×

คุยกับ ‘Siam Organic’ ผู้ยกระดับชีวิตชาวนาไทย ตัวแทนกิจการเพื่อสังคมไทยไปแข่งขันในเวทีโลก

26.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • สยาม ออร์แกนิค เป็นกิจการเพื่อสังคมที่เกิดขึ้นจากความต้องการช่วยแก้ไขปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน
  • ปัจจุบัน สยาม ออร์แกนิค ทำงานร่วมกับเกษตรกรรายย่อยกว่า 1,800 ราย ในหลายจังหวัดทางภาคอีสาน ภายใต้มาตรฐานควบคุมคุณภาพข้าว และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์เดียวกัน
  • สยาม ออร์แกนิค เป็นผู้ชนะเลิศแคมเปญ Chivas The Venture เป็นตัวแทนประเทศไทยประจำปีนี้ไปร่วมแข่งขันชิงชัยกับกิจการเพื่อสังคมซึ่งเป็นตัวแทนของอีก 30 ประเทศคู่แข่ง

     แม้ประเทศไทยจะขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่ส่งออกข้าวมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เกษตรกรไทยกลับต้องเผชิญกับความยากจน โดยมีรายได้ต่ำกว่าเกษตรกรในประเทศอื่นๆ หลายเท่า ทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจในระดับประเทศต่อมา

     แต่กิจการเพื่อสังคม สยาม ออร์แกนิค (Siam Organic) กลับค้นพบวิธีที่จะช่วยเหลือและยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกรที่รวมงานด้วย นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้พวกเขาเป็นผู้ชนะเลิศของแคมเปญ The Venture ของ Chivas Regal ประจำปีที่ 3

     และต่อไปนี้คือ 7 คำถามและคำตอบกับ ปีตาชัย เดชไกรศักดิ์ ผู้ก่อตั้งสยาม ออร์แกนิค กิจการเพื่อสังคมที่ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันบนเวทีระดับโลก

 

 

สยาม ออร์แกนิค มีจุดเริ่มต้นและเติบโตขึ้นมาได้อย่างไร

     เกิดขึ้นเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ตอนแรกๆ เราทำงานร่วมกับเกษตรกรในจังหวัดยโสธรเพียงแค่ 25 ครัวเรือนเท่านั้น จนทุกวันนี้เรามีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมดประมาณ 1,800 ราย ในหลายจังหวัดในภาคอีสาน อย่าง ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ฯลฯ​ เกษตรกรที่เราทำงานด้วยเป็นกลุ่มเกษตรกรรายย่อยหรือวิสาหกิจชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่มีสมาชิกกลุ่มละประมาณ 200-300 ราย แม้จะกระจายอยู่หลายแห่งตามจังหวัดในภาคอีสาน แต่ก็จะทำงานร่วมกันภายใต้มาตรฐานเดียวกันคือ เน้นการควบคุมคุณภาพข้าว และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์

 

สยาม ออร์แกนิค ช่วยเพิ่มรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเกษตรกรได้อย่างไร

     หลายหน่วยงานมักจะแก้ไขปัญหาความยากจนโดยมองปัญหาและคิดวิธีแก้จากสายตาของคนภายนอก แต่ผมเดินเข้าไปและถามเกษตรกรจำนวนนับร้อยว่าพวกเขาต้องการความช่วยเหลือด้านไหน จนเมื่อเรามองเห็นปัญหา และความต้องการที่พวกเขามีอยู่ร่วมกัน ก็มาคิดออกแบบกระบวนการแก้ไขปัญหา

     เมื่อข้าวพันธุ์ที่มีอยู่ในตลาดถูกผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก ทำให้ขายไม่ได้ราคา สยาม ออร์แกนิค จึงแนะนำให้เกษตรกรปลูกข้าวแจสเบอร์รี (Jasberry) ซึ่งเป็นข้าวสายพันธุ์ใหม่ที่ผ่านการวิจัยและพัฒนา เป็นข้าวที่เปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางอาหาร และสารต้านอนุมูลอิสระ ทั้งยังมีรสชาติที่อร่อย เมื่อเกษตรกรที่เข้าร่วมกับเราหันมาปลูกข้าวชนิดนี้จึงขายข้าวได้ในราคาที่ดี ทำให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

ข้อพิสูจน์ของสิ่งที่คุณพูดถึงได้แก่อะไรบ้าง

     Shujog หน่วยงานที่เชี่ยวชาญด้านการตรวจเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม จากประเทศสิงคโปร์ ได้มาทำการสำรวจและวัดผลโครงการของสยาม ออร์แกนิค และพบว่าเราทำให้รายได้ของเกษตรกรที่ร่วมงานด้วยเพิ่มมากขึ้น สูงกว่ารายได้ของเกษตรกรโดยเฉลี่ยถึง 14 เท่า

     นอกจากเรื่องรายได้ อย่างอื่นที่เราทำให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นก็มีอีก 2 อย่างหลักๆ คือ หนึ่ง เรื่องสุขภาพ เพราะเมื่อเกษตรกรไม่ต้องทำเกษตรเคมีแล้ว ก็ไม่ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมมีมลพิษ และได้กินข้าวดีๆ ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงที่พวกเขาปลูกด้วยตัวเอง สอง คือการให้ความรู้ อย่างสมัยก่อนที่ยังไม่ได้เริ่มโครงการนี้ เกษตรกรของเราไม่รู้เลยว่าจะทำอย่างไรเพื่อทำให้ตัวเองมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดี เราจึงได้ช่วยวางระบบตั้งแต่การปลูก ควบคุมคุณภาพของข้าว จากที่สมัยก่อนมีแต่โรงสีของนักธุรกิจ แต่ตอนนี้เกษตรกรที่เข้าร่วมก็รวมกลุ่มกันทำโรงสีขึ้นมาเอง หรือแม้กระทั่งการแปรรูปผลผลิต ทำให้เกิดการสร้างงาน เรายังให้ความรู้กับเขาในเรื่องวิธีการและนวัตกรรมต่างๆ

     ส่วนสุดท้ายคือ เรารับซื้อเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศด้วย ทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องของการให้ความรู้และพัฒนาความคิด ทุกวันนี้เกษตรกรที่ทำงานร่วมกับเรา พวกเขามีความรู้เพิ่มขึ้นเยอะมากหากเทียบกับเมื่อ 5 ปีที่แล้ว

 

คุณเป็นผู้ชนะเลิศโครงการ Chivas The Venture ในระดับประเทศไทย ประจำปีนี้ และกำลังจะเป็นตัวแทนเข้าร่วมชิงชัยในระดับโลก ช่วยพูดถึงโครงการนี้ให้ฟังหน่อย

     สยาม ออร์แกนิค เข้าร่วมแข่งในแคมเปญนี้มาตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว แต่เราเพิ่งได้รับตำแหน่งชนะเลิศในปีนี้ครับ ตอนนี้เราเป็นทีมที่ชนะเลิศและเป็นตัวแทนไปแข่งในเวทีระดับโลกที่สหรัฐอเมริกาในเดือนหน้า โดยมีคู่แข่งคือธุรกิจเพื่อสังคมที่เป็นตัวแทนจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกอีก 30 ประเทศ ชิงเงินรางวัลเกือบ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ เราต้องไปนำเสนอโครงการกับกรรมการ

     แต่สิ่งที่ผมคิดว่าได้ประโยชน์และสำคัญเสียยิ่งกว่าเงินรางวัลก็คือ โครงการนี้ส่งผมไปเทรนที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดอยู่นาน 1 สัปดาห์ มีนักธุรกิจเพื่อสังคมที่ประสบความสำเร็จในระดับโลกมาเทรนผมเรื่องความเป็นผู้นำ การขยายขนาดของธุรกิจ เรื่องการเงิน เราได้เรียนรู้โมเดลในการทำธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสิ่งเหล่านี้สำคัญมากสำหรับการทำธุรกิจ ซึ่งผมก็คงจะไม่มีโอกาสเช่นนี้ หากเราไม่ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้

 

คุณมุ่งหวังอะไรในการแข่งขันระดับโลก

     เรื่องการแข่งมีแพ้มีชนะอยู่แล้ว แต่ผมตั้งเป้าหมายในการแข่งขันครั้งนี้เอาไว้ว่า เราเป็นตัวแทนจากประเทศไทย คนต่างชาติอาจจะรับรู้ถึงเมืองไทยแค่ในด้านการท่องเที่ยว และมองว่าประเทศไทยก็เจริญแล้วนี่ แต่ในขณะเดียวกันคนภายนอกก็อาจจะไม่ทราบว่าเกษตรกรของเรามีปัญหา อย่างถ้าคุณไปภาคอีสาน ก็จะทราบเลยว่าคนรุ่นใหม่ที่โตมาก็ไม่ได้อยากจะกลับไปทำการเกษตร ผมคิดว่าตรงนี้เป็นปัญหา ซึ่งเป็นภาพสะท้อนและส่งผลต่อปัญหาสังคมอื่นๆ ดังที่เราเห็นกันอยู่ ผมจึงอยากจะใช้โอกาสนี้ในการนำเสนอว่า เราต้องการความช่วยเหลือ เพราะมันก็น่าตลกนะที่ประเทศเราเจริญกว่าประเทศเพื่อนบ้าน แต่เกษตรกรของลาว เมียนมา และเวียดนาม กลับมีรายได้ที่มากกว่าเกษตรกรบ้านเราอีก

 

คนไทยมีความตระหนักรู้ถึงเรื่องเกษตรอินทรีย์ในปัจจุบันมากน้อยแค่ไหน

     มองแค่ช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ที่ผมเริ่มทำสยาม ออร์แกนิค ใหม่ๆ ปัจจุบันคนไทยมีความรับรู้ในเรื่องเกษตรอินทรีย์มากขึ้นนะครับ แต่ผมคิดว่าอย่างหนึ่งที่ต้องพูดถึงก็คือยังมี ‘ความสับสน’ ในแง่ของการรับรู้อยู่

     เพราะจนกระทั่งทุกวันนี้ก็ยังมีคนสับสนว่า จริงๆ แล้วออร์แกนิคคืออะไร รัฐบาลก็พูดอย่าง นักวิชาการก็พูดอย่าง มาตรฐานออร์แกนิคก็อีกอย่าง มันจึงมีความสับสนที่ค่อนข้างเยอะ มาตรฐานของสถาบันต่างประเทศและมาตรฐานของไทยก็ไม่เหมือนกัน อย่างบางแห่งที่อ้างว่าเป็นออร์แกนิค แต่จริงๆ แล้วก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้นก็มีเหมือนกัน

     คุณลองไปเดินตลาดสิ แล้วถามแม่ค้าว่าออร์แกนิคหรือเปล่า เขาก็ตอบว่า “ใช่ค่ะ” แต่ถ้าถามต่อว่า “ออร์แกนิคมาตรฐานอะไรครับ” ก็ตอบไม่ได้ ผมจึงต้องบอกว่ามันเป็นความรับผิดชอบของผู้บริโภค ที่ต้องเข้าใจ ต้องศึกษา อย่าไปเชื่อคนขาย และยิ่งบ้านเราไม่มีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนในการคุ้มครองผู้บริโภค อย่างต่างประเทศยังไปร้องเรียนได้ แต่ประเทศเราไม่ได้เป็นแบบนั้น

 

เราจะแก้ไขปัญหาออร์แกนิคของประเทศไทยได้อย่างไร

     ประเทศไทยเราถ้าจะเปลี่ยนแปลงเรื่องออร์แกนิค และความมั่นคงทางอาหาร ก็ต้องเกิดจากผู้บริโภคที่ต้องลุกขึ้นมาบอกว่า เรารับไม่ได้กับระบบการผลิต ที่ไม่ได้มาตรฐาน นอกจากนี้ก็อย่างที่บอกว่าต้องทำการศึกษาว่ามาตรฐานออร์แกนิคไหนที่เชื่อถือได้หรือไม่ได้ ถ้าอย่าง IFOAM ซึ่งเป็นมาตรฐานในระดับสากล อย่างนี้ก็เชื่อถือได้ แต่สำหรับบางอย่างคุณอาจจะต้องตั้งคำถามสักนิด

 

นอกจากปลูกข้าวแจสเบอร์รีแล้ว สยาม ออร์แกนิค ยังมีการแปรรูปข้าวโดยนำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ

เช่น ชา เส้นก๋วยเตี๋ยว และเส้นพาสต้าอีกด้วย เป็นอีกหนึ่งวิธีในการระบายสินค้าให้แก่เกษตรกร

 

อ้างอิง:

  • www.actorganic-cert.or.th/page/item/582
FYI

ระบบเกษตรอินทรีย์ IFOAM พัฒนาขึ้นโดยสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (International Federation of Organic Agriculture Movements) ซึ่งจัดตั้งโครงการรับรองระบบงานเกษตรอินทรีย์ (IFOAM Accreditation Programme) ขึ้นใน พ.. 2535 เพื่อให้บริการรับรองเกษตรอินทรีย์ต่างๆ ทั่วโลก ต่อมาใน พ.. 2540 สหพันธ์ฯ ได้จัดตั้ง IOAS (International Organic Accreditation Service) เพื่อทำหน้าที่ดังกล่าว โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา

Chivas The Venture คือแคมเปญที่สร้างแรงบันดาลใจให้สังคมหันมาตระหนักและสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ ‘Win the Right Way’ หรือประสบความสำเร็จในธุรกิจ โดยคำนึงถึงการเติบโตและพัฒนาสังคมในทางที่ดี

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X