×

ส่องสินทรัพย์ลงทุนโลก ฝ่าความท้าทาย ปีกระต่าย…ไม่ตื่นตูม

09.12.2022
  • LOADING...

เผลอแป๊บเดียวเราเดินทางฝ่าฟันกับการลงทุนที่หนักหน่วง ทั้งจากพิษการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ และตลาดหุ้นขาลงมาถึงเดือนสุดท้ายของปีกันแล้ว

 

จนถึงวันนี้นักลงทุนมือใหม่มือเก่าต่างก็ปรับตัวชินชากับความผันผวนที่เกิดขึ้นตลอดปีนี้แล้ว ยิ่งกว่านั้น ส่วนใหญ่ก็เก็บข้อมูลพร้อมรับรู้สถานการณ์เศรษฐกิจการเมืองที่มีการประเมินกันไว้ล่วงหน้าจากสำนักวิจัยต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศกันแล้ว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


หลายคนยังละล้าละลังตั้งท่าจะขยับปรับพอร์ตกันอยู่ ชนิดที่เรียกว่าส่องหาสินทรัพย์ลงทุนด้วยความกล้าๆ กลัวๆ ลังเลว่าจะเข้าลงทุนในโค้งท้ายปีนี้ดี หรือจะรอดูเปิดปีใหม่ต้นปีหน้าดีกว่ากันแน่

 

ผมอยากบอกว่า จังหวะลงทุนที่ดีคือการลงทุนในวันนี้ ย่อมดีกว่าการผัดวันประกันพรุ่งแน่นอน เพราะการลงทุนช้า คุณอาจจะพลาดโอกาสดีๆ ได้เหมือนกัน ผมไม่เถียงว่าอาจจะเจอความเสี่ยงได้เหมือนกัน แต่มีสิ่งหนึ่งที่นักลงทุนสาย VI ใช้เป็นกลยุทธ์สร้างความมั่นใจ นั่นคือ “การคาดเดาว่าฝนจะตกเมื่อไรนั้นไม่มีความหมาย แต่การ ‘สร้างเรือ (พอร์ต)’ ให้แข็งแรงต่างหาก ที่จะช่วยให้ทุกอย่างดีขึ้นได้” อันเป็นคำกล่าวของนักลงทุนตำนานโลกชื่อดัง ‘ปู่วอร์เรน บัฟเฟตต์’ ที่ทั่วโลกยึดเป็นแนวทางลงทุน

 

เปรียบได้กับการลงทุนด้วยความพยายามคาดเดาว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกกี่ครั้ง ตลาดหุ้นจะตกไปที่เท่าไร เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวหรือถดถอยกันแน่ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นตัวช่วยหลักที่จะส่งผลให้พอร์ตของคุณมีกำไรขึ้นมา แต่การสร้างพอร์ตที่แข็งแรง มีการกระจายความเสี่ยงที่ดี มีสินทรัพย์ที่หลากหลายแล้ว ไม่ว่าจะเกิดวิกฤตหรือสถานการณ์แย่แค่ไหน คุณก็จะเอาชนะมันได้  

 

ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อเราต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่อาจกระทบต่อพอร์ตลงทุน ผมอยากให้คุณตอบคำถามตัวเองให้ได้ว่า สินทรัพย์ที่ลงทุนอยู่เป็นสินทรัพย์ที่มีคุณภาพหรือไม่ สามารถรับมือสถานการณ์ตรงหน้าไปได้หรือไม่ หากคุณลงทุนอย่างรู้จักตลาดหุ้น รู้จักตัวเอง ควบคุมอารมณ์ตัวเอง รวมทั้งลงทุนในสิ่งที่ถนัดและตรงกับหลักการที่ถูกต้อง พอร์ตของคุณก็จะรบชนะ ตัวคุณจะนอนหลับสบายใจ

 

สารพัดความเสี่ยงปีหน้า รุมเร้าบรรยากาศลงทุนผันผวนแรงขึ้น

ก่อนที่คุณจะส่องหาสินทรัพย์ลงทุน ผมก็จะขอฉายภาพสถานการณ์ต่างๆ ที่สำนักวิจัยทั้งไทยและเทศ ไม่ว่าจะเป็นสภาพัฒน์ แบงก์ชาติ ธนาคารโลก IMF ฯลฯ ประเมินไปทิศทางเดียวกันว่า เราจะต้องเผชิญมรสุมอะไรบ้างในปีหน้า

 

ภายใต้คาดการณ์เศรษฐกิจโลกอาจชะลอตัวจนถึงถดถอย นำโดยเศรษฐกิจโซนตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และยุโรป ขณะที่โซนตะวันออกยังเติบโตได้ นำโดยจีน ญี่ปุ่น เวียดนาม และไทย โดยมีการมองว่าปัจจัยลบหลักๆ ที่เกิดขึ้นในปีนี้ยังยืดเยื้อและรุนแรงขึ้นในปีหน้า ได้แก่

 

ปัญหาอัตราเงินเฟ้อโลกยังมีแนวโน้มสูงต่อเนื่อง แม้บางประเทศเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว แต่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะทรงตัวระดับสูงเกินกว่ากรอบเป้าหมายของธนาคารกลางต่างๆ อีก 1-2 ปี ส่งผลให้ธนาคารกลางยังคงทิศทางนโยบายการเงินตึงตัวในปีหน้า แต่อาจมีการขึ้นดอกเบี้ยช้าลง และคงดอกเบี้ยระดับสูงไว้จนกว่าเงินเฟ้อจะเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้

 

ปัญหาพิษจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอยแรงกว่าคาด แม้ว่าเงินเฟ้อในสหรัฐฯ จะผ่านจุดสูงสุดไปแล้วในปีนี้ แต่ก็ยังทรงตัวในระดับสูง จึงคาดว่า Fed ยังคงขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง เพื่อคุมเงินเฟ้อให้ลงมาอยู่ในกรอบไม่ต่ำกว่า 2% ให้ได้ ดังนั้น Fed จะลดความร้อนแรงในการเร่งขึ้นดอกเบี้ย โดยคาดว่าดอกเบี้ยในปีหน้าขึ้นไปอยู่ระดับ 5% แต่ไม่เกิน 6%

 

ปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะจากการใช้นโยบายการคลังในช่วงวิกฤตโควิด โดยเฉพาะโซนยุโรปที่มีแนวโน้มเผชิญปัญหาเศรษฐกิจถดถอยท่ามกลางเงินเฟ้อที่พุ่งสูงอยู่ เช่น อิตาลี ที่มีหนี้ภาครัฐสูง หากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มขึ้นจนสร้างความกังวลในการผิดนัดชำระหนี้เหมือนในอดีต 

 

ปัญหาเชิงภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะการรุกรานของรัสเซียในยูเครนที่ยืดเยื้อ ที่อาจกระทบห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ

 

สถานการณ์ในประเทศจีนที่ยังคงใช้มาตรการ Zero-COVID ที่ทำให้เกิดการล็อกดาวน์ตามพื้นที่เสี่ยงในการแพร่ระบาด จะทำให้เห็นการประท้วงเกิดขึ้นเป็นระลอกๆ ได้ และหากยืดเยื้อย่อมกระทบต่อด้านอุปสงค์ในประเทศ ขณะที่ปัญหาฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์ ความเสี่ยงราคาที่ดินร่วง จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาจนลุกลามสู่ห่วงโซ่การผลิตให้ชะงักงัน ปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ในจีน ย่อมกระทบต่อการส่งออกและการผลิตในประเทศต่างๆ ตามมา

 

วิกฤตตลาดเกิดใหม่ เนื่องจากปีนี้ที่หลายประเทศกำลังเผชิญความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ โดยเฉพาะเมื่อเงินสำรองระหว่างประเทศลดลงเร็วจากรายจ่ายด้านน้ำมันและเงินโอนออกนอกประเทศ ขณะที่รายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยวหดหาย จึงมีความเสี่ยงหากนักลงทุนต่างชาติขาดความเชื่อมั่นและดึงเงินลงทุนกลับ ค่าเงินจะอ่อนค่าอย่างรวดเร็ว และประเทศเหล่านี้อาจเผชิญปัญหาสภาพคล่องได้

 

ทั้งนี้ เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF ประเมินว่า GDP โลกปี 2023 เติบโต 2.7% ส่วนสหรัฐฯ โต 1.1% สหภาพยุโรป 0.5% ส่วนเศรษฐกิจในกลุ่มตลาดเกิดใหม่และกำลังพัฒนาในเอเชียยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง และคาดว่าจะมีบทบาทช่วยพยุงเศรษฐกิจโลก นำโดยจีน ขยายตัว 4.4%

 

ส่องสินทรัพย์ลงทุนปีกระต่าย ไม่ตื่นตูม เสริมพอร์ตแกร่ง

ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและนโยบายการเงินทั่วโลก จะยิ่งส่งผลให้ตลาดการเงินโลกมีความผันผวนสูงขึ้น สภาพคล่องในตลาดการเงินและภาวะการเงินโลกตึงตัวขึ้นมาก จึงอาจจะเห็นนักลงทุนปิดรับความเสี่ยงหรือ Risk Off มากขึ้น ทำให้ราคาสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกลดลง บ้างก็อาจกลับไปถือสินทรัพย์สกุลดอลลาร์สหรัฐแทน ประเด็นเหล่านี้ก็จะเป็นกระแสที่เกิดขึ้นวนเวียนเป็นระลอกๆ ในปีหน้า

 

ผมก็อยากจะบอกว่า นักลงทุนจะต้องติดตามสถานการณ์ต่างๆ ไว้ เพื่อวางกลยุทธ์รับมือกับภาวะวิกฤตนั้นๆ แต่ขณะเดียวกันก็อย่าตื่นตระหนกกับกระแสข่าวรายวันหรือให้น้ำหนักกับมรสุมต่างๆ ที่พัดเข้ามามากเกินไป เพราะในช่วงที่ตลาดปรับตัวลดลง นั่นคือ ‘โอกาส’ คุณควร ‘ตั้งสติ’ พิจารณาเหตุการณ์ที่เข้ามากระทบตลาดอย่างรอบด้าน และหากพบว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นมาจากปัจจัยเสี่ยงที่ไม่เป็นระบบ ก็ควรปรับกลยุทธ์เน้นกระจายความเสี่ยง แต่หากมาจากความเสี่ยงเชิงระบบ ซึ่งเป็นปัจจัยเหนือการควบคุม ควรตัดขายเฉพาะสินทรัพย์หรือหุ้นที่ได้รับผลกระทบโดยตรง และไม่สามารถคาดการณ์การฟื้นตัวที่ชัดเจนได้ เพื่อป้องกันความเสี่ยงและสร้างโอกาสด้วยการเลือกลงทุนในหุ้นพื้นฐานดี ธุรกิจมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง เพราะในวิกฤตคือโอกาสแสวงหาหุ้นดี ราคาเหมาะสม

 

เมื่อเร็วๆ นี้ ใครที่ติดตามข่าวปู่วอร์เรน บัฟเฟตต์ ลงทุนหุ้นญี่ปุ่นเพิ่ม แม้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตต่ำ อย่างที่รู้กันว่า Berkshire Hathaway ของวอร์เรน บัฟเฟตต์ ได้ลงทุนหุ้นบริษัทญี่ปุ่นจำนวน 5 ตัวมานานแล้ว โดยถือหุ้นแต่ละตัวราว 5% ของจำนวนทุนชำระแล้วของบริษัท แต่ดูเหมือนว่า Berkshire Hathaway ได้ลงทุนหุ้นญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นในแต่ละตัวสัดส่วนมากกว่า 6% แล้ว

 

ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุดที่เปิดเผยต่อหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐฯ ทาง Berkshire Hathaway มีสัดส่วนลงทุนในหุ้นญี่ปุ่นทั้ง 5 เพิ่มขึ้นดังนี้ Mitsubishi Corp จาก 5.04% เป็น 6.59% ของจำนวนหุ้นชำระแล้ว, Mitsui & Co จาก 5.03% เป็น 6.62% ของจำนวนหุ้นชำระแล้ว, Itochu Corp จาก 5.02% เป็น 6.21% ของจำนวนหุ้นชำระแล้ว, Marubeni Corp จาก 5.06% เป็น 6.75% ของจำนวนหุ้นชำระแล้ว และ Sumitomo Corp จาก 5.04% เป็น 6.57% ของจำนวนหุ้นชำระแล้ว การเพิ่มน้ำหนักลงทุนในหุ้นญี่ปุ่นก็เป็นไปได้ว่า ปู่บัฟเฟตต์มองเห็นโอกาสลงทุนหุ้นญี่ปุ่นมากขึ้นกว่าเดิม ไม่แน่ว่านี่อาจจะเป็นโอกาสลงทุนที่คุณกำลังตามหาก็ได้

 

ขณะเดียวกัน สัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อจากฝั่งสหรัฐฯ เริ่มลดความเข้มข้นลง ก็จะเปิดโอกาสให้นักลงทุนได้มีเวลาหายใจหายคอได้ ผ่อนคลายความกังวลกันมากขึ้น ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และหลายๆ ประเทศเริ่มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง เนื่องจากดอกเบี้ยเป็นของแสลงสำหรับตลาดหุ้น ถ้าวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นเริ่มชะลอตัว ตลาดหุ้นก็น่าจะเริ่มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ซึ่งคนที่ลงทุนนโยบาย Thematic ในช่วงนี้น่าจะเริ่มเห็นฟ้าหลังฝนแล้ว หลังจากที่เราอดทนกันมาตลอดทั้งปี ก็ถือเป็นอีกโอกาสในการส่องหาสินทรัพย์ลงทุนแห่งอนาคต เกาะเมกะเทรนด์โลก

 

ตลาดหุ้นเวียดนามก็เป็นอีกตลาดที่ปรับตัวลงแรงในปีนี้กว่า 36% ท่ามกลางการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ระดับสูง และนักลงทุนต่างชาติยังหลั่งไหลเข้ามาลงทุนโดยตรงหรือ FDI ซึ่งเป็นอีกประเทศที่เป็นโรงงานโลก ล่าสุดก็มีข่าวว่าค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่เกาหลีใต้ Hyundai ร่วมทุนกับ Thanh Cong Group เปิดโรงงานใหม่ผลิตรถยนต์ มีกำลังการผลิต 1 แสนคันต่อปี ด้วยเงินลงทุนกว่า 3.2 ล้านล้านดอง และมีแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 1.8 แสนคันภายในปี 2025 เนื่องจากเวียดนามเป็นตลาดบริโภคในประเทศที่มีช่องว่างให้เติบโตได้อีกมาก ถือเป็นปัจจัยที่ช่วยดึงดูดค่ายรถยนต์จากต่างชาติ โดยเฉพาะแบรนด์จากเกาหลีใต้ที่ได้รับความนิยมสูงในเวียดนาม และเกาหลีใต้เป็นนักลงทุนอันดับต้นๆ ของเวียดนาม โดยในครึ่งปีแรก เกาหลีใต้เป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนในเวียดนามสูงเป็นอันดับ 2 โดยมีมูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 2.66 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 95 พันล้านบาท เป็นรองเพียงบริษัทจากสิงคโปร์เท่านั้น และก่อนหน้านี้ก็มีค่าย Apple สัญชาติอเมริกันย้ายฐานการผลิตจากจีนมาเวียดนามเป็นข่าวใหญ่โตของโลก 

 

ชงสูตรผสมลงทุนหุ้นและตราสารหนี้ ลดเสี่ยงพอร์ตผันผวน

แต่อย่างไรก็ตาม นอกจากการกระจายลงทุนในตลาดหุ้นต่างๆ แล้ว อีกตัวช่วยสำคัญที่ทำให้พอร์ตมีความผันผวนลดลงก็คือการลงทุนในตราสารหนี้ ซึ่งจะเห็นคนส่วนใหญ่นิยมกันมาก ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนโดยตรงหรือซื้อกองทุนรวม กองทุน ETF เพราะถือว่ามีความเสี่ยงต่ำกว่าลงทุนหุ้น 

 

คงจำกันได้ว่าปีนี้ Fed ปรับดอกเบี้ยขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ราคาตราสารหนี้ค่อยๆ ลดลง ซึ่งหากใครลงทุนผ่านกองทุนก็น่าจะได้เห็นมูลค่า NAV ที่แสดงราคาของตราสารหนี้ในวันนั้นๆ ลดลง เพราะผ่านสมรภูมิการปรับดอกเบี้ยขึ้นมาอย่างโชกโชน แต่ปีหน้าก็จะเจอโจทย์ใหม่ คือธนาคารกลางจะลดความร้อนแรงของการขึ้นดอกเบี้ย ก็ส่งผลดีต่อตลาดตราสารหนี้  

 

ด้วยผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นมาอย่างรุนแรง และจังหวะของการทรงตัว หรืออาจจะมีแนวโน้มปรับลดลงในอนาคต หาก Fed เริ่มเห็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจเริ่มได้รับผลกระทบจากต้นทุนการเงินที่อยู่ในระดับสูง ก็อาจส่งสัญญาณนโยบายการเงินกลับทิศออกมาได้ ดังนั้นในปี 2023 จึงเป็นโอกาสทองของตราสารหนี้สหรัฐฯ ก็ว่าได้ 

 

มาถึงตรงนี้คุณน่าจะมองเห็นโอกาสลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ได้มากขึ้นบ้างแล้ว ส่วนคุณจะจัดสูตร ส่วนผสมระหว่างหุ้นกับตราสารหนี้อย่างไร ก็ขึ้นกับระดับความเสี่ยงที่คุณรับได้ อย่างผมมีกองทุนตราสารหนี้ที่บริหารให้ลูกค้าอยู่คือ Global ETF ที่มีสัดส่วนลงทุนใน ‘หุ้นสามัญ’ และ ‘ตราสารหนี้’ ตามความเสี่ยงที่เหมาะสม ระดับผลตอบแทนก็จะแตกต่างกันไปตามการผสมสูตรลงทุน

 

หากคุณยังไม่มีความมั่นใจในการจัดส่วนผสมของพอร์ตลงทุนของตัวเอง แต่อยากสร้างเรือพอร์ตให้แข็งแรงฝ่ามรสุมปีหน้าได้ ก็สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ https://jitta.co/3BkpIpg  

 

หวังว่าบทความนี้จะทำให้คุณเข้าใจสิ่งที่คุณลงทุนได้มากขึ้น และทำให้คุณไม่ตื่นตระหนกเมื่อเกิดความผันผวนจากการลงทุนที่เกิดขึ้นครับ

 

ผมขอย้ำอีกครั้งว่า การลงทุนที่ดีที่สุด คือการลงทุนที่จะทำให้คุณนอนหลับได้อย่างสบายใจครับ

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising