×

รู้จัก MCATT ทีมเยียวยาแผลใจ กรมสุขภาพจิต กับภารกิจ 72 ชั่วโมง ดูแลครอบครัวผู้สูญเสียภายในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ

โดย THE STANDARD TEAM
09.10.2022
  • LOADING...
MCATT

เข้าสู่วันที่สี่ของเหตุการณ์สูญเสียภายในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลอุทัยสวรรค์ อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก โดยเป็นเด็กเล็กมากถึง 24 ราย นับเป็นอีกหนึ่งโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ของประเทศไทย 

 

เป็นเหตุการณ์สร้างความสะเทือนใจและเศร้าสลดแก่ผู้คนไปทั่วโลก แม้ระยะเวลาจะผ่านมา 4 วันแล้ว แต่ในทุกพื้นที่ของตำบลอุทัยสวรรค์ยังอบอวลไปด้วยความเศร้าโศก โดยเฉพาะครอบครัวของผู้สูญเสียที่ยังอยู่ในภาวะโศกเศร้าและส่งผลกระทบต่อจิตใจอย่างรุนแรง ซึ่งต้องได้รับการเยียวยาและฟื้นฟูจิตใจอย่างเร่งด่วน

 

THE STANDARD พูดคุยกับ พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการกองบริหารระบบบริการสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ทีมในการเยียวยาและฟื้นฟูจิตใจจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น

 

MCATT

 

บทบาทของ MCATT (ทีมเยียวยาจิตใจ) 

พญ.ดุษฎี ระบุว่า MCATT: Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team คือทีมที่ทำหน้าที่ประเมินและดูแลจิตใจในสถานการณ์วิกฤต มีชื่อภาษาไทยว่า ‘ทีมเยียวยาจิตใจ’ ซึ่งมีอยู่ในทุกอำเภอของประเทศไทย เป็นทีมในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข อยู่ที่อยู่กรมสุขภาพจิตและสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 

 

ในเวลาที่เกิดภาวะวิกฤตที่จะส่งผลกระทบต่อจิตใจของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสาธารณภัย เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ เหตุการณ์ระเบิด รวมถึงเหตุการณ์ความสูญเสียครั้งใหญ่ที่จะส่งผลกระทบต่อจิตใจของประชาชนมากกว่า 1 คนออกมาในวงกว้าง ก็จะมีทีมเยียวยาจิตใจเข้ามาช่วยดูแล 

 

แผนต่อการรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 

เวลาที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

 

  • กลุ่มที่ 1 ผู้ใกล้ชิดกับเหตุการณ์ 
  • กลุ่มที่ 2 ประชาชนที่อยู่รอบนอกที่ได้รับผลกระทบด้วย
  • กลุ่มที่ 3 ประชาชนทั่วไปที่ได้รับข่าวสารและเกิดผลกระทบทางจิตใจ

 

กลุ่มที่ 1 และ 2 มักจะเป็นกลุ่มที่มีการดูแลในพื้นที่จังหวัดที่เกิดเหตุ แต่ส่วนที่ 3 จะเป็นการสื่อสารกับประชาชนในภาพรวมของประเทศ เพื่อให้ประชาชนรับรู้และเข้าใจกับเหตุการณ์นั้น หรือเข้าใจมิติที่เป็นผลกระทบด้านสุขภาพใจที่อาจเกิดกับตัวเองและคนรอบข้าง ต้องมีความรู้เพิ่มขึ้นในการดูแลใจตัวเอง 

 

รับคำสั่งอย่างไรตอนเกิดเหตุ 

ตั้งแต่วันแรกที่เกิดเหตุ (6 ตุลาคม) ได้รับคำสั่งการจาก อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งอธิบดีกรมสุขภาพจิตให้ยกทีมกรมสุขภาพจิตลงพื้นที่เยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบในจังหวัดหนองบัวลำภู ก็ลงพื้นที่ตั้งแต่วันนั้น รวมทั้งมีการประชุมและเตรียมความพร้อมในการเยียวยาจิตใจด้วย

 

ในช่วงแรกๆ ที่กรมสุขภาพจิตพยายามร้องขอประชาชนและผู้เกี่ยวข้องให้หยุดส่งต่อภาพความรุนแรงหรือภาพของผู้เสียหาย ที่จะเป็นการผลิตซ้ำความรุนแรงให้เกิดขึ้นในสังคมได้ ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ต่อผู้ได้รับสาร ก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีมาก ซึ่งช่วยกลุ่มที่ 3 ที่อยู่บริเวณรอบนอกได้ 

 

“เรารู้ว่ามันมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น เรียนรู้ว่าเราเรียนรู้อะไรจากสิ่งนั้น จะก้าวข้ามผ่านหรือป้องกันอย่างไรที่เป็นประโยชน์กว่า” พญ.ดุษฎี กล่าว

 

พญ.ดุษฎี กล่าวต่อไปว่า ส่วนในพื้นที่สิ่งที่ต้องลงปฏิบัติคือ การปฐมพยาบาลทางใจ ซึ่งเกิดกับครอบครัวผู้สูญเสีย ผู้บาดเจ็บ กระทั่งคนในชุมชนหรือผู้ที่ได้รับทราบข่าวที่อยู่นอกจังหวัด ทำให้เกิดบาดแผลใจจำนวนมาก เปรียบเทียบกับปฐมพยาบาลทางกายคือ เวลาเรากระดูกหัก เราจะไม่ลุกขึ้นไปเดินหรือไปวิ่ง แต่จะหยุดอยู่นิ่งๆ ใส่เฝือกหรือใส่อะไรดามไว้เพื่อไม่ให้กระดูกเคลื่อน เพราะยิ่งเคลื่อนไหวยิ่งเจ็บ การปฐมพยาบาลทางใจก็เช่นกัน 

 

การปฐมพยาบาลทางใจ สิ่งแรกที่เราต้องช่วยก่อนคือ ทำให้เกิดความปลอดภัยทางจิตใจให้ได้ ไม่ให้เกิดการบาดเจ็บซ้ำ บุคคลเหล่านั้นจะบาดเจ็บซ้ำทางจิตใจเมื่อต้องกลับไปนึกถึงหรือกลับไปพูดเหตุการณ์เหล่านั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า 

 

เวลาเราเจอเหตุการณ์ร้ายๆ เรารู้สึกแย่ เราไม่อยากนึกถึง แต่ถ้าถูกถามก็ต้องพูด เมื่อต้องย้อนไปคิดถึงเราจะรู้สึกไม่ดี เกิดเป็นการบาดเจ็บซ้ำ แทนที่บาดแผลนี้จะได้อยู่นิ่งๆ เหมือนเขาพูด 1 ครั้งก็ไปขยี้แผลอีก 1 ครั้ง ทีมกลุ่มผู้เยียวยาเองจึงเป็นกลุ่มที่ต้องเผชิญกับกลุ่มนี้ หลายท่านจะบอกว่าตอนนี้มีความอ่อนล้าทางจิตใจที่เกิดจากการถูกถามซ้ำๆ จะทำให้การเยียวยาเกิดขึ้นได้ยาก 

 

ในบางครั้งมีเหตุการณ์ที่จำเป็นต้องเล่า เช่น ในการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็จะทำให้การเล่าเรื่องเหลือน้อยที่สุด เพื่อให้โอกาสเขาได้อยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัยทางจิตใจ และมีโอกาสได้เยียวยาจิตใจของตัวเอง ในกระบวนการนี้เราจะพยายามช่วยให้เขาอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สงบและปลอดภัย ซึ่งในความสงบนั้นเขาจะมีโอกาสได้ทบทวนความสูญเสีย ครอบครัวมีโอกาสได้ใช้ความรู้สึกต่อกัน ได้ใช้พลังครอบครัว และได้ใช้พลังของชุมชนในการประคับประคองกันและกันให้ผ่านเรื่องนี้ไปได้ 

 

สอดส่องมองหา ใส่ใจรับฟัง และส่งต่อเชื่อมโยง

สำหรับกลุ่มที่ 1 คือผู้ใกล้ชิดกับเหตุการณ์ จะมีหลากหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มที่บาดเจ็บ สิ่งที่เขากังวลที่สุดคือ สุขภาพของผู้บาดเจ็บ สำหรับญาติที่บาดเจ็บ เมื่ออาการดีขึ้น สภาพจิตใจของครอบครัวก็จะดีขึ้นด้วย ส่วนในกลุ่มที่สูญเสีย กลุ่มนี้เป็นความโศกเศร้า 

 

ส่วนหนึ่งที่เราพยายามเข้ามาทำตรงนี้คือ การพยายามเข้าใจและประคับประคองในวันที่เขาโศกเศร้า มากกว่าไปเร่งให้เขารีบหายเศร้าหรือไปขยายความเศร้าของเขาให้เพิ่มขึ้น โดยใช้หลักของการปฐมพยาบาลที่เรียกว่า 3 ส. คือ

 

  1. สอดส่องมองหา ไม่ใช่เพียงการหาว่าใครบ้างที่เป็นกลุ่มที่ 1 ที่ต้องรับการเยียวยา แต่ยังรวมถึงสอดส่องมองหาว่าในกลุ่มคนที่กำลังมีบาดแผลทางใจ ชีวิตเขาไม่ได้มีแค่บาดแผล แต่เขายังมีเรื่องดีๆ อย่างอื่นในชีวิตด้วย มีจุดแข็งบางอย่าง มีพลังบางอย่างในตัวเอง เขายังมีลูกคนอื่นๆ ยังมีสมาชิกครอบครัวที่พร้อมจะประคับประคองเขา 

 

ถ้าเราดึงพลังตรงนี้ของเขาขึ้นมาให้เห็นว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เขาได้ทำสิ่งที่ดีที่สุดในเวลานั้นแล้ว และยังมีอีกหลายอย่างที่เขาทำได้ดี มันคือพลังของเขา คือการมองหา ช่วยมองหาว่าพลังของเขาอยู่ตรงไหน พลังเหล่านี้จะเยียวยาได้มากกว่าการที่เราจะรีบยื่นยาให้เขา 

 

  1. ใส่ใจรับฟัง จะช่วยให้เขามองหาพลังเหล่านั้นได้ เราต้องเข้าใจ มีใครสักคนที่พร้อมจะรับฟังทุกอย่าง ใส่ใจและเข้าใจในความรู้สึกของเขา อนุญาตให้เขารู้สึกอย่างที่เขาควรจะรู้สึก ไม่ต้องรีบไปบอกเขาว่า “อย่าไปเสียใจเลย ใครๆ ก็เจอแบบนี้เหมือนกัน อยากเห็นไหมคนอื่นก็สูญเสียนะ” 

 

เราไม่จำเป็นต้องรีบเข้าไปพูดแบบนั้น แปลว่าไม่อนุญาตให้เขารู้สึก เพราะจริงๆ แล้วเขามีสิทธิ์ที่จะรู้สึกในฐานะมนุษย์ เราเข้าไปเพื่อทำความเข้าใจความรู้สึกของเขา ยอมรับว่าในเวลาที่เสียใจที่เกิดเหตุเช่นนี้ เราเป็นมนุษย์เหมือนกัน เราเข้าใจความเสียใจของกันและกันได้ ดังนั้นการมีใครสักคนที่ใส่ใจรับฟังเขา จะเป็นพลังที่ดีที่สุดในการให้เขาลุกขึ้นมาแล้วก้าวผ่านบาดแผลตรงนี้ไปได้ 

 

  1. ส่งต่อและเชื่อมโยง โดยเชื่อมโยงเขากับแหล่งช่วยเหลือ เชื่อมโยงเข้ากับคนที่จะคอยประคับประคองเขา หรือส่งต่อเข้าสู่การรักษา โดยหลักแล้วเราจะไม่พยายามไปบอกว่าเขาป่วยตั้งแต่เดือนแรก เพราะเดือนแรกเป็นช่วงเวลาของการปรับตัวกับเหตุการณ์วิกฤต 

 

เหตุการณ์รุนแรงที่เป็นอันตรายเช่นนี้ ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทยใช้ชื่อโรคภาษาไทยว่า โรคจิตเภทชนิดหนึ่งที่เกิดจากสภาวะจิตใจของผู้ป่วยได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงจากเหตุการณ์เลวร้าย (Post-Traumatic Stress Disorder: PTSD)

 

ในเดือนแรกผู้บาดเจ็บมีโอกาสฟื้นตัวและเยียวยาจิตใจด้วยตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องรีบใช้ยา การใช้ยาช่วยจะทำในบางรายเท่านั้น แต่ถ้าพ้น 1 เดือนแล้วยังไม่ฟื้น ก็ถือว่าเข้าเกณฑ์ผู้ป่วย PTSD เต็มตัว ในส่วนนี้อาจต้องการการดูแลที่ต่อเนื่องระยะกลางถึงยาว 

 

กลุ่มที่เข้าข่ายน่ากังวล

กลุ่มที่ 1 ตอนนี้ยังประมวลผลตรงนี้ไม่ชัด เนื่องจากเด็กๆ มีทั้งอยู่กับปู่ ย่า ตา ยาย โดยมีพ่อ-แม่ แต่ก็มีบางรายอยู่กับปู่ ย่า ตา ยาย แต่พ่อ-แม่เพิ่งเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งจำนวนยังไม่นิ่ง แต่กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่อยู่ใกล้กับเหตุการณ์คือ ชาวบ้านและประชาชนที่อยู่ในตำบลเดียวกัน จะเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเสี่ยง ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา เราดูแลกลุ่มเสี่ยงไปกว่า 100 ราย โดยมีการปฐมพยาบาลไป แต่ยังมีอีกจำนวนหนึ่งที่เราต้องทำงานหนักเพื่อช่วยกันดูแลและประคับประคองในกลุ่มนี้

 

“มั่นใจในศักยภาพของชุมชน นี่คืออีกจุดแข็งของประเทศโซนเอเชียที่ชุมชนจะมีความเข้มแข็งและความผูกพันกันในชุมชนค่อนข้างดี ชุมชนจะเป็นแหล่งพลังสำคัญในการเยียวยากันและกัน การเข้ามาในครั้งนี้เราทั้งเข้ามาช่วยและชวนให้ชุมชนเห็นว่ามีคนที่มีบาดแผลทางใจ หากว่าดูแลให้ดี จะไม่เกิดผลกระทบด้านสุขภาพจิตในระยะยาว ซึ่งจะทำให้เขาเข้ามาช่วยดูแลกันและกันได้” พญ.ดุษฎี กล่าว

 

รักษาจิตใจไม่ได้ทำ 2-3 วันจบ

พญ.ดุษฎี ระบุถึงระยะเวลาในการเยียวยาจิตใจว่า เป็นระยะเวลายาวนาน เนื่องจากแต่ละคนจะมีผลกระทบทางใจมากน้อยไม่เท่ากัน การฟื้นตัวเร็วช้าไม่เท่ากัน จะกำหนดว่า 3 วันหายไม่ได้ แผลทางใจจะไม่เหมือนแผลผ่าตัดที่จะรู้ว่าประมาณกี่วันต้องตัดไหม แต่บาดแผลทางใจ แต่ละคนตื้นลึกไม่เท่ากัน และรวมถึงในระหว่างนี้บาดเจ็บซ้ำก็ไม่เท่ากัน

 

พญ.ดุษฎี มองว่า เรายังต้องพยายามช่วยกันทำให้ประชาชนเข้าใจว่านี่เป็นบาดแผลทางใจ อันดับแรกคือ อย่าทำให้เจ็บซ้ำ ไม่อย่างนั้นยิ่งเจ็บซ้ำ เมื่อเยียวยาปฐมพยาบาลเสร็จ เจ็บอีกแล้ว มันไปต่อไม่ได้สักที ดังนั้นต้องช่วยกันให้ทุกคนรู้ว่ามีบาดแผลที่ใจด้วย ใช่มีแค่บาดแผลทางกาย บาดแผลทางใจเยียวยาได้ การปฐมพยาบาลทางใจเป็นของที่ต้องทำก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้จิตใจบาดเจ็บซ้ำ ด้วยการไม่ทำซ้ำ ไม่เล่าเรื่องราว ไม่ผลิตความรุนแรงส่งต่อ

 

“การถ่ายคลิปหรือถ่ายภาพเหตุการณ์ของผู้สูญเสีย หมอขอให้พวกเราช่วยเคารพความเป็นส่วนตัวของครอบครัวของผู้สูญเสีย พวกเขาควรได้ใช้เวลาและพื้นที่สงบในการดูแลจิตใจของตัวเอง ดูแลคนในครอบครัวของเขา การถูกจับจ้อง การถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอ โดยที่ไม่ได้รับความยินยอม เป็นการรบกวนกระบวนการในการเยียวยาของเขา ทำให้แผลของเขาหายช้าลง” พญ.ดุษฎี กล่าวในที่สุด

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X