ผมเชื่อว่า คนไทยหลายคนรู้จักเมืองละแวกผ่านตำราเรียนวิชาประวัติศาสตร์และภาพยนตร์ว่า เมืองนี้เป็นเมืองที่สมเด็จพระนเรศวรทรงยกทัพไปตีเมื่อ พ.ศ. 2136 แล้วทรงประกอบพระราชพิธีปฐมกรรม ซึ่งคนไทยมักเข้าใจกันไปตามพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาว่า เป็นการประหารพระยาละแวก (นักพระสัตถา) แล้วเอาโลหิตมาล้างพระบาท
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันแทบไม่มีนักประวัติศาสตร์เชื่อตามพงศาวดารนี้แล้ว เนื่องจากพงศาวดารของกัมพูชาและบันทึกของสเปนระบุชัดว่า พระเจ้าแผ่นดินกับราชบุตรหนีไปอยู่ที่เมืองสตรึงเตรง และพิธีปฐมกรรมเองก็เป็นพิธีเกี่ยวกับช้าง ดังนั้น ความเข้าใจที่เชื่อว่า ปฐมกรรมเป็นพระราชพิธีประหารชีวิตนั้น จึงเป็นปัญหาความคลาดเคลื่อนของการบันทึกพงศาวดารฝ่ายไทย
ภาพจิตรกรรมเล่าเรื่องพระราชพิธีปฐมกรรมที่พระอุโบสถสุวรรณดาราราม วาดโดยพระยาอนุศาสน์จิตรกร
ไม่ว่าข้อถกเถียงข้างต้นนี้จะเป็นอย่างไร สาเหตุที่ผมสนใจเมืองนี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องของพระนเรศวรโดยตรง แต่สนใจหลักฐานทางโบราณคดีของกัมพูชาในช่วงสมัยหลังเมืองพระนคร (Post-Angkorian Period) (คือสมัยที่เขมรย้ายเมืองหลวงออกไปจากเขตนครวัด-นครธม) ว่ามีหน้าตาเป็นอย่างไร สัมพันธ์กับสมัยปลายสุดของเมืองพระนครอย่างไรบ้าง เรื่องที่เขียนต่อไปนี้เป็นประสบการณ์จากการไปสำรวจในพื้นที่ดังกล่าว เลยอยากจะเอาสิ่งที่เห็นและสัมผัสมาแบ่งปันเป็นความรู้ให้กับผู้อ่าน
ความก้าวหน้าล่าสุดของโบราณคดีเมืองละแวก
ช่วงสมัยที่เรียกว่า ‘หลังเมืองพระนคร’ นี้ บางครั้งเรียกว่า ‘ยุคกลาง’ ตกอยู่ในช่วงราวกลางคริสต์ศตวรรษที่ 15-19 หรือในสมัยเมื่อเมืองพระนคร (ที่ตั้งนครวัด-นครธม) เสื่อมลง จนถึงเมื่อฝรั่งเศสเข้ามาปกครองเป็นอาณานิคมเมื่อ ค.ศ. 1893 ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดขึ้นหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือ การเปลี่ยนแปลงทางศาสนาที่ศาสนาพุทธนิกายเถรวาทได้มาแทนที่ศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธนิกายมหายาน ยังไม่นับการเปลี่ยนแปลงทางด้านศิลปะ ซึ่งสัมพันธ์กับความเชื่ออีกด้วย
แนวคูเมืองและกำแพงเมืองชั้นในของเมืองละแวก
ถึงแม้ว่าช่วงเวลาดังกล่าวราว 400 ปีนี้จะสำคัญมาก แต่ถ้าเทียบกัน ประวัติศาสตร์โบราณคดีสมัยเมืองพระนครนั้นได้รับการค้นคว้าวิจัยมากกว่าหลายเท่าตัว จึงมีการวิพากษ์กันในหมู่นักวิชาการ จนอาจกล่าวได้ว่า ‘ยุคกลาง (Middle Age)’ ของกัมพูชานั้นถือเป็นยุคมืดของความรู้ และสาเหตุที่คนมุ่งสนใจเฉพาะสมัยเมืองพระนครมากกว่านั้น ส่วนหนึ่งต้องยอมรับในความยิ่งใหญ่อลังการของนครวัด-นครธมด้วย
เพื่อนชาวอเมริกันคนหนึ่งบอกติดตลกว่า ถ้าเขียนขอทุนวิจัยเกี่ยวกับนครวัด จะได้ง่ายกว่ามาก เพราะนครวัดนั้น ‘เซ็กซี่’ แต่อีกส่วนหนึ่งที่เป็นอย่างนั้น ถ้าพูดกันในเชิงวิพากษ์หน่อยก็ต้องบอกว่า เพราะเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสมองว่า ช่วงเวลาดังกล่าวถือเป็นยุคคลาสสิก เป็นช่วงที่จัดเป็นยุคสมัยแห่งอารยธรรม (ดังนั้น ก็จะเห็นหนังสือหลายเล่มตั้งชื่อว่า Khmer Civilisation) ซึ่งการที่ฝรั่งเศสสามารถครอบครองดินแดนที่เคยมีอารยธรรมระดับโลกนี้ได้ ก็เท่ากับแสดงให้ชาติอื่นๆ เห็นว่า ฝรั่งเศสนั้นเหนือกว่านั่นเอง ถึงจะมีปัญหาในเชิงคอนเซปต์อยู่บ้าง แต่ก็ต้องยอมรับว่า ฝรั่งเศสนั้นได้สร้างองค์ความรู้ไว้อย่างมหาศาล ทำให้ยุคสมัยอันพร่าเลือนและสับสนนั้นเป็นระเบียบขึ้น ซึ่งนักประวัติศาสตร์ศิลปะกัมพูชา ไทย และที่อื่นๆ ก็ยังคงสืบทอดความรู้จากเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส และปรับปรุงกันเรื่อยมา
ด้วยปัญหาข้างต้น ทำให้ในรอบ 10 ปีมานี้ นักประวัติศาสตร์โบราณคดีต่างชาติหลายคนจึงเริ่มหันมาให้ความสนใจกับประวัติศาสตร์โบราณคดีของเมืองละแวกมากขึ้น หนึ่งในงานวิจัยที่สำคัญก็คือ การทำงานโบราณคดีของ ดร.มาร์ติน พอลคิงฮอร์น แห่งมหาวิทยาลัยฟลินเดอร์ ออสเตรเลีย ซึ่งได้ขุดค้นทางโบราณคดีในเมืองละแวกหลายจุดและต่อเนื่องมาหลายปี
จนนำไปสู่ข้อสรุปเบื้องต้นว่า เมืองนี้มีการค้าและติดต่อกับโลกภายนอกอย่างกว้างขวางและรุ่งเรืองมาก่อน ดังเห็นได้จากเศษภาชนะดินเผาหรือเครื่องถ้วยที่พบจากการขุดค้น ไม่ว่าจะเป็น จากจีน เวียดนาม ญี่ปุ่น ยุโรป และไทย เช่น จากเตาบ้านบางระจัน (แม่น้ำน้อย) เตาศรีสัชนาลัย เตาชีปะขาวหาย (พิษณุโลก) โดยเฉพาะกับจีน ซึ่งขุดพบเครื่องถ้วยสมัยราชวงศ์หมิงตอนปลาย ทั้งจากแหล่งเตาในมณฑลฝูเจี้ยน เตาจิงเต๋อเจิ้น ฯลฯ กำหนดอายุในเบื้องต้นตกอยู่ราวคริสต์ศตวรรษที่ 15-17
อย่างไรก็ดี ความจริงแล้วเมืองแห่งนี้ไม่ใช่เป็นเมืองใหม่ แต่พบร่องรอยการเข้ามาใช้พื้นที่สร้างศาสนสถานตั้งแต่สมัยเมืองพระนครแล้ว ซึ่งปรากฏหลักฐานที่วัดตระแลงแกง (วัดกลางเมือง) ดังนั้น การเลือกมาตั้งเมืองที่นี่จึงไม่ใช่การสำรวจเพื่อสร้างบ้านเมืองใหม่เสียทีเดียวของพระองค์จันที่ 1 (เจ้าพญาจันทราชา) เมื่อ พ.ศ. 2059 แต่มีชุมชนดั้งเดิมมาก่อนแล้ว
นอกจากนี้แล้ว ในเขตเมืองยังขุดพบตะปูเหล็ก ซึ่งเกี่ยวข้องกับอาคารที่สร้างด้วยไม้ที่มักไม่ใช่ของสามัญชน และพบแนวอิฐในเขตโรงงานทำอิฐ ซึ่งจุดนี้เป็นอีกจุดหนึ่งที่ได้ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดี และพบเศษภาชนะดินเผาจากที่ต่างๆ
โดยสรุปแล้วผลจากการขุดค้นทางโบราณคดีนี้เองที่ได้นำไปสู่มุมมองใหม่ทางประวัติศาสตร์ว่า ช่วงสมัยที่เรียกกันว่าเป็นยุคมืดนั้น แท้จริงแล้วการค้ากับต่างชาติกลับรุ่งเรือง และเป็นการถือกำเนิดใหม่ของอารยธรรมเขมร ซึ่งถือได้ว่าเป็นยุคที่นักโบราณคดีกัมพูชายังไม่ได้ให้ความสนใจเท่าที่ควร
ตามรอยไปสำรวจโบราณคดีที่เมืองละแวก
ปกติแล้วถ้าดำเนินการสำรวจทางโบราณคดีในต่างแดนอย่างจริงจังนั้น จำเป็นจะต้องได้รับการอนุญาตจากทางหน่วยงานที่มีอำนาจของประเทศนั้นเสียก่อน แต่ในครั้งนี้ผมไปในลักษณะเหมือนนักท่องเที่ยว แวะไปตามวัดและจุดต่างๆ ที่สามารถเข้าถึงได้ไม่ยาก เป็นการสำรวจคร่าวๆ เพื่อให้เข้าใจหรือรับรู้ภูมิศาสตร์ของเมืองละแวกหรือหลักฐานในช่วงสมัยหลังเมืองพระนครให้มากขึ้นเท่านั้น เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของการเขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก
คราวนี้เวลาสำรวจทางโบราณคดี สิ่งที่จะต้องเตรียมพร้อมไปก็มีกล้องถ่ายรูป สมุดบันทึก ตลับเมตรสำหรับถ่ายรูป และอื่นๆ ถ้าไม่คุ้นเคยกับสถานที่และวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ ควรไปหลายๆ คน ไปกับคนท้องถิ่น ไม่ควรไปคนเดียว แต่งวดนี้ผมเดินสำรวจคนเดียว เพราะคุ้นเคยกับพื้นที่และผู้คน อีกอย่างคนกัมพูชามักคิดว่าผมเป็นคนกัมพูชาด้วย (แบบฮาตัวเอง)
สมุดบันทึกภาคสนามในช่วงที่สำรวจเมืองละแวกของผู้เขียน ความจริงการโพสต์ภาพในเฟซบุ๊กก็นับเป็นการบันทึกข้อมูลแบบหนึ่งได้นะครับ แต่ถ้าเป็นสมุดก็จะสะดวกในการจดและวาดอะไรเล็กๆ ประกอบไปด้วย
เวลาสำรวจนี้สิ่งที่สายตาของนักโบราณคดีจะมองหาคือ ถ้าเป็นวัดเก่า จะมองหาใบเสมา เพราะมักสร้างขึ้นพร้อมกับตัววัด จากนั้นก็มองหาพระพุทธรูปเก่า ซึ่งอาจสังเกตได้จากรูปแบบศิลปะหรือจากคำบอกเล่าของชาวบ้าน โชคดีที่คนขับรถของผมเป็นคนเขมร สามารถพูดภาษาอังกฤษและภาษาไทยได้นิดหน่อย จึงช่วยแปลได้ (ถ้าเทียบกันแล้ว คนทางกัมพูชานั้นพูดได้หลายภาษา และได้เปรียบเรื่องนี้กว่าคนไทยมาก) สุดท้ายคือ การมองหาหลักฐานที่อยู่บนพื้นผิวดิน เช่น เศษภาชนะดินเผา เศษกระเบื้องมุงหลังคา และอื่นๆ ซึ่งจะช่วยบอกได้ว่า พื้นที่บริเวณนี้มีการอยู่อาศัยของคนและอายุสักประมาณเท่าไร
สำหรับเมืองละแวกนั้นตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงพนมเปญ 35 กิโลเมตร ทางตะวันตกของโตนเลสาบ ตัวเมืองมีกำแพงเมืองหรือคันดิน 3 ชั้น (ถ้าไทยก็จะเรียก ตรีบูร) ปัจจุบันหลงเหลือเฉพาะแนวทางด้านทิศเหนือ ใต้ และตะวันตก ที่กำแพงเมืองชั้นนอกนี้ยังปรากฏแนวคูเมืองอีกด้วย คูเมืองกว้างราว 6-8 เมตร สภาพปัจจุบันตื้นเขิน บางส่วนชาวบ้านใช้เป็นพื้นที่ปลูกข้าวไปแล้ว
ผมเริ่มต้นสำรวจจากวัดกลางเมืองก่อน วัดนี้มีชื่อว่า วัดตระแลงแกง วัดนี้คงเป็นวัดที่เก่าที่สุดในพื้นที่ มีชื่อในพงศาวดารกัมพูชาว่า ‘พระวิหารจตุรมุขมหาปราสาท’ เป็นวัดสำคัญ จึงได้รับการบูรณะมาอย่างต่อเนื่อง วัดนี้ตั้งอยู่บนภูเขาเตี้ยๆ เกือบกลางเมือง คงสัมพันธ์กับความเชื่อเดิมที่ให้เขาพนมบาแคงของเมืองพระนคร ซึ่งเปรียบได้กับศูนย์กลางของจักรวาล จากการสำรวจรอบวัด ใบเสมาเป็นสิ่งที่สังเกตได้ง่ายที่สุด พระในวัดให้ความเห็นว่าเก่าที่สุดในละแวกนี้ ซึ่งเท่าที่ผู้เขียนดูก็จัดได้ว่าเป็นใบเสมาในสมัยละแวก เพราะมีการแกะสลักลวดลายสวยงาม และมีความคล้ายคลึงกับวิธีการวางลายของใบเสมาอยุธยาตอนกลาง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะนักองค์จันที่ 1 นั้นเคยเสด็จไปพำนักที่อยุธยา
ใบเสมาที่วัดตระแลงแกง แกะสลักลวดลายสวยงาม วางลวดลายคล้ายกับเสมาสมัยอยุธยาตอนกลาง
พระพุทธรูปประทับยืนหลังชนกัน 4 องค์ ทั้งหมดเป็นตัวแทนของอดีตพุทธเจ้า ใต้ฐานของพระพุทธรูปองค์นี้พบพระบาทพระพุทธรูปทำจากหินทรายขนาดใหญ่ 4 คู่
ที่สำคัญภายในวิหารทรงจตุรมุขมีพระพุทธรูปยืนหันหลังชนกัน 4 องค์ จากรูปแบบของพระพุทธรูปก็อยู่ในสมัยหลังแล้ว และได้รับอิทธิพลพระทรงเครื่องจากอยุธยาตอนปลายหรือรัตนโกสินทร์ตอนต้น แต่ที่น่าสนใจคือ ส่วนพระบาทของพระพุทธรูปขนาดใหญ่มาก (ยาวสักประมาณ 1.5 เมตร) จำนวน 4 คู่ ทำจากหินทราย แสดงว่า เคยมีพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่อยู่ ชาวบ้านในแถบนั้นเล่าว่า ชิ้นส่วนพระวรกายและเศียรนั้นถูกเคลื่อนย้ายไปเมื่อนานมาแล้ว ไปยังพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งในเขตทะเลสาบเขมร ถ้าพระบาทนี้คือ พระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ 4 องค์ ก็จะไปเหมือนกับพระพุทธรูปที่วัดจตุรมุข หน้าปราสาทพระขรรค์กำปงสวาย กำหนดอายุอยู่ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (ค.ศ. 1181-1218) หรือหลังจากนั้นเล็กน้อย ดังนั้น จึงสอดคล้องกับภายในวิหารวัดตระแลงแกงที่พบพระพุทธรูปนาคปรกเป็นที่สร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ด้วย
พระบาทของพระพุทธรูปทำจากหินทราย มีขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 1.5 เมตร
วัดจตุรมุข ศิลปะเขมรสมัยบายน สร้างโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 18
จากวัดตระแลงแกง ผมก็ออกเดินทางต่อไปยังวัดโสพิรังสี ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับมุมตะวันออกเฉียงเหนือของกำแพงเมืองชั้นใน วัดนี้มีสิ่งที่น่าสนใจคือ เสมาหินทราย ใช้ระบบเสมาคู่คือ ในแต่ละมุมแต่ละด้านจะปักใบเสมา 2 ใบ ใบหนึ่งสูง ใบหนึ่งต่ำ ใบเสมาคล้ายแบบอยุธยา แต่ก็มีลักษณะแบบเขมรคือ การตกแต่งยอดเป็นรูปกลีบบัว และเดิมอาจเคยมีจุกอยู่ด้วย แต่หักไปทั้งหมด
ผมพยายามเดินรอบวัดเพื่อหาหลักฐานอื่นๆ แต่ไม่พบ ปัญหาอย่างหนึ่งของการสำรวจวัดในกัมพูชาคือ พระพุทธรูปและสิ่งก่อสร้างต่างๆ มักได้รับการบูรณะจนดูเหมือนใหม่ทั้งหมด ยิ่งพระพุทธรูปจะถูกทาสี วาดคิ้ว วาดปาก จนหาลักษณะดั้งเดิมไม่ได้ ด้านหนึ่งนั้นก็น่าเสียดาย แต่อีกด้านหนึ่งแล้วก็เป็นวิถีทางศาสนาที่ต้องเข้าใจ
โบสถ์วัดโสพิรังสี ตั้งอยู่บนเนินดินเตี้ยๆ รอบโบสถ์พบใบเสมาสมัยละแวก
ใบเสมาสมัยละแวกที่วัดโสพิรังสี แสดงถึงลักษณะที่ได้รับอิทธิพลจากเสมาแบบอยุธยา
ถัดมาเราขับรถลงไปทางใต้ไปที่วัดพระอินเทพ ตั้งอยู่ใกล้กับมุมกำแพงเมืองทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมือง มีของ 2 สิ่งที่เก่า คือ ใบเสมาที่ล้อมรอบอุโบสถ (ความจริงในระบบวัดของกัมพูชานั้นอุโบสถเรียกว่า วิหาร) เป็นใบเสมาสมัยละแวกที่สะท้อนอิทธิพลอยุธยาคือ มีเส้นนูนที่กึ่งกลางของใบเสมา ทรวดทรงก็เป็นแบบอยุธยา ต่างแค่ยอดใบเสมามีกลีบบัว และอาจเคยมีจุกแต่หักหายไป
ส่วนในตัวอุโบสถนั้นก็พบพระพุทธรูปประธาน คนที่ดูแลวัดพูดเป็นภาษาเขมร เท่าที่ผมพอจับใจความได้คือ พระพุทธรูปประธานองค์ใหญ่นี้เป็นพระพุทธรูป ‘สมัยลุงเวก อายุ 500 ปี มาแล้ว’ คำบอกเล่าดังกล่าวก็สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ของเมืองได้เป็นอย่างดี
พระพุทธรูปประธาน วัดพระอินเทพ ลักษณะพระพุทธรูปแบบเขมรมักจะทำรัศมีเป็นรูปดอกบัวตูม พระพักตร์เป็นเหลี่ยม ในสมัยหลังหรือปัจจุบันหลายวัดมักเอาสีทองไปทาและวาดคิ้ว ปาก ตา อย่างสวยงาม และชอบนำรัศมีทรงกลมที่มีไฟกะพริบมาติด
ถัดจากวัดสำคัญ 3 แห่งนี้แล้ว ด้วยเวลาที่มีจำกัด ผมก็ต้องเดินทางกลับไปเมืองเสียมเรียบ ซึ่งขาออกนั้นจะต้องผ่านแนวกำแพงและคูเมืองชั้นใน จุดที่พอจะสังเกตเห็นได้ชัด และสามารถเดินได้นั่นคือ มุมกำแพงเมืองทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งมีถนนดินแคบๆ ที่พอจะเข้าไปถึงได้
ลักษณะของกำแพงเมืองเป็นคันดินสูงประมาณ 5-6 เมตร ด้านนอกเป็นคูเมืองกว้างสัก 7-8 เมตร แนวกำแพงเมืองนี้ไม่พบอิฐ จึงเข้าใจว่า เดิมคงใช้ไม้ปักเป็นแนวกำแพง คูเมืองปัจจุบันตื้นเขินไปแล้ว กลายเป็นที่สำหรับปลูกข้าวของชาวบ้าน ผมเดินสำรวจข้ามเข้าไปยังเมืองด้านใน ไปพบหลุมคล้ายกับบ่อน้ำ แต่ตอนหลังมาเดาว่าอาจเป็นหลุมขุดค้นทางโบราณคดี จุดนี้พบเศษภาชนะดินเผาเนื้อดิน และเศษเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิงจากเตาจิงเต๋อเจิ้น ก็สอดคล้องกับงานวิจัยของ ดร.มาร์ติน
หลังจากนั้นก็ลองเดินไปรอบๆ แถวนั้น เพื่อดูว่าบนพื้นผิวดินมีโบราณวัตถุ (โบราณคดีเรียกว่า Surface Finds) บ้างหรือไม่ ผลคือไม่พบ อาจเพราะบางส่วนเป็นหญ้าและต้นไม้ที่ขึ้นปกคลุม แต่ถ้าเทียบกับประสบการณ์การเดินสำรวจในเมืองโบราณหลายๆ ที่ ก็นับว่าโบราณวัตถุเบาบาง ไม่หนาแน่นเท่ากับเช่นที่อยุธยาหรือสุโขทัย ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่า ประชากรในเมืองละแวกนั้นคงไม่หนาแน่นมาก หรือมีการอยู่อาศัยในช่วงเวลาที่ไม่ยาวนานนัก ซึ่งก็น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะการอยู่อาศัยในเขตเมืองนี้ ถ้าพิจารณาตามเอกสารประวัติศาสตร์แล้วก็ราว 100-200 ปีเท่านั้นเอง
แผนผังเมืองละแวกในปัจจุบัน ผมได้ลากเส้นผังเมืองและลงตำแหน่งของโบราณสถานสำคัญลงไปด้วย (ปรับปรุงจาก Google และ The Phnom Penh Post)
เศษเครื่องถ้วยจีนจากเตาจิงเต๋อเจิ้น กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 21 ผู้เขียนพบระหว่างการสำรวจในเมือง
มีเรื่องหนึ่งที่ควรกล่าวด้วยคือ การสำรวจครั้งนี้ รวมถึงใครอีกหลายคนนั้นก็ไม่เคยพบเงินอัฐที่ยัดใส่กระสุนปืนใหญ่ตามที่พงศาวดารไทยเล่าไว้ ซึ่งเรื่องเล่าดังกล่าวนี้คงเป็นเรื่องเชิงสัญลักษณ์เสียมากกว่า เช่น อาจหมายถึงปัญหาการแตกความสามัคคี หรือกบฏที่เกิดขึ้นภายในเมืองละแวกก่อนเสียเมือง เป็นต้น
แนวคูเมืองละแวกที่กลายเป็นนาข้าวไปแล้ว ซ้ายมือที่เห็นเป็นแนวต้นไม้ต้นไผ่นั่นคือ กำแพงเมืองชั้นในของเมืองละแวก
ถ้าใครสนใจจะไปเที่ยวเมืองละแวกนั้น ผมว่ายังค่อนข้างยากอยู่ ไม่ใช่เพราะไกล แต่ถนนหนทางนั้นยังไม่ค่อยดี และยังมีปัญหาเรื่องการจัดการ ไม่มีป้ายบอกว่าที่ใดคือสถานที่สำคัญ ถึงจะมีการออกข่าวเกี่ยวกับการขุดค้นทางโบราณคดี แต่ก็ไม่มีการเผยแพร่ความรู้ให้กับคนในท้องถิ่นหรือทำป้ายข้อมูลบอกไว้ ดังนั้น จึงเป็นเมืองที่ยังต้องการการปรับปรุงและจัดการทรัพยากรทางวัฒนธรรมอีกมาก
โดยสรุปแล้ว เมืองละแวกไม่ได้เป็นเมืองในยุคมืดหรือยุคกลาง (ซึ่งยุคกลางก็เป็นการนิยามแบบตะวันตกที่มองว่า เป็นยุคของความไม่รุ่งเรือง) หากแต่เป็นเมืองที่มีการค้าที่ติดต่อกับประเทศต่างๆ อย่างกว้างขวาง ไม่เช่นนั้นครั้งหนึ่งสเปนคงไม่หมายจะยึดเมืองนี้ไว้เป็นแน่ และคงเป็นเหตุผลอย่างหนึ่งที่ทำให้พระนเรศวรต้องยกทัพไปตีคือ เป็นทั้งการกำจัดคู่แข่งทางการค้า และปัญหาที่เขมรชอบมากวาดต้อนคนไป
เรื่องการย้ายเมืองหลวงจากเมืองพระนครมายังเมืองละแวกนั้น เดิมทีนักประวัติศาสตร์ชาตินิยมของกัมพูชามักวิเคราะห์ว่า เป็นผลมาจากอยุธยายกทัพไปตีในสมัยสมเด็จเจ้าสามพระยา หากแต่หลังจากนั้นแล้วก็พบว่า ยังมีกษัตริย์เขมรปกครองเมืองพระนครต่อมาอีก โดยขึ้นตรงกับกรุงศรีอยุธยา ก่อนที่จะย้ายเมืองหลวงไป ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีนักประวัติศาสตร์คนอื่นเสนอว่า การย้ายเมืองหลวงลงไปทางใต้นั้นเป็นเหตุผลมาจากการค้าทางทะเลที่ขยายตัวในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 อันเป็นผลมาจากการเข้ามาของชาวตะวันตก ซึ่งเมืองละแวกนั้นสามารถออกทะเลได้สะดวก ไม่ห่างจากทะเลสาบเขมร โดยยังอาศัยโตนเลสาบ ซึ่งเป็นเส้นทางทั้งลำเลียงข้าวและอาหารจากตอนในของแผ่นดินได้ อีกทั้งยังติดต่อกับทางกรุงศรีอยุธยาได้โดยสะดวกอีกด้วย
ภาพเปิด: แผนที่เมืองละแวกโดยชาวสเปน (Johannes Vingboons / Wikipedia)
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง:
- บุญเตือน ศรีวรพจน์. “พระนเรศวร ตีละแวกแล้วทำ “พิธีปฐมกรรม” นำ “เลือดศัตรูล้างพระบาท” จริงหรือ?,” ศิลปวัฒนธรรม, กันยายน 2543. Available at: www.silpa-mag.com/history/article_26637
- Alessandro Marazzi Sassoon. “Long thought to have been Cambodia’s capital during a ‘dark age’, digs are unearthing Longvek’s place as a centre of global trade,” The Phnom Penh Post, 19 February 2018. Available at:
- www.phnompenhpost.com/national-post-depth/long-thought-have-been-cambodias-capital-during-dark-age-digs-are-unearthing
- รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง และ ศานติ ภักดีคำ. ศิลปะเขมร, พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: มติชน, 2561.