×

‘เอชพีวี’ โรคเพศสัมพันธ์ของคนยุค 4.0 ที่ไม่มียารักษา คุณรู้จักหรือยัง?

27.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • การติดเชื้อเอชพีวี (HPV) มาแรงแซงโค้ง เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบมากที่สุดในบรรดาทุกโรคเพศสัมพันธ์ของคนยุค 4.0 โดยคนวัยเจริญพันธุ์ อายุ 20-30 ปี
  • พบการติดเชื้อเอชพีวีมากตั้งแต่ 1 ใน 4 ถึง 2 ใน 3 คน
  • หากติดเชื้อแล้วไม่มีวิธีรักษาทั้งหญิงและชาย ในคนที่ร่างกายแข็งแรง ร้อยละ 90 เชื้อจะหายไปได้ภายใน 2 ปี

     โรคทางเพศที่คุณว่าน่ากลัวของยุคนี้ นอกเหนือจากเอดส์แล้ว คุณรู้ไหมว่ามีอะไรอีกบ้างที่อาจน่ากลัวกว่านั้น โรคที่ว่าคือ ‘ไวรัสเอชพีวี’ (HPV Virus)

     ศ.นพ. ฮารัลด์ ซัวร์ เฮาเซ่น (Herald Zur Hausen) ค้นพบในปี พ.ศ. 2523 ว่า ไวรัสเอชพีวี มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งปากมดลูกในสตรี ต่อจากนั้นก็มีงานวิจัยใหม่ๆ ทั่วโลก ขยายความรู้เกี่ยวกับไวรัสเอชพีวีอย่างกว้างขวาง โดยถือว่าการติดเชื้อเอชพีวี เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อีกโรคหนึ่ง

     ทันทีที่โลกรู้จักไวรัสเอชพีวี โรคหนองในแท้ หนองในเทียม ซิฟิลิส แผลริมอ่อน เริม และเอชไอวีหรือเอดส์ ถอยไปเลยค่ะ ด้วยการติดเชื้อเอชพีวีมาแรงแซงโค้ง เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบมากที่สุด ในบรรดาทุกโรคเพศสัมพันธ์ ของคนยุค 4.0 โดยคนวัยเจริญพันธุ์ อายุ 20-30 ปี พบการติดเชื้อเอชพีวีมากตั้งแต่ 1 ใน 4 ถึง 2 ใน 3 คนทีเดียว

 

ไวรัสเอชพีวีคืออะไร?

     ไวรัสเอชพีวี เป็นดีเอ็นเอไวรัสที่จำเพาะเจาะจงต่อมนุษย์ คือติดเชื้อเฉพาะคน ไม่ติดเชื้อในสัตว์ ดังนั้นความเชื่อที่ว่า ติดเชื้อไวรัสเอชพีวีมาจากลิง หรือมาจากสัตว์อื่นๆ นั้นไม่เป็นความจริง

 

ไวรัสเอชพีวีมีกี่ชนิด

     มีไวรัสเอชพีวีมากกว่า 100 สายพันธุ์บนโลก แต่ละสายพันธุ์เกี่ยวข้องกับหูดและมะเร็ง เช่น

สายพันธุ์ที่ 1, 2, 4: สร้างหูด บริเวณนิ้วมือ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า (Common Warts, Plantar Warts)

สายพันธุ์ที่ 3, 10: สร้างหูดแบนราบ บริเวณใบหน้า แขนขา (Flat Warts)

สายพันธุ์ที่ 6, 11: ทำให้เกิดการติดเชื้อหูดที่กล่องเสียง (Recurrent Respiratory Papillomatosis) ในทารกที่มารดามีหูดหงอนไก่ที่ช่องคลอด และในผู้ใหญ่ที่ทำออรัลให้คนที่มีหูดหงอนไก่

สายพันธุ์ที่ 6, 11: สร้างหูดหงอนไก่ที่อวัยวะเพศและทวารหนัก (Condyloma acuminata)

สายพันธุ์ที่ 16, 18, 31, 33, 35, 39, 45, 51, 52, 56, 58 ,59 , 68, 73, 82 ทั้ง 15 สายพันธุ์ ติดเชื้อที่ปากมดลูก ก่อมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งทวารหนัก โดยเชื้อที่แรงสุดในการก่อมะเร็ง คือสายพันธุ์ที่ 16   

 

วิธีการแพร่เชื้อเอชพีวี

     ส่วนใหญ่แพร่จากการสัมผัส เช่น สัมผัสจากผิวหนังสู่ผิวหนัง จากอวัยวะเพศสู่อวัยวะเพศ จากการร่วมเพศ ไม่ว่าจะเป็นทางออรัล ทางช่องคลอด ทางทวารหนัก มีส่วนน้อยที่ทารกติดจากการคลอดผ่านช่องคลอดมารดา

 

คุณมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อเอชพีวี หาก…

     1. มีคู่นอนเป็นแบบชั่วคืน (One Night Stand) เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ติดเชื้อสูงสุด หากมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน

     2. มีคู่นอนจำนวนมาก จำนวนคู่นอนแปรผันโดยตรงกับโอกาสติดเชื้อเอชพีวี งานวิจัยในมหาวิทยาลัยพบว่า มีแฟน 1 คน 4 คน และ 5 คน มีโอกาสติดเชื้อเอชพีวี ร้อยละ 29, 64 และ 87 ตามลำดับ

     3. มีเพศสัมพันธ์โดยการสอดใส่ แม้เพศสัมพันธ์แบบไม่สอดใส่ก็มีโอกาสติดเชื้อ แต่มีโอกาสน้อยกว่าเพศสัมพันธ์โดยการสอดใส่ 5 เท่า ไม่ว่าจะเป็นสอดใส่ทางช่องคลอดหรือทางทวารหนัก

     4. สวนล้างช่องคลอด งานวิจัยพบการติดเชื้อเอชพีวีร้อยละ 8 เกิดจากการสวนล้างช่องคลอด

     5. นิ้วปนเปื้อนเชื้อในสาวโสด ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ร้อยละ 4 ติดเชื้อเอชพีวีจากการสัมผัสโดยนิ้ว

     6. ฝ่ายชายไม่ขริบหนังหุ้มปลาย การขริบในชาย ลดการติดเชื้อเอชพีวีในผู้หญิงลงร้อยละ 50

     7. มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย การใช้ถุงยางอนามัยลดโอกาสติดเชื้อเอชพีวีลงมากกว่าร้อยละ 90

 

 

วิธีรักษาการติดเชื้อเอชพีวี

     หากติดเชื้อแล้ว ไม่มีวิธีรักษาทั้งหญิงและชาย ในคนที่ร่างกายแข็งแรง ร้อยละ 90 เชื้อหายไปได้ภายใน 2 ปี

 

วิธีป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี

     1. รักเดียวใจเดียว เป็นวิธีป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีที่ดีที่สุด

     2. การติดเชื้อที่พบมากที่สุดเกิดจากเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นทางออรัล ช่องคลอด ทวารหนัก จึงไม่ควรมีพฤติกรรมเสี่ยง ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์แบบชั่วคืน ไม่ควรสำส่อน มีคู่นอนมากหน้าหลายตา

     3. หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรใช้ถุงยางอนามัย ซึ่งป้องกันได้มากกว่าร้อยละ 90

     4. รับวัคซีนป้องกันไวรัสเอชพีวี ในคนอายุ 9-26 ปี โดยป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกได้ร้อยละ 70 หูดหงอนไก่ได้ร้อยละ 90

     5. ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์เมื่ออายุน้อยกว่า 18 ปี

     6. ฝ่ายชายควรขริบหนังหุ้มปลาย

     7. ไม่ควรสวนล้างช่องคลอด

     8. ระวังการใช้ห้องน้ำสาธารณะ ควรล้างมือหลังออกจากห้องน้ำให้สะอาดเป็นประจำ

     9. ระวังการติดเชื้อเอชพีวี จากการใช้นิ้วมือและใช้อุปกรณ์ช่วยตนเอง

     10. ดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ลด หรืองดรับประทานแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ ออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอ ลดความเครียด รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ สุขภาพที่แข็งแรง ทำให้ร่างกายสามารถขจัดเชื้อเอชพีวีออกไปได้เอง โดยภายในสี่ปีหลังติดเชื้อ ร่างกายที่แข็งแรงสามารถกำจัดเชื้อเอชพีวีได้เป็นส่วนใหญ่ เหลือเพียงร้อยละ 4.8 ที่ยังติดเชื้อแนบแน่น

     11. ตรวจภายในหามะเร็งปากมดลูกเมื่ออายุ 21 ปี และตรวจหาไวรัสเอชพีวีเมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไปในทุก 3 ปี

     12. ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสเอชพีวี วัคซีนป้องกันเอชพีวีที่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) มี 3 ชนิด มีชื่อทางการค้าดังนี้

  • เซอวาริกซ์ (Cervarix) ป้องกันไวรัสเอชพีวี 2 สายพันธุ์ (16, 18) ป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ประมาณร้อยละ 70
  • การ์ดาซิล (Gardasil) ป้องกันไวรัสเอชพีวี 4 สายพันธุ์ (6, 11, 16, 18) ป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ประมาณร้อยละ 70 หูดหงอนไก่ ประมาณร้อยละ 90
  • การ์ดาซิล 9 (Gardasil 9)  ป้องกันไวรัสเอชพีวี 9 สายพันธุ์ (6, 11, 16, 18, 31, 33, 45, 52 และ 58) ป้องกันมะเร็งปากมดลูกและหูดหงอนไก่ ร้อยละ 90 ป้องกันมะเร็งทวารหนักร้อยละ 80

 

     ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขอนุมัติให้นำเอชพีวีวัคซีนฉีดในเด็กหญิงชั้นปรถมปีที่ 5 หรืออายุ 12 ปีทุกคน เป็นโปรแกรมวัคซีนของประเทศโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X