×

ตั้งเป้าหมายอย่างไรให้ดีต่อใจและมีแนวโน้มสำเร็จ

20.01.2024
  • LOADING...

เชื่อว่าหลายคนตั้งเป้าหมายมากมายเอาไว้ในปีนี้ แต่ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายด้านใดก็ตาม จะทำอย่างไรให้เป้าหมายนั้นดีต่อใจแบบไม่กดดันตัวเอง และมีแนวโน้มสำเร็จ

 

นอกจากการดำรงชีวิตอยู่ในแต่ละวันแล้วนั้น มนุษย์ยังต้องการที่จะพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นตามอุดมคติที่ตนและสังคมคาดหวังไว้ ‘การตั้งเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงตนเอง’ โดยเฉพาะปีใหม่ที่ใครหลายคนเลือกใช้เป็นช่วงสำคัญในการเปลี่ยนแปลง แม้การมีเป้าหมายในการพัฒนาตนเองเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็เป็นแรงกดดันไม่น้อยที่ทำให้หลายคนรู้สึกเครียด ผัดวันประกันพรุ่ง กระทั่งสุดท้ายอาจกล่าวโทษว่าตนเป็นคนไม่เอาไหนที่ไม่เปลี่ยนแปลงตามที่ตั้งเป้าไว้สักที 

 

จะทำอย่างไรให้เป้าหมายนั้นดีต่อใจแบบไม่กดดันตัวเอง ควรเริ่มจากการตั้งเป้าหมายให้ SMART ซึ่งประกอบด้วยหลักการต่อไปนี้

 

S – Specific เป้าหมายนั้นๆ จะต้องมีความเจาะจง ชี้เฉพาะ และมีขอบเขตที่แน่นอน เพื่อกำหนดสิ่งที่จะลงมือทำเชิงพฤติกรรมได้

M – Measurable เป้าหมายที่ตั้งออกมานั้นจะต้องสามารถวัดผลได้ ดังนั้นเน้นเป้าหมายของการกระทำมากกว่าผลหรือความรู้สึก เพราะจะทำให้เกิดการวัดที่ชัดเจน และใช้การจดบันทึกกันคลาดเคลื่อนทั้งเป้าหมายและผลที่ได้รับ

A – Achievable เป้าหมายที่ตั้งไว้ต้องเป็นสิ่งที่สามารถทำได้จริง เหมาะกับความสามารถและบริบท อาทิ หากต้องการออกกำลังกายให้ได้วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ในขณะที่ต้องทำงานประจำ คงเป็นการตั้งเป้าหมายที่ไม่สามารถเป็นจริงได้ เพราะบริบทไม่เอื้ออำนวย

R – Relevant เป้าหมายจะต้องมีความสมเหตุสมผล เป็นประโยชน์จริงทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

T – Time-based เป้าหมายที่กำหนดไว้จะต้องอยู่ภายใต้กรอบเวลาที่ชัดเจนและเหมาะสม

 

แต่การทำตามเป้าหมาย พูดไม่ง่าย ทำยิ่งไม่ง่าย การเกิดความรู้สึกเหนื่อยล้า พอใจ ท้อแท้ สำเร็จ อาจปะปนตลอดเวลาของการลงมือทำ โปรดให้ความสำคัญกับเรื่องราวระหว่างทางไปสู่เป้าหมายด้วย เพราะมีคุณค่าไม่ต่างกับแรงจูงใจตอนต้นหรือผลสำเร็จในตอนท้าย อีกทั้งในระหว่างการลงมือทำ หากสามารถยืดหยุ่นและปรับตัวได้ จะส่งผลให้การตั้งเป้าหมาย ‘ดีต่อใจและมีแนวโน้มสำเร็จได้’



Fixed Idea คือความคิดแบบยึดติด เปลี่ยนแปลงได้ยาก มักคุ้นเคยที่จะใช้รูปแบบความคิดเดิมทั้งกับสถานการณ์เดิมและสถานการณ์แปลกใหม่ อาจส่งผลต่ออารมณ์เมื่อต้องพบเจอกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก เนื่องจากรูปแบบความคิดแบบเดิมอาจไม่สามารถใช้ได้กับทุกสถานการณ์ รวมทั้งอาจประสบกับปัญหาความสัมพันธ์ เพราะการมีท่าทีต่อต้านการเปลี่ยนแปลงและไม่เป็นมิตรต่อผู้อื่นที่พยายามเข้ามานำเสนอแนวคิดแบบใหม่

 

Flexible Thinking คือความคิดแบบยืดหยุ่น สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามบริบทและกาลเวลาที่เปลี่ยนไป เพื่อให้เกิดความเหมาะสมต่อการปรับตัว ความคิดแบบยืดหยุ่นมักเป็นความคิดเชิงเหตุผลที่ประกอบด้วยอารมณ์ร่วมกลางๆ ข้อมูลจากประสบการณ์ในอดีต และทักษะในการอนุมานสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยความคิดยืดหยุ่นมีส่วนสำคัญในทักษะการแก้ไขปัญหา และส่งผลให้เจ้าของความคิดรู้ทันอารมณ์ตนเองได้

 

Floating Approach คือความคิดแบบหย่อนยาน ปล่อยความคิดเป็นอิสระ ไม่มีรูปแบบ ไร้กรอบความคิด และตอบสนองต่อบริบท ‘ตามอารมณ์’ เจ้าของรูปแบบความคิดดูเหมือนจะเป็นคนสบายๆ อะไรก็ได้ แต่อาจเก็บซ่อนความกังวลบางอย่างเอาไว้ อีกทั้งรูปแบบความคิดดังกล่าวอาจส่งผลต่อการลงมือทำตามแผนในรูปแบบและเวลาที่เหมาะสม อาจส่งผลเสียต่อผลรวมของพฤติกรรมในระยะยาว 

 

หากมองโดยความหมาย ความคิดแบบยืดหยุ่นน่าจะเป็นรูปแบบความคิดที่ส่งผลดีต่อความรู้สึก การปรับตัว และทักษะในการแก้ไขปัญหา หลายคนจึง ‘พยายามมาก’ ที่จะใช้ชีวิตและมีความคิดในแบบยืดหยุ่น พยายามมาก คิดมาก กำกับตนเองมากๆ อาจส่งผลในทางตรงข้าม เพราะแม้ความคิดยืดหยุ่นเป็นสิ่งที่ดี แต่ความพยายามอย่างสุดทางในการที่จะเป็นคนยืดหยุ่นกลับทำให้เรากลายเป็นคนยึดติดรูปแบบความคิดยืดหยุ่น

 

แต่หากสามารถเข้าใจความคิดยืดหยุ่นที่แท้ จะเห็นได้ว่าความคิดแบบยึดติดหรือความคิดแบบหย่อนยานอาจมีประสิทธิภาพกับบางสถานการณ์ บางเวลา การนำเอาข้อดีและระมัดระวังข้อจำกัดของแต่ละรูปแบบความคิดมาใช้ได้คือใจความสำคัญของคนยืดหยุ่น 

 

ชวนให้เห็นภาพใจความของความยืดหยุ่นด้วยเรือใบ 1 ลำ กับการตั้งเป้าหมายในการออกกำลังกายสัปดาห์ละ 3 วัน อย่างน้อยวันละ 30 นาที ต่อเนื่อง 3 เดือน

 

ลำเรือ (Fixed Idea) เป็นส่วนที่ต้องมั่นคง แข็งแรง แน่นหนา คงสภาพกับทุกอุปสรรค ไม่ว่าจะเป็นน้ำร้อน น้ำเย็น น้ำเค็ม หรือน้ำจืด แต่พลขับต้องเข้าใจว่าความมั่นคงของลำเรือไม่อาจฝ่ากองหินโสโครกได้ ต้องอาศัยทักษะอื่นในการเคลื่อนตัวไปผ่านอุปสรรคด้วยส่วนอื่นของเรือ คือการเขียนแผนการออกกำลังกายและทำตามแผนนั้น

 

เสากระโดงเรือ (Flexible Thinking) เป็นส่วนที่มองจากภายนอกดูแข็งแรง ตั้งตระหง่าน แต่ในความสามารถที่แท้จริงของกระโดงเรือนั้นคือความยืดโค้งและทักษะในการลู่ลำไปตามแรงลม อาทิ การยืดหยุ่นในวันที่มีกิจกรรมอื่นที่อาจเร่งด่วน สำคัญ เข้ามาแทรกตารางออกกำลังกาย เพื่อลดความรู้สึกผิดจากความคิดกล่าวโทษ

 

ใบเรือ (Floating Approach) เป็นส่วนที่สามารถตึงได้จนสุดทาง และหย่อนคล้อยได้ตามใจเช่นกัน ใบเรืออาจไม่มีความจำเป็นในบางสถานการณ์ที่เรือลอยลำผ่อนคลายไปกับแรงของสายน้ำ และอาจปล่อยให้ลมลู่ผ่านใบไปอย่างเบาตามหัวใจของเจ้าของเรือ คือการผ่อนคลายหรือให้รางวัลกับตนเองบ้างในขณะที่กำลังดำเนินตามเป้าหมาย เพราะในช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงย่อมเกิดเรื่องยากและความรู้สึกเหนื่อยล้า การให้รางวัลกับตนเองในระหว่างทางช่วยให้มีกำลังใจไปสู่เป้าหมายได้ 

 

ทักษะของสามส่วนประกอบกัน ผสานกับความยืดหยุ่นในการเลือกใช้สามส่วนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เรือใบจะค่อยๆ ล่องลำไปและถึงเป้าหมายสักวัน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising