×

ไขปริศนามืดมนของโรคซึมเศร้า ตอนที่ 1: ทำไมคนยุคนี้ถึงซึมเศร้า

05.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • อัตราการฆ่าตัวตายที่เป็นผลสืบเนื่องจากโรคซึมเศร้าเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ผลสำรวจในปี 2556 พบว่ามากกว่าร้อยละ 60-90 ของผู้ที่ฆ่าตัวตายมีความเกี่ยวข้องกับภาวะซึมเศร้าและสารเสพติด แต่มีเพียงร้อยละ 30 เท่านั้นที่ปรึกษาแพทย์
  • องค์การอนามัยโลกคาดว่า ในแต่ละปีจะมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จเป็นจำนวนประมาณ 1 ล้านคน หรือคิดเฉลี่ยเป็น 1 คนต่อทุกๆ 40 วินาที และในปี 2559 มีชาวไทยที่มีแนวโน้มเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสูงขึ้นเป็น 6 รายต่อ 1 แสนคน
  • ร่างกายอ่อนแรง เชื่องช้า ไม่มีสมาธิ ประสิทธิภาพในการทำงานน้อยลง ตำหนิตัวเอง ไม่สามารถรับคำชมเชยจากผู้อื่น แยกตัวหรือไม่ก็มีพฤติกรรมเข้าสังคมมากจนเกินไป มีความคิดในแง่ลบ ฯลฯ คือข้อสังเกตอาการเบื้องต้นของโรคซึมเศร้า
  • โรคซึมเศร้ารักษาให้หายได้ด้วย 3 วิธีหลักๆ ได้แก่ รักษาด้วยยาต้านเศร้า ทำจิตบำบัดกับนักจิตบำบัด และจัดระบบสมดุลชีวิตของตนเอง

     หลายปีที่ผ่านมา โรคซึมเศร้าเป็นที่พูดถึงกันมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของนักแสดงตลกชั้นเซียนอย่างโรบิน วิลเลียมส์ ที่ปลิดชีวิตตัวเองในบ้านของเขาและภรรยาจากการทนทุกข์ทรมานด้วยโรคซึมเศร้า หรือกรณีของสิงห์ มุสิกพงศ์ วง Sqweez Animal และคริส คอร์เนล แห่งวง Audioslave ที่เพิ่งลาโลกไปด้วยเหตุเดียวกัน

     การจากไปของพวกเขาทำให้คนทั้งโลกดูจะหันมาให้ความสำคัญกับโรคนี้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึกว่าโรคซึมเศร้านั้นค่อยๆ คืบคลานเข้ามาใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกวัน

 

ร้อยละ 90 ของคนฆ่าตัวตายมีภาวะซึมเศร้า

     ปฏิเสธไม่ได้ว่าทัศนคติที่คนส่วนใหญ่มีต่อความเจ็บป่วยทางจิตนั้นมักเป็นแง่ลบ การเปิดใจที่จะสำรวจ ยอมรับ และดูแลตนเองเมื่อมีอาการเจ็บป่วยจึงเป็นไปได้ยาก แต่จริงๆ แล้วความเจ็บป่วยทางจิตก็ไม่ต่างอะไรกับความเจ็บป่วยที่เกิดจากโรคทางร่างกาย เช่น หวัด เบาหวาน ความดัน ฯลฯ

     เมื่อร่างกายรู้สึกล้า เจ็บป่วยได้ จิตใจก็ล้าและเจ็บป่วยได้เหมือนกัน เช่นเดียวกับอาการเจ็บป่วยทางจิตก็มีส่วนส่งผลให้เกิดโรคทางกายได้เช่นกัน

     และอาการเจ็บป่วยทางจิตที่ใกล้ตัวและเป็นที่รู้จักที่สุดก็คงหนีไม่พ้น ‘โรคซึมเศร้า’

     จากสถิติการสำรวจในปี 2556 พบว่า มากกว่าร้อยละ 60-90 ของผู้ที่ฆ่าตัวตายมีความเกี่ยวข้องกับภาวะซึมเศร้าและสารเสพติด แต่มีเพียงร้อยละ 30 เท่านั้นที่ปรึกษาแพทย์

     องค์การอนามัยโลกคาดว่า ในแต่ละปีจะมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จเป็นจำนวนประมาณ 1 ล้านคน หรือคิดเฉลี่ยเป็น 1 คนต่อทุกๆ 40 วินาที

     ส่วนในประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย 5,000 คนต่อปี ซึ่งมากกว่าการฆ่ากันตายที่มีประมาณปีละ 3,000-3,800 คนต่อปี และในปี 2559 มีชาวไทยที่มีแนวโน้มเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสูงขึ้นเป็น 6 คนต่อ 1 แสนคน และนับตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา ทางองค์การอนามัยโลกกำหนดให้วันที่ 10 กันยายนของทุกปีเป็น ‘วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก’ (World Suicide Prevention Day)

     ส่วนจำนวนของผู้ที่ทำร้ายตนเองจนเสียชีวิตนั้นพบว่า ช่วงอายุที่ฆ่าตัวตายสำเร็จมากที่สุดคือ 40-44 ปี ขณะที่เพศชายพบว่า ผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จอยู่ในช่วงวัยระหว่าง 25-49 ปี ส่วนเพศหญิงอยู่ในช่วงอายุ 30-59 ปี

     ดังนั้นคงจะเป็นการดีกว่าหากสังคมจะหันมาทำความเข้าใจเพื่อที่จะได้หาทางป้องกันและรับมือกับมหันตภัยเงียบที่เรียกว่า ‘โรคซึมเศร้า’ นี้กัน

 

 

โรคซึมเศร้าคืออะไร

     ‘โรคซึมเศร้า’ กับ ‘อารมณ์เศร้า’ มีความแตกต่างกัน โดยปกติ หากคนเราต้องเผชิญกับภาวะตึงเครียดหรือปัญหาที่สร้างความกระทบกระเทือนทางจิตใจ เช่น ล้มเหลว สูญเสียบุคคลที่รัก ถูกรังแก ฯลฯ เราก็จะรู้สึกกังวล เสียใจ หรือโกรธ บางคนอาจเกิดภาวะปรับตัวไม่ได้ มีปัญหาการจัดการอารมณ์ในช่วงแรกๆ และไม่นานเราก็จะปรับตัวกลับมาเป็นปกติ

     แต่ในบุคคลที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจะติดอยู่ในช่วงเวลานี้ยาวนานกว่าจนส่งผลให้เกิดการแปรปรวนของสารสื่อนำประสาทและการเปลี่ยนแปลงการทำงานของเซลล์สมองบางส่วนที่เชื่อมโยงกับการทำงานด้านอารมณ์ บุคคลจะสูญเสียความสามารถในการจัดการอารมณ์โดยเฉพาะอารมณ์ด้านลบ ความคิด และพฤติกรรมของตนเอง

     นอกจากนี้ สาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคซึมเศร้ายังมีความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกับอีกหลายปัจจัย เช่น พันธุกรรม ผลข้างเคียงจากการรับประทานยาบางประเภท โรคทางสมอง ความเจ็บป่วยทางกายที่เรื้อรัง ลักษณะนิสัย และวิธีคิดที่ทำให้ตนเองซึมเศร้า เช่น มองโลกในแง่ร้าย ขาดความภูมิใจในตนเอง ยึดติดกับอดีตและความบกพร่อง รวมถึงคาดหวังและวางมาตรฐานกับตนเองสูงเกินไปจนทำให้ต้องเผชิญกับความรู้สึกเครียดและผิดหวังบ่อยครั้ง เป็นต้น

 

คุณเป็นโรคซึมเศร้าหรือเปล่า

     หากต้องการสำรวจว่าตัวเองหรือคนรอบข้างอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่นั้น เราสามารถสังเกตได้จากตัวอย่างลักษณะความผิดปกติใน 3 ด้าน ดังนี้

     1. ด้านอารมณ์

     มีอาการเศร้า หดหู่ สิ้นหวัง เครียด เป็นกังวลจนเกินไป หงุดหงิด ก้าวร้าว หรืออยู่กับความรู้สึกมึนงง ไม่สามารถสัมผัสถึงอารมณ์ความรู้สึกที่แท้จริงของตนเอง ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน โกรธง่าย แสดงอารมณ์รุนแรงเมื่อไม่พอใจ จมอยู่กับความวิตกกังวลและซึมเศร้าเกินเหตุ กลัวและหวาดระแวงอย่างไม่มีเหตุผล ฯลฯ

     2. ด้านความคิด

     ยึดติดกับความคิดด้านลบ ไม่สนใจสิ่งรอบข้าง มีความเชื่อว่าตนเองทำผิด ทำสิ่งที่น่าละอาย และเป็นคนไร้ค่า หรือมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย

     3. ด้านพฤติกรรม มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น

          – เชื่องช้า

          – ร่างกายอ่อนแรง

          – ไม่มีสมาธิ

          – ไม่สามารถรับผิดชอบภาระหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายได้ดี ประสิทธิภาพในการทำงานน้อยลง ไม่ใส่ใจในการเรียน ละเลยในหน้าที่

          – ไม่ดูแลความสะอาดของตนเอง หรือกังวลเรื่องความสะอาดมากเกินไป

          – ใช้จ่ายเกินจำเป็น

          – มีพฤติกรรมตำหนิตัวเอง ไม่สามารถรับคำชมเชยจากผู้อื่น

          – แยกตัว หมกมุ่นกับตัวเอง หรือไม่ก็มีพฤติกรรมเข้าสังคมจนมากเกินไป

          – นอนไม่หลับ หรือนอนมากเกินไป

          – เบื่ออาหาร หรือรับประทานอาหารในปริมาณที่มากเกินไป

          – มีพฤติกรรมเสี่ยงในการเสพติดสุราและสารเสพติด ฯลฯ  

     หากคุณหรือคนรอบข้างมีลักษณะโดยส่วนใหญ่ตามตัวอย่างเหล่านี้ และเป็นปัญหาต่อเนื่องกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ขึ้นไป ควรติดต่อปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เพราะคุณค่อนข้างมีความเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้า     

 

ทำไมคนสมัยนี้เป็นโรคซึมเศร้ากันเยอะ

     เราถามคำถามนี้กับมุทธา วัธนจิตต์ นักจิตวิทยาคลินิก เขาตอบคำถามซึ่งบ่งบอกถึงลักษณะบางอย่างเกี่ยวกับสังคมไทย พร้อมทั้งชี้ให้เห็นถึงอุปสรรคที่สำคัญในการรักษาโรคนี้

Q: สมัยนี้คนเป็นโรคซึมเศร้ากันเยอะขึ้นหรือเปล่า ทำไมโรคนี้จึงดูฮิตขึ้นมา แล้วคนเราเป็นโรคซึมเศร้ากันได้ง่ายขนาดนั้นเลยหรือ

A: ผมมองว่าเป็นเพราะสมัยก่อนคนไม่ค่อยรู้จักกันมากกว่า แต่ในช่วงหลังๆ ที่ได้รับการพูดถึงมากขึ้นก็เพราะคนเริ่มตระหนักถึงโรคนี้กันมากขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับว่าหลายคนเองก็ยังไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคนี้สักเท่าไร เช่น เห็นคนแค่อยู่ในอารมณ์เศร้าแล้วก็บอกว่าเขาเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งใช้กันจนเกร่อ หรือไม่ก็คิดว่าคนที่เป็นโรคซึมเศร้าจะต้องดูหงอยๆ ไม่มีความสุขอย่างเดียว แต่ที่จริงคนที่ดูโวยวาย ก้าวร้าว อาละวาดก็อาจจะเป็นโรคซึมเศร้าก็ได้เหมือนกันนะ

 

Q: คนไข้ที่เป็นโรคซึมเศร้า โดยรวมมีจุดร่วมอะไรที่คล้ายกันบ้าง

A: จุดที่คนเป็นโรคนี้มีร่วมกันคือ ‘อาการป่วย’ (symtoms) ซึ่งความผิดปกติของสารเคมีในสมองจะก่อให้เกิดอาการต่างๆ ของโรค ทำให้ท้อแท้และไม่มีความสุขในชีวิต อีกอย่างหนึ่งก็คือ มีบ่อยครั้งที่เราพบว่าคนที่เป็นโรคนี้มักมีระบบสนับสนุนทางใจ (supporting system) ที่น้อยมากในชีวิตประจำวัน คือเวลามีปัญหาก็ไม่รู้ว่าจะพูดหรือจะปรึกษาใคร ซึ่งหลายครั้งที่เราพบว่าคนเก่งๆ ที่คอยให้ความช่วยเหลือคนอื่นอยู่ตลอดเวลาก็สามารถที่จะตกอยู่ในภาวะนี้ได้ เพราะเมื่อเวลาที่เกิดปัญหาขึ้นมากับตัวเองแล้ว เขาก็ไม่กล้าแสดงออกว่าต้องการความช่วยเหลือ หรือไม่รู้ว่าจะเอ่ยปากขอความช่วยเหลือจากคนอื่นได้อย่างไร

     นอกจากนี้คนที่เป็นเพอร์เฟกต์ชันนิสต์ (perfectionist) ที่หากมีนิสัยไม่ค่อยจะยืดหยุ่น ไม่รู้จักยอมรับสิ่งดีที่สุดรองลงมา (second best) ก็มีแนวโน้มที่จะตกอยู่ในภาวะซึมเศร้าได้เหมือนกัน หรือเป็นคนที่มีความคาดหวังที่ไม่สมเหตุสมผล ไม่อยู่ในความเป็นจริง โดยเฉพาะระยะหลังๆ เรามักจะเห็นว่าในโซเชียลมีเดียนั้น ‘ดูเหมือน’ ว่าทุกคนมีความสุข แต่นั่นก็เป็นแค่ ‘โลกเสมือนจริง’ ซึ่งถ้าเทียบกับภาพเหล่านั้น เราก็ทุกข์ น่าเศร้าเหลือเกิน

 

Q: จากประสบการณ์การดีลกับคนไข้ที่เป็นโรคซึมเศร้า เคยล้มเหลวในการให้คำปรึกษาไหม  

A: เคยสิครับ เพราะอย่างที่บอกว่าเมื่อเป็นเรื่องของการเจ็บป่วย มันก็เกินกำลังของนักจิตวิทยาที่จะให้การช่วยเหลือเขาเพียงลำพังได้ ซึ่งคนเป็นโรคนี้จริงๆ เขาก็ต้องรักษาโดยการพบจิตแพทย์เพื่อวินิจฉัยและให้ยา แต่มีหลายครั้งเหมือนกันที่เราพบว่าคนไข้เชื่อคำพูดของคนรอบตัว แต่ไม่เชื่อคำพูดของหมอ นักจิตวิทยา หรือนักบำบัด

     ยกตัวอย่าง เช่น ไปเสิร์ชเจอในอินเทอร์เน็ต มีเพื่อนหรือคนรู้จัก หรือได้ยินคนที่เป็นไลฟ์โค้ชบอกว่าการให้ยาจะยิ่งทำให้แย่ลง ก็เลยไม่ยอมที่จะกินยา บ้างก็พาไปสวดมนต์ รดน้ำมนต์ พาไปเจอหมอพระ หมอดู หมอผี วัฒนธรรมของคนไทยเราเป็นแบบนี้ แต่การป่วยนี่มันเป็นอาการที่สารเคมีในสมองไม่สมดุล ถ้าไม่กินยาแล้วจะหายไหม ซึ่งจะบอกว่าสำหรับคนที่เป็นโรคนี้ ถ้าคนที่คอยอยู่ข้างๆ เขาให้ความร่วมมือกับจิตแพทย์ ดูแลให้กินยาทุกครั้งตรงเวลา พามาหานักจิตวิทยา ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเต็มที่ กว่าร้อยละ 90 ก็สามารถกลับมามีชีวิตที่มีความสุขได้

 

Q: อุปสรรคสำคัญสำหรับการรักษาโรคซึมเศร้า

A: เราพบว่าหลายเคสเป็นเรื่องของการไม่ยอมเปลี่ยนแปลง คือเมื่อคนเราประสบปัญหาแล้วก็เป็นเรื่องปกติที่จะต้องตัดสินใจเปลี่ยนแปลงบางอย่างเพื่อให้สถานการณ์นั้นดีขึ้น ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น เรื่องแฟนหรือสามีไม่ดี ทำให้หลายคนเป็นทุกข์ แต่เขาก็ยังไม่ยอมออกจากสภาพแวดล้อมเดิมๆ ที่ทำให้เขารู้สึกเป็นทุกข์ ทั้งๆ ที่บางครั้งก็สามารถทำได้หรือเปล่า ซึ่งถ้าไม่ทำอย่างนั้นมันก็ลำบาก หรือในกรณีที่เขาไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมได้จริงๆ อย่างมีเคสหนึ่ง เป็นเด็กที่ได้รับความกดดันจากทางบ้านว่าจะต้องเรียนให้ดี แต่พอไปโรงเรียนก็ตกเป็นเป้าโดนรังแกจากเพื่อนๆ แล้วที่บ้านก็บังคับให้ไปเรียน ทำให้มีภาวะซึมเศร้าและคิดที่จะฆ่าตัวตาย ซึ่งการที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมได้มันก็แย่เหมือนกันนะ

 

ป้องกันและรับมือความเศร้าก่อนที่จะกลายเป็นโรค

     คุณหมอพร ทิสยากร จิตแพทย์ประจำศูนย์จิตรักษ์ โรงพยาบาลกรุงเทพ พูดถึงความแตกต่างของความเศร้ากับโรคซึมเศร้า การรับมือกับโรคนี้ในสังคมของบ้านเรา และวิธีการที่สามารถป้องกันโรคซึมเศร้าได้

Q: ความเศร้าคืออะไร

A: ความเศร้าเป็นอารมณ์ชนิดหนึ่งที่ลักษณะโทนของอารมณ์จะรู้สึกหม่นหมอง หดหู่ เบื่อหน่าย หรือเสียใจ ซึ่งเมื่ออารมณ์ความรู้สึกนี้อยู่ภายในอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาพอสมควรก็อาจส่งผลต่อความคิดให้เป็นไปในเชิงลบ ไม่ว่าจะเกี่ยวกับตัวเอง คนรอบข้าง หรือสถานการณ์แวดล้อมต่างๆ จนอาจส่งผลต่อพฤติกรรมการแสดงออกภายนอก ในลักษณะที่ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมพื้นฐานของมนุษย์ เช่น เคลื่อนไหวน้อยลง กำลังเรี่ยวแรงน้อยลง กินหรือนอนมากขึ้นหรือน้อยลง หรือเป็นพฤติกรรมที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น แยกตัวจากสังคม ไม่อยากทำอะไร หรือทำอะไรซับซ้อนได้ไม่ดี นี่คือลักษณะของอารมณ์เศร้า

 

Q: รู้ได้อย่างไรว่าเศร้าหรือเป็นโรคซึมเศร้า

A: อารมณ์เศร้าเป็นอารมณ์ปกติที่เกิดขึ้นได้ในทุกคน ไม่มีใครในโลกนี้ที่ไม่เศร้าหรอก แต่ในทางจิตเวชศาสตร์ ซึ่งโฟกัสเกี่ยวกับโรคของอารมณ์ เราจะมีกรอบความคิดคร่าวๆ ว่าหากจะเป็นโรค อารมณ์ต้องรุนแรง ต้องมีอารมณ์ที่ตกลงมาแรงมากๆ และจะต้องต่อเนื่อง ถ้าเศร้าครึ่งวัน วันเดียว หรือแค่ 2-3 วันก็จะไม่ใช่โรค แต่ถ้าเศร้าเป็นสัปดาห์อย่างต่อเนื่อง เป็นระยะเวลานานตลอดวัน และอารมณ์จะต้องกระจายไปในหลายๆ สถานการณ์ในชีวิต อารมณ์นี้จะต้องแรงพอที่จะส่งผลกับการดำเนินหน้าที่ในชีวิต เช่น เรียนไม่ได้ ทำงานไม่ได้ ทุกข์ทรมานจนใช้ชีวิตปกติไม่ได้ หรือดูจาก 3P คือ pervasive ซึ่งกระจายไปทั่ว persistent เกิดอย่างต่อเนื่อง และ pathologic ที่ทำให้เกิดความทรมานจนเสียหน้าที่การงานหรือการดำเนินชีวิตไป นี่คือความเศร้าที่ไม่ปกติ ทั้งนี้นี่เป็นแค่กรอบคิด การวินิจฉัยนั้นจะต้องขึ้นอยู่กับผู้เชี่ยวชาญทางจิตเวชศาสตร์ หรือจิตวิทยาตรวจประเมิน

 

Q: บ้านเรารับมือกับคนที่เป็นโรคซึมเศร้าได้ดีพอหรือยัง

A: ดีขึ้นเรื่อยๆ ต้องขอบคุณผู้ที่ทำงานในส่วนนี้ ทั้งกรมสุขภาพจิต จิตแพทย์ ทั้งทางสังคมเอง คนไทย ครอบครัว และสื่อที่ช่วยกันให้ข้อมูลให้คนเข้าใจในโรคนี้ แต่ถามว่าดีพอหรือยัง ก็ยังมีโอกาสในการพัฒนาอีกเยอะ เช่น ทำให้คนไทยทุกสังคมที่นอกเหนือจากคนในเมืองเข้าใจในปัญหาโรคซึมเศร้าหรือการเข้าถึงการรักษา ไม่ว่าจะเป็นการรักษาเบื้องต้น การให้คำปรึกษาในโรงเรียน จนถึงการรักษาโดยผู้เชี่ยวชาญ นักจิตบำบัด หรือจิตแพทย์ ฯลฯ ทั้งนี้ต้องทำให้เกิดการเข้าถึงมากขึ้นหรือมีช่องทางที่หลากหลาย เพราะบางทีถ้าคนเริ่มรู้สึกเศร้า แต่ไม่แน่ใจว่าต้องไปพบจิตแพทย์ไหม เราอาจต้องมีช่องทางช่วยเหลืออื่นๆ เช่น ฮอตไลน์ ที่ปรึกษาในสถานศึกษา เว็บไซต์ต่างๆ ที่สามารถช่วยให้ประเมินตรงนี้ได้ ก่อนจะข้ามไปพบผู้เชี่ยวชาญเลย

 

Q: เราควรสร้างความตระหนักเกี่ยวกับโรคซึมเศร้ากันมากขึ้นไหม

A: มีไปเรื่อยๆ ก็ดี ทั้งนี้ต้องควบคู่ไปกับการลดตราบาป (stigma) ต่างๆ ให้เข้าใจในแง่ของความรู้ด้วย และสิ่งที่ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งคือมันเกิดขึ้นได้ และเป็นการเจ็บป่วยอย่างหนึ่ง การศึกษาทั่วโลกรายงานตรงกันว่าทุกประเทศมีคนที่เป็น และมีคำอธิบายว่ามีปัจจัยหลายๆ อย่างที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า ไม่ใช่ว่าเป็นคนอ่อนแอ ไม่เข้มแข็ง เหล่านี้คือการตระหนักที่จะลดตราบาปต่างๆ

     ถ้าเราเคยรู้สึกทรมานมากๆ ลองจินตนาการถึงคนที่เป็นโรคซึมเศร้าว่าเขาจะมีภาวะอารมณ์ทนทุกข์มากกว่าเราหลายเท่าแค่ไหน แต่ทางการแพทย์มีวิธีทำให้ดีขึ้น และเขาสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ซึ่งเป็นเรื่องดีต่อสังคม ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีคุณแม่คนหนึ่งป่วยด้วยโรคซึมเศร้า แล้วคนรอบข้าง ที่ทำงานช่วยประคับประคอง ทำให้เขายอมรับได้ว่าเขามีภาวะอารมณ์ที่ไม่ปกตินะ แล้วเริ่มมาหาวิธีการรักษา เพราะการรักษาสามารถทำให้คนๆ เดิมกลับมาได้ เพราะนี่คือโรคที่รักษาหายได้ เราจะคืนคุณแม่ คืนภรรยา คืนคนที่ทำงานให้เขาได้ด้วย คืนคนที่มีคุณค่าต่อสังคมให้กลับไปใช้ชีวิต ช่วยเหลือผู้อื่นได้ในสังคมต่อไป

 

Q: เราป้องกันโรคซึมเศร้าอย่างไรได้บ้าง

A: มีปัจจัยที่ป้องกันได้ เปลี่ยนแปลงได้ และก็มีปัจจัยที่เปลี่ยนไม่ได้ เช่น หากมีพันธุกรรมของโรคทางอารมณ์ หรือมีความเจ็บป่วยทางร่างกายรุนแรง หรือมีปัญหาชีวิตที่มากระทบกระเทือนรุนแรงที่เกิดไปแล้ว ส่วนปัจจัยที่พอจะดูแลและป้องกันได้ ยกตัวอย่างเช่น ความเครียดหนักๆ นานๆ ที่เมื่อรับมือกับความเครียดนั้นไม่ได้ก็จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและจิตใจ

     หากเราสามารถใช้กลยุทธ์ต่างๆ รับมือกับความเครียดในชีวิตประจำวันได้ ก็อาจจะช่วยป้องกันการพัฒนาจนกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้ กลยุทธ์ต่างๆ ก็เช่น การออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง การกิน การนอน การพักผ่อนที่พอเพียง สม่ำเสมอ มีวิธีการหลากหลายในการจัดการปัญหาที่จะกระตุ้นความเครียดอันเกิดจากปัญหาในชีวิต เช่น เมื่อเกิดปัญหา แก้ปัญหาได้ไหม หาคนอื่นมาช่วยแก้ปัญหานั้นได้หรือไม่ ตลอดจนปรึกษาหารือกับคนอื่นได้ไหม

     หรือหากปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นกระทบใจเรามาก สามารถยอมรับได้ไหมว่ามีปัญหาเกิดขึ้น แล้วปรับเปลี่ยนความคาดหวัง ลดความกดดันในชีวิต มีวิธีมองปัญหาในมุมที่ต่างไป หรือพอจะปล่อยวางกับปัญหาได้หรือไม่เพื่อที่จะจัดการกับความเครียดเหล่านี้ สิ่งพวกนี้ที่หลากหลายจะทำให้เราบริหารจัดการกับปัญหาที่กระตุ้นความเครียด ซึ่งอาจก่อให้เกิดโรคซึมเศร้าได้

 

จะทำอย่างไรดีหากต้องรับมือกับโรคซึมเศร้า

     แม้ว่าโรคซึมเศร้าจะเป็นโรคที่ใกล้ตัวเรา  แต่ปัจจุบันสามารถรักษาให้หายได้ด้วย 3 วิธีหลักๆ ซึ่งควรทำร่วมกันอย่างต่อเนื่องตามแผนการรักษาที่แตกต่างไปตามแต่ละบุคคล  

     1. การรักษาด้วยยาต้านเศร้า ซึ่งจะถูกพิจารณาตามความจำเป็นและความเหมาะสมโดยจิตแพทย์  

     2. การทำจิตบำบัดกับนักจิตบำบัด เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเกิดความเข้าใจในปัญหาและข้อขัดแย้งภายในใจของตนเอง ปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมด้านลบ เพิ่มความตระหนักรู้และทักษะการจัดการกับอารมณ์ของตนเอง รวมทั้งช่วยแก้ปัญหาด้านความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยกับคนรอบข้าง

     3. การจัดระบบและปรับสมดุลการใช้ชีวิต เช่น เปลี่ยนตัวเองจากการจมอยู่กับความจำเจด้วยการท้าทายตัวเองให้ลองทำสิ่งใหม่ๆ ปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมให้รู้สึกปลอดภัยและผ่อนคลาย จัดตารางการทำงานและพักผ่อนให้สมดุล กินอาหารที่มีประโยชน์และเข้านอนเป็นเวลา ออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อสร้างความสมดุลของร่างกาย จิตใจ และสมาธิ เป็นต้น

 

     ทุกวันนี้มีสถานบริการและผู้เชี่ยวชาญด้านการบำบัดรักษาโรคซึมเศร้าทั้งในโรงพยาบาลรัฐและเอกชนมากกว่าในอดีต อีกทั้งมีมาตรฐานการรักษาสิทธิและความลับของผู้ป่วยอย่างเคร่งครัดมากขึ้นอีกด้วย

     ดูแลรักษาร่างกายให้แข็งแรงกันแล้ว อย่าลืมหมั่นดูแลจิตใจให้มีความสมดุลร่วมกัน ไม่ควรปล่อยให้โรคซึมเศร้ากลายเป็นภัยเงียบที่ทำร้ายทั้งตัวเราและบุคคลรอบข้าง และเนื่องจากอาการเจ็บป่วยทางจิตบางอาการสามารถรักษาให้หายได้ไม่ยาก ถ้าตรวจพบความผิดปกติและเริ่มต้นรักษาอย่างทันทีในระยะแรกๆ

     หันมาช่วยกันดูแลสุขภาพจิตใจของตัวเองและหมั่นสังเกตคนรอบข้างด้วยความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจ จะช่วยสร้างความสุขให้กับตัวเราและสังคมที่เราอยู่ร่วมกันได้อย่างแน่นอน

 

ภาพประกอบ: Karin Foxx

FYI

หากสงสัยว่าอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้า สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมและทดลองทำแบบคัดกรองโรคซึมเศร้าเพื่อประเมินตนเองในเบื้องต้นจากเว็บไซต์ของกรมสุขภาพจิต หรือโทรศัพท์ปรึกษาบุคลากรทางสาธารณสุขที่สายด่วนสุขภาพจิต หมายเลข 1323 แต่ถ้าจะให้แน่ชัด ควรปรึกษาและให้แพทย์ทำการวินิจฉัยเท่านั้น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising