกันระหว่างผู้ป่วยว่า ใครเริ่มป่วยก่อน แพร่ให้ใครต่อ และมีปัจจัยเสี่ยงด้านพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง 

 

ในหอพักอาจเริ่มต้นจากการที่นักศึกษาไปสัมผัสกับผู้ป่วยข้างนอก หรือไปงานคอนเสิร์ต/สถานบันเทิง แล้วกลับมาแพร่ให้กับเพื่อนร่วมห้อง จากนั้นระบาดต่อไปยังคนอื่นผ่านพื้นที่ส่วนกลาง เช่น นักศึกษาอาจมานั่งรวมกันที่ Common Area กว่าจะพบ ‘ผู้ป่วยรายแรกที่ได้รับการตรวจหาเชื้อ’ (Index Case) การระบาดก็อาจแพร่มาถึงวงที่ 2-3 แล้ว

 

ในกรณีที่ไม่สามารถหาแหล่งโรคของ Index Case หรือของผู้ติดเชื้อรายอื่นๆ ได้จะต้องมี ‘การค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติม’ (Active Case Finding: ACF) ในกลุ่มเป้าหมาย 2 กลุ่ม

 

  • กลุ่มผู้ป่วยสงสัย (Suspected Case) คือนักศึกษาที่มีไข้หรืออาการทางเดินหายใจในช่วงตั้งแต่ 14 วันก่อนที่ Index Case เริ่มมีอาการ ถึงช่วง 28 วัน (2 เท่าของระยะฟักตัว) หลังจากพบผู้ป่วยรายสุดท้าย ซึ่งจะเป็นการย้อนกลับไปค้นหาผู้ป่วยรายแรก (Primary Case หรือ Patient Zero) และเฝ้าระวังผู้ป่วยรายใหม่ไปข้างหน้าจนกว่าจะสิ้นสุดการระบาด
  • กลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อ คือวงที่ 1 เสี่ยงต่ำ และวงที่ 2 ที่อาศัย/เรียนอยู่ในสถานที่เดียวกันกับผู้ป่วย เช่น เพื่อนร่วมชั้น เพื่อนร่วมหอพัก เพื่อนร่วมห้องเรียน ซึ่งในการสอบสวนโรค ‘ตามปกติ’ จะไม่ได้รับการตรวจหาเชื้อ แต่เนื่องจากผู้ป่วยบางส่วนไม่มีอาการ และอาจมีการระบาดเป็นวงกว้างแล้ว ดังนั้นในการ ACF จึงต้องตรวจหาเชื้อในกลุ่มนี้ด้วย

 

ผลการ ACF มีโอกาสออกมา 3 แบบคือ 

 

(1) ไม่พบผู้ป่วยเพิ่มเติม แสดงว่าน่าจะเป็นการติดเชื้อจากนอกหอพัก หรือ Primary Case อาจตรวจไม่พบเชื้อแล้ว 

 

(2) พบผู้ป่วยเพิ่มเติม แต่ไม่มากก็สอบสวนโรค ‘ตามปกติ’ ต่อ 

 

(3) พบผู้ป่วยเพิ่มเติมเยอะมาก เช่น จากเดิม 5 ราย แทนที่จะเป็น 10 แต่เป็น 20-30 รายแทน

 

การควบคุมโรคในเหตุการณ์ที่ ‘ไม่ปกติ’

การพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากในคราวเดียว สิ่งแรกที่เกิดขึ้นคือ ‘ความตื่นตระหนก’ นักศึกษาอาจคิดว่าฉันติดหรือไม่? เพื่อนร่วมห้องจะติดหรือเปล่า? ส่วนผู้บริหารอาจคิดว่าอย่างนี้น่าจะติดกันทั้งหอพักหรือไม่ ถ้าไม่ทำอะไรเลยจะควบคุมการระบาดได้หรือเปล่า หรือสั่ง ‘ล็อกดาวน์’ เลยดีกว่า?

 

อย่างกรณี ‘หอใน’ ข้างต้น จากอินโฟกราฟิกสรุปการประชุมหอพักวันที่ 14 เมษายน 2564 ทางมหาวิทยาลัยให้เหตุผลของการล็อกดาวน์หอพัก 14 วันไว้ 2 ข้อคือ 

 

(1) ป้องกันการติดเชื้อใหม่จากภายนอกเข้ามาในหอพัก โดยวงเล็บว่าข้อนี้ ‘สำคัญที่สุด’ 

 

(2) ป้องกันการแพร่ระบาดจากหอพักออกไปข้างนอก ข้อหลังนี้แสดงว่ามีการระบาดในหอพักแล้ว?

 

สำหรับเหตุการณ์ที่ ‘ไม่ปกติ’ นี้ ปัจจุบันกรมควบคุมโรคยังไม่มีแนวทางยกระดับมาตรการ นอกเหนือจากการสอบสวนโรค ‘ตามปกติ’ คือการสอบสวนโรคเฉพาะรายบุคคลและการค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติม ซึ่งถ้าหอพักทำได้ครอบคลุมก็จะสามารถควบคุมการระบาดได้ระดับหนึ่ง เพราะถ้าติดตามวงที่ 1 เสี่ยงสูงได้ไม่ครบ ในพื้นที่นั้นก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ 

 

โดยอาจให้นักศึกษาประเมินตนเองว่าจัดอยู่ในกลุ่มนี้หรือไม่เพื่อความรวดเร็ว แล้วรายงานให้หอพักเตรียมห้อง/โซนสำหรับการกักตัว รวมถึงเตรียมอาหารและเครื่องดื่ม และของใช้ที่จำเป็น ส่วนการค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมในวงที่ 1 และ 2 จะทำให้ ‘ตีวง’ ได้ว่าขอบเขตของการระบาดอยู่ตรงไหน ไม่ต้องล็อกดาวน์บริเวณหอพักทั้งหมด

 

ส่วนถ้าจะมีการ ‘ล็อกดาวน์’ ในความหมายว่าห้ามนักศึกษาเข้า-ออกหอพัก น่าจะมีกรณีเดียวคือพบผู้ป่วยจำนวนมากจนคาดว่าจะมีการระบาดในหอพัก ซึ่งผู้เชี่ยวชาญของกรมควบคุมโรคเคยออกแนวทางการสอบสวนโรคในโรงงานว่า ถ้าพบผู้ป่วยมากกว่า 30% ขึ้นไปควรปิดชั่วคราว เพื่อ ‘ตัดวงจร’ ให้พนักงานกักตัวสังเกตอาการที่บ้านเป็นเวลา 14 วัน 

 

หากทุกคนกักตัวแยกกัน เมื่อถึงวันที่ 14 ผู้ติดเชื้อก็จะครบระยะแพร่เชื้อ ไม่แพร่เชื้อ ส่วนวงที่ 1 ก็จะครบระยะสังเกตอาการ แต่จะต้องวางแผนการตรวจวินิจฉัย (หากประยุกต์ใช้แนวคิด ‘Bubble & Seal’ ของสมุทรสาครจะมีการตรวจทั้ง PCR และ Antibody) รวมถึงวางแผนอื่นๆ เช่น การกักตัวรวมกันหลายคนในห้องเดียวกัน และโรงพยาบาลสนาม 

 

ความคืบหน้าล่าสุดที่ ‘หอใน’

คณะกรรมการนิสิตหอพักได้รวบรวมความเห็นส่วนหนึ่งของนิสิตมาร่างเป็นข้อเสนอมาตรการที่เหมาะสมแล้วให้นิสิตลงคะแนนเสียงเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2564 พบว่า 705 คน (96%) เห็นด้วยกับมาตรการ ‘ไม่ปิดหอพัก’ จึงได้ยื่นข้อเสนอนี้ให้กับทางมหาวิทยาลัยพิจารณา ร่วมกับความเห็นของฝ่ายแพทย์ ศูนย์ปฏิบัติการ COVID-19 ของมหาวิทยาลัย

 

วันที่ 15 เมษายน หอพักนิสิตของมหาวิทยาลัยจึงออกประกาศฉบับใหม่ยกเลิกการกักบริเวณนิสิตทั้งหอพัก และใช้ ‘ข้อตกลงร่วมกันของนิสิตหอพัก’ แทน ซึ่งประกอบด้วยมาตรการ 8 ข้อ ทั้งการควบคุมการเข้าออกพื้นที่ การเฝ้าระวังนิสิตที่กลับมาจากพื้นที่เสี่ยง มาตรการการปรับตัวการใช้ชีวิต แต่ผมขอลงรายละเอียดเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ คือ

 

มาตรการกรณีมีนิสิตติดโควิด-19 ซึ่งมีการแบ่งนิสิตออกเป็น 4 กลุ่มคือ ผู้ติดเชื้อ และวงที่ 1-3 โดยแยกผู้ติดเชื้อออกไปรับการรักษา และกักตัวเฉพาะวงที่ 1 เท่านั้น ส่วนวงที่ 2 ซึ่งเป็นนิสิตที่อาศัยอยู่ในชั้นเดียวกันให้สังเกตอาการ 14 วัน (ยกเว้นบางตึกที่ใช้ห้องน้ำแยกจะกลายเป็นวงที่ 3) ในขณะที่วงที่ 3 คือผู้ที่ไม่ได้มีกิจกรรมร่วมกับผู้ติดเชื้อ ไม่ต้องกักตัว

 

ซึ่งในความเห็นของผมคิดว่ามีความเหมาะสมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะมาตรการควบคุมโรคเป็นการควบคุม ‘ไวรัส’ ถึงแม้จะมีมนุษย์เป็นพาหะแพร่เชื้อจากสถานที่หนึ่งไปอีกสถานที่หนึ่ง แต่ก็ต้องคำนึงถึง ‘ความเป็นมนุษย์’ หรือผลกระทบที่ตามมาด้วย หากเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันนี้เกิดขึ้นในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยอื่นอาจประยุกต์จากมาตรการเหล่านี้ได้

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising