ใครๆ ก็สามารถเปิดคาเฟ่ได้หากคุณมีทุกอย่างพร้อมในมือ นี่ไม่ใช่คำพูดที่เกินจริงเลย แต่นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นแรกของการลงสนามที่มีคู่แข่งฝีมือฉกาจวิ่งอยู่เต็มไปหมด จนแทบไม่เหลือที่ว่างให้คนรุ่นใหม่หรือนักธุรกิจตัวเล็กๆ ที่ฝันอยากมีพื้นที่เป็นของตัวเอง
เพราะฉะนั้นการลงสนามครั้งนี้ของ ‘อิน-สาริน รณเกียรติ’ นักแสดงและเจ้าของร้าน HOLIDAY PASTRY ในโครงการ OURS ย่านเจริญนคร จึงเกิดจากความตั้งใจอยากเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่มีแพสชันในการทำธุรกิจ และอยากพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าแม้แต่คนตัวเล็กๆ หรือผู้ประกอบการมือใหม่อย่างเขา ก็สามารถลงแข่งบนสนามเดียวกับนักธุรกิจเจ้าใหญ่ๆ ได้เหมือนกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เริ่มต้นทำธุรกิจของตัวเองได้อย่างไร
อิน: ผมทำอาชีพนักแสดงเป็นงานหลักก็จริง แต่ที่จริงผมก็ชอบการค้าขายด้วย พอทำงานแสดงเราก็รู้สึกสนุกมากนะ แม้มันจะเป็นอาชีพที่ต้องอยู่เบื้องหน้าเยอะ เพราะผมก็ยังชอบการอยู่เบื้องหลัง ชอบการทำงานที่ได้ใช้ Skill ก็เลยอยากลองเริ่มทำธุรกิจ เหมือนเป็นการพิสูจน์ตัวเองด้วยว่าเราก็สามารถทำงานเบื้องหลังได้เหมือนกัน
ซึ่งแบรนด์แรกที่ผมทำคือร้านขายเครื่องประดับก่อน ตอนนี้มาเปิดคอมมูนิตี้ชื่อ OURS ในนี้ก็มีอีกหลายธุรกิจที่ผมทำอยู่ ทั้ง ‘HOLIDAY PASTRY’ ร้านอาหารและคาเฟ่สไตล์ All Day Dining ร้านหมูกระทะ ‘HEY Mookrata’ ร้านเสื้อผ้า ‘hye everyday’ และร้านเครื่องประดับ ‘hye BKK’
ทำไมถึงอยากลงสนามทำธุรกิจ F&B (Food and Beverage)
อิน: จุดเริ่มต้นของผมก็อาจเหมือนคนอื่นๆ คือทำขนมขายช่วงโควิด เราเข้ามาในตลาดนี้พร้อมกับคนจำนวนมาก แต่ผมเป็นคนที่ทำอะไรแล้วค่อนข้างจริงจังกับมัน ก็เลยคิดว่าในเมื่อเราเข้ามาตรงนี้แล้วก็เต็มที่กับมันไปเลย
จากตอนแรกที่ทำ HOLIDAY PASTRY เฉพาะเดลิเวอรี ก็เริ่มขยับมาเปิดหน้าร้านจริงจังเป็น Flagship Store พอมีพื้นที่ของตัวเองก็ทำร้านหมูกระทะเพิ่ม และในอนาคตก็จะทำร้านอื่นๆ อีก
แปลว่าอินเป็นคนชอบเรื่องอาหารหรือเปล่า
อิน: ผมอาจไม่ใช่คนชอบทำ แต่ผมชอบกิน ทั้งอาหารและขนมเลย ก็เลยคิดว่าตัวเองน่าจะมีเซนส์ด้านนี้พอสมควร พอได้ลองทำจริงจังก็สนุกดี
แต่อีกเหตุผลหนึ่งที่เลือกเปิดร้านขนมแบบ All Day Dining ก็เพราะผมอยากทำ HOLIDAY PASTRY ให้เป็น Destination (จุดหมาย) ของคนชอบกินขนมด้วย คือคุณจดจำแค่ชื่อแบรนด์อย่างเดียวแล้วค่อยเดินเข้ามาเลือกเมนูด้านในด้วยความเชื่อใจในแบรนด์ เหมือนเวลาเราไปร้านขนมในต่างประเทศ เขาจะมีเมนูให้เลือกเยอะมากๆ
ในทางกลับกัน ผมว่าร้านขนมที่มีเมนูหลายๆ อย่างในบ้านเรายังมีน้อย ส่วนใหญ่เป็นร้านสเปเชียลตี้ไปเลยมากกว่า เช่น ร้านครัวซองต์ก็ขายครัวซองต์ ร้านโดนัทก็ขายโดนัท เราเลยมานั่งคิดกันว่าเป็นเพราะอะไร คำตอบที่ได้คือเพราะมันบริหารยากมาก ทั้งการคิดสูตรและการจัดการวัตถุดิบ
ในเมื่อรู้ว่ามันยาก แต่ทำไมถึงอยากทำ
อิน: เพราะว่ามันยากก็เลยน่าสนุก มันท้าทายก็เลยรู้สึกว่าอยากทำ อีกอย่างถ้าเราไม่เริ่มแล้วเมื่อไรจะมีคนทำ เพราะถ้ามองตลาดร้านขนมในไทย 10 กว่าปีที่ผ่านมา ก็มีอยู่ไม่กี่เจ้าที่ทำร้านขนมแบบครบวงจร เดินเข้าไปแล้วสั่งได้หลากหลาย มันน้อยมากๆ ถ้าเทียบกับต่างประเทศ
ถ้าพูดถึงความตั้งใจแรกจนถึงวันนี้ เปลี่ยนไปบ้างไหม
อิน: ความตั้งใจของผมยังเหมือนเดิม เรายังอยากให้ทุกคนได้กินขนมอร่อยๆ มีคุณภาพ แต่ว่าสิ่งที่เปลี่ยนไปอาจเป็นการมองภาพให้กว้างขึ้น จากวันแรกที่เราเป็นแค่ร้านขนมออนไลน์ ตอนนี้เรามีหน้าร้านจริงจังแล้ว เพราะฉะนั้นเรื่องประสบการณ์และสถานที่จึงมีความสำคัญเพิ่มเข้ามา
ร้านเรามีพาร์ตเนอร์ มีเชฟที่อยู่ด้วยกันมาตั้งแต่แรก พอตั้งใจเปิดร้าน Flagship Store ก็ตั้งใจให้เป็นร้านที่มีพื้นที่ให้ลูกค้าเยอะๆ มีที่จอดรถ มีสวน ซึ่งตอนนี้ HOLIDAY PASTRY เพิ่งอายุครบ 1 ปีพอดี พวกเราก็อยากลองเข้าถึงคนให้มากขึ้น อยากให้ทุกคนแวะมาตอนนึกอยากกินอาหารและขนมในร้านเดียว
คิดว่าการทำธุรกิจ F&B มีความสนุกอย่างไร
อิน: ผมมองว่าธุรกิจอาหารเป็นเหมือนแฟชั่นนะ ผมใช้คำว่า Food is Fashion เสมอ เพราะถ้าสังเกตดีๆ ไม่ว่าขนมนั้นจะฮิตติดเทรนด์มากแค่ไหน อย่างครัวซองต์ โดนัท โชคุปัง ทุกอย่างมีช่วงเวลาของมันหมด คนจะคลั่งไคล้แค่ไหนก็อาจอยู่ได้ประมาณ 3-6 เดือน เพราะคนมองว่าขนมเป็นประสบการณ์ที่อยากลอง
เพราะฉะนั้นเวลา HOLIDAY PASTRY ออกเมนูใหม่ ผมจะบอกทีมว่าให้ทำเป็นฤดูกาลเหมือนเสื้อผ้า แน่นอนว่าเรามีเมนูซูเปอร์สตาร์ที่เป็นซิกเนเจอร์ทุกฤดูกาลอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ควรลืมเติมความสนุกให้กับเมนูของร้านตามเทศกาลบ้าง
แล้วอุปสรรคตั้งแต่ทำร้านอาหารมาล่ะ
อิน: นี่แหละครับ ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องของ R&D (Research and Development: การคิดและพัฒนาเมนูอาหาร) เพราะถ้าเป็นร้านหมูกระทะ เราไม่จำเป็นต้องหมุนเวียนเมนูมาก จะเน้นเรื่องการบริการลูกค้า แต่พอเป็นร้านขนมที่เราต้องทำหลายอย่าง เราต้องให้เวลากับเขาและต้องมีทีมใหญ่ๆ เราต้องไม่หยุดพัฒนาสูตร ต้องหาอะไรใหม่ๆ มาให้ลูกค้าเสมอ
มุมมองของอินต่อการทำงานที่สอง
อิน: มันก็มองได้หลายมุม แต่ถ้าพูดถึงในประเทศไทย ผมคิดว่ามันคือการสร้างความมั่นคงในชีวิต ถ้าวันหนึ่งเราเบื่องานแรกขึ้นมา หรืองานแรกไม่มีความสม่ำเสมอ เราก็ยังมีงานที่สองเผื่อเอาไว้
แต่ในอีกมุมหนึ่ง ผมมองว่าคนไทยหลายๆ คนเลือกทำงานที่สองก็เพราะค่าตอบแทนจากงานแรกไม่เพียงพอ มันเลยบังคับให้คนต้องหางานทำเพิ่ม เพราะผมเชื่อว่าสุดท้ายแล้วถ้าค่าตอบแทนจากงานเดียวมันเพียงพอต่อการใช้ชีวิต คงไม่มีใครอยากทำงานหนักเกินไปหรอก ทุกคนอยากมี Work Life Balance อยู่แล้ว
แพสชันของอินในตอนนี้คือ…?
อิน: ถ้าเป็นเมื่อก่อนก็คงเป็นการอยากพิสูจน์ตัวเองในการทำธุรกิจ แต่ตอนนี้มันเปลี่ยนไปนะ ตอนนี้ผมอยากทุ่มเทให้กับแบรนด์ ทำผลิตภัณฑ์ที่เรารักมากๆ ให้เข้าถึงทุกคนได้มากขึ้น
ผมอยากเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ขึ้นมายืนอยู่ท่ามกลางการแข่งขันที่ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจเจ้าใหญ่ๆ เพราะมันมีโอกาสน้อยมากที่ SMEs (ธุรกิจขนาดเล็ก) จะกระโดดเข้ามาในสนามนี้แล้วขอแบ่งพื้นที่ไปได้ ในเมื่อทุกวันนี้มีแบรนด์ มีร้านอาหาร มีร้านขนมให้เลือกเป็นร้อยๆ พันๆ แต่ทำไมลูกค้าต้องเลือกร้านเรา
ผมเลยรู้สึกว่าการเป็นคนตัวเล็กๆ แต่สามารถปั้นแบรนด์ขึ้นมาสู้ผู้เล่นตัวใหญ่ๆ ได้ มันก็เป็นความน่าภูมิใจอย่างหนึ่ง
ภาพ: ปวรุตม์ งามเอกอุดมพงศ์