×

ปีนี้อาจไม่ใช่ปีของจีน? เหตุใดหนุ่มสาวจีนยุคใหม่ลังเลที่จะแต่งงาน กลัวการมีลูก และอัตราการหย่าร้างปีนี้ก็พุ่งถึง 1.97 ล้านครั้ง

20.11.2023
  • LOADING...
ครอบครัวชาวจีน

นับตั้งแต่มีรายงานเมื่อต้นปีว่า ตัวเลขประชากรจีนลดต่ำลงเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปี ด้วยอัตราเกิดลดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เหลือ 6.77 คนต่อประชากร 1,000 คน เวลานี้รัฐบาลจีนกำลังเผชิญความยากลำบากอีกครั้งในการหาทางออกเพื่อพลิกฟื้นอัตราการเกิดที่ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ สาเหตุหลักอาจไม่ใช่ปัจจัยเศรษฐกิจจีนที่ซบเซาเพียงอย่างเดียว การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายก็สะเทือนเศรษฐกิจภายในของจีนไม่น้อย

 

สำนักข่าว Nikkei Asia รายงานว่า นักวิจัยจาก YuWa Population Research ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยประชากร ออกมาเปิดเผยว่า ประเทศจีนกำลังเผชิญกับการฟื้นฟูอัตราการเกิดที่นับวันเริ่มทยอยลดลง โดยนักวิเคราะห์ประเมินว่า อัตราการเกิดใหม่ในจีนในปี 2566 จะลดลงมากกว่า 10% เหลือต่ำกว่า 9 ล้านคน จากปัจจัยหลักคือ หนุ่มสาวจีนเริ่มระมัดระวังสภาวะทางเศรษฐกิจภายในประเทศที่ซบเซาต่อเนื่อง แม้ว่ารัฐบาลจะปลดล็อกข้อจำกัดจากโควิดไปแล้วก็ตาม

 

Qiao Jie สถาบันการแพทย์ประจำมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติของจีน ระบุว่า ทารกแรกเกิดของจีนลดลงถึง 40% ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และจำนวนการเกิดในปีนี้จะมากที่สุดได้แค่ 8 ล้านคน 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 


 

นักวิจัยยังประเมินอีกว่า หลังอัตราการเกิดใหม่ของจีนลดลงสู่ต่ำกว่า 10 ล้านคนเป็นครั้งแรกในปี 2565 อยู่ที่ 9.56 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ลดลง 50% จากปี 2559 โดยขณะนั้นรัฐบาลจีนมีนโยบายให้คู่สมรสมีลูกคนที่สอง แต่เมื่อดูจากอัตราการเกิดที่ลดลงในปี 2566 ก็ถือว่าติดต่อกันเป็นปีที่ 3 และเป็นตัวเลขต่ำสุดนับตั้งแต่การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ปกครองประเทศในปี 2492 ที่มีอัตราการเกิด 8.5 ล้านคน 

 

เศรษฐกิจจีนซบเซา ค่าเรียนแพง รายได้บริษัทเอกชนฟื้นตัวช้า 

 

นักวิเคราะห์หลายฝ่ายประเมินว่า สาเหตุหลักๆ มาจากเศรษฐกิจจีนที่กำลังถดถอย และรายได้ของบริษัทเอกชนฟื้นตัวช้า ประกอบกับการว่างงานในกลุ่มคนหนุ่มสาวก็สูงขึ้น บวกกับค่าใช้จ่ายที่สูงของเยาวชนจีนซึ่งมากกว่า 60% กำลังศึกษาระดับอุดมศึกษา 

 

หมายความว่า ปัจจุบันเด็กจีนยิ่งเรียนสูงยิ่งมีค่าใช้จ่ายที่ราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้คนรุ่นใหม่ลังเลที่จะเริ่มวางแผนมีครอบครัว โดยคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีนรายงานอีกว่า คู่รักหลายคู่เลือกที่จะไม่มีลูก

 

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลจีนอนุญาตให้มีลูกคนที่สาม แต่ก็พบว่าจำนวนเด็กแรกเกิดที่ไม่ใช่ลูกคนแรกของคู่รักมีจำนวนทั้งสิ้น 5.15 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ลดลง 43% ในรอบ 5 ปี

 

ย้อนมาดูนโยบายลูกคนเดียวก็ไม่เป็นผล เพราะในปี 2563 ข้อมูลระบุว่า ผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์อายุ 20-39 ปี ลดลงเกือบ 20% ดังนั้น ในช่วงทศวรรษนี้ไปจนถึงปี 2030 การคลอดบุตรมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง 

 

น่าสนใจว่า แม้ว่าจำนวนการแต่งงานตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายนจะเพิ่มขึ้น 4% ต่อปี และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นทั้งปีเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี แต่การมีลูกยังคงอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากการหย่าร้างที่เพิ่มขึ้นก็มีส่วนสำคัญต่อการมีลูกที่ลดลง โดยกระทรวงกิจการพลเรือนของจีนรายงานว่า ปี 2566 ในช่วงเดือนมกราคม-กันยายน อัตราการหย่าร้างในจีนมีมากถึง 1.97 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้นถึง 25% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564

 

ห่วงอัตราการเกิดที่ลดลงอาจนำไปสู่การขาดแคลนแรงงาน

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนตุลาคมประธานาธิบดีสีจิ้นผิงกล่าวกับผู้นำสหพันธ์สตรีแห่งประเทศจีนว่า ปักกิ่งสนับสนุนให้ผู้หญิงมีลูก โดยรัฐบาลวางแผนที่จะเพิ่มการสนับสนุนทั้งการศึกษา กระตุ้นการแต่งงาน ค่าเลี้ยงดูบุตร และส่งเสริมการมีครอบครัว ตลอดจนอุปถัมภ์การคลอดบุตร

 

เนื่องจากรัฐบาลมองว่าอัตราการเกิดที่ลดลงอาจนำไปสู่การขาดแคลนแรงงานในระยะยาว ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหานี้ รัฐบาลได้รวมการเพิ่มอายุเกษียณตามกฎหมายไว้ในแผนนโยบาย 5 ปี จนถึงปี 2568 ด้วย

 

แม้การเพิ่มอายุเกษียณต้องเผชิญกับการต่อต้านจากสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง คนรุ่นเก่ากลัวว่าสิทธิประโยชน์เงินบำนาญของตนจะลดลง ในขณะที่คนอายุน้อยกังวลว่าการเปลี่ยนแปลงจะทำให้พวกเขาขาดโอกาสในการจ้างงาน ซึ่งรายงานข่าวอยู่ระหว่างตรวจสอบ

 

สอดคล้องกับการรายงานข่าวจาก South China Morning Post ที่ระบุว่า ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของจีน มีการแต่งงาน 5.69 ล้านคู่ และมีแนวโน้มว่าจะมียอดการแต่งงานทั้งปีสูงกว่า 7 ล้านคู่เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ปี 2564 ที่การแต่งงานในจีนดิ่งลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ แต่การแต่งงานที่เพิ่มขึ้นกลับสะท้อนปัญหาท่ามกลางวิกฤตทางประชากรที่หนุ่มสาวจีนวางแผนที่จะมีลูกลดลง สวนทางจำนวนประชากรสูงวัยที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

 

สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ระบุเช่นเดียวกันว่า สถานการณ์ประชากรประเทศไทยเองก็เป็นที่น่ากังวล หากดูจากโครงสร้างประชากรไทยในขณะนี้ ‘อยู่ในสภาวะขาดความสมดุล’

 

โดยในช่วง 20 ปีถึงปัจจุบันพบว่า จำนวนเด็กและแรงงานไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับสัดส่วนของผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising