×

ปรับสมดุลให้ชีวิต ใจดีกับตัวเองมากขึ้น ใช้ชีวิตในแบบของ แต้ว-ณฐพร เตมีรักษ์

27.06.2023
  • LOADING...

“แต้วเป็นคนที่ถ้ามีโอกาสเข้ามาก็อยากจะลองทำ เพราะเรามองว่ามันเป็นการทดลองที่เราสามารถสนุกไปกับมันและทำให้เรามองโลกได้กว้างขึ้น และแต้วก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นแค่นักแสดง เราสามารถทำอย่างอื่นได้ด้วย ถึงแม้ไม่ได้เก่งมาก แต่เราก็น่าจะสร้างประโยชน์ให้ธุรกิจต่างๆ ที่เราไปมีส่วนร่วมได้”

 

แต้ว-ณฐพร เตมีรักษ์ บอกเล่าถึงมุมมองการทำงานของเธอในวัย 34 ปี ซึ่งไม่ใช่นักแสดงมากฝีมือในวงการบันเทิงเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นที่รู้จักในฐานะนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประจำบริษัท Time and Space Asset ที่เธอร่วมก่อตั้ง รวมไปถึงการเป็นหนึ่งในทีมผู้บริหารของแบรนด์เสื้อผ้าแอ็กทีฟแวร์ Wakingbee และแบรนด์อาหารสุขภาพ Beanbag Superfood ซึ่งล่าสุดปล่อย ‘Beanbag Beauty Protein’ ผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืชสำหรับคนรุ่นใหม่ที่มีไลฟ์สไตล์ที่เร่งรีบแต่ใส่ใจการดูแลสุขภาพและผิวพรรณ

 

 

‘การเห็นคุณค่าของตัวเอง’ และ ‘การเชื่อมั่นในตัวเอง’ ผลักดันให้นักแสดงสาวก้าวออกจากพื้นที่ปลอดภัยเพื่อเข้าสู่โลกแห่งธุรกิจที่เต็มไปด้วยความท้าทายที่ไม่คุ้นเคย แม้มีความกังวลบ้างว่าจะทำออกมาได้ไม่ดี แต่นั่นกลับไม่ใช่อุปสรรค เพราะเธอกล้าที่จะผิดพลาด กล้าที่จะถามเมื่อไม่รู้ และไม่กลัวที่จะสำรวจและทดลองสิ่งใหม่ๆ เธอเปรียบตัวเองเป็นเด็กอนุบาลที่ค่อยๆ เรียนรู้และเติบโตไปทีละนิดบนเส้นทางธุรกิจ โดยไม่จำเป็นต้องเร่งรีบหรือกดดันตัวเอง จึงไม่แปลกที่ตอนนี้เราจะเห็นแต้วในบทบาท ‘Working Woman’ เต็มตัวที่มาพร้อมแพสชันอันแรงกล้าในการสร้างสรรค์สิ่งที่น่าสนใจให้แก่วงการธุรกิจและผู้คนในสังคมอยู่เสมอ

 

 

แน่นอนว่าสถานะใหม่ย่อมมาพร้อมไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม THE STANDARD LIFE จึงชวนแต้วมาพูดคุยถึงแนวคิดปัจจุบันของเธอที่เติบโตและยั่งยืนมากขึ้น ทั้งในเรื่องการทำงาน การใช้ชีวิต และการดูแลสุขภาพ

 

ทุกวันนี้แต้วสวมบทบาทมากมายทั้งนักแสดง นักธุรกิจ และนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ แต้วใช้หลักการอะไรในการจัดการเวลาทำงานและการพักผ่อนส่วนตัวของตัวเอง 

 

ถ้าเป็นงานแสดง แต้วพยายามใช้หลักการ Work-Life Balance เพราะแต่ก่อนเราเอาตัวเองผูกติดกับงานแสดง พอเรากลับบ้าน เราไม่สามารถหลุดออกจากคาแรกเตอร์ที่เล่นได้ คิดวนอยู่ตลอดเวลา ซึ่งมันไม่เฮลตี้เลย มันควรจะต้องมีช่วงเวลาที่เราแยกตัวเองออกมาจากงานแสดงบ้าง แต่ในเวลาว่างนอกเหนือจากการทำงานแสดง เราจะแบ่งไปให้การทำงานด้านอื่นๆ ที่เราเข้าไปมีส่วนร่วม ตรงนี้แหละที่จะเป็น Work-Life Integration

 

 

แต้วคิดว่าแรงบันดาลใจมันอยู่รอบตัวเรา แค่ฟังเพลง อ่านหนังสือ หรือเห็นประโยคบางประโยคผ่านตา เราก็สามารถจับมาเป็นคอนเซปต์ในการทำงานอะไรก็ได้เลย มันเหมือนกับว่าในระหว่างที่เรากำลังใช้ชีวิตส่วนตัว เราก็มองหาอะไรที่จะสามารถนำมาสร้างแพสชันให้งานของเราไปด้วย

 

 

อะไรบ้างที่แต้วได้แรงบันดาลใจระหว่างการใช้ชีวิตส่วนตัวแล้วนำไปต่อยอดในการทำงาน

 

คงเป็นเรื่องออกกำลังกายที่อยู่ดีๆ เราก็อิน จากคนที่ไม่เห็นคุณค่าของการออกกำลังกายเลย แต่พอได้เข้าสู่วงการแล้ว ก็รู้สึกว่าทำไมไม่ทำความรู้จักมันให้เร็วกว่านี้ หลังจากนั้นก็พยายามเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในโลกนี้มากขึ้น ผ่านการทำงานร่วมกับ Wakingbee และ Beanbag เราคิดว่าสิ่งนี้น่าจะเป็นพลังไม่มากก็น้อยในการผลักดันให้คนอื่นเห็นคุณค่าของการออกกำลังกาย ในขณะเดียวกันมันก็ย้อนกลับมาสร้างแรงกระตุ้นในการออกกำลังกายของเราเองด้วย มันเหมือนเป็นแรงบันดาลใจที่เกิดขึ้นเป็นทอดๆ และตัวเราเองก็ได้ทำงานที่ทั้งเป็นตัวเราและได้พัฒนาตัวเองไปด้วย

 

 

ในฐานะ Working Woman ที่ต้องใช้พลังและความคิดตลอดเวลา แต้วทำอย่างไรเพื่อให้ทั้งร่างกายและจิตใจของตัวเองตื่นตัวพร้อมทำงานอยู่เสมอ

 

เอาจริงๆ นะ ออกกำลังกายนี่แหละ (หัวเราะ) ช่วงโควิดเป็นช่วงที่แต้วบ้าออกกำลังกายมาก ตื่นตี 5 มาออกกำลังกายแบบเยอะๆ ซึ่งมันให้ความรู้สึกเหมือนเราได้ชาร์จแบตเตอรี่และกระตุ้นให้ตัวเราอยากออกไปทำนู่นทำนี่มากขึ้น มันเป็นการบูสต์เอเนอร์จี้ที่ดีมากๆ

 

 

แต้วเลยชอบออกกำลังกายตอนเช้า แต่ในช่วงเวลาทำงาน เราจะหมั่นให้รางวัลตัวเองด้วยการตั้งเป้าหมายว่าถ้าถ่ายฉากนี้เสร็จหรือทำงานชิ้นนี้เสร็จ เราจะได้กินสิ่งที่เราอยากจะกินนะ มันเป็นทั้งการให้กำลังใจตัวเองและเพิ่มความสุขระหว่างวันให้ตัวเองไปพร้อมๆ กัน

 

 

ทำงานหลากหลายบทบาทแบบนี้ เคยเบิร์นเอาต์บ้างไหม และแก้ปัญหานี้อย่างไร

 

อย่างแรกต้องยอมรับว่าตัวเองเบิร์นเอาต์ อย่าพยายามฝืนว่าตัวเองคอนโทรลได้ มันดูเหมือนเป็นหลักการง่ายๆ นะ แต่แต้วว่ามันไม่สามารถบอกได้จริงๆ หรอกว่าอะไรที่จะทำให้คนคนหนึ่งเข้าใจสิ่งที่ตัวเองกำลังเป็นอยู่ได้ ก็ต้องค่อยๆ คุยกับตัวเองแหละ แต่สำหรับแต้ว ถ้ารู้ตัวแล้วว่ากำลังจะเบิร์นเอาต์ เราจะเบรกตัวเองจากงานและให้รางวัลปลอบใจตัวเอง จากนั้นก็มาปรับที่ใจเรา 

 

 

ลองคิดดูว่าอะไรที่ทำให้เราไปถึงจุดนั้น ลองลดความคาดหวังลงดูไหม อะไรที่มันตึงไปก็หย่อนหน่อย พยายามไม่ปล่อยให้ตัวเองดาวน์ไปมากกว่านั้น หรือปรับมุมมองของเราจากเนกาทีฟให้เป็นโพสิทีฟ เช่น เราเจองานหรือคนทำงานที่สร้างความปวดหัวให้เรา เราก็มองว่ามันเป็นการฝึกจิตก็ได้ ลองกับมันดูสักตั้งว่าเราจะทำอะไรกับมันได้ไหม แต้วว่าทุกวันนี้โลกมันก็ค่อนข้างโหดร้ายกับทุกคน เราเองไม่ควรจะเป็นอีกหนึ่งพลังลบที่ไปกดดันตัวเอง แต่ควรจะดึงตัวเองออกมาอยู่ในจุดที่เป็นพลังบวกให้ได้ 

 

 

แต้วใช้วิธีอะไรในการคุยกับตัวเองเพื่อให้รู้เท่าทันอารมณ์และความรู้สึกในใจ

 

มีหลายแบบเลยนะ จดบันทึกก็มี แต่ไม่ได้ทำเป็นรูทีนว่าจะต้องกลับบ้านมาจดทุกวัน บางทีเราไปอ่านเจออะไรบางอย่างในหนังสือ ก็จะเอามานั่งวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อนของตัวเอง และพยายามเพิ่มจุดแข็งหรืออะไรก็ได้ที่จะไม่ทำให้เราดูถูกตัวเอง การฟังเพลงและมีความสุขไปกับมันก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่เติมเอเนอร์จี้ดีๆ ให้ตัวเราได้เรื่อยๆ แต้วใช้วิธีเหล่านี้ค่อยๆ เสริมภูมิคุ้มกันจิตใจให้แข็งแรงในทุกๆ วัน 

 

 

ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา แต้วประสบปัญหาสุขภาพมากมายทั้งโควิดและการติดเชื้อในทางเดินอาหาร ซึ่งส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย สิ่งนี้ทำให้แต้วตระหนักและปรับมุมมองเกี่ยวกับสุขภาพของตัวเองอย่างไรบ้าง

 

ต้องบอกเลยว่าตอนแรกเราแพนิกมากเลยนะ เพราะจากคนที่สู้มากกับทุกเรื่องมาโดยตลอด กลับต้องถูกจำกัดการใช้งานของร่างกาย แต่สุดท้ายพอเราค่อยๆ ตกตะกอนกับตัวเอง เราก็ค้นพบว่าปัญหาสุขภาพต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเรามันก็มาจากการสู้กับทุกเรื่องของเรานี่แหละ

 

 

เราไม่ฟังร่างกายของตัวเองเลย บวกกับวิธีคิดต่างๆ ที่มันตึงจนเกินไป เราเลยค่อยๆ เรียนรู้ที่จะฟังร่างกายของตัวเองมากขึ้น ใช้เท่าที่แรงเรามี ไม่ฝืน แล้วยิ่งเราอายุมากขึ้น ทุกอย่างมันก็ถดถอยไปตามกาลเวลา ซึ่งก็ทำให้เราตระหนักได้ด้วยว่ามันเป็นสัจธรรมว่าการทุ่มเต็มที่กับทุกอย่างไม่ได้หมายความว่าเราจะประสบความสำเร็จเสมอไป เราต้องใจดีกับตัวเองด้วย ไม่โหดกับตัวเองจนเกินไป ทำทุกอย่างด้วยความบาลานซ์ดีที่สุดเพื่อให้เราสามารถทำต่อไปได้ยาวๆ 

 

 

แนวคิดเรื่อง ‘บาลานซ์’ ส่งผลต่อการออกกำลังกายของแต้วอย่างไรบ้าง

 

จากเมื่อก่อนตื่นตี 5 ไปออกกำลังกาย ทั้งปั่นจักรยาน พิลาทิส บอดี้เวตหนักๆ เป็นเวลาประมาณ 5 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งในระหว่างนั้นก็ถ่ายละครไปด้วย รวมๆ แล้วใช้ร่างกาย 10 กว่าชั่วโมงต่อวัน มันก็เป็นเหตุเป็นผลแล้วแหละว่าทำไมร่างกายมันถึงรวน ตอนนี้เราเรียนรู้แล้วว่าสุดโต่งไปมันไม่ดี และเปลี่ยนมากำหนดลิมิตให้ตัวเอง ไม่ใช้แบตเตอรี่ที่มีแบบเต็มร้อยตลอดเวลา โดยลดการออกกำลังกายเหลือแค่สัปดาห์ละ 2-3 วันแบบไม่ติดกัน เว้นช่วงให้ร่างกายได้พักบ้าง และก็เปลี่ยนมาเน้นบอดี้เวตอย่างเดียว สลับกับโยคะบ้างเพื่อให้ร่างกายได้ผ่อนคลาย

 

 

แล้วการรับประทานอาหารล่ะ มีการปรับไปจากเดิมมากน้อยเพียงใด

 

แต้วว่ามันก็ต้องใช้หลักบาลานซ์เหมือนกันแหละ เมื่อก่อนเรากินคลีนมากเลย ไปตรวจสุขภาพหมอก็ชมสุด แทบจะให้โล่รางวัล แต่พอป่วยจากการติดเชื้อในทางเดินอาหาร เราเลยมองว่าทุกอย่างมันต้องไปด้วยกัน ทั้งการนอน การกิน และการออกกำลังกาย ถามว่าเรากินเปลี่ยนไปจากเดิมมากไหม ก็ไม่ได้เปลี่ยนมากเท่าไร แค่ไม่ได้เคร่งสุดๆ กับทุกมื้อหรือกับทุกคำที่เข้าปากแบบเมื่อก่อน

 

 

เวลาออกกองละคร เราเตรียมกับข้าวไปเองก็จริง แต่ก็ไม่ได้คุมตัวเองว่าจะต้องกินปริมาณเท่านี้หรือแคลอรีห้ามเกินเท่านี้ ถ้ามันมีอะไรที่เราอยากกินตรงนั้นเราก็กินได้ อยากกินของทอดก็กินได้ เราพยายามเป็นมนุษย์ปกติที่ไม่เข้มงวดกับตัวเองมากจนเกินไป แต้วว่ามันเฮลตี้กว่า ทั้งต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจ และเอาจริงๆ ถ้าให้เทียบกับตอนที่ออกกำลังกายหนักๆ และกินคลีนทุกอย่าง เรากลับชอบตัวเองตอนนี้มากกว่า ถึงร่างกายเราจะมีไขมันบ้าง แต่ว่าภาพรวมเราแฮปปี้

 

 

มี Cheat Day ให้ตัวเองไหม

 

เอาจริงๆ Cheat Day ของเราก็ยังเป็นของที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอยู่ดี อาจจะมีหยวนๆ บ้าง เช่น เค้ก แต่ก็จะกินแบบแคลอรีต่ำ เราจะพยายามไม่หยุดพวกของหวานไปเลย เพราะไม่งั้นเราจะกลายเป็นอีกร่างที่คิดว่ากินทั้งทีก็ต้องเอาให้สุด พยายามกินบ้างเรื่อยๆ พอให้ตัวเองยิ้มได้ แต้วคิดว่าเราต้องหาวิธีที่ตัวเองจะกินได้อย่างแฮปปี้โดยที่ไม่เสียสุขภาพ มันต้องทดลองเพื่อให้เรารู้ว่าแค่ไหนคือจุดที่เราจะโอเค ซึ่งมันต่างกันไปในแต่ละคน สุดท้ายแล้วการดูแลสุขภาพมันไม่ใช่แค่วันนี้วันเดียวหรือสัปดาห์นี้สัปดาห์เดียว แต่มันคือระยะยาว เพราะฉะนั้นการหาจุดบาลานซ์ที่จะทำให้ตัวเองสามารถมีวินัยในการดูแลสุขภาพต่อไปได้เรื่อยๆ คือวิธีที่ดีที่สุด

 

 

ในเรื่องการดูแลผิว แต้วมีเคล็ดลับอย่างไรเพื่อให้ผิวยังคงสุขภาพดี แม้อายุจะมากขึ้นและต้องทำงานหนักอยู่ตลอดเวลา

 

การดูแลผิวไม่ใช่แค่การทาครีม การดื่มน้ำให้เพียงพอก็ส่งผลดีต่อผิวด้วยเหมือนกัน เมื่อก่อนแต้วดื่มน้ำน้อยมาก แต่พอปรับตัวเองมาดื่มน้ำเยอะขึ้น มันช่วยมากเลยนะ จากเป็นคนผิวแห้งมาก มันก็ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ด้วยอายุที่มากขึ้นก็ต้องเพิ่มการดูแลที่พิเศษขึ้นด้วยครีม แต้วมาสก์หน้าตลอด ทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้ผิวขาดน้ำ ครีมกันแดดก็ทาปกติทุกวัน และที่สำคัญที่สุดคือใส่ใจและทำให้เป็นกิจวัตรอย่างสม่ำเสมอ

 

 

แต้วเป็นคนที่วางแผนทั้งเรื่องงานและการดูแลตัวเองอย่างเป็นขั้นเป็นตอน แม้จะปรับให้สมดุลมากขึ้นแล้ว แต่ก็ยังคงความเป็นเพอร์เฟกชันนิสต์อยู่ ซึ่งลักษณะนิสัยนี้เคยทำให้แต้วเกิดอาการแพนิกและส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ปัจจุบันแต้วเรียนรู้ที่จะรับมือกับเหตุการณ์นี้อย่างไรบ้าง

 

แค่ยอมรับว่าเราเป็นแบบนี้ เพราะประสบการณ์ทุกอย่างที่ผ่านมาทำให้เรารู้ว่าเราพร้อมที่จะแพนิกตอนไหนก็ได้ ทุกวันนี้ก็ยังเป็นอยู่ แต่เราจะไม่พยายามไปคอนโทรลมันว่าต้องหายเดี๋ยวนี้ ในขณะเดียวกันเราก็ปรับที่ตัวเองด้วยการทำความเข้าใจความจริงของชีวิตมากขึ้น แต้วว่าอาการแพนิกมันเกิดจากตัวเราเอากล้องจุลทรรศน์ไปส่องปัญหา เพราะฉะนั้นก็พยายามไม่ตีโพยตีพายอะไรกับชีวิตมากเหมือนเมื่อก่อน โดยพยายามเรียนรู้จากการอ่านหนังสือ ดูยูทูบ ฟังพอดแคสต์ที่สามารถดึงตัวเราออกมาให้เห็นภาพว่าทุกคนไม่ได้เกิดมาเพอร์เฟกต์ ก็ค่อยๆ สอนตัวเองไปเรื่อยๆ พอเราเข้าใจและสามารถทำได้ครั้งหนึ่งแล้ว ก็รู้สึกมีกำลังใจในการใช้ชีวิตมากขึ้น

 

 

หนังสือหรือช่องพอดแคสต์แนวไหนที่แต้วใช้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้

 

ถ้าเป็นหนังสือก็จะเป็นแนวปรัชญาหรือการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของสังคมว่าทำไมคนเราตอนนี้ถึงมีพฤติกรรมแบบนี้ ส่วนพอดแคสต์ก็จะเป็นของ THE STANDARD หรือของช่องอื่นๆ ที่ให้แนวคิดเราเกี่ยวกับการใช้ชีวิต ทั้งหมดนี้มันทำให้เราได้เห็นภาพที่กว้างมากขึ้นจากการวิเคราะห์ของเขาและสามารถนำมาเปรียบเทียบกับตัวเราเองได้ แต่ท็อปปิกที่แต้วสนใจตอนนี้คือเรื่อง ‘การใช้เวลา’ และ ‘Self-Love’

 

 

สังคมตอนนี้มันเร่งรีบไปหมดจนเราต้องติดสปีดตามให้ทัน ทำให้หลายคนในสังคมกลายเป็นคนแพ้ไม่เป็น ต้องวิ่งหาความสำเร็จอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเราเองก็เคยเป็นหนึ่งในนั้น แต่ตอนนี้เราคิดได้แล้วว่าเราไม่จำเป็นต้องเร็วขนาดนั้นก็ได้ 

 

 

แนวคิด Self-Love มีประโยชน์ต่อการทำงานและการใช้ชีวิตของแต้วในปัจจุบันอย่างไรบ้าง

 

มนุษย์เราเกิดมาต้องสร้างความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง แต่เราไม่สามารถฝากใจหรือคาดหวังทุกๆ อย่างในชีวิตกับคนอื่นได้ Self-Love มันจึงเข้ามาสอนเราว่า ไม่ต้องรอให้ใครหรืออะไรมาให้คุณค่าเรา ให้เริ่มที่ตัวเราเองนี่แหละ ไม่ว่าจะเป็นการปลอบโยนในวันที่เราล้มหรือคอยเชียร์ในวันที่เรากำลังจะประสบความสำเร็จ ไม่มีใครที่จะเข้าใจและเห็นการเดินทางตลอดทั้งชีวิตของเราได้เท่ากับตัวเราเองอีกแล้ว เพราะฉะนั้นในสังคมที่มันโหดร้ายขึ้นเรื่อยๆ ทั้งเรื่องของการทำงานและการแข่งขันต่างๆ แต้วอยากให้ทุกคนคุยกับตัวเองและใจดีกับตัวเองให้มากๆ เป็นมิตรกับตัวเองให้เยอะๆ

 

 

แต้วดูแลตัวเองเป็นอย่างดีทั้งสุขภาพร่างกาย ผิวพรรณ ไปจนถึงจิตใจ แต่อยากรู้ว่าแต้วมีตัวช่วยอะไรอีกไหมที่ใช้เสริมให้การดูแลสุขภาพของตัวเองดียิ่งขึ้นไปอีก หรือใช้ทดแทนในวันที่ไม่มีเวลา

 

แต้วมองว่าการกินเป็นแอ็กชันที่ส่งผลต่อร่างกายของเรา เพราะฉะนั้นต้องดูว่าอะไรที่จะสร้างประโยชน์ให้กับร่างกาย แล้วยิ่งแต้วเป็นคนออกกำลังกายก็ยิ่งต้องกินให้พอเพื่อไปเสริมสร้างกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ในเรื่องการดูแลผิว มันก็ไม่ใช่แค่การกินคอลลาเจนหรือวิตามินเสริมเพียงอย่างเดียว

 

 

พอแต้วได้มาทำงานกับ Beanbag เลยได้รู้ว่าการกินโปรตีนให้เพียงพอเป็นสิ่งสำคัญมากๆ สำหรับทุกคน ไม่ได้จำกัดแค่คนที่ออกกำลังกายเท่านั้น ในช่วงเวลาที่เร่งรีบหรือออกกำลังกายตอนเช้าแต่ยังไม่ได้อยากกินอะไรหนักๆ แต้วก็เลยเลือกกินโปรตีนจากพืช ซึ่งช่วยประหยัดเวลาแต่ได้สารอาหารที่มีคุณค่าเข้าไปช่วยเติมเต็มร่างกายและผิวพรรณของเรา

 

 

แต้วคิดอย่างไรกับภาพจำที่คนมองว่าโปรตีนเสริมมักรับประทานยาก

 

พอแต้วได้ทำงานกับ Beanbag ก็มีโอกาสได้เข้าไปร่วมทดลองชิมรสชาติของโปรตีนจากแหล่งต่างๆ โปรตีนจากอกไก่ปั่นกินยากจริงๆ แต่ถ้าเป็นโปรตีนพืช มันกินง่ายกว่า และตอนนี้แต้วมีปัญหาสุขภาพ ก็ยิ่งต้องระวังอาหารที่อาจจะไปกระตุ้นอาการของเรา โปรตีนพืช โดยเฉพาะโปรตีนจากถั่วลันเตา เมล็ดฟักทอง และข้าว ก็ช่วยตัดปัญหาเรื่องโอกาสแพ้ไปได้ รวมไปถึงคนที่แพ้กลูเตนและแล็กโทสก็สามารถกินได้เช่นกัน แถมยังไม่มีน้ำตาลและคอเลสเตอรอล จึงตอบโจทย์ทุกคนที่ต้องการดูแลสุขภาพ

 

 

หลังจากหาจุดบาลานซ์ให้ตัวเองเจอแล้ว เป้าหมายต่อไปในการดูแลสุขภาพในอนาคตของแต้วเป็นอย่างไร

 

ยอมรับเลยว่าสุขภาพตอนนี้ของเรายังไม่กลับมาเป็นปกติ เพราะฉะนั้นเป้าหมายก็คงเป็นแค่การกลับไปเป็นแบบเดิมที่เคยเป็นได้ แต่ก็ไม่บังคับตัวเองนะ ก็ให้เวลาไป ตอนนี้ไม่ได้มีเป้าหมายอะไรที่ใหญ่โตมากมาย เราแค่อยากเป็นแบบปกติที่แฮปปี้กับตัวเองแค่นั้น ไม่ได้อยากกลับไปเป็นตัวเองในตอนนั้นที่ออกกำลังกายแบบสุดโต่งอีกแล้ว

 

 

จากคะแนนเต็ม 10 แต้วคิดว่าคะแนนความสุขของตัวเองในตอนนี้อยู่ที่เท่าไร

 

คิดว่าน่าจะอยู่ที่ 7-8 เพราะเรายังอยู่ในช่วงเรียนรู้ ช่วงที่กำลังทดลองปรับความคิด ปรับมายด์เซ็ตใหม่ๆ ให้ตัวเองและดูว่ามันโอเคไหม เราอาจจะสุขได้มากกว่านี้อีก แต่ตอนนี้ที่ระดับนี้ก็โอเคนะ สุขกว่าคนเดิมที่เคยเป็น โดยเฉพาะในช่วงอายุ 20 ปี ที่ต้องใช้ชีวิตเป๊ะๆ ตามแผนเท่านั้น

 

 

เรื่อง: วิทวัส พุคคะบุตร 

ภาพ: ปวรุตม์ งามเอกอุดมพงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X