“เมื่อแพทย์ลงเข็มไปที่จุด Trigger Point จะไม่ได้คาเข็มไว้นิ่งๆ แต่จะขยับเข็มไปในทิศทางต่างๆ เพื่อให้ปลายเข็มได้ไปสัมผัสในจุดที่กล้ามเนื้อจับกันแน่นแล้วคลายออก”
เมื่อนึกถึงการฝังเข็ม (Acupuncture) หลายคนอาจจะนึกถึงวิธีฝังเข็มแบบศาสตร์จีน แต่ในปัจจุบันเทรนด์การฝังเข็ม Dry Needling ที่เรียกว่าฝังเข็มแบบตะวันตก บางคนเรียกว่าการฝังเข็มแบบแห้ง เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะในกลุ่มนักกีฬา ว่ากันว่าการฝังเข็มแบบนี้เป็นการรักษาที่เจ็บแต่จบ (เร็วกว่า) การฝังเข็มทั่วไป เรื่องนี้จะจริงหรือไม่ การฝังเข็มแบบ Dry Needling มีขั้นตอนการรักษาอย่างไร น่ากลัวไหม? LIFE ชวนหมอแพน พญ.ศุภรัศมิ์ ทวนนวรัตน์ แพทย์ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลเฉพาะทางกระดูกและข้อ kdms ข้อดีมีสุข มาเล่าให้ฟังแล้วดังนี้
ปัญหายอดฮิตติดเทรนด์ในยุคนี้
สำหรับวัยรุ่นวัยทำงานก็คงหนีไม่พ้นอาการปวดกล้ามเนื้อคอ บ่า ไหล่ หรือหลัง หรือที่หลายๆ คนเรียกว่าเป็นอาการปวดในกลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรม ซึ่งมีสาเหตุมาจากการนั่งหรืออยู่ในท่าเดิมเป็นระยะเวลานาน ทำให้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกายเกิดการทำงานที่ไม่สมดุล (Muscle Imbalance) และหดเกร็งผิดปกติ ซึ่งเมื่อกล้ามเนื้อและเยื่อหุ้มตึงเกร็งมากๆ จึงทำให้คลำได้เป็นก้อนที่หลายๆ คนเรียกว่าก้อนพังผืดกล้ามเนื้อ หรือ Taut Band ซึ่งถ้าเรากดนวดก็จะมีอาการร้าวชาไปที่อวัยวะส่วนต่างๆ ข้างเคียง เช่น ร้าวปวดศีรษะ หรือร้าวลงแขน ขา จนอาการไปคล้ายกับอาการไมเกรน หรือหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้ จุดของพังผืดกลามเนื้อเหล่านี้จึงถูกเรียกอีกชื่อว่า Trigger Point อาการที่เกิดจาก Trigger Point เหล่านี้เองที่สร้างความรำคาญไปจนถึงความทุกข์ทรมานในการทำงาน บางคนมีอาการมากจนไม่สามารถทำงานได้ ต้องนอนพัก ไปนวด หรือต้องกินยาเพื่อลดอาการปวดเลยทีเดียว
หมอเชื่อว่าหลายๆ คนน่าจะประสบปัญหาอาการปวดกล้ามเนื้อออฟฟิศซินโดรมที่เป็นหนักมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อก่อนแค่เปลี่ยนอิริยาบถ ไปนวดผ่อนคลาย หรือนอนพักผ่อน อาการก็ดีขึ้นแล้ว แต่เมื่อผ่านมานานเข้าอาการสะสมจนไม่หาย จึงต้องหาทางรักษาโดยผู้เชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ นักกายภาพบำบัด หรือการรักษาด้วยแพทย์ทางเลือกต่างๆ ซึ่งก็มีวิธีที่แตกต่างกันไป แต่มีอยู่วิธีหนึ่งที่กำลังเริ่มเป็นที่รู้จักกันมากขึ้นในการรักษา นั่นก็คือการฝังเข็มด้วยวิธีเข็มแห้ง หรือ Dry Needling ซึ่งมีความแตกต่างจากการฝังเข็มในแบบที่คุ้นเคยคือการฝังเข็มแบบจีน หรือ Traditional Chinese Acupuncture ที่เคยเห็นในภาพยนตร์จีนกำลังภายในอย่างสิ้นเชิง
การฝังเข็มแบบ Dry Needling คืออะไร?
การฝังเข็มแบบ Dry Needling มีต้นกำเนิดมาจากแถบประเทศทางตะวันตก เป็นการใช้เข็มในการรักษาอาการปวดจาก Trigger Point โดยเฉพาะ ซึ่งแตกต่างจากการฝังเข็มแบบจีนที่เน้นการปรับสมดุลพลังงานลมปราณหรือ Qi เพื่อรักษาโรคหรืออาการทางร่างกายรวมถึงอาการปวดด้วย
สเต็ปการรักษาแบบ Dry Needling
เมื่อแพทย์ตรวจประเมินอาการปวดแล้วพบว่ามีต้นกำเนิดมาจากปมกล้ามเนื้อพังผืด หรือ Trigger Point จริง จึงจะสามารถรักษาด้วยวิธีการ Dry Needling ได้ โดยที่บางครั้งตำแหน่งที่มีอาการปวดอาจไม่ใช่จุดที่แพทย์จะลงเข็มเสมอไป เช่น หากผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะและพบว่ามีปมกล้ามเนื้อพังผืดอยู่ที่บ่าด้านเดียวกัน และเมื่อกดกระตุ้นที่จุดกล้ามเนื้อบ่านั้นก็เกิดการร้าวขึ้นศีรษะใกล้เคียงกับอาการที่ผู้ป่วยมี ก็จะกล่าวได้ว่าจุดนั้นเป็นจุด Trigger Point หลักที่จะได้รับการรักษาด้วยการลงเข็ม โดยที่ไม่ได้ลงเข็มที่ศีรษะแต่อย่างใด
Trigger Point เกิดจากหลายสาเหตุ ไม่ใช่แค่กลุ่มออฟฟิศซินโดรม
โรคหรือภาวะที่ทำให้เกิดอาการปวดจาก Trigger Point ไม่ได้มีเพียงเฉพาะผู้ป่วยในกลุ่มออฟฟิศซินโดรมเท่านั้น แต่ยังรวมถึง Trigger Point ที่เกิดจากสาเหตุอื่นๆ ด้วย เช่น การเล่นกีฬา อุบัติเหตุ ความเครียดสะสม หรืออาจเกิดร่วมกับโรคอื่นๆ เช่น หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เป็นต้น ซึ่งก็สามารถให้การรักษาด้วยวิธีนี้ได้เช่นกัน
เทคนิคเฉพาะของ Dry Needling
เมื่อแพทย์ลงเข็มไปที่จุด Trigger Point แพทย์จะไม่ได้คาเข็มไว้นิ่งๆ แต่จะขยับเข็มไปในทิศทางต่างๆ เพื่อให้ปลายเข็มได้ไปสัมผัสในจุดที่กล้ามเนื้อจับกันแน่นแล้วคลายออก ในจังหวะที่เข็มอยู่ในจุดของกล้ามเนื้อ ผู้รับการรักษาจะรู้สึกปวดหน่วงๆ หรือมีอาการกล้ามเนื้อกระตุกแบบที่ไม่ได้ตั้งใจ เมื่อแพทย์นำเข็มออก ผู้ป่วยจะมีอาการปวดร้าวและกล้ามเนื้อเกร็งจาก Trigger Point ลดลง และมีพิสัยข้อที่ดีขึ้นทันที ซึ่งถือว่าเห็นผลชัดเจนมากตั้งแต่หลังรักษา
ผลข้างเคียงหลังทำ Dry Needling
ผู้รับการรักษาจะมีความรู้สึกปวดระบมเกิดขึ้นอยู่อีกประมาณ 1-2 วันหลังจากทำ Dry Needling โดยที่อาการปวดระบมนี้จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลและไม่รุนแรงจนทำให้ไม่สามารถพักผ่อนได้ ผลข้างเคียงอื่นๆ ที่พบได้คือ อาการบวมหรือเป็นรอยช้ำที่บริเวณที่รับการรักษา รวมไปถึงอาการเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลมเมื่อรักษาด้วยเข็มในบริเวณต้นคอและบ่าไหล่ อาการลมในปวดรั่วซึ่งสามารถพบได้เมื่อรักษาบริเวณแผ่นหลังด้านบน แต่พบได้น้อยมากเมื่อรับการรักษากับแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูที่เชี่ยวชาญ เป็นต้น
ความถี่ในการรักษาแบบ Dry Needling
ความถี่ในการทำขึ้นกับความรุนแรง หรือความเรื้อรังของอาการ หากมีอาการมานานก็จะให้การรักษาได้ถึง 4-6 ครั้ง โดยจะทำห่างกันอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ขึ้นไป ทั้งนี้การรักษาจะได้ผลดีและเร็วยิ่งขึ้นถ้ามีการทำกายภาพบำบัดด้วยวิธีอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น การประคบร้อน การใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัดอื่นๆ เช่น การกระตุ้นไฟฟ้าคลายกล้ามเนื้อ การทำอัลตราซาวด์ลดปวด การรักษาด้วยสนามแม่เหล็ก ฯลฯ
การรักษาด้วยวิธี Dry Needling เหมาะกับใคร?
การฝังเข็ม Dry Needling เหมาะกับผู้ที่ต้องการรักษาอาการปวดจาก Trigger Point ที่ได้ผลค่อนข้างไวในการรับการรักษาไม่กี่ครั้ง เนื่องจากลดปวดได้เร็วและมีประสิทธิภาพที่อยู่ได้นาน เมื่อเทียบกับการรักษาทางกายภาพบำบัดด้วยวิธีอื่นๆ แต่ไม่เหมาะกับคนกลัวเข็มหรือเคยมีผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยเข็มมาก่อน คนที่มีภาวะเลือดหยุดยากหรือกินยาละลายลิ่มเลือด และคนที่ไม่สามารถสื่อสารโต้ตอบกับแพทย์ผู้ให้การรักษาได้ หากเข้าข่ายดังกล่าวนี้หรือมีโรคประจำตัวอื่นๆ ที่ซับซ้อน การรักษาจะปรับไปใช้อุปกรณ์ทางกายภาพบำบัดอื่นๆ ตามข้อบ่งชี้ของแต่ละบุคคล ดังนั้นหากไม่แน่ใจในแผนการรักษาจึงควรได้รับการประเมินจากแพทย์ผู้เชื่ยวชาญก่อนทุกครั้ง เพื่อให้สามารถออกแบบการรักษาได้อย่างปลอดภัยและได้ประโยชน์สูงสุด
คำแนะนำเพิ่มเติม
การรักษาด้วยวิธี Dry Needling เป็นเพียงหนึ่งในวิธีการรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อที่ปลายเหตุวิธีหนึ่งเท่านั้น ที่สำคัญที่สุดคือการยืดเหยียดกล้ามเนื้อและการออกกำลังกายกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ รวมถึงการปรับท่าทางการใช้งานกล้ามเนื้อและข้อต่อให้เหมาะสม เพื่อรักษาต้นเหตุของอาการปวดอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือกล้ามเนื้อที่ทำงานไม่สมดุลนั่นเอง การรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อจากออฟฟิศซินโดรมนั้นมีมากมายหลายวิธีและเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการนวด การทำกายภาพบำบัดที่คลินิก หรือการรักษาด้วยแพทย์ทางเลือกแผนไทย จีน และอื่นๆ ซึ่งจากประสบการณ์การพบผู้ป่วยที่หลากหลายนั้น ก็พบว่าผู้ป่วยหลายๆ คนได้ผ่านการรักษามาแล้วแทบทุกวิธี แต่อาการก็ยังไม่ดีขึ้นและยังรบกวนชีวิตและการทำงานอยู่เสมอ การรักษาด้วย Dry Needling จึงเป็นตัวเลือกที่ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้บ่อยมากขึ้น เนื่องจากได้ผลลดปวดได้รวดเร็ว ซึ่งหากเราสามารถจัดการอาการปวดได้เร็วเท่าไหน ก็จะสามารถต่อยอดไปถึงการปรับแก้สาเหตุและการออกกำลังกายเพื่อการรักษาได้เร็วขึ้นเท่านั้น แล้วเราสามารถกลับไปใช้ชีวิตและทำงานที่เรารักอย่างมีความสุขได้อย่างยั่งยืน