×

อยากเด่นและชอบทับถมคนอื่น! คู่มือเอาตัวรอดจากเจ้านายและเพื่อนร่วมงานที่เป็น ‘โรคคลั่งไคล้ตัวเอง’

14.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • ‘โรคคลั่งไคล้ตัวเอง’ คืออาการผิดปกติทางจิตสะท้อนถึงภาวะความบกพร่องทางบุคลิกภาพ บุคคลจะมีความลุ่มหลงตัวเองมากจนเกินไป เชื่อว่าตนเองสำคัญที่สุด สมควรได้รับการปฏิบัติพิเศษ สามารถประสบความสำเร็จได้อย่างสมบูรณ์แบบในทุกด้าน ขาดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น มักจะใช้ผู้อื่นเป็นเครื่องมือทำประโยชน์ให้กับตัวเอง
  • จากผลการสำรวจ ประมาณ 1-2 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลกป่วยเป็นโรคนี้ ซึ่งจะเป็นในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
  • หากคุณพบว่าคุณไม่มีความจำเป็นที่จะต้องอดทน ขอให้ถอนตัวจากความสัมพันธ์ แต่หากจำเป็นที่จะต้องอยู่ร่วม ให้เรียนรู้ลักษณะและวิธีคิดของพวกเขา เพราะบาดแผลที่เกิดขึ้นจากการตกเป็น ‘เหยื่อ’ จะเป็นบาดแผลทางจิตใจที่อาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติในระบบกลไกความคิด ความรู้สึก และการใช้ชีวิตของตัวคุณเอง

     ถ้าหากคุณเป็นคนหนึ่งที่ต้องอยู่ร่วม หรือทำงานร่วมกับบุคคลที่ชอบทำตัวเป็นจุดเด่น ชอบทับถมผู้อื่น  โปรดปรานคำสรรเสริญเยินยอ มักจะแสดงความโกรธหรือความเศร้าอย่างมากเมื่อได้รับคำวิจารณ์ในแง่ลบ มีความเชื่อผิดๆ ว่าตนเองเก่งที่สุด ชอบที่จะมีอำนาจ และมักจะใช้ประโยชน์ให้ผู้อื่นทำงานให้

     ดิฉันอยากให้คุณลองมองย้อนกลับมาสังเกตตัวคุณเองดูสักนิดว่า คุณกำลังตกอยู่ในสภาพนี้บ้างหรือเปล่า

     – รู้สึกว่าตนเองว่างเปล่า ไร้คุณค่า เหมือนถูกทอดทิ้งให้เผชิญกับความยากลำบาก

     – รู้สึกไม่มั่นใจ เครียด กังวล และมีความยากลำบากที่จะจัดการสิ่งต่างๆ

     – รู้สึกท้อแท้และมองว่าตนเองไม่สามารถต่อสู้ หรือเรียกร้องอะไรกับบุคคลผู้นี้ได้

     – รู้สึกว่าตนเองไม่สามารถพูดความจริง และอยู่ในสถานการณ์ที่บังคับให้คุณต้องทำอะไรที่หลอกลวง ไม่ซื่อตรง

     – รู้สึกแย่กับตนเองเพราะมองว่าตนเองกำลังถูกทำร้าย โดยคนที่คุณคิดว่าควรจะรักคุณ

ซึ่งหากคุณตกอยู่ในสภาพเหล่านี้ คุณมีแนวโน้มว่าอาจจะกำลังตกเป็นเหยื่อโดนทำร้ายโดยพวกคลั่งไคล้ตัวเองเสียแล้ว

 

รู้จักโรคคลั่งไคล้ตัวเอง

     โรคคลั่งไคล้ตัวเอง (Narcissistic Personality Disorder – NPD) คืออาการผิดปกติทางจิตที่สะท้อนถึงภาวะความบกพร่องทางบุคลิกภาพ บุคคลจะมีความลุ่มหลงตัวเองมากจนเกินไป โดยเชื่อว่าตนเองสำคัญที่สุด สมควรได้รับการปฏิบัติพิเศษ สามารถประสบความสำเร็จได้อย่างสมบูรณ์แบบในทุกด้าน ขาดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และมักจะใช้ผู้อื่นเป็นเครื่องมือทำประโยชน์บางอย่างให้กับตัวเอง

     จากผลการสำรวจ โดยประมาณ 1-2 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลกจะป่วยเป็นโรคนี้ ซึ่งมักเป็นในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และมักถูกวินิจฉัยโรคในวัยผู้ใหญ่ ทั้งนี้การวินิจฉัยโรคต้องกระทำโดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เพราะแต่ละบุคคลมีพฤติกรรมต่างๆ ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป

     ชื่อโรค ‘Narcissistic’ ได้มาจากชื่อเทพนาร์ซิสซัส (Narcissus) จากนิยายกรีก นาร์ซิสซัสเป็นชายหนุ่มที่มีรูปโฉมงดงาม ไม่สนใจสิ่งอื่นนอกจากตัวเอง เขาจึงโดนสาปโดยเทพีแอโฟรไดต์ (Aphrodite) ให้รักกับคนที่ไม่อาจรักตอบเขาได้ตลอดกาล ซึ่งเมื่อเขาก้มลงดื่มน้ำในทะเลสาบ เขาเห็นใบหน้าของตัวเองในน้ำและตกหลุมรักทันที นาร์ซิสซัสไม่ยอมกินยอมนอน คอยเฝ้ารูปเงาในน้ำของตนเองจนสิ้นใจข้างทะเลสาบ

     สาเหตุของโรค NPD มีที่มาจากทั้งกรรมพันธุ์และการเลี้ยงดู บุคคลที่เติบโตมาในครอบครัวที่ได้รับการเลี้ยงดูแบบเชิดชูและตามใจมากเกินไป มักมีแนวโน้มจะเป็นโรค NPD ในรูปแบบ Grandiose หลงผิดว่าตัวเองยิ่งใหญ่ มีความสำคัญ และหากคนผู้นี้เติบโตในครอบครัวที่มีความเข้มงวด การลงโทษรุนแรง และการควบคุมมากจนเกินไป ก็มีแนวโน้มที่จะเป็นโรค NPD ในรูปแบบ Vulnerable ซึ่งส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงทางจิตใจ เครียดและผิดหวังอย่างรุนแรงหากด้อยกว่าผู้อื่น เราจะสังเกตได้ว่าบุคคลเหล่านี้ไม่สามารถสัมผัสกับตัวตนที่แท้จริง (True Self) ของตนเองได้ พวกเขามักจะสร้างเกราะกำบังมาปกป้องความอ่อนแอของจิตใจ ชดเชยกับความโดดเดี่ยว ปกป้องตัวเองจากการถูกปฏิเสธและไม่ได้การยอมรับ

 

‘เหยื่อ’ อาจถูกทำร้ายจนเป็นบาดแผลทางจิตใจ

     หากคุณกำลังตกเป็นเหยื่อโดนทำร้ายโดยคนที่เป็นโรคคลั่งไคล้ตัวเอง อันดับแรกคุณต้องตัดสินใจว่า มีความจำเป็นหรือไม่ที่คุณต้องอดทนอยู่กับพวกเขา เพราะด้วยลักษณะอาการของโรค พวกเขาจะไม่รับฟังและคาดหวังให้คุณเชื่อในแนวทางทุกอย่างของเขา ความสัมพันธ์ระหว่างคุณและเขาจะบอบบาง พวกเขาไม่สามารถสัมผัสความรักและความห่วงใยจากคนรอบข้าง เขารู้วิธีที่จะใช้คุณให้ทำภารกิจที่เขาต้องการและรู้วิธีที่จะกำจัดคุณหากคุณมีความคิดเห็นแตกต่าง

     เขาอาจจะทำร้ายคุณทางจิตใจด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ตำหนิคุณอย่างรุนแรง โยนความผิดให้คุณเพื่อสร้างภาพให้ตัวเองดูดี ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อระบายความเจ็บปวดภายในจิตใจ และความไม่สมบูรณ์แบบในตัวของเขาเอง ซึ่งถ้าหากคุณพบว่าคุณไม่มีความจำเป็นที่จะอดทน ขอให้คุณถอนตัวจากความสัมพันธ์กับพวกเขา การต่อสู้กับพวกเขาเปรียบเสมือนการทำสงครามมือเปล่ากับคนที่มีอาวุธครบมือ

    แต่ถ้าคุณมีความจำเป็นต้องอดทนต่อไป คุณควรศึกษาทำความเข้าใจอาการของโรค เรียนรู้เทคนิคในการอยู่ร่วมกับพวกเขา และฝึกปฏิบัติเทคนิคเพื่อดูแลจิตใจของคุณเองให้เข้มแข็ง เพราะบาดแผลที่อาจจะเกิดขึ้นจากการตกเป็น ‘เหยื่อ’ ในวงจรการถูกทำร้ายเช่นนี้ เป็นบาดแผลทางจิตใจที่อาจสามารถส่งผลให้เกิดความผิดปกติในระบบกลไกความคิด ความรู้สึก และการใช้ชีวิตของตัวคุณเอง

 

ถ้าเพื่อนร่วมงานเป็นโรคคลั่งไคล้ตัวเองควรทำอย่างไร

     เรียนรู้ลักษณะและวิธีคิดของพวกเขา พวกเขาจะนึกถึงตัวเองและความต้องการของตนเองเป็นหลัก คุณจะกลายเป็นเพื่อนที่แสนดีหากคุณสามารถทำในสิ่งที่เขาต้องการได้ พวกเขาจะคาดหวังให้คุณสนใจและตอบสนองความต้องการของพวกเขาในทันที

     1. หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า การทะเลาะเบาะแว้ง และไม่แสดงความคิดเห็นโต้แย้งพวกเขาอย่างรุนแรงต่อหน้าผู้อื่น

     2. ค้นหาว่าสิ่งที่เขาให้ความสำคัญคืออะไร และวางแผนสร้างปฏิสัมพันธ์กับพวกเขาในแบบที่ให้ตัวคุณเองสามารถได้สิ่งที่ต้องการ พร้อมๆ กับทำให้เขารู้สึกว่าเป็นคนสำคัญ ภาคภูมิใจ ประสบความสำเร็จ และได้รับสิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญ

     3. หากคุณต้องทำงานร่วมกับพวกเขา คุณควรทำให้ทุกการสื่อสารของคุณมีหลักฐานอ้างอิงและมีพยานรู้เห็น เช่น จัดทำบันทึกการประชุม สื่อสารและส่งข้อความผ่านอีเมล โดยส่งสำเนาแจ้งบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วย ฯลฯ และหากเกิดปัญหาในการทำงานซึ่งคุณและเขามีความจำเป็นต้องแก้ไขร่วมกัน ขอให้คุณโฟกัสไปที่หนทางแก้ไขเป็นหลัก เพราะพวกเขามักจะพยายามกล่าวโทษผู้อื่น และยึดติดกับตัวปัญหาที่เกิดขึ้น

     4. ฝึกเทคนิคการสื่อสารเชิงบวก เน้นที่ความรู้สึกของผู้พูดเป็นที่ตั้งและกระตุ้นให้เขาให้ทางเลือกคุณมากขึ้น เช่น “ดิฉันรู้สึกเป็นกังวลที่ต้องทำสิ่งนี้ คุณมีวิธีอื่นที่จะสามารถช่วยให้ดิฉันกังวลน้อยลงไหมคะ” การสื่อสารในลักษณะนี้จะช่วยให้พวกเขาเข้าใจความรู้สึกของคุณมากขึ้น รู้สึกต่อต้านความคิดเห็นของคุณน้อยลง และรู้สึกว่ายังสามารถควบคุมคุณได้

     5. ระมัดระวังตัวเองไม่ให้สร้างแรงเสริมเชิงบวก ต่อพฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนาของพวกเขา เพราะมันจะกระตุ้นให้พวกเขาเรียนรู้ที่จะรังแกคุณอย่างต่อเนื่อง และอาจปรับระดับความรุนแรงมากขึ้น เช่น คุณไม่ควรทรมานตัวเองหรือทุ่มเทอย่างสุดโต่งเพื่อทำตามความต้องการของพวกเขา หรือออกตัวรับผิดชอบแก้ปัญหาที่เขาสร้างขึ้น

     6. คุณต้องดูแลตัวเอง ด้วยการเปิดรับความช่วยเหลือจากบุคคลรอบข้างและผู้เชี่ยวชาญ คุณควรมีพื้นที่ที่จะพูด เล่า หรือระบายความอึดอัดใจที่เกิดขึ้น อย่าจมอยู่กับความทุกข์เพียงลำพัง พยายามตั้งสติ ทำความเข้าใจถึงผลกระทบต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นและเชื่อมโยงตัวเองกับพลังบวกในตัวคุณ พวกคลั่งไคล้ตัวเองมีแนวโน้มที่จะทำร้ายคุณด้วยการตอกย้ำปมด้อย หรือปมปัญหาส่วนตัวที่คุณมีอยู่แล้ว อันส่งผลให้ศรัทธาและความเชื่อมั่นในตัวเองของคุณถูกทำลาย จนคุณกลายเป็นคนที่ยึดติดกับความคิดด้านลบ กล่าวโทษตนเอง และรู้สึกว่าสิ้นหวัง ฉะนั้นคุณต้องฝึกปฏิบัติการสำรวจตัวเองตามความเป็นจริง กระตุ้นย้ำและปรับความคิด ความเชื่อ เกี่ยวกับตัวเองให้เป็นไปในเชิงบวก จำไว้ว่า “Whatever you believe about yourself becomes your truth” ซึ่งหมายความว่าไม่ว่าคุณจะมีความเชื่ออะไรเกี่ยวกับตัวเอง สิ่งนั้นจะกลายเป็นความจริง

 

     โรคคลั่งไคล้ตัวเอง ไม่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยยา แต่สามารถเยียวยาและลดความรุนแรงของพฤติกรรมได้ด้วยการทำจิตบำบัดกับผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะช่วยสร้างความตระหนักรู้ในอาการของโรค สร้างการค้นหาและความสามารถในการยอมรับตัวตนที่แท้จริง และสร้างการเรียนรู้ที่จะเปิดรับและแสดงออกถึงความเมตตากรุณาต่อผู้อื่น

     สุดท้ายนี้ดิฉันอยากให้ทุกคนเข้าใจว่า โรคคลั่งไคล้ตัวเองไม่ใช่นิสัยติดตัว คนที่เป็นโรคนี้พวกเขาก็มีความทุกข์ทรมานเช่นกัน ฉะนั้นเราจึงควรเห็นใจ พยายามปรับตัวและเรียนรู้วิธีที่จะอยู่ร่วมกับพวกเขาอย่างเหมาะสม

 

ภาพประกอบ: AeA oranun

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X