เดินทางมาถึงวันศุกร์กันสักที หลังจากที่เริ่มต้นชีวิตมาตั้งแต่วันจันทร์ เริ่มต้นสัปดาห์อาจยังครึกครื้น พอมาถึงกลางสัปดาห์หลายคนก็หัวหมุนสุดๆ เมื่อตัวเองต้องพุ่งจากงานหนึ่งไปอีกงานหนึ่ง ความอ่อนล้าทำให้การนับถอยหลังรอเวลาเลิกงานเป็นไปอย่างเชื่องช้าและน่าเบื่อ แต่อยากให้ลองนึกภาพว่าหากเราสามารถปรับตัวเองให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า ตื่นตัว และพร้อมที่จะรับมือกับความท้าทายต่างๆ ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันอาทิตย์ มันจะเป็นไปได้ไหม? แน่นอนว่าเป็นไปได้แน่ หากคุณลองใช้เคล็ดลับต่อไปนี้ในการลดความเหนื่อยล้าและรักษาพลังงานให้คงที่ตลอดทั้งสัปดาห์
จัดลำดับความสำคัญของการนอนหลับ
นี่เป็นเคล็ดลับพื้นฐานที่สุด ตั้งเป้าหมายการนอนหลับอย่างมีคุณภาพให้ได้ 7-9 ชั่วโมงทุกคืน สร้างกิจวัตรการเข้านอน ปฏิบัติตามชั่วโมงการนอนที่สม่ำเสมอ และสร้างสภาพแวดล้อมการนอนของคุณให้มืด เย็น และเงียบสงบ
ดื่มน้ำให้เพียงพอ
การขาดน้ำอาจทำให้เกิดความเหนื่อยล้าและสมาธิลดลง ดื่มน้ำอย่างน้อย 8 แก้ว (ประมาณ 2 ลิตร) ทุกวัน
ใส่ใจความสมดุลของอาหาร
การกินอาหารมื้อปกติที่มีความสมดุลของโปรตีน ไขมันดี และคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน สามารถช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ ซึ่งจะทำให้ระดับพลังงานของคุณคงที่ได้ หากทำได้ทุกวัน นั่นหมายถึงตลอดทั้งสัปดาห์ระดับพลังงานของคุณจะยืนระยะได้อย่างมั่นคง ไม่หมดแรง ไม่เหนื่อยง่ายเหมือนที่ผ่านมา
แบ่งเวลาส่วนตัวให้ตัวเอง
ควรจัดให้ตัวเองได้พักเป็นเวลาสั้นๆ ตลอดทั้งวัน เพื่อยืดเส้นยืดสาย เดินเร็วๆ หรือพักผ่อนอยู่นิ่งๆ ในความสงบสักมุมหนึ่ง หรือนั่งในสวนบริเวณออฟฟิศ การทำแบบนี้สามารถป้องกันความเหนื่อยล้าทางจิตใจและร่างกายได้
คงความกระฉับกระเฉง
การออกกำลังกาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายตอนเช้าหรือการเดินระหว่างวันสามารถช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ยกระดับอารมณ์ เพิ่มระดับพลังงาน และคงความกระฉับกระเฉงตลอดทั้งสัปดาห์ได้
จำกัดปริมาณแอลกอฮอล์
แม้ว่าการดื่มบ้างในบางคืนอาจเป็นวิธีที่ดีในการผ่อนคลายความเหนื่อยล้า แต่แอลกอฮอล์อาจรบกวนคุณภาพการนอนหลับของคุณ ทำให้คุณเหนื่อยในวันรุ่งขึ้น
จัดการความเครียด
ความเครียดเรื้อรังอาจทำให้คุณเหนื่อยล้าได้ ลองค้นหาเทคนิคที่เหมาะในการบำบัด หรือจัดการความเครียดของตัวเอง เช่น ทำสมาธิ การหายใจลึกๆ หรือการจดบันทึกเพื่อจัดการกับความเครียดในแต่ละวัน
จำกัดเวลาหน้าจอก่อนนอน
แสงสีฟ้าที่ปล่อยออกมาจากโทรศัพท์ แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์ สามารถรบกวนการผลิตเมลาโทนิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ควบคุมการนอนหลับ พยายามตัดการเชื่อมต่ออย่างน้อยหนึ่งชั่วโมงก่อนนอน