×

หลี่โคโนมิกส์และดัชนีเค่อเฉียง: เครื่องชี้วัดเศรษฐกิจแนวทางใหม่ของนายกรัฐมนตรีจีน

03.11.2019
  • LOADING...
Li Keqiang

HIGHLIGHTS

4 MINS. READ
  • หลี่เค่อเฉียง เป็นนายกรัฐมนตรีจีนคนแรกที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ และเข้ามารับตำแหน่งกุมบังเหียนบริหารแดนมังกรเคียงข้างกายประธานาธิบดีสีจิ้นผิงท่ามกลางกระแสพายุพัดกระหน่ำถาโถมใส่เศรษฐกิจจีนมาตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2013
  • นโยบายเศรษฐกิจของเขาที่ถูกเรียกว่า ‘หลี่โคโนมิกส์’ (Likonomics) เน้นปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจโดยลดการยืมจมูกคนอื่นหายใจ และหันมาพึ่งพาพลังการบริโภคภายในประเทศเพื่อให้สามารถยืนอยู่บนขาของตัวเองได้ มาตรการหลายด้านภายใต้แนวทางของเขามีความเด็ดขาดเฉียบคม เปรียบเสมือนยาขมของจีน
  • นายกฯ จีนให้ความสำคัญกับตัวชี้วัดสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ ปริมาณของสินค้าที่ขนส่งผ่านทางรถไฟ, การบริโภคกระแสไฟฟ้า และปริมาณสินเชื่อรวมของธนาคาร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการประเมินเศรษฐกิจ หรือที่เรียกว่า ‘ดัชนีเค่อเฉียง’

ดร.หลี่เค่อเฉียง (Li Keqiang / 李克强) นายกรัฐมนตรีจีน กำลังอยู่ระหว่างเยือนไทยและเพิ่งจะเขียนบทความลงตีพิมพ์เผยแพร่ในสื่อไทยในหัวข้อ ‘ร่วมแรงร่วมใจร่างพิมพ์เขียว ความร่วมมือในเอเชียตะวันออกที่ดีงาม’ นี่เป็นการเยือนไทยครั้งที่ 3 ของนายกรัฐมนตรีจีนท่านนี้ แต่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่า ดร.หลี่เค่อเฉียง เป็นนายกรัฐมนตรีจีนคนแรกที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ และเข้ามารับตำแหน่งกุมบังเหียนบริหารแดนมังกรเคียงข้างกายประธานาธิบดีสีจิ้นผิงท่ามกลางกระแสพายุพัดกระหน่ำถาโถมใส่เศรษฐกิจจีนมาตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2013

 

นายกรัฐมนตรีนักเศรษฐศาสตร์ของจีนท่านนี้มีพื้นฐานการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยปักกิ่งที่มีชื่อเสียงที่สุดของจีน จนในขณะนี้มีการใช้คำว่า ‘หลี่โคโนมิกส์’ (Likonomics) เพื่อเรียกนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนภายใต้การนำของ ดร.หลี่เค่อเฉียง ซึ่งเน้นปฏิรูปปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจีนในรูปแบบใหม่ โดยจะลดการพึ่งพาภาคการส่งออกซึ่งมีความผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจโลกหรือแรงกดดันของประเทศคู่ค้า และหันมาเน้นเศรษฐกิจภายในประเทศเพื่อใช้ประโยชน์จากพลังผู้บริโภคของจีนเอง พร้อมให้ความสำคัญกับการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเพื่อยืนอยู่บนขาของตัวเอง 

 

มาตรการหลายด้านภายใต้แนวทาง ‘หลี่โคโนมิกส์’ ในยุคของ ดร.หลี่เค่อเฉียง อาจจะเด็ดขาดเฉียบคมจนเป็นเสมือนยาขมของจีน โดยจะต้องยอมลำบากในวันนี้เพื่อผลดีในภายหน้า เป็นการยอมเจ็บตัวระยะสั้นเพื่อปรับสมดุลระยะยาว จึงเป็นความตั้งใจที่จะเติบโตช้าหน่อย แต่จะเติบโตอย่างยั่งยืนในรูปแบบโมเดลใหม่ที่เน้นพึ่งการบริโภคของตนเองมากกว่ายืมจมูกต่างประเทศหายใจ  

 

รัฐบาลจีนชุดนี้จึงเน้นการปฏิรูปปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และใช้ความอดทนต่อภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยยอมเติบโตช้าลงเพื่อใช้โอกาสนี้ปรับโมเดลเศรษฐกิจ หันมาเน้นการบริโภคภายในประเทศอย่างยั่งยืนนั่นเอง

 

นอกจากนี้ผู้นำที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ของจีนท่านนี้ยังได้ริเริ่มเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจแนวทางใหม่เรียกว่า ‘ดัชนีเค่อเฉียง’ (Keqiang Index) ที่ถูกกล่าวถึงไปทั่วโลกด้วย

 

Li Keqiang

 

‘ดัชนีเค่อเฉียง’ (Keqiang Index) คืออะไร 

ในแวดวงนักวิชาการทั่วโลกมีการพูดถึงเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจแนวทางใหม่ที่ริเริ่มโดย ดร.หลี่เค่อเฉียง จนถูกเรียกว่าเป็น ‘ดัชนีเค่อเฉียง’ โดยย้อนไปเมื่อปี 2010 นิตยสาร The Economist ได้เริ่มใช้คำว่า ‘ดัชนีเค่อเฉียง’ (克强指数 – เค่อเฉียงจื่อซู่) เพื่อใช้ประเมินชี้วัดการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน  

 

ผู้นำของจีนคนนี้ได้ริเริ่มพูดถึงตัวชี้วัดเศรษฐกิจแนวทางใหม่นี้เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2007 เมื่อครั้งที่เขาดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ของมณฑลเหลียวหนิงทางภาคอีสานของจีน และเครื่องมือนี้ถูกนำมาใช้ประเมินชี้วัดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของมณฑลเหลียวหนิง 

 

“ตัวเลข GDP ของเหลียวหนิงเชื่อถือไม่ได้ เป็นตัวเลข man-made มีคนปั้นขึ้นมา” นี่คือคำกล่าวจากปากของหลี่เค่อเฉียง ที่เอกสารของวิกิลีกส์เปิดเผยว่าเขาเคยพูดกับทูตสหรัฐฯ และทำให้เขาต้องหันไปใช้ดัชนีอื่นในการประเมินข้อมูลเศรษฐกิจเหลียวหนิงในยุคนั้น  

 

โดยดัชนีเค่อเฉียงให้ความสำคัญกับตัวชี้วัดสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ 1. ปริมาณของสินค้าที่ขนส่งผ่านทางรถไฟ 2. การบริโภคกระแสไฟฟ้า และ 3. ปริมาณสินเชื่อรวมของธนาคาร

 

‘ดัชนีเค่อเฉียง’ มีจุดเด่นหลายด้าน โดยเฉพาะในแง่ของตัวชี้วัดที่นำมาวิเคราะห์มีความสอดคล้องกับบริบทสภาพความเป็นจริงในจีนมากกว่าวิธีการแบบฝรั่ง จึงสามารถสะท้อนภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนได้ดีกว่าวิธีการดั้งเดิมที่ทางการจีนเคยใช้มานาน ที่สำคัญคือตัวชี้วัดใหม่นี้จะไม่ถูกบิดเบือนโดยรัฐบาลท้องถิ่นจีน ซึ่งมักจะชอบปั้นตัวเลขทางเศรษฐกิจจนสวยงามเกินจริง

 

ยกตัวอย่างเช่น ตัวชี้วัดที่ให้ความสำคัญกับปริมาณของสินค้าที่ขนส่งผ่านทางรถไฟ เนื่องจากการขนส่งทางรถไฟเป็นรูปแบบการขนส่งหลักในแผ่นดินจีนซึ่งมีโครงข่ายเส้นทางรถไฟมากกว่า 1 แสนกิโลเมตร และจีนมีปริมาณการขนส่งสินค้าทางรถไฟมากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 ของโลกด้วย

 

ที่ผ่านมากระทรวงรถไฟเดิมของจีนเป็นผู้ผูกขาดในการขนส่งสินค้าทางรถไฟในจีน ก่อนที่จะถูกปรับยุบกระทรวงรถไฟ โดยดึงงานบางส่วนไปไว้ที่กระทรวงคมนาคมจีน และงานส่วนใหญ่ไปไว้กับหน่วยงาน China Railway Corporation ซึ่งเพิ่งจะตั้งขึ้นมาใหม่ในสมัยของรัฐบาล ดร.หลี่เค่อเฉียง

 

นิตยสาร The Economist เคยลองเก็บข้อมูลตามแนวทาง ‘ดัชนีเค่อเฉียง’ ด้วยตัวชี้วัด 3 ด้านดังกล่าว พบว่าแม้ว่าดัชนี้ใหม่นี้จะสะท้อนการมีพลวัตของเศรษฐกิจจีนได้ไม่แตกต่างกับดัชนีแบบเดิม แต่ก็สามารถชี้ให้เห็นภาวะการผันผวนของเศรษฐกิจได้ชัดเจนกว่า โดยเฉพาะในช่วงปลายปี 2008 และต้นปี 2009 มีการหดตัวของปริมาณสินค้าที่ขนส่งผ่านทางรถไฟและการลดลงของค่าใช้จ่ายบริโภคกระแสไฟฟ้าอย่างชัดเจน ซึ่งสะท้อนว่าเศรษฐกิจจีนถูกกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก มากกว่าที่เห็นจากตัวเลขในรายงานของทางการจีนที่ใช้การประเมินด้วยดัชนีแบบเดิม

 

นอกจากนี้ตัวเลขในปี 2009 ยังสามารถสะท้อนให้เห็นการฟื้นตัวได้อย่างชัดเจนกว่าดัชนีของทางการ โดยวัดดูจากปริมาณสินเชื่อรวมของธนาคารในจีนที่เพิ่มขึ้นมากและรวดเร็ว เป็นต้น

 

ในอีกแง่หนึ่ง ‘ดัชนีเค่อเฉียง’ ได้ช่วยยืนยันในสิ่งที่มีคนสงสัยและตั้งคำถามเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของตัวเลขสถิติที่รายงานโดยทางการจีน เพราะอย่างน้อยผู้บริหารกุมบังเหียนเศรษฐกิจจีนเองก็ยังไม่เชื่อใจในตัวเลขที่รายงานโดยบรรดาหน่วยงานราชการจีนทั้งหลายเช่นกัน

 

แน่นอนว่าเมื่อเริ่มมีการพูดถึง ‘ดัชนีเค่อเฉียง’ ในแวดวงวิชาการของประเทศต่างๆ มากขึ้นก็ย่อมจะมีการวิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์ตามมา รวมทั้งการชี้ถึงจุดอ่อนของตัวชี้วัดแต่ละด้านของ ‘ดัชนีเค่อเฉียง’ ตัวอย่างเช่น

 

จุดอ่อนของข้อมูล ‘ค่าใช้จ่ายการบริโภคกระแสไฟฟ้า’ ที่อาจจะไม่สะท้อนความจริง เนื่องจากรัฐบาลของมณฑลจีนหลายแห่งมักนิยมให้เงินอุดหนุนหรือให้ความช่วยเหลือกิจการภายในมณฑลของตนในช่วงขาดแคลนพลังงานหรือเกิดวิกฤตพลังงาน เพื่อให้สามารถควบคุมการใช้พลังงานได้ ซึ่งอาจทำให้ไม่สามารถเห็นภาพการบริโภคกระแสไฟฟ้าในมณฑลจีนได้อย่างแท้จริง

 

ส่วนข้อมูล ‘ปริมาณของสินค้าที่ขนส่งผ่านทางรถไฟ’ ก็มีจุดอ่อนเช่นกัน มีผู้วิจารณ์ว่าสินค้าที่นิยมขนส่งทางรถไฟในจีนเป็นเพียงสินค้าในภาคการผลิตราว 40% ของเศรษฐกิจจีนทั้งหมด 

 

ในกรณีข้อมูล ‘ปริมาณสินเชื่อรวมของธนาคาร’ ก็เช่นกัน แม้จะสามารถสะท้อนให้เห็นว่าบริษัทจีนหรือโรงงานจีนได้ใช้เงินสินเชื่อเพื่อไปลงทุนทางธุรกิจ แต่ก็อาจจะมีบางส่วนของสินเชื่อจากภาคธนาคารที่ถูกใช้ไปในทางที่ไม่เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้เช่นกัน โดยเฉพาะการกู้เงินไปทำสารพัดโครงการอสังหาริมทรัพย์ในเมืองต่างๆ จนเกิดอุปทานล้นเกิน และกลายเป็นการสร้างเมืองร้างด้วยภาพตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สูงเกินจริง เป็นต้น

 

อย่างไรก็ดี แม้จะมีจุดอ่อนอยู่บ้าง หากแต่ ‘ดัชนีเค่อเฉียง’ ยังคงมีประโยชน์และเป็นอีกตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการนำมาใช้เป็นอีกทางเลือกเพื่อประเมินการเติบโตของเศรษฐกิจจีนตามแนวทาง ‘หลี่โคโนมิกส์’ ของนายกฯ จีนคนนี้ ซึ่งมีความตั้งใจที่จะปฏิรูปปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจีนโดยหันมาเน้นเศรษฐกิจภายในประเทศให้มากขึ้น  

 

ดังนั้นจึงต้องติดตามประเมินกันต่อไปว่าภารกิจนี้ของรัฐบาลจีนชุดนี้จะสำเร็จได้จริงหรือไม่ โดยการนำเครื่องมือทางเศรษฐกิจที่หลากหลายมาใช้ในการวิเคราะห์ต่อไป 

 

สำหรับจีนแล้ว พวกเขากำลังเดินบนเส้นทางการปฏิรูป ซึ่งแน่นอนว่าระหว่างทางย่อมมีอุปสรรคอยู่บ้าง โดยที่การเติบโตทางเศรษฐกิจอาจมีการชะลอตัวลงในระหว่างที่ปรับโครงสร้าง แต่รัฐบาลจีนเชื่อว่าจีนมีโมเดลพัฒนาที่เป็นของตนเอง และสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนได้ ขณะที่นโยบาย ‘หลี่โคโนมิกส์’ จะเป็นฟันเฟืองที่สำคัญมากหลังจากนี้

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising