×
SCB Omnibus Fund 2024

ขายของหรูไม่จำเป็นต้องดูโอเวอร์! เมื่อยูทูเบอร์โชว์วิธีเล่าสตอรีนาฬิกาแบรนด์สุดหรูแบบง่ายๆ แต่เข้าถึงใจผู้คน

27.05.2022
  • LOADING...
Rolex

ภาพจำสำหรับคนทั่วไปเมื่อคิดถึงบรรดานาฬิกาหรูอย่าง Rolex, Omega และ Hublot คือสิ่งที่อยู่ไกลจากความรู้สึกไม่น้อย อย่าว่าแต่ทำความรู้จักเลย แค่เดินผ่านหน้าช็อปก็รู้สึกห่างไกลกันแล้ว และแบรนด์เหล่านั้นก็ไม่รู้สึกว่ามีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด (เพราะลูกค้าตัวจริงพร้อมลงชื่อต่อคิวเพื่อสิทธิ์ในการซื้อในราคารีเทล)

 

อย่างไรก็ดี ในภาพจำดังกล่าวกำลังเปลี่ยนไปพร้อมๆ กับกระแสความนิยมการลงทุนในนาฬิกาหรูที่กำลังมาแรงในหมู่นักลงทุนรุ่นใหม่ ซึ่งหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคือบรรดาเหล่ายูทูเบอร์ที่ช่วยลดช่องว่างทางความรู้สึกระหว่างแบรนด์นาฬิกาเหล่านี้กับคนทั่วไป 

 

จากที่เคยไกลเหมือนอยู่บนดาวคนละดวง วันนี้ระยะทางนั้นอาจจะเหลือแค่จากบ้านไปปากซอยเท่านั้น และแน่นอนว่า ‘ปรากฏการณ์’ ที่เกิดขึ้นนั้นน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

หนึ่งในยูทูเบอร์ที่หันมาหยิบเรื่องราวของนาฬิกาหรูคือ เอเดรียน บาร์เกอร์ (Adrian Barker) อดีตพนักงานฝึกอบรมของบริษัทที่เริ่มต้นจากศูนย์สู่การเป็นอินฟลูเอ็นเซอร์ด้านนาฬิกาหรูในระยะเวลาแค่ไม่กี่ปี โดยวิดีโอเรื่อง ‘ผมซื้อ Rolex Submariner มาจาก eBay!’ มีคนเข้าดูมากถึง 7 แสนคน และวิดีโออีกตัวอย่าง ‘ทำไม HUBLOT ถึงกลายเป็นแบรนด์นาฬิกาหรูที่คนเกลียดที่สุด’ นั้นมีคนดูมากกว่าหนึ่งล้านครั้งในระยะเวลาแค่ 8 เดือน

 

เคล็ดลับความสำเร็จในการเล่าเรื่องของบาร์เกอร์นั้น ไม่ได้อยู่ที่การพยายามพรีเซ็นต์นาฬิกาหรูเหล่านี้ในบรรยากาศที่หรูหราผ่านการเซ็ตอัปมาอย่างดี ในทางตรงกันข้าม นาฬิกาหรูที่ถูกนำมาเล่าในช่องของเขานั้นจะถูกเล่าแบบธรรมดาๆ ดีก็ว่าดี ไม่ดีก็ว่าไม่ดี ซึ่งทำให้โดนใจผู้ชมทั้งในกลุ่มที่สนใจนาฬิการะดับลักชัวรีเหล่านี้อยู่แล้ว หรืออาจจะไม่เคยสนใจมาก่อนแต่เมื่อได้ชมก็รู้สึกสนใจขึ้นมา เพราะรู้สึกว่ามันไม่ได้ไกลตัวเหมือนที่หัวใจรู้สึกก่อนหน้านี้

 

ความนิยมในวิดีโอที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้บาร์เกอร์สามารถทำรายได้มากถึง ‘หกหลัก’ ที่เพียงพอให้ใช้จ่ายได้อย่างสบายๆ โดยที่เขาออกแบบการเดินทางให้ผู้ชมวิดีโอไปต่อที่เว็บไซต์ Bark and Jack ของเขา ซึ่งจะมีดีลของสปอนเซอร์หลายรายที่มองเห็นประโยชน์จากการสนับสนุนยูทูเบอร์รายนี้ และที่สำคัญเขายังผลิตสินค้าที่ใช้ร่วมกับนาฬิกาหรู ไม่ว่าจะเป็นสายนาฬิกา กล่องเก็บนาฬิกา ไปจนถึงแก้วกาแฟที่มีโลโก้ของช่อง

 

“ผมแค่ทำมันสนุกๆ” บาร์เกอร์ ซึ่งปัจจุบันลาออกจากงานประจำแล้วหันมาเป็นยูทูเบอร์เต็มตัวกล่าว “ผมทำวิดีโอและผมก็ชอบเล่าเรื่องนาฬิกา มันไม่มีอะไรมากกว่านั้น”

 

ช่องของบาร์เกอร์อาจจะยังไม่ได้รับความสนใจจากแบรนด์อย่าง Rolex แต่แบรนด์น้องสาวอย่าง Tudor ก็เริ่มส่งนาฬิกาให้เขารีวิวบ้าง เช่นเดียวกับนาฬิกาอีกหลายแบรนด์หรู ไม่เว้นแม้แต่ Audemars Piguet และ Patek Philippe ที่มองเห็นช่องทางในการโปรโมตนาฬิกาของตัวเองที่สามารถเข้าถึงคนในวงกว้าง โดยที่ลงทุนน้อยกว่าการจ่ายเงินให้นิตยสารที่เป็นวิธีแบบดั้งเดิม

 

อย่างไรก็ดี แม้บาร์เกอร์จะยินดีกับการได้รับการสนับสนุนจากแบรนด์เหล่านี้ที่จ่ายเงินจ้างเขาให้เล่าเรื่องนาฬิกาที่เขาชอบ จุดยืนที่ชัดเจนคือเขาจะไม่ยอมทำอะไรที่ขัดต่ออิสระในการพูดของเขาอย่างเด็ดขาด ดังนั้นหากแบรนด์ส่งนาฬิกามาให้รีวิวพร้อมสัญญาว่าห้ามพูดถึงคู่แข่งหรือพูดถึงนาฬิกาในเชิงลบ เขาจะส่งนาฬิกานั้นกลับคืนไปโดยไม่มีการรีวิว

 

สิ่งที่น่าสนใจคือผู้ติดตามช่องของบาร์เกอร์นั้นอายุ 25-35 ปี ซึ่งเป็นข้อมูลที่แบรนด์สนใจเพราะหมายถึงปัจจุบันนาฬิกาหรูได้รับความสนใจในกลุ่มคนที่อายุน้อยมากขึ้นเรื่อยๆ และนั่นหมายถึงยูทูเบอร์ผู้นี้ก็มีอนาคตของฐานลูกค้าในมือของเขาด้วย

 

เรื่องนี้ จูเลียน ทอร์นาเร ซีอีโอแห่งแบรนด์ Zenith ที่มีอายุยืนยาวตั้งแต่ปี 1860 และปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักร LVMH ยอมรับว่าการร่วมมือกับยูทูเบอร์เป็นทิศทางที่น่าสนใจ เพราะลงทุนน้อยกว่าและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ดีกว่า

 

“ตอนนี้มันได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวงการ และเราจะทำงานร่วมกับพวกเขามากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต” ทอร์นาเรกล่าว

 

นอกเหนือจากบาร์เกอร์แล้วยังมียูทูเบอร์ในแนวเดียวกันอีกหลายคน ตั้งแต่ออสเตรเลีย เอเชีย ยุโรป ไปจนถึงในสหรัฐอเมริกา ซึ่งคนที่น่าสนใจยังมี เท็ดดี บาลดาสซารี นักรีวิวหนุ่มวัย 28 ปีจากคลีฟแลนด์ ที่จะอัปโหลดวิดีโอ 6 ชิ้นต่อสัปดาห์ให้แฟนๆ ที่สับตะไคร้ เอ้ย Subscribe เป็นแฟนคลับของช่องกว่า 5 แสนคนได้ติดตาม

 

บาลดาสซาร์รีไม่ได้ทำแค่เล่าเรื่อง แต่เขายังจำหน่ายนาฬิกาในช่องทางเว็บไซต์ของตัวเอง โดยปัจจุบันมีทีมงาน 12 คน และสามารถทำรายได้มากกว่า ‘แปดหลัก’ ในปีที่ผ่านมา เรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง

 

สิ่งที่เราเรียนรู้ได้จากเรื่องนี้คือบางครั้งสิ่งของที่หรูดูแพงนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องเจ้ายศเจ้าอย่างในการจะขายเสมอไป การนำเสนออย่างเรียบง่าย ตรงไปตรงมา โดยที่บางครั้งงานโปรดักชันไม่ได้หรูหราอะไรเลย ก็สามารถบอกเล่าเรื่องราวของนาฬิกาหรูเหล่านี้ได้ดีเช่นกัน และยังเข้าถึงคนทั่วไปในวงกว้างได้มากกว่าเดิมด้วย

 

สำหรับยูทูเบอร์เหล่านี้ พวกเขาไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าแค่อยากบอกเล่าเรื่องราวและตัวตนจริงๆ ของนาฬิกาเหล่านี้ ส่วนที่เหลือหากนาฬิกานั้นดีจริง มันย่อมขายได้ด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising