Claude Monet ศิลปินผู้มาก่อนกาล แม้หลายคนจะยังไม่รู้จักชื่อเขามากนักก็ตาม เพราะที่จริงแล้ว Monet นี่แหละคือผู้บุกเบิกทำให้ศิลปะแนวอิมเพรสชันนิสม์เป็นที่ยอมรับ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของจิตรกรในสมัยนั้นว่า “งานศิลปะของเขาเหมือนผลงานที่ยังไม่เสร็จมากกว่า”
แต่สุดท้าย จุดยืนที่ชัดเจนและแตกต่างของ Monet และผองเพื่อน กลายเป็นแรงบันดาลใจ ทำให้เกิดศิลปินรุ่นใหม่ยุคหลังๆ (Post-Impressionism) ขึ้นมา ซึ่งหนึ่งในนั้นที่ทุกคนรู้จักดีก็คือ Vincent van Gogh ผู้ชื่นชมว่าผลงานแลนด์สเคปของ Claude Monet ช่างน่านับถือ
‘Monet & Friends Alive Bangkok’ เป็นนิทรรศการสไตล์ Digital Immersive จากค่ายเดียวกันกับนิทรรศการ Van Gogh Alive Bangkok ก่อนหน้า แต่ครั้งนี้นำผลงานกว่า 3,500 ชิ้นของ Claude Monet (โคลด โมเนต์) ศิลปินชาวฝรั่งเศสจากศตวรรษที่ 19 ผู้มีอิทธิพลต่อศิลปินยุคหลังๆ มากที่สุดคนหนึ่งของโลก รวมถึงเพื่อนศิลปินอีก 14 คน มาจัดแสดงให้เราชมแบบเต็มตาทุกลายฝีแปรง และครบทุกประสาทสัมผัสทั้งรูป รส กลิ่น เสียง
ภายในงานแบ่งออกเป็น 6 โซน เริ่มจากโซนประวัติศิลปินทั้ง 14 คนที่เราอยากให้ทุกคนแวะอ่าน ต่อมาเป็นห้องจัดแสดง ‘Digital Art’ ฉายผลงานเด่นของ Monet เช่น ‘Impression, Sunrise’ ภาพที่ทำให้ศิลปะแนวอิมเพรสชันนิสม์เริ่มเป็นที่ยอมรับ ‘The Artist’s Garden at Giverny’ ภาพสวนดอกไม้ในพื้นที่บ้านพักของเขา ซึ่งรอบๆ นั้นมีสระบัวและสะพานญี่ปุ่น ซึ่งต่อมากลายเป็นภาพวาดอันโด่งดังอย่าง ‘Water Lilies’ และ ‘Water Lilies and the Japanese Bridge’
เช่นเดียวกับศิลปินคนสำคัญอื่นๆ ที่มีผลงานฉายในห้องนี้ เช่น Pierre-Auguste Renoir (ปิแอร์-ออกุสต์ เรอนัวร์), Camille Pissarro (กามีย์ ปีซาโร), Paul Cézanne (ปอล เซซานน์) หรือ Edgar Degas (แอดการ์ เดอกา)
โซนต่อมา ‘สวนโมเนต์’ เป็นเหมือนหมู่บ้านเล็กๆ พาเราเข้าไปสู่โลกแห่งจินตนาการ มีทั้ง ‘สะพานญี่ปุ่นจำลอง’ ที่นำออกมาจากภาพวาดของ Monet ‘ห้องสระบัว’ ที่ชวนดำดิ่งลงไปในภาพวาดชิ้นดัง ‘ห้องวาดรูป’ สำหรับคนอยากลองเป็นศิลปินยุคอิมเพรสชันนิสม์ดูบ้าง
‘ดีวาน่า คาเฟ่’ ป๊อปอัพคาเฟ่ที่มาพร้อมเมนูพิเศษ และสุดท้าย ‘ห้องถ่ายภาพ’ ที่จะเปลี่ยนเราให้กลายเป็นชิ้นงานศิลปะ
ราคาบัตรเข้าชม Monet & Friends Alive Bangkok สำหรับนักเรียน/นักศึกษา ผู้ชรา ผู้พิการ ราคา 480 บาท, บุคคลทั่วไป 990 บาท, บัตร VIP ราคา 1,490 บาท (ได้รับของที่ระลึกคือ หมวก โปสต์การ์ด และกระเป๋า)
นิทรรศการเปิดให้เข้าชมวันที่ 22 กันยายน 2566 – 7 มกราคม 2567 เวลา 10.30-21.00 น. ณ ไอคอนสยาม ชั้น 6 ซื้อบัตรเข้าชมได้ที่ Eventpop หรือสอบถามได้ที่ ICONSIAM
ภาพ: ปวรุตม์ งามเอกอุดมพงศ์