×

การฟื้นฟูอดีตของเอเชียแบบทำน้อยแต่ได้มาก

โดย Heritage Matters
16.08.2024
  • LOADING...

แม้การบูรณะซากปรักหักพังขนานใหญ่อาจทำให้โบราณสถานดูสวยงามยิ่งขึ้น แต่ก็อาจทำลายอัตลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ที่แท้จริงให้สูญหายไปได้ ภาพที่เห็นนี้คือเจดีย์ในเมืองพุกาม ประเทศเมียนมา ซึ่งได้สร้างขึ้นมาใหม่หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อ พ.ศ. 2518 (ค.ศ. 1975) (ภาพ: วราภรณ์ สุวัฒนโชติกุล)

 

เป็นเวลานานนับสิบๆ ปีแล้วที่การบูรณะแหล่งโบราณคดีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มักเป็นการเปลี่ยนแปลงอดีตมากกว่าการนำเสนอความเป็นจริงอย่างตรงไปตรงมา นักอนุรักษ์มัก ‘หนักมือ’ จนเกินไป กล่าวคือ เสริมแต่งแหล่งโบราณคดีให้ดูสวยงามเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่การกระทำเช่นนี้กลับจะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี

 

น่าเสียดายที่วิธีการบูรณะโบราณสถานอันเก่าแก่ให้สวยงามได้กลายมาเป็นมาตรฐานของภูมิภาค โครงการอนุรักษ์ต่างๆ มักปลูกสร้างและต่อเติมซากปรักหักพังขึ้นมาใหม่ให้สมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นวัสดุประเภทหิน อิฐ ศิลาแลง ปูน หรือไม้ องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นที่สุดมักได้รับการซ่อมแซมให้ดูครบถ้วนสมบูรณ์ จนบางครั้งถึงกับสร้างขึ้นมาใหม่ทั้งหมด ผู้มีอำนาจตัดสินใจไม่คำนึงถึงความถูกต้องทางประวัติศาสตร์ แต่กลับเลือกสร้างโบราณสถานขึ้นมาใหม่ให้ดูงดงามน่าประทับใจ ด้วยความหวังว่าโบราณสถานจะช่วยกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจ

 

วิธีการนี้ทำให้ผู้เข้าชมเสียโอกาสที่จะได้สัมผัสอารมณ์ความรู้สึกที่แท้จริงของอดีต แทนที่จะพยายามดึงดูดผู้เข้าชมด้วยความสวยงาม สิ่งที่ควรเน้นคือการบูรณะอย่างถูกต้องและพิถีพิถัน เพื่อให้ผู้เข้าชมได้ตระหนักถึงความสำคัญของสถานที่และประวัติศาสตร์

 

เจดีย์ในวิหาร Shwe Nan Yin Taw ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เมืองพุกาม ประเทศเมียนมา

ภาพ: เจฟฟ์ อัลเลน

 

สถูปเจดีย์ที่ถูกสร้างขึ้นใหม่เป็นบางส่วน เมืองพุกาม ประเทศเมียนมา

ภาพ: เจฟฟ์ อัลเลน

 

ตัวอย่างหนึ่งของการบูรณะแบบ ‘หนักมือ’ เกินไป คือ เมืองพุกาม ประเทศเมียนมา พุกามเป็นเมืองหลวงอันโอ่อ่าที่เจริญเติบโตอย่างมากในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15-19 (คริสต์ศตวรรษที่ 9-13) และปัจจุบันองค์การยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนให้เป็นเมืองมรดกโลกอย่างเป็นทางการ แต่สถานที่ต่างๆ ที่เราพบเห็นในปัจจุบันกลับแตกต่างจากอดีตอย่างสิ้นเชิง แหล่งโบราณคดีแห่งนี้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อ พ.ศ. 2518 (ค.ศ. 1975) หลังจากนั้นจึงได้รับการสร้างขึ้นมาใหม่แทบทั้งหมด

 

หากมองจากมุมการท่องเที่ยว เมืองพุกามในปัจจุบันมีสิ่งให้เที่ยวชมมากกว่าช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว เนื่องจากวัดทั้งหมดถูกบูรณะขึ้นมาใหม่เพื่อเพิ่มทัศนียภาพ การกระทำดังกล่าวอาศัยข้อมูลทางโบราณคดีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น การสร้างพุกามขึ้นใหม่ได้ลบล้างผังเมืองและบริบทของอดีตมหานครซึ่งมีความเป็นสังคมเมืองอย่างสูงตามมาตรฐานเมืองยุคก่อนสมัยใหม่ และไม่ได้เป็นเพียงอนุสรณ์สถาน การบูรณะได้เปลี่ยนแปลงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ไปอย่างสิ้นเชิง มีนักท่องเที่ยวเพียงหยิบมือเท่านั้นที่ทราบข้อเท็จจริงดังกล่าว

 

สถูปเจดีย์ที่ถูกบูรณะขึ้นใหม่ เมืองพุกาม ประเทศเมียนมา

ภาพ: วราภรณ์ สุวัฒนโชติกุล

 

การแปลงโฉม

 

เมืองพุกามในอดีตมีลักษณะและบทบาทอย่างไร ผู้คนใช้ชีวิตกันเช่นไร ปัจจุบันคงไม่มีภาพเช่นนั้นให้ได้พบเห็น เพราะถูกแทนที่ด้วยทิวทัศน์อันวิจิตรตระการตาตามอุดมคติที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อดึงดูดสายตา (และกล้อง) มากกว่าจะกระตุ้นให้เข้าใจอดีต อนิจจา องค์การยูเนสโกยังได้รับรองสิ่งลวงเหล่านี้ด้วยการขึ้นทะเบียนให้เมืองพุกามเป็นมรดกโลกเมื่อ พ.ศ. 2562 (ค.ศ. 2019) การขึ้นทะเบียนครั้งนี้น่าจะส่งผลเสียยิ่งกว่าผลดีแก่มรดกโบราณสถานอื่นๆ ของเมียนมา ซึ่งจะถูก ‘ทำให้เป็นพุกาม’ (Baganised) ต่อไป

 

วัดปรัมบานัน เมืองยอกยาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย

ภาพ: วราภรณ์ สุวัฒนโชติกุล

 

แหล่งโบราณคดีแห่งอื่นๆ ในภูมิภาคล้วนได้รับผลกระทบจากการบูรณะอย่างบิดเบือนแบบนี้เช่นกัน ในประเทศอินโดนีเซีย ศาสนสถานในศาสนาฮินดูอย่างวัดปรัมบานัน (Prambanan Temple) บนเกาะชวา ที่สร้างขึ้นครั้งแรกเมื่อพุทธศตวรรษที่ 15 (คริสต์ศตวรรษที่ 9) ถูกสร้างขึ้นใหม่เกือบทั้งหมด, ในประเทศเวียดนาม โบราณสถานต่างๆ เช่น หมีเซิน (My Son) กลุ่มเทวสถานและสุสานในศาสนาฮินดู ไศวนิกาย ที่สร้างขึ้นในสมัยอาณาจักรจามปาโบราณ ก็ได้กลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้งในช่วงทศวรรษที่ 1990 หลังจากถูกทำลายล้างในช่วงสงครามและถูกปล่อยปละละเลยต่อมาอีกหลายปี ในบางกรณีมีการสร้างปราสาทขึ้นมาใหม่ แต่บางกรณีการบูรณะเป็นการพลิกเอาอิฐด้านที่มีสภาพดีกว่าขึ้นมาแทนอีกด้าน น่าเสียดายที่การบูรณะโบราณสถานแห่งนี้อาศัยการคาดเดาเป็นส่วนใหญ่ ส่งผลให้การก่อสร้างปราสาทขึ้นมาใหม่อย่างไม่ถูกต้องและมักแก้ไขต่อไปไม่ได้ ทั้งยังใช้วัสดุที่ไม่เข้ากัน มิหนำซ้ำองค์การยูเนสโกยังได้ขึ้นทะเบียนรับรองหมีเซินให้เป็นมรดกโลกอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2542 (ค.ศ. 1990) ทำให้มรดกแห่งการบูรณะแบบผิดพลาดและการใช้วัสดุอย่างบกพร่องยังคงเป็นความท้าทายชนิดมโหฬารที่นักอนุรักษ์ในปัจจุบันต้องเข้ามาปรับปรุงแก้ไข

 

หมีเซิน จังหวัดกว๋างนาม ประเทศเวียดนาม

ภาพ: เจฟฟ์ อัลเลน

 

เหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้ได้เกิดขึ้นกับวัดไชยวัฒนารามในประเทศไทย ซึ่งเป็นวัดสำคัญของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา การปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในทศวรรษที่ 1990 มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน มีการใช้ปูนซีเมนต์สมัยใหม่ ทำให้อาคารเดิมเสียหาย เนื่องจากปูนซีเมนต์ที่ใช้แทนที่วัสดุดั้งเดิมอย่างปูนขาวนั้นมีความแกร่งกว่า อีกทั้งยังมีเกลือเป็นส่วนประกอบ ส่งผลให้ตัวอาคารเสื่อมสภาพ ปัญหาต่างๆ ที่ประสบในพระนครศรีอยุธยาผลักดันให้องค์การยูเนสโกแจ้งเตือนผ่านสภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (ICOMOS) ว่า อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีสถานะเป็นมรดกโลกที่ได้ขึ้นทะเบียนเมื่อ พ.ศ. 2534 (ค.ศ. 1991) กำลังถูกจับตามอง พร้อมทั้งเรียกร้องให้เร่งดำเนินการตามมาตรฐานสากล

 

ใช้ความเข้าใจให้มากขึ้น

 

ปราสาทนครวัดในประเทศกัมพูชา แหล่งโบราณคดีที่ชวนฝันที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นับเป็นตัวอย่างความงามในความปรักหักพังของโลกอันไม่อาจหวนคืน ความพยายามบูรณะนครวัดในช่วงทศวรรษที่ 1980 หลังจากสงครามที่ยาวนานหลายปีได้ดำเนินไปอย่าง ‘หนักมือ’ เช่นเดียวกันกับที่พุกาม แต่ในเวลาต่อมางานอนุรักษ์ที่นครวัดก็ได้รับการปรับปรุง แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ด้านโบราณสถานและโบราณวัตถุของกัมพูชากับพันธมิตรนานาชาติมีความเข้าใจและเอาใจใส่ในเรื่องนี้มากขึ้น การบูรณะบางส่วนจำเป็นต้องปรับปรุงด้วยการเปลี่ยนหินและสร้างขึ้นใหม่จากการคาดคะเน แต่ก็เป็นไปในทิศทางที่เข้าใจนครวัดมากยิ่งขึ้น นักอนุรักษ์พยายามพัฒนาความรู้ในเรื่องผู้คน ผู้สร้างสถานที่แห่งนี้ รวมถึงวิถีชีวิตของพวกเขาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ด้วยการค่อยๆ ศึกษาหลักฐานในแต่ละช่วงเวลาของประวัติศาสตร์นครวัด

 

นักวิจัยด้านมรดกทางวัฒนธรรมกำลังได้รับความช่วยเหลือจากเทคโนโลยีใหม่ๆ จนบางครั้งอาจเปลี่ยนแปลงความเข้าใจของเราไปอย่างสิ้นเชิง เช่น ที่นครวัด ได้นำการสแกนด้วยไลดาร์ (LiDAR Scanning) มาใช้เจาะทะลุทะลวงผ่านเรือนยอดอันหนาทึบของป่า การสำรวจด้วยวิธีนี้ได้เผยให้เห็นเมืองทั้งเมืองที่ซุกซ่อนอยู่เบื้องล่าง การสแกนด้วยไลดาร์ไม่เพียงช่วยเผยให้เห็นปราสาทแห่งอื่นๆ เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดของชุมชน ถนน ทางเดิน บ้านเรือน และนาข้าวอีกด้วย

 

การค้นพบเหล่านี้ตอกย้ำให้เห็นถึงความก้าวหน้าและซับซ้อนของสังคมเขมรโบราณ แนวทางการสำรวจในยุคปัจจุบันมุ่งศึกษาชีวิตประจำวันของชาวบ้าน ต่างจากแนวทางดั้งเดิมของนักโบราณคดีที่มุ่งศึกษาโครงสร้างทางศาสนาและผลงานทางสถาปัตยกรรม นอกจากนี้เทคโนโลยีดิจิทัลยังทำให้เกิดวิธีการนำเสนอข้อมูลแบบใหม่ๆ เช่น การแสดงวีดิทัศน์ในห้องจัดแสดงนิทรรศการ การนำชมด้วยเสียง และแอปพลิเคชันที่ให้ข้อมูลแหล่งโบราณคดี

 

วัดไชยวัฒนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประเทศไทย

ภาพ: วราภรณ์ สุวัฒนโชติกุล

 

การอนุรักษ์ในพระนครศรีอยุธยาก็ดีขึ้นตามลำดับเช่นกัน ช่างอนุรักษ์กำลังทำงานเพื่อรื้อถอนปูนซีเมนต์สมัยใหม่ที่เคยใช้บูรณะวัดไชยวัฒนารามออก เพื่อรักษาความสมบูรณ์ทางประวัติศาสตร์ของสถานที่แห่งนี้ และที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันก็คือ ความเข้าใจทางโบราณคดีได้เพิ่มมากขึ้นด้วย การปรับปรุงอาคารเครื่องทองอยุธยา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา เพิ่งสำเร็จเรียบร้อยเมื่อไม่นานมานี้ ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ได้นำวิธีที่ก้าวหน้าและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นมาใช้นำเสนอข้อมูลโบราณสถานและโบราณวัตถุแก่สาธารณชน ทั้งการจัดแสงแบบใหม่ การใช้เทคโนโลยีมัลติมีเดียที่น่าสนใจ และการวางผังนิทรรศการให้ทันสมัย เพื่อสร้างความประทับใจอย่างสูงสุดให้แก่ผู้เข้าชม อีกทั้งให้ข้อมูลเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างราชสำนักกับโบราณสถานและโบราณวัตถุได้อย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น

 

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประเทศไทย

ภาพ: วราภรณ์ สุวัฒนโชติกุล

 

นิทรรศการชุดนี้จัดแสดงเครื่องทองจำนวนมากที่พบในวัดราชบูรณะ อันเป็นแหล่งโบราณคดีที่อยู่ใกล้กันกับพิพิธภัณฑ์ โครงการนี้ถือเป็นโครงการล่าสุดที่ดำเนินการโดยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม และสำหรับโครงการที่วัดไชยวัฒนารามนั้นเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างกรมศิลปากรกับกองทุนโบราณสถานโลก (World Monuments Fund) ซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศที่ไม่แสวงหาผลกำไร

 

นักอนุรักษ์และเจ้าหน้าที่ด้านมรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องเข้าใจว่าแนวทางการบูรณะในอดีตได้สร้างความเสียหายทั้งแก่งานโบราณคดีและแก่ทัศนคติของเราต่อโบราณคดีอย่างไร เราควรย้อนไปแก้ไขงานบูรณะที่เกินเลยและคืนสภาพที่แท้จริงให้แก่โบราณสถาน การปฏิบัติตามกฎบัตรระหว่างประเทศเรื่องการอนุรักษ์คือให้ลดการเข้าไปยุ่มย่ามวุ่นวายกับตัวโบราณสถานให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อันจะส่งผลให้ค่าบำรุงรักษาลดลง และมั่นใจได้ว่าเราได้ส่งต่อโบราณสถานที่ยั่งยืนถาวรให้แก่ลูกหลานสืบไป

 

และที่จะได้ผลดีที่สุดคือเมื่อเราได้ทำหน้าที่นำเสนอโบราณคดีแก่สาธารณชนให้ดีขึ้น เราควรต่อต้านวิธีการแบบเดิมๆ ที่สร้างซากปรักหักพังอันสวยงาม เราควรบอกเล่าเรื่องราวด้วยวิธีการที่รบกวนมรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้ให้น้อยที่สุด โดยใช้ข้อความ ภาพประกอบ แบบจำลอง และเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีคุณภาพแทน

 

ผู้เขียน: 

เจฟฟ์ อัลเลน เป็นผู้อำนวยการโครงการอาวุโสประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของกองทุนโบราณสถานโลก (WMF) ส่วนวราภรณ์ สุวัฒนโชติกุล เป็นผู้จัดการโครงการอนุรักษ์วัดไชยวัฒนารามและโครงการสำรวจและเก็บข้อมูลบ้านไม้ในพม่า (Burmese Farmhouse Documentation Project) ของ WMF เช่นเดียวกัน กองทุนนี้เป็นองค์การเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2508 (ค.ศ. 1965) โดยมุ่งมั่นที่จะอนุรักษ์สถาปัตยกรรมประวัติศาสตร์และแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมทั่วโลก

 

บทความนี้ได้รับการดัดแปลงเล็กน้อยจากที่ปรากฏเป็นภาษาอังกฤษในคอลัมน์ ‘Heritage Matters’ ของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2567 (อ้างอิง: Bangkok Post – Less is more in restoring Asia’s past)

 

คำอธิบายภาพเปิด: วิหาร Sulamani Pahto ก่อนส่วนบนจะพังลงมาในเหตุการณ์แผ่นดินไหว เมืองพุกาม ประเทศเมียนมา (ภาพ: เจฟฟ์ อัลเลน)

 

บรรณาธิการ Heritage Matters: ไบรอัน เมอร์เทนส์

แปลเป็นภาษาไทย: นริศ เจรีรัตน์

ปรับปรุงต้นฉบับ: วิษณุ เอื้อชูเกียรติ

 

Heritage Matters โดยสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นคอลัมน์สำหรับเผยแพร่บทสนทนาและแนวคิด เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจของสาธารณชนเกี่ยวกับการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมของไทยและประเทศใกล้เคียง ทัศนะและความคิดเห็นที่ปรากฏในบทความเป็นของผู้เขียนบทความนั้น

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising