×

เก็บทิปส์ แงะวัตถุดิบ และส่องสูตรเด็ดจาก MasterChef Thailand Season 2 Ep.1-3

20.02.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • รายการ MasterChef Thailand กลับมาสร้างความสนุกให้กับผู้ชมจอตู้ที่ชื่นชอบการทำอาหารอีกครั้งในซีซันที่ 2 และปีนี้รายการดำเนินไปอย่างรวดเร็ว จนเผลอรู้ตัวอีกทีก็เข้าสู่ Episode ที่ 3 ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
  • เชฟป้อมบอกว่า ส่วนผสมของหมูสับที่ดีควรมี ‘มันหมู’ ที่ราว 25-30% แต่หากคุณเลือกเพียงชิ้นหมูบางส่วนโดยไม่ผสมกับมันหมู หมูสับที่ได้จะกลายเป็นเพียงเนื้อหมูสับแห้งๆ และเสี่ยงต่อการปรุงออกมาแล้วแข็ง ไม่ถูกปาก
  • ต้มซุปมะระครั้งต่อไป คุณจะต้องตั้งไฟให้น้ำเดือด ก่อนจะหรี่เป็นไฟปานกลางขณะต้มเนื้อสัตว์ หมั่นช้อนฟองออก และไม่ต้องปิดฝาหม้อ ก็จะทำให้น้ำซุปไม่ขุ่น เพราะนี่คือสิ่งที่เชฟป้อม ‘เตือนแล้วนะ’

หนึ่งในรายการทำอาหารลิขสิทธิ์จากประเทศอังกฤษที่ประสบความสำเร็จสูงสุดอย่าง MasterChef Thailand ได้กลับมาสร้างความสนุกให้กับผู้ชมจอตู้ที่ชื่นชอบการทำอาหารอีกครั้งในซีซั่นที่ 2 แถมยังเป็นการกรีธาทัพกลับมาอย่างพร้อมเพรียงกันทั้งพิธีกรคนเก่งที่ไม่เคยหลงหายไปในหม้อหรือในกระทะใบไหนในรายการอย่าง ป๊อก-ปิยธิดา มิตรธีรโรจน์ รวมไปถึง 3 กรรมการหน้าเดิม ที่ปีนี้กลับมาอย่างดุดันขึ้น ราวกับโปรดิวเซอร์รับบรีฟมาจาก กอร์ดอน แรมซีย์ ในรายการ Hell’s Kitchen ทำนองนั้น ทั้ง ม.ล.ภาสันต์ สวัสดิวัตน์ และ เชฟเอียน-พงศ์ธวัช เฉลิมกิตติชัย และขาดไม่ได้กับกรรมการอีกท่านผู้เป็นที่รักยิ่งของผู้ชมทุกครั้งที่ปรากฏตัวบนจออย่าง ม.ล.ขวัญทิพย์ เทวกุล ซึ่งหม่อมป้อมก็ยังคงมาพร้อมกับสีปากสุดแซ่บและวลีสุดเจ็บที่สร้างซีนอันน่าจดจำได้เสมอ

 

 

ซีซันนี้ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ไม่มีรอบออดิชัน ไม่มีรอบหั่นวัตถุดิบ จนเผลอรู้ตัวอีกทีก็เข้าสู่ Episode ที่ 3 ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว THE STANDARD จึงอยากพาคุณผู้เป็น (และไม่เป็น) แฟนรายการ หรือผู้ที่ชื่นชอบการเข้าครัวมาร่วมกันสำรวจวัตถุดิบ เมนู สูตรลับ และทิปส์ดีๆ จากก้นครัวมาสเตอร์เชฟประเทศไทย ว่าพอจะมีอะไรให้เราได้หยิบจับไปใช้ในครัวที่บ้านได้บ้าง?

‘หมูสับ’ ที่เข้าท่านั้น ควรมี ‘มันหมู’ ที่ราว 25-30% แต่หากคุณเลือกเพียงชิ้นหมูบางส่วนโดยไม่ผสมกับมันหมู หมูสับที่ได้จะกลายเป็นเพียงเนื้อหมูสับแห้งๆ และเสี่ยงต่อการปรุงออกมาแล้วแข็ง ไม่ถูกปาก

 

Ep.1

แงะวัตถุดิบ ‘หมูสับ’ และ ‘กุ้งแม่น้ำ’ โจทย์แรกสุดของซีซัน

ซีซันที่ 2 ของ มาสเตอร์เชฟประเทศไทย ประเดิมเปิดครัวด้วยวัตถุดิบที่คุ้นปากผู้บริโภคกันดีอย่าง ‘หมูสับ’ ฟังดูแล้วอาจจะเป็นเรื่องง่ายๆ ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นเท่าไร เพราะทุกวันนี้เราต่างหยิบจับซื้อหมูสับสำเร็จรูปมาใช้เป็นวัตถุดิบกันอย่างง่ายดายจากซูเปอร์มาร์เก็ตใกล้บ้าน บ้างก็ตักเอาจากโซนของสดหรือไม่ก็ซื้อแบบสำเร็จรูป รวนน้ำเดือดสักหน่อยก็กินได้แล้ว

 

 

แต่กับมาสเตอร์เชฟ กรรมการได้ให้ผู้เข้าแข่งขันทั้งหมดนั้นหยิบจับชิ้นส่วนของหมูมาสับสดๆ ผสมกันระหว่างแข่งขันไปเลย ซึ่งการจะสับหมูให้ได้ ‘หมูสับ’ ที่เข้าท่านั้น ตามคำแนะนำของเชฟป้อม เธอบอกว่าส่วนผสมของหมูสับที่ดีควรมี ‘มันหมู’ ที่ราว 25-30% แต่หากคุณเลือกเพียงชิ้นหมูบางส่วนโดยไม่ผสมกับมันหมู หมูสับที่ได้จะกลายเป็นเพียงเนื้อหมูสับแห้งๆ และเสี่ยงต่อการปรุงออกมาแล้วแข็ง ไม่ถูกปาก แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้เราหูผึ่ง และควรจำไว้ใช้เป็นอย่างยิ่งคือ คุณสมบัติหนึ่งของเนื้อหมูคือมันเป็นเนื้อที่ดูดน้ำ เพราะฉะนั้นการเติมน้ำลงไประหว่างการสับหรือบด จะให้หมูนุ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยปริยาย

 

 

ส่วนอีกโจทย์ในรอบถัดมาอย่าง ‘กุ้งแม่น้ำ’ ซึ่งได้มาจากตำบลบางไทร อำเภอเมือง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นอีกหนึ่งวัตถุดิบที่ยั่วน้ำลายคนดูเอามากๆ แค่เห็นมันกุ้งแฉะๆ เยิ้มๆ เราก็แทบคลั่งแล้ว แต่การที่ผู้เข้าแข่งขันจะสามารถปรุงกุ้งแม่น้ำเหล่านี้ให้ออกมาโดดเด่นและถูกต้องได้นั้น ก่อนอื่นคุณควรจะต้องรู้จักเนื้อสัมผัสของกุ้ง และถ้าหากปรุงอย่างถูกวิธีในขณะย่าง เนื้อจะต้องเด้งตึงกรุบกรอบ ไม่คาว!

 

 

2 เมนูที่โดดเด่นที่สุดในโจทย์หมูสับคือเมนู หมูหลงในดงข้าวโพด ของ ‘กะปอม’ ผู้เข้าแข่งขันที่น่าจับตามองที่สุดคนหนึ่งของซีซันนี้ กับการดัดแปลงก้อยหมูแบบอีสานให้ถูกสุขลักษณะขึ้นหน่อย ด้วยการนำมาทำให้สุกในเปลือกข้าวโพด และได้รับคำชมจากหม่อมป้อมไปเต็มกระบุงจนต่อมน้ำตาแตก

 

ส่วนอีกจานตกเป็นของสาววัย 30 ปีที่หน้าเด็กและมอบความสดใสทุกครั้งที่ปรากฏตัวบนจออย่าง ‘ลัท’ และเมนู ฮัมบูร์กสเต๊กลาบ ความเก๋ที่หม่อมอิงค์ ภาสันต์ เอ่ยปากชมว่าเป็น ‘ความคิดสร้างสรรค์ที่ดี’ คือ การนำเอามันบดและสลัดผักมาทานคู่กับสเต๊กลาบ ตัดความจัดจ้านได้อย่างลงตัว

 

 

ในขณะที่ความโดดเด่นของโจทย์ กุ้งแม่น้ำอยุธยา ตกเป็นของ ‘เดียว’ ที่เขาเลือกใช้วัตถุดิบหลักมาทำเป็นก้อยกุ้งแบบอเมริกาใต้ที่เรียกว่า ‘Ceviche’ ซึ่งเมนูนี้จะใช้วัตถุดิบหลักอันเป็นอาหารทะเลทั่วไป โดยปกติจะเป็นเนื้อปลาขาวสด คลุกหรือราดด้วยน้ำผลไม้ตระกูลซิตรัส โรยด้วยพริก เกลือ ซึ่งเดียวนำมาดัดแปลงได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะการใส่มะพร้าวขูดและเสิร์ฟในกะลา จึงทำให้เดียวเป็นผู้เข้าแข่งขันอีกคนที่โดดเด่นด้วยสกิลการทำอาหารที่น่าสนใจ

 

 

เก็บทิปส์ Ep.1: ไม่อยากให้ซุปมะระขุ่นต้องเปิดฝาหม้อ

ซีนที่น่าจดจำทั้งเรื่องทิปส์การทำอาหารและการก่อหวอดดราม่า คือการที่ผู้เข้าแข่งขันอย่าง ‘ยูริ’ โต้เถียงกับเชฟป้อมในเรื่องการทำเมนู มะระยัดไส้หมูสับ ที่ยูริเลือกทำน้ำสต็อกให้เดือดแล้วนำมะระยัดไส้ลงไปต้มและปิดฝาหม้อ ซึ่งเชฟป้อมได้เตือนว่าวิธีการดังกล่าวจะทำให้น้ำซุปขุ่นไม่น่ารับประทาน แต่ยังไม่ทันจะสิ้นคำพูดของเชฟป้อมดี ผู้เข้าแข่งขันผู้มาในชุดสีชมพูสดใสก็โต้เถียงอย่างทันควันว่า “ไม่ แต่ช้อนฟองออกเรียบร้อยแล้วค่ะ” น่าตีนัก!

 

และเมื่อถึงคราวที่ต้องชิม เชฟป้อมก็ยังคงติเรื่องน้ำซุปของยูริและการปรุงอาหารของเธอที่ไม่น่าดูชม พร้อมเอ่ยประโยคเด็ดที่ว่า “เตือนหรือยัง?” ออกมาอย่างดุดัน จนทำให้ซุปมะระยัดไส้ชามนั้นแทบกลายเป็นต้มโคล้งเผ็ดร้อนไปในบัดดล เพราะฉะนั้น จะต้มซุปมะระครั้งต่อไป ตั้งไฟให้น้ำเดือด ก่อนจะหรี่เป็นไฟปานกลางขณะต้มเนื้อสัตว์ หมั่นช้อนฟองออก และไม่ต้องปิดฝาหม้อ ก็จะทำให้น้ำซุปไม่ขุ่น

วิธีการใช้ ‘ปลาร้า’ ที่ถูกต้อง ต้องเริ่มต้นจากการกรองน้ำปลาร้าหลายๆ รอบ เพื่อไล่ความคาวและกลิ่นให้ลดลง ส่วนใครที่คิดว่าปลาร้าไม่สะอาด ‘นำไปต้ม’ ให้ความร้อนฆ่าเชื้อ

 

Ep.2

แงะวัตถุดิบ ‘ปลาร้า’ ของไทยๆ ที่ใครบางคนก็ยี้

ขึ้นชื่อว่า ‘ปลาร้า’ ถึงจะยังไม่เห็นโหล เห็นตัว แต่กลิ่นที่เราคุ้นเคยก็จะลอยมาเตะจมูกทันทีเมื่อได้ยินชื่อ และวัตถุดิบเด็ดจากภาคอีสานบ้านเรานี่แหละคือตัวชี้วัดความสามารถในการทำอาหารของผู้เข้าแข่งขันใน Episode ที่ 2 นี้ นอกจากจะได้เห็นการหาวิธีแก้ไขปัญหาของการ ‘ไม่รู้จักการใช้วัตถุดิบ’ แล้ว ปลาร้ายังเป็นวัตถุดิบที่แสดงให้เห็นถึงทัศนคติและข้อคิดบางอย่างของการเป็นเชฟที่ดีอีกด้วย

 

ในรอบกล่องปริศนา Mystery Box ที่มีปลาร้าเป็นวัตถุดิบหลักนั้น เราพบว่ามีผู้เข้าแข่งขัน 2 คนที่ออกตัวแรงว่า ‘ไม่ชอบ’ และ ‘ไม่ทาน’ ปลาร้า เพราะมีทัศนคติที่ว่า มันเป็นสิ่งสกปรก โดยเฉพาะ ‘ต๋อง’ ที่กังวลเรื่องสุขภาพของตัวเองและมีความเชื่อฝังใจว่า ปลาร้าที่ร้านต่างๆ นำมาประกอบอาหารในกรุงเทพฯ มันสกปรก ส่วน ‘เมี่ยง’ ที่ไม่ทานปลาร้าเช่นกันก็บอกกับกรรมการว่า เธอไม่ทานปลาร้าเลย เพราะไม่ชอบ

 

 

ในปัญหาทางด้านทัศนคติตรงนี้เราสามารถมองได้ 2 ด้าน เพราะหากคนที่ไม่ชอบกินอะไรบางอย่าง (ไม่ชอบของมีกลิ่นแรง) เขาก็จะไม่ชอบจริงๆ ไม่ได้มีความดัดจริต หรือกระแดะว่ามันสกปรกหรือไม่ถูกสุขอนามัย เพียงแค่เพราะไม่ถูกปาก ไม่ถูกใจเท่านั้นเอง ส่วนถ้าหากมองกันในแง่ของการแข่งขัน หม่อมป้อมเองก็ยังคงแสดงท่าทีที่ว่า ‘คุณเป็นคนไทย และนี่คือ มาสเตอร์เชฟประเทศไทย ถ้าคุณเป็นคนไทย คุณต้องศึกษาวัตถุดิบไทย เพราะคุณต้องรู้จักวัตถุดิบไทยให้ดีกว่าใคร’ – ต่างใจต่างความคิดเนอะ

 

 

และวิธีการใช้ ‘ปลาร้า’ ที่ถูกต้องอย่างที่กรรมการได้กล่าวไว้ในรายการนั้นคือ คุณอาจจะต้องเริ่มต้นจากการกรองน้ำปลาร้าหลายๆ รอบ เพื่อไล่ความคาวและกลิ่นให้ลดลง ส่วนใครที่คิดว่าปลาร้าไม่สะอาด หม่อมป้อมและหม่อมอิงค์ก็บอกวิธีการใช้มันที่ง่ายดายที่สุด นั่นคือ ‘นำไปต้ม’ ให้ความร้อนฆ่าเชื้อ และไม่น่าเชื่อว่าผู้เข้าแข่งขันอย่างเมี่ยงที่ไม่ทานปลาร้าและไม่เคยทำอาหารด้วยวัตถุดิบดังกล่าวมาก่อน จะเป็นผู้ชนะไปอย่างหน้าตาเฉย – ฝาปลาร้าเขายังเปิดเองไม่ได้เลยด้วยซ้ำ!

 

 

เก็บทิปส์ Ep.2: กินทาร์ตเรื่องเล็ก ทำทาร์ตเรื่องใหญ่

“ทำไมมันบอบบางจังวะเบเกอรี!” ประโยคตัดพ้อที่น่าเอ็นดูนี้มาจากผู้เข้าแข่งขันที่ชื่อ ‘จ๋า’ เมื่อเธอต้องมาพิสูจน์ความสามารถในรอบทดสอบความคิดสร้างสรรค์ (Invention Test) ซึ่งโจทย์คือการทำทาร์ตจำนวน 12 ชิ้น 3 หน้า ความละเอียดลออของการทำเบเกอรีนั้นเป็นสิ่งที่ผิดพลาดไม่ได้แม้แต่น้อย โดยเฉพาะสัดส่วนแป้ง ถ้าหากตักตวงไม่ดีแป้งจะเหนียว เมื่ออบออกมาแล้วจะแข็งกระด้าง และอีกข้อที่เชฟเอียนกังวลคือตัวเนยที่ใส่ลงไปในแป้งร้อนเกินไป ซึ่งจะเป็นสาเหตุตอนอบแล้วแป้งจะย่น แก้ปัญหาด้วยการตีเนยเย็นกับแป้งให้เร็ว และต้องพักแป้งในเวลาที่ถูกต้อง ซึ่ง ‘เดียว’ ก็ยังคงเป็นคนที่ทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมที่สุด – ดูทาร์ตของเขาสิ!

 

 

Ep.3

การแข่งขันแบบทีมและโจทย์หิน ‘ข้าวหน้าปลาไหลย่าง’

ใน Episode ที่ 3 นี้ มาสเตอร์เชฟประเทศไทย ได้เริ่มการแข่งขันแบบทีมเป็นครั้งแรก และโจทย์ที่น่าสนใจคือ การคิดเมนูอาหารจีนสำหรับอากงอาม่าอายุ 50-90 ปี จำนวน 201 คน ซึ่งเป็นตัวแทนมาจาก 38 แซ่ทั่วประเทศ ความยากของโจทย์นี้คือ จะต้องทำอาหารจีนที่รับประทานง่าย เคี้ยวง่าย ไม่แข็ง และที่สำคัญต้องถูกปากเหล่าอากงอาม่าผู้เป็นเจ้าของรสชาติอาหารจีนดั้งเดิมอีกด้วย การแข่งขันในรอบนี้ทางฝั่งสีน้ำเงินทำเมนู ‘บะหมี่ซั่วอายุยืนยาว’ เสิร์ฟคู่กับ ‘ซุปห้าเซียน’ และเมนูของหวานคือ ‘โอนีแปะก๊วยนมสด’ ความโดดเด่นของทีมนี้คือการ ‘เพิ่มภาระ’ ของตัวเองด้วยการทำซุปเพิ่มขึ้นมา ซึ่งนั่นก็มีข้อดีเพื่อให้ผู้ชิมอาหารของพวกเขาได้ซดน้ำซุปได้คล่องคอ

 

 

ส่วนทีมสีแดงที่ใน Episode นี้จัดการบริหารทีมได้ค่อนข้างแย่ เนื่องจากหัวหน้าทีมที่วัยวุฒิและประสบการณ์น้อย จึงทำให้เกิดความโกลาหลมากมาย โดยเมนูของทีมสีแดงคือ ‘หมี่ผัดเต้าหู้จักรพรรดิ’ ที่เลือกใช้บะหมี่เสิร์ฟกับเต้าหู้น้ำแดงทรงเครื่อง และของหวานที่ง่ายแสนง่ายอย่าง ‘รากบัวต้มน้ำลำไย’ โดยในการแข่งขันแบบทีมนั้น หากใครที่เคยชมรายการมาก่อนจะพบว่า มันคือรอบที่ต้องแสดงศักยภาพของการบริหารจัดการให้รอบคอบ เพราะฉะนั้นเราจึงได้เห็นความผิดพลาดมากมายเกิดขึ้น เช่น การกะปริมาณวัตถุดิบที่ไม่พอดีกับปริมาณที่ต้องเสิร์ฟ หรือการทำข้าวเหนียวไหม้เพราะมัวแต่ดูแลวัตถุดิบอื่นอยู่ ซึ่งรอบนี้บอกได้เลยว่าสนุกและน่าเอาใจช่วยทั้ง 2 ทีม

 

 

ส่วนทีมที่แพ้ก็ต้องเข้าไปแข่งขันในรอบบททดสอบความแม่นยำและความละเอียด (Pressure Test) ซึ่งโจทย์ในรอบนี้หินมากจนเราอยากจะร้องไห้แทนผู้เข้าแข่งขัน นั่นคือการทำ ‘ข้าวหน้าปลาไหลย่าง’ ซึ่งได้รับเกียรติจากเชฟยูกิโอะ ทาเคดะ หัวหน้าเชฟอาหารญี่ปุ่นจากโรงแรม JW Marriott มาเป็นผู้สาธิตการทำเมนูดังกล่าว และความยากนั้นก็เริ่มต้นตั้งแต่การแล่ปลา การทำซอส ไปจนถึงการย่างที่ต้องพอดี

 

 

เก็บทิปส์ Ep.3: ข้าวหน้าปลาไหลฉบับดั้งเดิม

พอได้เห็นวิธีการทำข้าวหน้าปลาไหลแบบต้นฉบับ เรากลับรู้สึกว่าการที่เราเดินเข้าร้านอาหารญี่ปุ่นดีๆ หรือบินไปกินที่โตเกียวอาจเป็นคำตอบที่ดีที่สุดอยู่แล้ว เพราะมันทำยากมาก! ไหนจะต้องแล่ปลาให้เนียน เลาะก้างให้หมด รวมไปถึงซอสทาเระที่ใช้ราดปลาต้องมีความหอมและคงรสชาติอันโดดเด่นของสาเกและมิรินไว้ อีกสิ่งที่สำคัญมากๆ คือความแรงของไฟจากเตาถ่านที่ควบคุมได้ยาก ก็เป็นอีกหนึ่งอุปสรรคที่น่ากลัว เพราะถ้าหากไฟของคุณเบาเกินไป ซอสทาเระก็จะไม่เคลือบตัวชิ้นปลา สีจะไม่สวย และไม่มีรสชาติ! แถมตะแกรงย่างปลาไหลก็ต้องเป็นตะแกรงเฉพาะ ซึ่งถ้าหากคุณแล่ปลาไหลไม่ได้ขนาดตามมาตรฐานแล้ว อย่าหวังว่าคุณจะพาดปลาได้พอดีกับตะแกรง และมีสิทธิ์จะได้ ‘ปลาย่างถ่าน’ แทนปลาไหลย่างสีสวยแน่นอน

 

 

สัปดาห์หน้าจะมีวัตถุดิบ เมนู สูตรลับ และทิปส์ดีๆ อะไรจาก มาสเตอร์เชฟประเทศไทย บ้างต้องติดตาม

 

ชมย้อนหลัง Ep.1-3 ได้ที่นี่

Ep.1 – www.youtube.com/watch?v=ikEhZ4uTHQ4&t=2989s

Ep.2 – www.youtube.com/watch?v=bom9rIuYrFI&t=2921s

Ep.3 – www.youtube.com/watch?v=Ir9FDjHe92U

FYI
  • MasterChef คือรายการแข่งขันทำอาหารลิขสิทธิ์จากสหราชอาณาจักร ออนแอร์ครั้งแรกในปี 1990 อายุรายการราว 28 ปี ซึ่งเป็นรายการที่เปิดโอกาสให้คนธรรมดาทั่วไปที่มีใจรักในการทำอาหารได้เข้ามาแข่งขันเพื่อชิงเงินรางวัล และที่สำคัญผู้ชนะจะได้มี Cookbook หรือตำราทำอาหารเป็นของตัวเองด้วย โดยรายการถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปสร้างใน 40 กว่าประเทศทั่วโลก
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising