×

ผิดไหมที่เป็นคนไม่มีเป้าหมายในชีวิต?

07.07.2023
  • LOADING...
เป้าหมายในชีวิต

เมื่อพูดถึงเป้าหมายชีวิต แต่ละคนคงให้นิยามต่อคำนี้แตกต่างกันออกไป บ้างก็พูดถึงความสำเร็จในหน้าที่การงานและการได้รับการยอมรับ บ้างก็พูดถึงเงินเก็บที่มากพอให้ชีวิตไม่ต้องลำบาก หรืออาจเพียงแค่การไม่มีโรคภัยที่รุนแรงเกิดขึ้นกับตนเอง ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว ‘เป้าหมายชีวิต’ อาจตีความได้ว่า เป็นคุณค่าภายในที่แต่ละบุคคลมีต่อตนเองในอนาคต จึงไม่มีใครตัดสินเป้าหมายชีวิตของคนอื่นว่าดีพอหรือไม่
 


เป้าหมายชีวิตของแต่ละคนล้วนมีที่มาจากหลายปัจจัยที่สะสมทั้งสุขสมใจอยากให้สิ่งเหล่านั้นอยู่ในชีวิตต่อไป หรือไม่ก็อาจผิดหวังและอยากจะก้าวข้ามสิ่งเหล่านั้นหากมีพลัง เวลา และโอกาสที่มากขึ้น ในการไปสู่ ‘เป้าหมายของชีวิต’ ในทางจิตใจ แม้เป้าหมายของชีวิตไม่ได้ถูกพูดถึงอย่างตรงไปตรงมา แต่ก็สามารถเห็นได้ว่ามีหลายทฤษฎีที่อธิบายเรื่องความต้องการของมนุษย์ด้วยหลักคิดต่างๆ อาทิ 

 

มาสโลว์ (Maslow) กล่าวว่า มนุษย์มีความต้องการเป็นลำดับขั้น เมื่อความต้องการในขั้นต้นเพียงพอมนุษย์จึงจะก้าวไปสู่การไขว่คว้าตามหาความต้องการขั้นต่อไป 

 

ในขณะที่ เดซี (Deci) ได้เขียนหนังสือ Self-Determination and Intrinsic Motivation in Human Behavior กล่าวไว้ว่า แม้มนุษย์จะต้องการพัฒนาตนเองไปสู่เป้าหมายมากเพียงใด ก็ยังให้ความสำคัญกับการได้ตัดสินใจอย่างเป็นอิสระไม่แพ้กัน

 

ซึ่งต่างจาก อีริคสัน (Erikson) ที่ให้ความเห็นว่าบริบททางสังคมมีผลต่อคุณค่าของบุคคล ส่งผลให้บุคคลนั้นๆ ลงมือทำตามความคาดหวังจากบทบาททางสังคมที่ตนกำลังแบกรับ

 

เมื่อเป้าหมายชีวิตเป็นเรื่องไม่ง่าย เพราะอะไรจึงยังสำคัญกับมนุษย์

แม้เป้าหมายชีวิตเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ง่าย มีที่มาที่ซับซ้อน และอาจส่งผลต่อความกดดันในใจ แต่เพราะความสำเร็จทั้งในรูปธรรม เช่น เงินทอง หน้าที่การงาน นามธรรม เช่น การได้รับการยอมรับ การเป็นที่รัก เป็นการตอบสนองความพึงพอใจและรู้สึกดีต่อคุณค่าในตนเอง ทั้งคุณค่าในเชิงเปรียบเทียบ ‘ฉันได้เท่าคนอื่น’ ‘ฉันมีมากกว่าคนอื่น’ หรือคุณค่าต่อตนเอง ‘ฉันทำได้’ 

 

เป้าหมายชีวิต: มุมมองที่เปลี่ยนไปจากโลกที่เปลี่ยนแปลง

ในสังคมเมื่อ 50 ปีที่แล้ว เป้าหมายชีวิตของคนในวัยทำงานส่วนใหญ่ต้องการชีวิตในบั้นปลายที่มั่นคง ส่งผลให้เกิดแรงผลักที่เรียกว่า ‘ความอดทน’ ให้ลงทุนลงแรงทำงานหนักเพื่อการได้มาซึ่งความมั่นคงในชีวิต ทั้งยังใช้โอกาสในการสั่งสอนเรื่อง ‘ความอดทนและเป้าหมายของชีวิต’ ให้กับรุ่นลูกรุ่นหลาน

 

เมื่อวันเวลาผ่านไป โลกที่ผันผวนเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและคาดเดาได้ยากส่งผลให้หลายคนรู้สึกท้อใจกับการใช้เครื่องมือที่เรียกว่า ‘ความอดทน’ เพื่อตามหาเป้าหมายของการใช้ชีวิต อีกทั้งโลกในยุคสมัยใหม่ ‘การเรียนรู้แบบฉับไว หรือแม้การปล่อยใจแบบสายชิล’ อาจเป็นอาวุธที่เข้าได้กับโลกใบนี้มากกว่าความอดทน การมีมุมมองต่อการไปสู่เป้าหมายของคนในแต่ละยุคของการเปลี่ยนแปลงก็ค่อยๆ เปลี่ยนไป 

 

เป้าหมายชีวิตกับการใช้ชีวิต 

หากคิดถึงคำว่าเป้าหมายชีวิต หลายคนคงคิดถึงภาพของตนเองที่อยากให้เกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งการกำหนดสิ่งนี้ได้ชัดเจนจะช่วยให้เราสามารถไปสู่การมีเป้าหมายได้ง่ายขึ้น แต่การเฝ้าที่ไม่มีแผนชัดเจนอาจส่งผลต่อความกังวล การเฝ้าคิดอย่างเข้มงวดอาจส่งผลต่อความกดดันที่มากเกินไป 

 

ตรงกันข้าม คนที่ไม่มีเป้าหมายใช้ชีวิตไปในแต่ละวัน ไม่มีภาพเกี่ยวกับตนเองในอนาคตเลยอาจไม่มีความกังวลหรือกดดันใดๆ แต่อาจไม่เป็นผลดีกับการใช้ชีวิตในระยะยาว เพราะอาจเกิดปัญหากับการใช้ชีวิตและความรู้สึกต่อคุณค่าในตนเอง 

 

จะดีไหม หากสามารถสร้างสมดุลระหว่างการมีเป้าหมายกับการใช้ชีวิตในทุกๆ วันได้ หรือจริงๆ แล้วใครหลายคนอาจตั้งเป้าหมายชีวิต ว่าคือการใช้ชีวิตแต่ละวันอย่างมีความสุข

 

ทำอย่างไรเมื่อถูกกระทบใจจากการถามถึง ‘เป้าหมายในชีวิต’ 

เมื่อมุมมองต่อเป้าหมายชีวิตเป็นเรื่องซับซ้อนและมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคล ไม่อาจวัดได้ด้วยความเป็น ‘ครอบครัวเดียวกัน’ ‘ยุคสมัยเดียวกัน’ ‘เพศเดียวกัน’ ‘ถนัดเหมือนกัน’ แต่การพูดหรือถามถึงเป้าหมายมักเกิดขึ้นในบทสนทนาที่มีข้ออ้างจากความหวังดีของคนที่กำลังกังวล พ่อแม่ที่กังวลว่าลูกจะศึกษาต่ออะไร หัวหน้างานที่กังวลว่าลูกน้องจะพาทีมไปทางไหน ซึ่งความกังวลดังกล่าวมักกลั่นเอาชุดคำถามที่หุนหันเข้าไปสั่นคลอนพื้นที่ส่วนตัวของผู้ถูกถามได้ หลายครั้งเราคงถูกรบกวนใจ แต่เราจะใช้ประโยชน์จากการถูกถามเพื่อการมีเป้าหมายในชีวิตได้อย่างไร 

 

  • จัดการอารมณ์โกรธ เพื่อลดการสื่อสารที่จะทำให้เกิดความขัดแย้ง ซึ่งการจัดการอารมณ์ไม่ใช่การห้ามปรามอารมณ์เพราะการมีอารมณ์โกรธเป็นสิ่งไม่ดี แต่เพราะอาจไม่คุ้มค่าที่จะสื่อสารออกไปตอนที่ยังมีอารมณ์โกรธ การจัดการอารมณ์มีหลายวิธี การหายใจช้าลง ออกจากจุดปะทะด้วยความสุภาพ และการขอเวลา เป็นวิธีที่ใช้แล้วมักได้ผลดี

  • รู้เจตนา หลังอารมณ์สงบ เราสามารถแปลสถานการณ์ในภาพรวมได้ชัดเจนขึ้น โดยแยกสีหน้า น้ำเสียง ท่าทาง คำพูดของผู้พูดออกไปได้ส่วนหนึ่ง และสามารถเข้าใจได้ถึงเจตนาของผู้พูดมากขึ้น การเข้าใจเจตนาเป็นเพียงการตีความให้ถูกต้องชัดเจน ไม่ได้หมายถึงการต้องยอมรับทุกเจตนาที่ดีที่คนอื่นมีให้เราหากเราไม่พร้อมจะรับเอาเจตนานั้นไว้

  • ทบทวนความต้องการ เมื่อทราบเจตนาของผู้พูดอย่างชัดเจน ก็ถึงขึ้นตอนที่ยากกว่า คือการกลับมาตั้งคำถามกับตนเองว่า วันนี้ เวลานี้ ตนเองต้องการสิ่งใด สิ่งนั้นเพียงพอหรือไม่ และเพียงพอต่อการมีความสุขกายสุขใจไปนานแค่ไหน และในทุกๆ วันรับรู้ได้ถึงความคุ้มค่าของการได้ใช้ชีวิตแค่ไหน อย่างไร และเขียนออกมาเป็นข้อๆ เพื่อความชัดเจน
  • การตั้งเป้าหมายที่มักช่วยให้เกิดประสิทธิภาพที่ดี คือการตั้งเป้าหมายที่ชัด วัดได้ และมีแนวโน้มของความเป็นไปได้ เกิดประโยชน์แท้จริง และมีระยะเวลา ส่วนการลงมือทำแผนเพื่อไปสู่เป้าหมายให้เกิดความสมดุลต้องแบ่งส่วนของการลงมือทำออกเป็น ‘ต้องทำ ควรทำ และอยากทำ’ เพื่อให้เป้าหมายสมดุลกับความสุขที่จะมีในแต่ละวัน

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising