×

กรณีศึกษา #ป่ากางเกงใน ‘ชอบโชว์’ กับ ‘ชอบเปลือย’ แบบไหนโรค แบบไหนรสนิยม?

09.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

12 Mins. Read
  • Naturist หรือกลุ่มคนเปลือยกาย มีรากเดิมมาจากกลุ่ม Nudism มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่สมัยยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 จากการจัดตั้งสมาคมคนเปลือยกายอย่างจริงจังชื่อ Free Body Culture นับเป็นองค์กรแรกที่รวมกลุ่มกันอย่างเป็นทางการเมื่อต้นศตวรรษที่ 20 ในประเทศเยอรมนี
  • Exhibitionism เป็นโรคเบี่ยงเบนทางเพศชนิดหนึ่ง ซึ่งการเร้าอารมณ์ทางเพศเกิดจากความพึงพอใจส่วนตัวที่ได้โชว์อวัยวะเพศ เป็นกลุ่มโรคที่ ‘ชอบโชว์’ แต่หลายครั้งความพึงพอใจในการโชว์ก็อาจเลยเถิดไปถึงขั้นสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง
  • เราจะไม่สามารถตัดสินความคิดและการกระทำของกลุ่มคนที่ชอบเปลือยได้ว่าเป็นโรค เนื่องจากเป็นปรัชญาความเชื่อส่วนบุคคล
  • เช่นเดียวกันกับ Exhibitionist ที่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนที่ชื่นชอบการโชว์จะเป็นโรคไปเสียหมด บางครั้ง Outdoor Sex, Sextext และ Sexphone ก็สามารถอธิบายได้ว่าเป็นรสนิยมทางเพศแบบหนึ่ง ทั้งนี้ต้องเข้าใจและมองเห็นวัตถุประสงค์ รวมถึงผลกระทบต่อผู้อื่นจากพฤติกรรมเหล่านั้น

     จากกรณี ‘ป่ากางเกงใน’ ในจังหวัดมหาสารคาม สถานที่นัดพบเพื่อสำเร็จความใคร่และการมีเพศสัมพันธ์ในที่แจ้ง (Outdoor Sex) อันเป็นที่นิยมของ ‘แอคเค่อ’ หรือกลุ่มผู้ใช้ทวิตเตอร์เป็นเครื่องมือในการ ‘โชว์’ จำนวนหนึ่ง สู่กรณีของกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า Naturist ที่เปลือยกายถ่ายภาพในทิวทิศน์ดีๆ วิวสวยๆ หรือทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันลงเผยแพร่สู่โซเชียลมีเดีย

     เมื่อทั้งสองกรณีนี้กลายเป็นประเด็นทางสังคมในเวลาไล่เลี่ยกัน จึงไม่น่าแปลกใจที่สังคมจะตั้งคำถามมากมายถึงความถูกต้องเหมาะสม ลุกลามไปถึงการถามหาจริยธรรมและศีลธรรมจากการกระทำดังกล่าว

     แต่ THE STANDARD สงสัยว่าเราสามารถทำความเข้าใจพวกเขาได้หรือไม่? ว่าจริงๆ แล้วการเปลือยในที่สาธารณะ เป็นโรค รสนิยม หรือปรัชญาความเชื่อ เส้นแบ่งบางๆ ของการชอบโชว์และชอบเปลือยห่างกันไม่มาก แต่วัตถุประสงค์และการกระทำนั้นต่างกัน

     ครั้งนี้เราได้รับเกียรติจากแพทย์หญิง ภัทรวรรณ ขันธ์แก้ว จิตแพทย์ทั่วไป โรงพยาบาลมนารมย์ ที่มาช่วยอธิบายไขข้อข้องใจ ต่อความเป็นไปของโรค รวมถึงพฤติกรรมดังกล่าว

 

เปลื้องอาภรณ์ให้เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ

     จากกรณีครอบครัวเปลือยกายโดยมีทิวทัศน์สวยๆ เป็นฉากหลัง ถูกทำให้กลายเป็นประเด็นทางสังคมถึงการถามหาความเหมาะสม และจริยธรรมจากการเปลือยกายในที่สาธารณะ และการมาถึงของคำว่า Naturist ซึ่งเป็นปรัชญาชีวิตและหนทางการดำเนินชีวิตของกลุ่มคนที่ชื่นชอบการเปลือยกาย ทำให้ภาวะนี้เกิดความน่าสนใจ และน่าค้นหาคำตอบ

     อนึ่ง Naturist มิใช่การเปลือยกายเพื่อเซ็กซ์แต่อย่างใด แต่เป็นการเปลือยกายเพื่อการยอมรับตัวเอง เพื่อให้ได้ใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น สร้างความสบายกายสบายใจจากการไม่มีสิ่งใดห่อหุ้มร่างกาย เพื่อความผ่อนคลาย ซึ่งมีรากเดิมมาจากกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า Nudism

     Nudism มีประวัติความเป็นมายาวนาน ตั้งแต่สมัยยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อมีการจัดตั้งสมาคมคนเปลือยกายอย่างจริงจังเรียกว่า Freikorperkultur หรือ Free Body Culture นับเป็นองค์กรแรกที่รวมกลุ่มกันอย่างเป็นทางการ ในประเทศเยอรมนีราวต้นศตวรรษที่ 20 จุดประสงค์ก็เพื่อลบล้างความคิดของมนุษย์ที่รู้สึกละอายในเรือนร่างของตัวเอง แต่ปัจจุบันมีคำนิยามใหม่ของคนกลุ่มนี้คือคำว่า Naturist เพื่อต่อยอดการนิยามตัวตนของพวกเขาว่า ‘การเปลือยกาย ไม่ใช่แค่การเปลือยกายเฉยๆ อีกต่อไป’ แต่ยังรวมไปถึงการมองเห็นคุณค่าในตนเอง ความเท่าเทียมกันของมนุษย์ การให้เกียรติธรรมชาติรอบตัว และเป็นการสร้างความสัมพันธ์ในอีกรูปแบบหนึ่ง โดยไม่มีฐานะ บทบาททางสังคมใดๆ มาเกี่ยวข้อง มีเพียงแต่ตัวเปล่าเล่าเปลือยเท่านั้น

     กิจกรรมที่กลุ่ม Naturist ทำร่วมกันในปัจจุบันมีตั้งแต่ อาบแดด ว่ายน้ำ โยคะ ปั่นจักรยาน รวมไปถึง Free Hiking ด้วย! แถมยังมีการจัดแคมปิ้งเพื่อแลกเปลี่ยนทัศนคติ และแบ่งปันเรื่องราวในชีวิตกันและกัน โดยในประเทศไทยเองก็มี Naturist Association Thailand ที่จัดตั้งสมาคมในลักษณะนี้เช่นกัน สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ thailandnaturist.com

 

ชายหาดเปลือยกายในอ่าว Wismarer ในประเทศเยอรมัน (Settnik, Bernd, 1984)

 

ชอบอวด ชอบโชว์ ก็เพราะว่ามีของดี จริงหรือ?

     หากพูดถึงพวก ‘โรคจิตชอบโชว์’ ส่วนใหญ่เรามักจะเคยผ่านตาภาพจำของคนเหล่านี้มาจากภาพยนตร์หรือการ์ตูน ซึ่งมีคนสวมเสื้อโค้ตดำตัวใหญ่ที่ใส่ปกปิดอำพรางตัว หลบซ่อนอยู่ตามมุมตึก และเมื่อเจอเป้าหมายที่ถูกใจ พวกเขาก็จะเปิดเผยสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้โค้ตออกมา ภาพจำนี้ยังเป็นมุกที่ผู้อ่านการ์ตูน ขายหัวเราะ จดจำได้จากแก๊กหลายๆ แก๊กที่นำสถานการณ์นี้ไปล้อเลียน

 

แต่ประเด็นคือโชว์แค่ไหน จึงจะเรียกได้ว่าเป็นภาวะชอบโชว์อวัยวะเพศ หรือ Exhibitionism ในประเด็นนี้ คุณหมอภัทรวรรณ ให้คำตอบว่า

     “กลุ่มคนที่มีภาวะ Exhibitionism นั้น อธิบายให้เข้าใจอย่างง่ายที่สุดคือ เป็นภาวะเบี่ยงเบนประเภทหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มของ Paraphilic Disorder หรือโรคเบี่ยงเบนทางเพศ ซึ่งถ้าอยู่ในภาวะปกติ มนุษย์ทั่วไปจะมีสิ่งเร้าทางเพศจากอวัยวะของคนสองคนเท่านั้น ต่างฝ่ายต่างกระตุ้นอารมณ์กัน กล่าวคือการมีเพศสัมพันธ์แบบทั่วไป หนึ่งต่อหนึ่ง ซึ่งเป็นการกระทำที่เกิดจากความยินยอมของทั้งสองฝ่าย และในขณะเดียวกัน บุคคลเหล่านั้นต้องเป็นผู้ใหญ่ที่บรรลุนิติภาวะแล้ว แต่โรคเบี่ยงเบนทางเพศนั้นเป็นภาวะที่ผู้เป็นโรคกระตุ้นเร้าอารมณ์ทางเพศด้วยสิ่งเร้าอื่นๆ

     “ซึ่งคนที่เป็นโรคในกลุ่มนี้ สิ่งเร้าของพวกเขาจะมีความแตกต่างกันหลายๆ อย่าง อย่างการเลือกจะกระทำกับคนที่ไม่ยินยอมด้วย หรือไม่ใช่ผู้ใหญ่ หรือไม่ก็สิ่งเร้าทางเพศของเขา อาจจะไม่ใช่อวัยวะอีกต่อไป แต่มันจะเกิดจากความพึงพอใจส่วนตัวที่ได้โชว์อวัยวะเพศ และย้ำว่าไม่มีเรื่องของการมีเพศสัมพันธ์เข้ามาเกี่ยวข้อง เพียงแค่เป็นกลุ่มโรคที่ชอบโชว์เท่านั้น แต่ในหลายๆ ครั้งหากพวกเขาพึงพอใจในการโชว์ ก็อาจจะเลยเถิดไปถึงการสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง”

     ทั้งนี้ยังรวมไปถึงภาวะอีกกลุ่มหนึ่งที่เลือกใช้เป้าหมายทำให้เกิดอารมณ์ทางเพศ เช่นคนที่ชอบสะสมชุดชั้นใน ชอบการโทรศัพท์ก่อกวนเป้าหมายเพื่อเร้าอารมณ์ทางเพศ (Sexphone) และเมื่อปลายสายรู้สึกตกใจ หรือด่าทอกลับมา พวกเขาจะยิ่งตื่นเต้นและพึงพอใจ หรือแม้กระทั่งการส่งข้อความภาพอวัยวะเพศให้กับคนที่ไม่รู้จัก (Sextext) ที่มีเป้าหมายคล้ายๆ กับ Sexphone

 

แล้วหากมองในกรณี ‘ป่ากางเกงใน’ อ้างอิงจากการสำรวจทวิตเตอร์ที่จะพบข้อความชักชวนให้ไป ‘ปลดปล่อย’ ในที่ๆ คนเคยทิ้งเศษซากความใคร่เอาไว้ล่ะ?

     “กางเกงในเหล่านั้นก็เป็นสิ่งเร้าอารมณ์ทางเพศชนิดหนึ่งเช่นกัน โดยพฤติกรรมเช่นนี้ถือว่าเป็นภาวะเบี่ยงเบนทางเพศในอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ใช้เป้าหมายทำให้เกิดอารมณ์”

 

โชว์ตรงไหน? โชว์อย่างไร? จึงจะเป็นโรค

     ประเด็นนี้ คุณหมอภัทรวรรณ ให้คำตอบว่า “เหล่า Exhibitionist จะชื่นชอบการโชว์อวัยวะแก่สาธารณะ โดยส่วนใหญ่พวกเขาจะไปในที่ซ้ำๆ เดิมๆ ซึ่งในการโชว์แต่ละครั้ง แต่ละคนก็จะมีกลุ่มเป้าหมายไม่เหมือนกัน บางคนมีเป้าหมายเป็นเด็ก บางคนมีเป้าหมายเป็นผู้หญิง บ้างก็ชอบที่เปลี่ยวๆ บางคนอาจจะชอบไปในสถานที่ซึ่งคนพลุกพล่าน หรือแม้ในรถของตัวเอง พวกเขาจะมีความสุขที่ได้โชว์อวัยวะของเขาให้คนอื่นได้ชม

     “สิ่งที่ทำให้ Exhibitonist มีความพึงพอใจมากขึ้นก็คือปฏิกิริยาตอบสนองของผู้ที่เขาทำการอวดของลับใส่ เช่น เสียงผู้หญิงที่ตกใจสุดขีดเต็มกำลัง ซึ่งเขาจะมีความสุขกับเสียงที่เร้าอารมณ์นั้นอย่างมาก ซึ่งต้องเรียกว่าเป็นภาวะผิดปกติ เพราะว่าการกระทำเช่นนี้ได้ไปละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนหรือได้รับผลกระทบทางอารมณ์และจิตใจ

     “ซึ่ง Exhibitionist นี้เกิดขึ้นได้ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย แต่ส่วนใหญ่มักจะเกิดในเพศชายมากกว่า และจากการศึกษาบุคคลในกลุ่มโรคนี้ กิจกรรมการโชว์มักจะอยู่ห่างจากเป้าหมายในระยะประมาณ 6 ฟุต (ราวๆ 1.8 เมตร) หาใช่การโชว์แบบระยะประชิดตัว”

 

คำแนะนำเมื่อเจอคนชอบโชว์

     เราสามารถหลีกเลี่ยงกลุ่มคนเหล่านี้ได้ด้วยการทำเป็นไม่สนใจ หรือเดินหนีไป ง่ายๆ เท่านั้น เพราะเมื่อเขาโชว์แล้วไม่มีปฏิกิริยาตอบรับ พวกเขาก็จะเปลี่ยนสถานที่ หรือเลิกทำไปเอง เนื่องจากไม่ได้รับความสุขที่เขาคาดหวังจากเป้าหมายว่าจะต้องตกใจหรือกรีดร้อง

 

ความสุขบนความเสี่ยง ภาวะที่ไม่สามารถยับยั้งชั่งใจได้

     ถึงแม้กลุ่ม Exhibitionist จะมีความสุขจากการได้โชว์ และอาจจะมีความสุขที่ได้สำเร็จความใคร่ แต่ทั้งหมดทั้งมวลล้วนเป็นเพียงความสุขชั่วคราว เพราะกลุ่มคนที่ป่วยเป็นโรคนี้จะเกิดภาวะที่ไม่สามารถยับยั้งชั่งใจให้ตัวเองทำกิจกรรมดังกล่าวได้

     “พวกเขามีความทุกข์ในใจ เพราะว่าพวกเขารู้ทั้งรู้ว่าพฤติกรรมที่ทำนั้นผิด ด้วยภาวะของโรค เมื่อพวกเขาทำกิจกรรมเสร็จแล้วมักจะเกิดความทุกข์ตามมาด้วยเสมอ โดยรู้สึกผิดอยู่ในใจลึกๆ และพวกเขามักจะคิดกลัวอยู่เสมอว่า สิ่งที่ทำนั้นเสี่ยงต่อการถูกจับ ถูกแจ้งความ หรืออาจจะเสียหน้า หากถูกจับในข้อหาอนาจารหรือความผิดทางเพศ บานปลายไปจนถึงการเสื่อมเสียชื่อเสียง

     “และหากเลยเถิดไปถึงมีการข่มขืนหรือกระทำความรุนแรงพ่วงด้วย นั่นก็อาจจะเป็นเพราะบุคคลเหล่านั้นมีอาการของโรคทางจิตเวชร่วมด้วย โดยในทางการแพทย์เชื่อว่าอาจสัมพันธ์กับการที่สมองบางส่วนถูกทำลาย หรือคลื่นการทำงานในสมองผิดปกติ”

 

ชอบเปลือย กับ ชอบโชว์ อันไหน ‘โรค’ อันไหน ‘รสนิยม’

     ในทัศนะของแพทย์หญิงภัทรวรรณมองว่า เราจะไม่สามารถตัดสินความคิดและการกระทำของกลุ่ม Naturist ได้ว่าเป็นโรค เนื่องจากเป็นความเชื่อส่วนบุคคล ที่ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับใคร เมื่อขึ้นอยู่ตามความเหมาะสมของสถานที่ หรือสถานการณ์ในการเปลือย อาจจะอยู่ในพื้นที่ส่วนตัว หรือในบริเวณที่มีการจัดกิจกรรม ซึ่งกล่าวโดยรวมว่าสิ่งเหล่านี้ก็เป็นรสนิยมและความเชื่อที่แตกต่างกับคนทั่วไปเท่านั้นเอง

     ส่วน Exhibitionist นั้นก็เป็นโรคทางจิตประเภทหนึ่งดังที่กล่าวไปข้างต้น แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนที่ชื่นชอบการโชว์ จะเป็นโรคไปหมดทุกคน บางครั้งก็สามารถอธิบายได้ว่าเป็นรสนิยมแบบหนึ่งเช่นกัน เช่น การมีเพศสัมพันธ์ในที่โล่งแจ้ง (Outdoor Sex) หากเซ็กซ์ที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากความยินยอมพร้อมใจของทั้งสองฝ่าย เพียงแต่สถานที่ในการทำกิจกรรมนั้นไม่ใช่ในที่ปิด และต้องเป็นการไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่นด้วย ก็สามารถเรียกได้ว่าเป็นรสนิยมทางเพศรูปแบบหนึ่ง ซึ่งต้องการความตื่นเต้นที่มากขึ้น

     Sextext และ Sexphone ก็สามารถอธิบายได้ในรูปแบบเดียวกับ Outdoor Sex กล่าวคือ หากทั้งสองพฤติกรรมนี้ เกิดขึ้นจากความยินยอมทั้งสองฝ่าย #ส่งมาส่งกลับไม่โกง สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ใช่พฤติกรรมของโรค แต่เป็นเพียงรสนิยมของการพูดคุย สนทนา และความชอบส่วนบุคคลเท่านั้นเอง

     การโพสต์คลิปเซ็กซ์ลงในทวิตเตอร์เองก็เช่นกัน เป็นพฤติกรรมที่ยังคงวินิจฉัยไม่ได้ว่ากลุ่มคนเหล่านั้นเป็นโรคหรือไม่ เพราะเป็นเพียงแค่การนำเซ็กซ์คลิปของพวกเขาเอามาเผยแพร่สู่สาธารณะเท่านั้น เราไม่ได้เห็นพฤติกรรมที่มากไปกว่าในคลิปนั้นๆ ว่าบริบทรอบข้างคืออะไร ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในสถานที่ปิด เช่น ห้องนอนหรือโรงแรม เป็นต้น

     หรืออย่างกรณีโชว์ผู้หญิงในบาร์ ผู้หญิงเหล่านั้นเป็น Exhibitionist หรือไม่? ก็ต้องให้คำตอบว่า ‘ไม่ใช่’ เพราะผู้ชมและผู้ทำการแสดงนั้นต่างยินยอมพร้อมใจ คนโชว์ก็ไม่ได้เสียหาย และผู้โชว์เองก็อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ถูกที่ถูกทาง และเป็นการทำงานในอาชีพหนึ่งเท่านั้นเอง

 

     หากสรุปโดยภาพรวมแล้ว ‘ภาวะชอบโชว์’ กับ ‘รสนิยมชอบเปลือย’ นั้นสามารถจำแนกออกไปตามวัตถุประสงค์ และเป้าหมายของพฤติกรรมได้ หากพฤติกรรมเหล่านั้นไม่ได้ส่งผลให้เกิดความเดือดร้อนกายใจต่อผู้อื่น หรือสร้างความรุนแรง

     การโชว์และการเปลือยก็เป็นเพียงรสนิยม ที่เราก็ล้วนแล้วแต่จะสามารถทำความเข้าใจ กับอาการหรือพฤติกรรมเหล่านี้ได้ไม่ยาก

 

ภาพประกอบ: Pichamon Wannasan

FYI

คำว่า ‘แอคเค่อ’ คือคำที่กลุ่มผู้ใช้ทวิตเตอร์ใช้เรียกผู้ใช้ทวิตเตอร์รายอื่นที่มีพฤติกรรมเผยแพร่ของลับหรือเซ็กซ์คลิปส่วนตัว โดยตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะมาจากคำว่า ‘Account’ รวมกับคำเรียกอวัยวะเพศชาย ซึ่งคำนี้ไม่สามารถสืบค้นที่มาได้ รู้อีกทีคำนี้ก็ถูกใช้กันเต็มทวิตเตอร์ไปหมดแล้ว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories