×

กทม. สั่งปิดโป๊ะชำรุดห้ามลอยกระทง รณรงค์ 1 ครอบครัว 1 กระทง ลดขยะ

01.11.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • กทม. ตรวจความพร้อมท่าเรือและโป๊ะรับลอยกระทง สั่งลดคนขึ้นโป๊ะ 20% จากปริมาณสูงสุดที่กำหนดไว้
  • ออกประกาศห้ามจุดพลุ ปล่อยโคม หากฝ่าฝืนมีโทษหนัก พร้อมขอจัดงานเรียบง่าย เพราะเพิ่งผ่านพระราชพิธีสำคัญ
  • รณรงค์ 1 กระทง 1 ครอบครัว ลดขยะกระทง และเน้นใช้กระทงจากธรรมชาติ

     พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจสอบความพร้อมท่าเทียบเรือและโป๊ะบริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเตรียมรับวันลอยกระทง ในวันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายนนี้

     ผู้ว่า กทม. เปิดเผยว่า บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยามีท่าเรือและโป๊ะจำนวน 241 ท่า ชำรุด 51 ท่า ใช้งานได้ 190 ท่า

     ส่วนบริเวณคลองต่างๆ มีท่าเรือและโป๊ะจำนวน 181 ท่า ชำรุด 56 ท่า ใช้งานได้ 125 ท่า

     สำหรับท่าเรือและโป๊ะที่สามารถใช้งานได้ กทม. จะเปิดให้ประชาชนลอยกระทงทั้งหมด พร้อมจัดกำลังเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน พร้อมติดตั้งราวกันคนตกน้ำ ห่วงชูชีพ ยางกันกระแทก และกล้อง CCTV

 

 

     ผู้ว่า กทม. กำชับเรื่องปริมาณของคนบนท่าเรือและโป๊ะในช่วงการลอยกระทงเป็นพิเศษ โดยสั่งการให้ลดจำนวนคนขึ้นโป๊ะให้ต่ำกว่าปริมาณสูงสุดที่กำหนดไว้ 20% เช่น โป๊ะที่เขียนว่ารองรับคนได้ 50 คน แต่ช่วงลอยกระทงจะปล่อยให้คนขึ้นโป๊ะได้ประมาณ 35 คน เพื่อความปลอดภัยและรองรับอุบัติเหตุที่คาดไม่ถึง

     ขณะที่ท่าเรือและโป๊ะที่ชำรุด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโป๊ะที่ไม่ได้ใช้งาน กทม. ได้นำป้ายปิดประกาศและแผงกั้นปิดไม่ให้คนเข้าไปใช้งาน

     ส่วนสถานการณ์น้ำในแม่นำ้เจ้าพระยาในวันลอยกระทงไม่มีความกังวล โดยระดับแม่น้ำเจ้าพระยาสูงสุดวัดได้ที่ปากคลองตลาด สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 1.83 เมตร ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อกรุงเทพมหานคร มีเพียงพื้นที่นอกแนวเขื่อนแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตคลองบางกอกน้อย และคลองมหาสวัสดิ์เท่านั้นที่อาจได้รับผลกระทบ

 

 

จุดพลุ ปล่อยโคม เจอโทษหนัก ขอจัดงานเรียบง่ายตามกาลเทศะ

     อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กังวลและย้ำเตือนกันทุกปีคือการห้ามปล่อยบั้งไฟ โคมลอย ห้ามจุดพลุ ตะไล หรือประทัดชนิดต่างๆ โดย กทม. ได้ออกเป็นประกาศกรุงเทพมหานคร หากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

     ทั้งนี้นอกจากท่าเรือและโป๊ะตามแม่น้ำลำคลองแล้ว กทม. ได้เปิดสวนสาธารณะของ กทม. จำนวน 30 สวนให้ประชาชนลอยกระทงได้ ยกเว้น สวนหลวง ร.9 และสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ

     ส่วนการจัดงานลอยกระทงต่างๆ ผู้ว่า กทม. กล่าวว่า เราเพิ่งผ่านงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพไปไม่กี่วัน ดังนั้น การจัดงานต่างๆ ก็ขอให้จัดอย่างเรียบง่ายและเหมาะสมตามกาลเทศะ เรื่องนี้คงไม่ขอความร่วมมือ เพราะเชื่อว่าทุกคนรู้ขอบเขตอยู่แล้วว่าควรทำอะไรได้แค่ไหนอย่างไร

 

 

รณรงค์ 1 ครอบครัว 1 กระทง ลดขยะกระทง

     ผู้ว่า กทม. กล่าวด้วยว่า ในแต่ละปี กทม. เก็บกระทงได้เกือบ 1 ล้านใบ ถือว่ามีปริมาณที่สูงมาก จากสถิติย้อนหลัง 3 ปี พบว่า

     ปริมาณกระทงปี 2557 สูงถึง 982,064 ใบ เป็นกระทงจากวัสดุธรรมชาติ 885,995 ใบ เป็นกระทงทำจากโฟม 96,069 ใบ

     ส่วนปี 2558 ปริมาณกระทงรวมทั้งสิ้น 825,614 ใบ เป็นกระทงจากวัสดุธรรมชาติ 754,587 ใบ เป็นกระทงทำจากโฟม 71,027  ใบ

     ขณะที่ปี 2559 ปริมาณกระทงลดลงมาเหลือ 661,935 ใบ เป็นกระทงจากวัสดุธรรมชาติ 617,901 ใบ เป็นกระทงทำจากโฟม 44,034 ใบ เนื่องจากเป็นช่วงไว้อาลัยในหลวงรัชกาลที่ 9

     สำหรับในปีนี้ กทม. จึงรณรงค์โครงการ 1 ครอบครัว 1 กระทง เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายและลดปริมาณขยะไปในตัว พร้อมสั่งการให้สำนักงานสิ่งแวดล้อมเริ่มทยอยเก็บกระทงจากแม่น้ำลำคลองต่างๆ ตั้งแต่เวลา 21.00 น. เป็นต้นไป คาดว่าช่วง 7 โมงเช้าของวันที่ 4 พฤศจิกายน จะเก็บกระทงทั้งหมดได้แล้วเสร็จ

 

 

กระทงธรรมชาติ กทม. นำไปใช้ทำปุ๋ยให้สวนสาธารณะ

     วัลยา วัฒนรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. บอกกับ THE STANDARD ว่า อยากรณรงค์ให้ประชาชนใช้กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ เนื่องจากขั้นตอนหลังการเก็บกระทงขึ้นจากแม่น้ำลำคลองนั้น หากเป็นกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ ทาง กทม. จะนำไปผ่านกระบวนการแปรรูปเป็นปุ๋ยไว้ใช้งานตามสวนสาธารณะทั้งหมดของ กทม. แต่หากเป็นกระทงที่ทำจากพลาสติก โฟม หรือสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ จะต้องผ่านกรรมวิธีบดละเอียดและนำไปกลบฝัง แต่จะไม่เผา เพราะจะเกิดมลพิษเยอะ ซึ่งขั้นตอนการทำลายขยะจากกระทงที่ไม่ได้ผลิตจากวัสดุธรรมชาติมีต้นทุนสูงและไม่สามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่ได้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising