×

ไมเกรนแท้ ไมเกรนเทียม จุดต่างที่ควรต้องรู้

16.12.2023
  • LOADING...

อาการปวดหัวที่พบบ่อยเป็นอันดับต้นๆ ในคนวัยทำงานคงจะหนีไม่พ้นอาการปวดหัวที่เกิดจากโรคไมเกรน ซึ่งอาการเด่นเฉพาะตัวก็คืออาการปวดหัวข้างเดียว ที่มักจะมีลักษณะเป็นแบบปวดตุบๆ ตามจังหวะชีพจร โดยเฉพาะที่ขมับด้านใดด้านหนึ่งในระดับปานกลางถึงรุนแรง ใครที่มีอาการรุนแรงมากมักจะมีอาการคลื่นไส้ร่วมด้วยจนไม่สามารถทำงานหรือใช้ชีวิตประจำวันได้เลย แต่ก็อาจมีหลายคนที่สับสนว่าสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่นั้น เป็นไมเกรนแท้หรือไมเกรนเทียมกันแน่ หมอจะพาไปไขข้อข้องใจดังต่อไปนี้ 

 


 

สาเหตุของไมเกรน

 

 

สาเหตุของโรคไมเกรนนั้นยังไม่แน่ชัด แต่มักจะถูกพูดถึงว่าเกี่ยวข้องกับสารสื่อประสาทบางชนิด และเกี่ยวข้องกับกิจกรรมต่างๆ ที่เพิ่มภาวะเครียด (Stress) ให้กับร่างกาย รวมถึงเกิดในหญิงช่วงที่มีฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง การรักษาโรคไมเกรนประกอบด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นต่างๆ และการกินยา ซึ่งจะมียาระงับปวดกับยาที่ช่วยลดการกลับมาเป็นซ้ำ โดยที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญคือแพทย์สาขาอายุรกรรมระบบประสาท จะเป็นผู้วินิจฉัยและพิจารณาการรักษา 

 

ปัญหาที่พบบ่อยในคนที่รักษาโรคไมเกรน

 

ไม่ว่าจะปรับพฤติกรรมหรือหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นเท่าไร อาการก็ยังไม่ดีขึ้น หรือแม้ได้รับการปรับยามาเป็นเวลานาน อาการก็ยังคงเป็นๆ หายๆ กลับมารบกวนตลอด จนบางครั้งไม่มีวันที่หายจากอาการปวดหัวข้างเดียวเลย ทำไมจึงเป็นแบบนั้น ในทางการแพทย์ยังมีอาการปวดหัวข้างเดียวอีก 1 สาเหตุที่พบบ่อยมาก นั่นก็คืออาการปวดหัวจากความตึงตัวของกล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า ความตึงของกล้ามเนื้อบริเวณนี้ทำให้เกิดความปวดร้าวไปยังขมับอย่างรุนแรงได้เช่นกัน ซึ่งหากกล้ามเนื้อชุดนี้ตึงตัวในด้านขวา ก็จะมีอาการปวดหัวที่ด้านขวาด้านเดียวได้เช่นเดียวกับโรคไมเกรน ในบางครั้งภาวะนี้จึงถูกนิยามว่าเป็น ‘โรคไมเกรนเทียม’ ซึ่งสามารถรักษาให้หายได้โดยการดูแลทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัดนั่นเอง 

 

(จากนี้จะขอใช้คำว่าไมเกรนแท้ในการสื่อความหมายถึงโรคไมเกรน)

 

ความแตกต่างของโรคไมเกรนแท้และไมเกรนเทียมมีดังนี้ 

 

  • ไมเกรนแท้ ยังไม่มีสาเหตุแน่ชัด
  • ไมเกรนเทียม สาเหตุเกิดจากกลุ่มกล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า ข้างใดข้างหนึ่งหรือ 2 ข้างมีความตึงตัวจนเกิดเป็น Trigger Point หรือปมกล้ามเนื้อกดเจ็บ

 

 

สิ่งกระตุ้นไมเกรนแท้ 

 

  • การนอนพักผ่อนน้อย 
  • ความเครียด ความเหนื่อยล้าจากการทำงานหรือออกกำลังกาย 
  • การอยู่ในที่ที่มีแสงจ้าหรือเสียงดังมากเกินไป 
  • การอดอาหาร
  • การกินอาหารบางชนิด เช่น ช็อกโกแลต เบียร์ ของหมักดอง ฯลฯ 
  • ช่วงรอบเดือนของผู้หญิง

 

 

สิ่งกระตุ้นไมเกรนเทียม

 

  • การปวดกล้ามเนื้อจากออฟฟิศซินโดรม โดยเฉพาะกลุ่มอาการปวดพังผืดกล้ามเนื้อ (Myofascial Pain Syndrome) 
  • การนอนพักผ่อนน้อย
  • ความเครียด
  • การใช้งานหนัก หรืออาการบาดเจ็บกล้ามเนื้อคอ บ่า เรื้อรัง 
  • ฯลฯ

 

 

อาการไมเกรนแท้ 

 

  • ปวดหัวข้างเดียวแบบตุบๆ เป็นๆ หายๆ 
  • อาการปวดสามารถเป็นสลับข้างไปมาได้ในแต่ละรอบของอาการปวดโดยไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด 
  • สามารถมีอาการปวดหัว 2 ข้างพร้อมกันได้ หากมีอาการขั้นรุนแรงมาก

 

 

อาการไมเกรนเทียม

 

  • ปวดหัวข้างเดียวหรือ 2 ข้าง ขึ้นอยู่กับความตึงตัวของกล้ามเนื้อคอ บ่า อยู่ที่ข้างใด 
  • ปวดหัวแบบบีบรัดหรือแบบตุบๆ ก็ได้
  • อาจมีอาการปวดคอ บ่า ร้าวขึ้นศีรษะร่วมกัน
  • หากมีความตึงของกล้ามเนื้อเพียงด้านเดียว จะไม่พบการปวดสลับข้างไปมาในแต่ละรอบการปวด

 

อาการเฉพาะโรคไมเกรนแท้ แบ่งออกเป็น 4 ระยะ

 

  1. ระยะอาการล่วงหน้า เช่น อารมณ์แปรปรวน หาวบ่อย หรือบวมน้ำ
  2. ระยะอาการนำ (Aura) เช่น การเห็นแสงจ้าฉับพลัน หรือการมองเห็นเปลี่ยนไป โดยในระยะนี้จะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ได้
  3. ระยะการปวดหัว มักมีอาการเริ่มทีละนิดจนมากกว่า 4 ชั่วโมง อาการจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน
  4. ระยะหลังมีอาการ เมื่ออาการปวดหัวลดลงมักจะมีอาการอ่อนเพลีย ล้า หรืออาจสับสนเล็กน้อย ต้องการการพักผ่อน

 

อาการเฉพาะโรคไมเกรนเทียม

 

  • มีกล้ามเนื้อที่คอ บ่า สะบัก ตึงและมีจุดกดเจ็บชัดเจน โดยเฉพาะที่ด้านข้างท้ายทอย ต้นคอ หรือบ่า 
  • หากมีอาการ เมื่อกดนวดที่จุดกดเจ็บนั้นจะทำให้อาการปวดหัวรุนแรงมากขึ้น
  • อาการอาจมีอยู่ได้มากกว่า 3 วัน โดยที่มักจะดีขึ้นเมื่อได้นอนพัก แต่พอนั่งทำงานหรือใช้งานกล้ามเนื้อก็จะมีอาการกลับมาอีก
  • เมื่อกล้ามเนื้อที่ตึงตัวถูกคลายออก อาการมักจะดีขึ้นและสดชื่นขึ้นทันที
  • อาจมีอาการคลื่นไส้ร่วมด้วยได้

 

 

การรักษาอาการไมเกรนแท้

 

  • การปรับพฤติกรรมและหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นไมเกรน
  • พบแพทย์เพื่อรับยาระงับปวดหรือยาลดการกลับมาเป็นซ้ำตามระดับความรุนแรงของโรค

 

 

การรักษาอาการไมเกรนเทียม 

 

  • การปรับพฤติกรรมเพื่อลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อคอ บ่า ไหล่ เช่น การยืดกล้ามเนื้อ การออกกำลังกายให้กล้ามเนื้อแข็งแรง และการปรับการยศาสตร์ (Ergonomics) ตามหลักการรักษาออฟฟิศซินโดรม
  • การทำกายภาพบำบัดคลายความตึงตัวของกล้ามเนื้อคอ บ่า
  • การกินยาระงับปวด คลายกล้ามเนื้อ

 

 

จะเห็นได้ว่าไมเกรนแท้และไมเกรนเทียมนั้นมีความคล้ายกันอย่างมาก ในบางครั้งเราสามารถพบทั้ง 2 ภาวะนี้ได้ในคนคนเดียวกันโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากปัจจัยกระตุ้นบางส่วนมีความคล้ายคลึงกัน ดังนั้นหากใครที่เข้ารับการรักษาโรคไมเกรนหรือรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อร้าวขึ้นศีรษะเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือดีขึ้นแต่ยังไม่หาย แนะนำให้ลองปรึกษาแพทย์เพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นแพทย์อายุรกรรมระบบประสาทและแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู เพื่อให้ได้รับการดูแลที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

 

ทั้งนี้ อย่าลืมปรับพฤติกรรมและลดปัจจัยกระตุ้นต่างๆ โดยเฉพาะการพักผ่อนที่เพียงพอและการลดความเครียด ผ่อนคลายในการทำงานและกิจวัตรให้มากขึ้น เพื่อให้สามารถหายขาดจากอาการปวดหัวข้างเดียวหรือโรคไมเกรนได้

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising