×

วิจัยชี้ คนฉลาดเหงาน้อยกว่า และเหงาหนักสุดอายุปลาย 20, 50 กว่า และ 80 ตอนปลาย

19.12.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ผลการศึกษาจัดทำโดยนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยแพทย์แคลิฟอร์เนียซานดิเอโก (University of California San Diego School of Medicine) พบว่า ความรู้สึกเหงาขั้นรุนแรงนั้นกำลังทำร้ายคนตลอดในทุกช่วงชีวิต แต่หนักที่สุดคือช่วงปลาย 20, 50 กว่าๆ และปลายอายุ 80
  • นักวิจัยพบอีกว่า มีความเกี่ยวโยงกันระหว่างระดับสติปัญญาและความเหงาหงอย โดยคนที่ฉลาดเฉลียวกว่าจะรู้สึกเปล่าเปลี่ยวน้อยกว่า โดยเป็นเพราะพฤติกรรมที่แสดงถึงความฉลาดเฉลียวทั้งทางปัญญาและอารมณ์ การแสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจ การควบคุมอารมณ์ การรู้จักสะท้อนตนเอง รวมถึงการรู้จักป้องกันความเหงาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

1 ใน 5 ของประชากรอังกฤษและอเมริกา มีการประมาณว่าความเหงาเป็นภัยที่คุกคามคนทั่วโลกในระดับที่สูสีกับโรคอ้วน ทั้งยังมีวิจัยจาก UK Campaign to End Loneliness พบว่า ความเหงาเกิดขึ้นง่ายๆ เมื่อเราไม่มีใครที่จะหัวเราะไปด้วยกัน ไม่มีใครชวนรับประทานอาหารด้วย ไม่มีคนจับมือ หรือไม่รู้จะวางแผนเที่ยวในวันหยุดยาวไปกับใคร

 

ช่วงปีที่ผ่านมา เราได้ยินคนพูดถึงอันตรายของความเหงาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลก ด้วยอัตราความเหงาที่เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณตลอด 50 ปีที่ผ่านมา และผลการศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้ ที่จัดทำโดยนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยแพทย์แคลิฟอร์เนียซานดิเอโก (University of California San Diego School of Medicine) ค้นพบว่า ความรู้สึกเหงาขั้นรุนแรงนั้นกำลังทำร้ายคนตลอดในทุกช่วงชีวิต แต่หนักที่สุดคือช่วงปลาย 20, 50 กว่าๆ และปลายอายุ 80

 

บิล เมอร์เรย์ เหงาแบบคัลเจอร์ช็อกใน Lost in Translation (2003)

 

ทีมวิจัยที่นำโดยนายแพทย์ดิลิป เจสต์ (Dilip Jeste) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและประสาทวิทยา และผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์ชะลอวัยของมหาวิทยาลัยแพทย์แคลิฟอร์เนียซานดิเอโก พบว่า ความว้าเหว่นั้นพบได้บ่อยเกินคาด โดย 3 ใน 4 ของผู้เข้าร่วมทำการศึกษามีระดับความรู้สึกเหงาปานกลางถึงมาก โดยมีวิธีวัดที่ใช้แบบประเมินที่ได้รับการยอมรับเป็นอย่างดี ซึ่งตัวเลขดังกล่าวบอกถึงระดับที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก เมื่อเทียบกับรายงานความเหงาก่อนหน้าของประชากรในสหรัฐอเมริกาซึ่งมีตั้งแต่ 17-57%

 

“สิ่งนี้น่าสนใจตรงที่ ผู้เข้าร่วมศึกษานั้นถูกจัดว่าไม่ได้อยู่ในกลุ่มคนที่รู้สึกว้าเหว่อย่างหนัก พวกเขาไม่ได้มีอาการใดๆ ที่แสดงเห็นได้ชัด ทั้งทางกายและใจ โดยไม่มีโรคซึมเศร้าหรือจิตเภท” นายแพทย์เจสต์เผย “พูดง่ายๆ คือคนกลุ่มนี้เป็นคนปกติ”

 

การศึกษาทำความเข้าใจครั้งนี้ทำกับประชากรช่วงอายุระหว่าง 27-101 ปี ในเมืองซานดิเอโกเคาน์ตี้ ซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่มีอาการเจ็บป่วยทางกายหรือมีปัญหาทางจิตใดๆ และไม่รวมถึงคนที่อยู่ในบ้านพักคนชราหรือบ้านพักฉุกเฉิน โดยใช้การวัดหลายรูปแบบด้วยกัน รวมถึงมาตราส่วนการประเมินความเหงาที่เป็นที่รู้จักดีอย่าง 20-point UCLA Loneliness Scale ที่จัดทำโดยกรมบริการด้านสุขภาพและความมั่นคงของมนุษย์ของสหรัฐอเมริกา บวกกับแบบการประเมินที่ทำขึ้นมาใหม่โดยทีมนักวิจัยเพื่อวัดระดับความฉลาดเฉลียว ความคิด และภูมิปัญญาในระดับจิตวิทยา

 

วาคีน ฟินิกซ์ กับความเหงายุคดิจิทัลใน Her (2013)

 

นอกเหนือจากความรู้สึกเหงาเล็กน้อยอันเป็นเรื่องปกติแล้ว ทีมวิจัยพบว่า ความรู้สึกดังกล่าวเกิดขึ้นได้กับทุกช่วงชีวิตในวัยผู้ใหญ่ โดยระดับความเหงาและวัยนั้นมีความเกี่ยวโยงกันอย่างซับซ้อน โดยไม่เกี่ยวว่าจะเป็นชายหรือหญิง โดยในสหรัฐอเมริกานั้น ความเปล่าเปลี่ยวกำลังเป็นภัยคืบคลานต่อสุขภาพ และอันตรายยิ่งกว่าบุหรี่หรือโรคอ้วนเสียอีก จนเมื่อต้นปี ฝั่งรัฐบาลอังกฤษได้ตอบกลับการระบาดของความเหงา ด้วยการแต่งตั้ง เทรซีย์ เคราช์ (Tracey Crouch) ขึ้นเป็นรัฐมนตรีแก้ปัญหาเหงา (Minister of Loneliness) อย่างจริงจัง

 

แพทย์หญิงเอลเลน ลี (Ellen Lee) หนึ่งในทีมวิจัยดังกล่าวระบุว่า การค้นพบนี้มีทั้งข่าวดีและข่าวร้าย โดยข่าวร้ายนั้นคือ ความอ้างว้างนี้จะเกิดขึ้นตลอดช่วงชีวิตในวัยผู้ใหญ่ “และนำไปสู่สิ่งแย่ๆ ที่เป็นผลกระทบของความเหงา อาทิ สุขภาพกายที่แย่ การใช้สารเสพติด ความบกพร่องทางปัญญา สุขภาพจิตที่แย่ลง รวมถึงการขาดสารอาหาร ความดันโลหิตสูง ไปจนปัญหาการนอนหลับ”

 

แต่ข่าวดีคือ ทีมวิจัยยังพบอีกว่ามีความเกี่ยวโยงกันระหว่างระดับสติปัญญาและความเหงาหงอย โดยคนที่ฉลาดเฉลียวกว่าจะรู้สึกเปล่าเปลี่ยวน้อยกว่า “นั่นเป็นเพราะพฤติกรรมที่แสดงถึงความฉลาดเฉลียวทั้งทางปัญญาและอารมณ์ ที่แสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจ การควบคุมอารมณ์ การรู้จักสะท้อนตนเอง รวมถึงมักรู้จักป้องกันความเหงาได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

 

โรเบิร์ต เดอ นิโร ใน Taxi Driver (1976)

 

แม้จะยังต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมอีกมากเพื่อเข้าใจความเดียวดายที่เกิดขึ้นกับใครก็ได้นี้ แต่ผลวิจัยชิ้นนี้ยังระบุอีกว่า นี่เป็นครั้งแรกที่มีการทำศึกษาและประเมินความเหงาโดยใช้วิธีวัดหลายรูปแบบในคนหลายช่วงอายุด้วยกัน

 

“ยังมีคำตอบที่เราต้องหาอีกเพื่อทำความเข้าใจ” นายแพทย์เจสต์เสริม “แต่การค้นพบนี้เสนอแนะให้เรามองความเหงาต่างจากเดิม เพราะมันไม่ได้เกี่ยวกับว่าปลีกตัวออกจากสังคม คนคนหนึ่งอาจอยู่คนเดียวได้โดยไม่รู้สึกว้าเหว่ ในขณะที่ความอ้างว้างอาจเกิดได้ขณะที่คนคนหนึ่งรายล้อมไปด้วยคนมากมายก็เป็นได้ ดังนั้นเราจึงต้องหาทางออกและทางป้องกันเพื่อช่วยให้คนเข้าถึงกัน และช่วยให้รับมือกับความเหงาได้ฉลาดขึ้น และสังคมที่รอบรู้นั้นจะเป็นสังคมที่มีความสุขและเหงาน้อยลงอีกมาก”

 

อ่านเรื่อง ฤดูเหงาของเราหลายคนได้ที่นี่

 

ภาพ: Courtesy of Columbia Pictures, Warner Bros. Pictures, Focus Features

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising