×

‘May Chow’ ยอดเชฟหญิงชาวฮ่องกงและอาณาจักรอาหารของเธอ

08.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • เมย์ โจว (May Chow) เป็นเชฟที่ได้รางวัลเชฟหญิงยอดเยี่ยมปีล่าสุดของเอเชีย (Asia’s Best Female Chef 2017) จาก Asia’s 50 Best Restaurant ซึ่งก่อนหน้านี้ เชฟโบ-ดวงพร ทรงวิศวะ เจ้าของร้าน Bo.lan จากประเทศไทยเคยได้ตำแหน่งเดียวกันนี้ในปี 2013
  • Little Bao ในกรุงเทพฯ ปิดตัวลงไปแล้วในระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งปี แต่ Little Bao ฮ่องกง กลับมีคนต่อคิวยาวรอกินอาหารของเธอ

     ‘ทองหล่อ ปราบเซียน’ เป็นคำพูดที่หลุดออกจากปากของเชฟ ‘เมย์ โจว’ (May Chow) เชฟหญิงชาวฮ่องกง เมื่อเราเอ่ยถามถึงการปิดตัวของร้าน Little Bao ในกรุงเทพฯ ครั้งนี้เรามายังเกาะฮ่องกงเพื่อแวะมาพูดคุยกับเธอถึง Happy Paradise บาร์แห่งล่าสุดของเธอที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อไม่กี่เดือนมานี้ ซึ่งไกลจากร้าน Little Bao ไปอีกเพียงบล็อกเดียว

 

 

     Happy Paradise เป็นบาร์วินเทจที่ดึงเอาบรรยากาศคาเฟ่โอลด์สคูลของฮ่องกงมาปรับโฉมใส่ความสนุกสนานของกลิ่นอายดิสโก้ และแสงไฟนีออนหลากสีเข้ามาเพิ่มความสนุกสนาน เชฟเมย์ทำอาหารให้สมัยใหม่กว่าที่ Little Bao แน่นอนว่ามีส่วนผสมความเป็นจีนที่เหมาะสำหรับกินกับค็อกเทลและเบียร์ ซึ่งเธอนิยามว่า Neo-Chinese Food อาทิ ไก่หมักเครื่องเทศพะโล้ทอด นกพิราบรมควันใบชา ลิ้นวัวย่าง ขนมปังไส้ปลาหมึกทอดกินกับซอสกระเทียมดำและข้าวโพดพิวเร จะเรียกว่าเธอหยิบอาหารจีนมาเล่าในมุมใหม่ก็ได้

 

 

     สำหรับค็อกเทลก็เช่นกัน ที่นำเอาองค์ประกอบของอาหารจีนมานำเสนอ อาทิ เก๋ากี้ ขิง พุทราจีน ‘Gin and Bare It’ จินกับดอกหอมหมื่นลี้ ‘Pink Flamingos’ เก๋ที่การตกแต่งที่ดูอย่างไรก็จีน นอกจากนี้ก็ยังมีคราฟต์เบียร์ท้องถิ่นของฮ่องกงเป็นตัวเลือก

 

 

     บอกได้เลยว่า ณ วันนี้ น้อยคนที่จะไม่รู้จัก Little Bao เพราะถ้าไปเที่ยว PMQ ที่ฮ่องกง ก็ต้องสะดุดตากับโลโก้ไฟนีออนสีชมพูรูปเด็กอ้วน เชฟเมย์เคยเล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของร้านเธอเมื่อปีก่อนที่เราเจอกันที่กรุงเทพฯ ว่า เธอทดลองทำกวาเปา (ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากเปาของร้าน Momofuku ของเชฟเดวิด ชาง) ขายในฟาร์เมอร์มาร์เก็ตช่วงปี 2013 ซึ่งปรากฏว่าขายดิบขายดีและหมดภายในชั่วโมงแรกของการขาย เธอจึงตั้งเป้าเปิดร้านแห่งนี้ขึ้นมาโดยมีกวาเปา หรือเบอร์เกอร์สไตล์จีนเป็นไฮไลต์เมนู และเพิ่มเติมเอาอาหารแบบโมเดิร์นไชนีสแฟมิลีแชร์ริ่งเข้ามาด้วย เธอต้องการให้อาหารมีรสชาติแบบจีน แต่หน้าตาทันสมัย

 

 

     อาหารขายดีของ Little Bao ฮ่องกงเป็น ‘Pork Belly Bao’ เบอร์เกอร์ซาลาเปาหมูสามชั้นที่นุ่มละลายในปาก เนื้อหมูฉ่ำด้วยซอส ที่เรียกว่าเบอร์เกอร์ก็เพราะว่าขนาดของเปาใหญ่พอๆ กับเบอร์เกอร์จริงๆ (ต่างจากสาขากรุงเทพฯ ที่ชิ้นเล็กกว่าแต่ราคากลับสูงลิ่ว) ‘Smoked Eggplant Salad’ สลัดเย็นที่มีมะเขือรมควัน น้ำมันพริก โยเกิร์ต มิโสะ และใบชิโสะ และแน่นอน ‘Ice-Cream Bao’ แป้งเปาทอดกับไอศกรีม

 

 

     และร้านสุดท้าย Second Draft เป็นความร่วมมือของเชฟเมย์กับร้านคราฟต์เบียร์ยุคบุกเบิกในย่านมงก๊กอย่าง TAP (The Ale Project) กลายเป็นร้านอาหารกึ่งแกสโตรผับ เสิร์ฟคราฟต์เบียร์ที่ผลิตในเกาะฮ่องกงกว่า 20 แท็ป ร่วมกับอาหารรสมือแม่แบบคอมฟอร์ตฟู้ดผสมกับเทคนิคอาหารตะวันตก โดยใช้วัตถุดิบและวัฒนธรรมการกินของฮ่องกงเข้าไปผสมด้วย กลายเป็นอาหารฝรั่งที่มีความเป็นจีนสูง อาทิ ‘Flower Crab Pasta’ คาร์โบนาราเนื้อปูสไตล์จีน หมี่ฮ่องกงเส้นกลมใหญ่คลุกเคล้ากับไข่แดงดิบและซอสดำรสเปรี้ยวสูตรเฉพาะของร้าน ‘HK French Toast’ ขนมปังเฟรนช์โทสต์ที่ปาดฟัวกราส์ไว้บนหน้าขนมปัง และ ‘Mapo Burrata’ ที่นำชีสบูราตามาเสิร์ฟแบบมาโบโทฟุ หรือสไตล์เต้าหู้ผัด

     น่าเสียดายที่ร้าน Little Bao กรุงเทพฯ ที่เคยอยู่ใน 72 Courtyard ได้ปิดตัวลง ไม่อย่างนั้นพออ่านจบจะได้แวะไปชิมกัน เราบอกได้คำเดียวว่าดีงาม เชื่อว่าคนที่เคยกินทั้งในฮ่องกงและกรุงเทพฯ ก็คงเห็นด้วยกับเรา

 

Little Bao

Open: วันจันทร์ ถึง ศุกร์ 18.00-23.00 น. วันเสาร์ 12.00-16.00 น. และ 18.00-23.00 น. วันอาทิตย์ 12.00-16.00 น. และ 18.00-22.00 น.

Address: 66 Staunton Street (สถานี Sheung Wan ทางออก A2 หรือ สถานี Central ทางออก D2)

Website: www.little-bao.com

 

Happy Paradise

Open: วันจันทร์ ถึง พุธ 18.00-01.00 น. วันพฤหัสบดี ถึง เสาร์ 18.00-02.00 น. (ปิดวันอาทิตย์)

Address: UG/F 52-56 Staunton Street (สถานี Sheung Wan ทางออก A2 หรือ สถานี Central ทางออก D2)

Facebook: www.facebook.com/happyparadisehk

 

Second Draft

Open: วันอังคาร ถึง พฤหัสบดี 12.00-24.30 น. วันศุกร์ ถึง อาทิตย์ 12.00-01.00 น.

Address: G/F, 98 Tung Lo Wan Road (สถานี Tin Hau ทางออก B)

Facebook: www.facebook.com/SecondDraftHK

 

Photo: ภิญโญ เกียรติโอภาส

FYI
  • พ่อแม่ของเธอเป็นคนฮ่องกง แต่ตัวเธอไปเกิดในแคนาดาและเติบโตมาในสังคมอเมริกัน ทำให้อิทธิพลด้านอาหารของเธอมีทั้งความเป็นจีนและอเมริกันผสมผสานกัน ซึ่งทำให้เธอกลายเป็นเชฟที่ต่างจากเชฟคนอื่นที่เติบโตในสังคมแบบฮ่องกง
  • ไอดอลในการทำอาหารของเธอคือ เชฟเดวิด ชาง (David Chang) เจ้าของร้าน Momofuku เชฟอัลวิน เหลียง (Alvin Leung) เจ้าของร้าน Bo Innovation และเชฟแมตต์ อะเบอร์เจล (Matt Abergel) เจ้าของร้าน Yardbird ซึ่งเธอเคยทำงานในร้านอาหารของเชฟอัลวินและเชฟแมตต์ก่อนเริ่มทำร้านของเธอเอง
  • เธอฝันอยากเปิดร้านอาหารของเธอในเมลเบิร์น โตเกียว และลอนดอน ต้องมาคอยดูกันว่าหน้าตาและคอนเซปต์จะเป็นแบบใด
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X