เวลาที่มีเรื่องให้ครุ่นคิดและทุกข์ใจ สิ่งที่เรามักทำเป็นส่วนใหญ่คือการเก็บไว้กับตัวเอง พูดระบายกับคนที่คุยแล้วสบายใจ หรือในบรรยากาศที่รู้สึกผ่อนคลาย เช่นเดียวกับช่วงเวลาแห่งการดื่ม
บทความจากหนังสือขายดีตลอดกาลอย่าง อ่านใจคนได้ในเสี้ยววินาที จากนักเขียนแนวจิตวิทยาชาวญี่ปุ่น โยชิฮิโตะ ไนโต เผยว่า
“เหล้าคือสิ่งที่ทำให้คนพลั้งปากพูดได้อย่างดีเยี่ยม” เพราะเมื่อเวลาที่ร่างกายได้รับแอลกอฮอล์ ส่วนที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างแรกคือเปลือกสมอง ซึ่งเป็นชั้นเนื้อเยื่อเซลล์ประสาทชั้นนอกสุดของซีรีบรัม ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญต่อการรับรู้ การคิด และการจำ ดังนั้นเราจึงสังเกตเห็นได้ชัดว่า คนที่เริ่มมีอาการมึนเมาจะค่อยๆ มีอาการเคลิ้ม พร้อมปล่อยจอยปล่อยใจในวงสนทนามากขึ้น
เมื่อสมองเริ่มสูญเสียฟังก์ชัน คนเมาจะกล้าพูดความในใจออกมา แล้วปล่อยให้อารมณ์เป็นตัวนำ โดยขาดการกลั่นกรองความเหมาะสม และคำนึงถึงผลที่จะตามมาภายหลัง
ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เราอาจเคยได้ยินเรื่องราวของคนที่กุมความลับแทบตาย แต่สุดท้ายเผลอพลั้งปากเล่าเสียหมดเปลือก อีกเคสที่พบบ่อยก็คือ คนเมาสารภาพรัก โทรหรือส่งข้อความหาแฟนเก่า บ้างก็เป็นการมีปากเสียงกันในหมู่เพื่อน ถ้ารุนแรงหน่อยก็อาจถึงขั้นลงไม้ลงมือ บางกรณีก็พบว่า คนเมายังสามารถสวมบทนักแต่งนิยาย ปั้นแต่งเรื่องราวชีวิตตัวเองขึ้นมาใหม่ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในวงสนทนา
แล้วคำพูดของคนเมาเชื่อถือได้มากแค่ไหน คำตอบคือ ทั้งได้และไม่ได้ เพราะสิ่งที่ออกมาจากปากอาจเป็นจริงแค่ส่วนเดียวหรือไม่ก็ไม่จริงสักอย่าง ดังนั้นอย่าได้ยึดติดกับคำมั่นสัญญาหรือผูกมัดกับเรื่องซีเรียสในวงเหล้า เพราะสุดท้ายแล้วเชื่อเถอะว่า การเปิดใจพูดคุยกันซึ่งๆ หน้าอย่างตรงไปตรงมาในขณะที่ยังมีสติสัมปชัญญะครบถ้วน แม้อาจมีความอึดอัดใจหรือประหม่าในบางครั้ง แต่อย่างน้อยทุกอย่างก็ล้วนเป็นความจริงเสมอ
คำเตือน: สุราสามารถทำให้เกิดภาวะสมองเสียหายในระยะยาว จนส่งผลต่อบุคลิกภาพ อารมณ์แปรปรวน และนำไปสู่สภาวะความจำเสื่อมได้ ควรดื่มในปริมาณที่เหมาะสม เลี่ยงหรือปรึกษาแพทย์เมื่อพบความผิดปกติในร่างกาย
อ้างอิง: