การกินนั้นล้ำไปอีกขั้น เมื่อกลุ่มผู้รณรงค์การใช้เสื่อทาทามิในจังหวัดคุมาโมโตะของญี่ปุ่น ได้ร่วมกันผลิตตะเกียบกินได้ขึ้นมา
ตะเกียบหม่ำได้ที่ว่าถูกผลิตขึ้นจากการร่วมมือกันของช่างทำลูกกวาด ผลิตให้มีรสของหญ้าที่ใช้ในกรรมวิธีผลิตเสื่อทาทามิผสมด้วย
โดยตัวแทนกล่าวที่งานประชุมผู้ค้าและผู้ผลิตเสื่อทาทามิว่า “เราหวังว่าตะเกียบนี้จะช่วยปลุกวัฒนธรรมการใช้เสื่อทาทามิ และกระตุ้นอุปสงค์ของการใช้หญ้าชนิดเดียวกันที่ปลูกในจังหวัดคุมาโมโตะทางตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น”
ตะเกียบกินได้นี้ผ่านการอบโดยฝีมือช่างทำลูกกวาดในเมืองเฮคินัน จังหวัดไอจิ ทางตอนกลางของประเทศ โดยมีความยาว 20 เซนติเมตร และหนา 1 เซนติเมตร ทำจากแป้งข้าวสาลีผสมกับไข่ และผงหญ้ารัช แล้วนำไปอบช้าๆ โดยใช้อุณหภูมิต่ำ เพื่อให้ได้ความแข็งคล้ายกับไม้ของเนื้อแป้ง แบบที่เมื่อจิ้มลงไปในน้ำซุปก็ไม่อ่อนปวกเปียก ตะเกียบจะมีรสออกหวานนิดๆ และขมอ่อนๆ จากรสของหญ้า
ในส่วนของหญ้ารัชนั้น ว่ากันว่ามีประโยชน์ในการต่อต้านแบคทีเรีย และในอดีต ชาวญี่ปุ่นมักปลูกใช้เป็นยารักษาโรคด้วย และยังมีการกล่าวในงานประชุมอีกว่า ตะเกียบคู่หนึ่งมีกากใยพอๆ กับการกินสลัดหนึ่งจาน
และจากสถิติการเกษตรของญี่ปุ่น เมืองยัตสึชิโระทางตอนใต้ของจังหวัดคุมาโมโตะ มีสัดส่วนในการผลิตหญ้ารัชถึงกว่าร้อยละ 90 จากทั้งประเทศ ซึ่งการผลิตหญ้าดังกล่าวกำลังประสบปัญหาความต้องการในตลาดจากการผลิตเสื่อทาทามิราคาถูกที่ล้นเข้ามาในท้องตลาดมากขึ้น กอปรกับวิถีชีวิตแบบเดิมของชาวอาทิตย์อุทัยที่เปลี่ยนไปจากวัฒนธรรมตะวันตก
ใครอยากลอง เตรียมมองหาตะเกียบมารับประทานได้ เพราะวางขายทางอินเทอร์เน็ตปลายเดือนกรกฎาคมนี้แล้ว โดยราคาที่ระบุบนเว็บไซต์คือ 1,930 เยนต่อ 10 คู่ หรือราวๆ 578 บาท คลิกเข้าไปดูกันได้ที่ igsa.jp
อ้างอิง: