ในปัจจุบันทั้งสภาพสังคมและการใช้ชีวิตทำให้มีการพบโรคปวดจากออฟฟิศซินโดรมสูงขึ้นเรื่อยๆ รวมไปถึงอีกหนึ่งปัญหาที่พบเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนคือภาวะเครียดหรือซึมเศร้าในวัยทำงาน หากเรามาพูดคุยถึง 2 ปัญหานี้จะพบว่ามีประชากรอยู่จำนวนหนึ่งที่มีทั้ง 2 ปัญหานี้รุมเร้าพร้อมๆ กันทั้งที่รู้และไม่รู้ตัว ความจริงแล้วทั้ง 2 ปัญหานี้มีความเกี่ยวข้องและสามารถพบคู่กันได้บ่อยมาก ทำให้หากไม่ได้จัดการการรักษาให้ครบองค์ประกอบ ก็จะได้ผลการรักษาที่ไม่ดีเท่าที่ควรนั่นเอง
ดังที่หลายๆ คนทราบจากสื่อต่างๆ ว่าภาวะซึมเศร้าไม่ว่าจะเป็นโรคหรือเพียงภาวะทางอารมณ์ชั่วคราวนั้น มีสาเหตุมาจากสารสื่อประสาทในร่างกายของคนเราผิดปกติไป นั่นคือการที่ร่างกายมีระดับสารเซโรโทนิน (Serotonin) ในสมองลดลง ทำให้อารมณ์ไม่สดชื่น เครียดง่าย พักผ่อนยาก การรักษาหลายทางจึงมุ่งไปสู่การเพิ่มระดับเซโรโทนินเพื่อให้อารมณ์กลับมาอยู่ในสภาวะปกติมากที่สุด ทั้งนี้ ยังมีสารสื่อประสาทอีกชนิดที่ถูกพูดถึงรองลงมาก็คือ นอร์อิพิเนฟริน (Norepinephrine) ถ้ามีปริมาณลดลงก็จะส่งเสริมให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้เช่นกัน
จากการศึกษาเรื่องจุดเริ่มต้นและการตอบสนองต่ออาการปวดในร่างกาย (Pain Pathway) จะพบว่าในระดับสรีรวิทยา กลไกการตอบสนองของร่างกายเพื่อจัดการลดปวดเมื่อถูกกระตุ้นให้เจ็บปวด เช่น การถูกเข็มตำ นั้นจะมีการส่งกระแสประสาทมาลดปวดโดยตรง และยังมีการส่งสัญญาณลดปวดผ่านสารสื่อประสาทหลายชนิด โดยมีเซโรโทนินและนอร์อิพิเนฟรินด้วยเช่นกัน ดังนั้นหากระดับของสารสื่อประสาท 2 ตัวนี้ลดลง ก็จะทำให้กระบวนการลดปวดของร่างกายทำงานได้ไม่สมบูรณ์ และทำให้เกิดอาการปวดเรื้อรังตามมาได้
(Tips: อาการปวดเรื้อรังซึ่งหมายถึงผู้ที่มีอาการปวดใดๆ เป็นเวลานานกว่าที่ตัวโรคนั้นๆ ควรจะเป็น หรือเป็นเวลา 3-6 เดือนขึ้นไปโดยที่สาเหตุของอาการปวดนั้นอาจจะถูกรักษาไปแล้ว หรือยังคงอยู่แต่ตอบสนองต่อการรักษาได้ไม่ดีเท่าที่ควร)
เมื่อทราบข้อมูลดังกล่าวจึงอธิบายได้ว่า อาการซึมเศร้าและอาการปวดเรื้อรังนั้นมีความเกี่ยวข้องกัน โดยที่บอกได้ยากว่าอาการใดเป็นจุดเริ่มต้น แต่ถึงแม้จะไม่สามารถบอกได้ แต่ข้อมูลนี้ก็ทำให้มีการพัฒนาการรักษาอาการปวดเรื้อรังด้วยยากลุ่มที่ใช้ต้านซึมเศร้า (Antidepressant Drug Group) ซึ่งทำให้ผู้ที่มีอาการปวดเรื้อรังมีอาการดีขึ้นอย่างชัดเจน จนถูกจัดเข้ามาอยู่ในแนวทางการรักษาอาการปวดเรื้อรัง (อาการปวด)
ในทางการแพทย์จะมีกลุ่มอาการที่พบไม่บ่อยชื่อว่า กลุ่มอาการไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia Syndrome) โดยอาการจะประกอบด้วยอาการทางกาย เช่น มีอาการปวดที่หลายๆ ข้อต่อหรือกล้ามเนื้อในร่างกาย ร่วมกับอาการอ่อนเพลียไม่อยากไปทำงาน นอนไม่หลับ เครียด และอาจมากจนไปถึงอาการซึมเศร้า โดยการวินิจฉัยนั้นจะต้องมีการพบแพทย์และตรวจวินิจฉัยว่าไม่มีสาเหตุจากโรคอื่น และมีอาการเข้าเกณฑ์การวินิจฉัยทั้งหมดจึงจะบอกได้ว่ามีโรคนี้หรือไม่ แนวทางการรักษากลุ่มอาการนี้จะต้องมีทั้งการรักษาอาการปวดและการรักษาทางอารมณ์ร่วมกัน โดยสาเหตุของกลุ่มอาการนี้ยังไม่ชัดเจน แต่เชื่อว่ากลไกการเกิดน่าจะเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของสารสื่อประสาทที่ผิดปกติดังกล่าวนั่นเอง
ในมุมของหมอที่ดูแลผู้ป่วยที่มีอาการปวดเรื้อรังจากหลายสาเหตุ โดยเฉพาะโรคปวดจากออฟฟิศซินโดรมจะพบว่า ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะมีอาการทางอารมณ์ร่วมด้วย แต่ยังไม่รุนแรงจนสามารถวินิจฉัยว่าเป็นกลุ่มอาการไฟโบรมัยอัลเจีย และหากเริ่มการรักษาได้รวดเร็วและตรงจุดก็ป้องกันการเกิดกลุ่มอาการไฟโบรมัยอัลเจียได้ หากลองยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัด แนวทางการรักษาอาการซึมเศร้าและการรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรังจากออฟฟิศซินโดรมนั้นจะมีความเหมือนกันในหลายจุดคือ
- การรักษาด้วยการใช้ยา การรักษาโรคซึมเศร้านั้นจะตรงไปตรงมาในการให้ยา ซึ่งยากลุ่มที่ใช้ในการรักษาอาการซึมเศร้าโดยทั่วไปจะเข้าไปจัดการสารสื่อประสาทหลายชนิดและเด่นที่สารเซโรโทนินและนอร์อิพิเนฟรินตามแต่ละชนิดของยา แต่หากอาการซึมเศร้าของผู้ป่วยนี้มีอาการทางกายคืออาการปวดตามกล้ามเนื้อหรือตามข้อร่วมด้วย โดยไม่ได้มีสาเหตุจริงจากโรคทางกายอื่นๆ ก็จะมีการให้ยาแก้ปวดทั่วไป และเพิ่มยาแก้ปวดที่ออกฤทธิ์ผ่านระบบประสาทร่วมด้วยเพื่อตัดวงจรการปวดเรื้อรังนั่นเอง
การรักษาผู้ป่วยปวดเรื้อรัง เช่น ผู้ป่วยที่มีอาการปวดจากออฟฟิศซินโดรม จะมีการให้ยาแก้ปวดตามสาเหตุของโรคร่วมกับการทำกายภาพบำบัด แต่หากพบว่าผู้ป่วยเริ่มมีอาการทางอารมณ์ ความเครียด หรือมีอาการนอนไม่หลับ หรือการรักษาไม่ได้ผลตามเป้าที่ตั้งไว้เป็นเวลานาน ก็จะพิจารณากลุ่มยาต้านซึมเศร้าเพื่อไปจัดการสารสื่อประสาทเซโรโทนินและนอร์อิพิเนฟรินด้วย เพื่อให้ความรู้สึกผิดปกติลดลงและตัดวงจรความปวดเรื้อรังได้
- การรักษาด้วยการไม่ใช้ยา ผู้ป่วยปวดเรื้อรังกับการรักษาโดยกายภาพบำบัดนั้นเป็นของคู่กันนอกเหนือจากการกินยาแก้ปวด เนื่องจากการกายภาพบำบัดช่วยปรับสภาพกล้ามเนื้อที่แข็งเกร็ง หรือเนื้อเยื่อที่อักเสบจนทำให้ปวดนั้นดีขึ้นได้ นอกจากนี้การออกกำลังกายเพื่อการรักษาโดยการยืดเหยียด เวตเทรนนิ่ง หรือคาร์ดิโอ ก็จะถูกนำมาช่วยในการเสริมให้ร่างกายแข็งแรงและไม่กลับมาปวดซ้ำอีกด้วย
ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทั้งที่มีและไม่มีอาการปวดก็ได้รับการแนะนำให้มีการออกกำลังกายเพื่อการรักษาเช่นกัน เนื่องจากการออกกำลังกายเพื่อการรักษาทุกรูปแบบ โดยเฉพาะคาร์ดิโอ 30 นาทีต่อวันขึ้นไป จะทำให้เกิดการผ่อนคลายของกล้ามเนื้อ พักผ่อนง่ายขึ้น และยังทำให้สารสื่อประสาทและฮอร์โมนต่างๆ ของร่างกายสมดุลมากขึ้น เช่น เอ็นดอร์ฟินและโดพามีนที่ทำให้มีความสุข รวมถึงยังช่วยเพิ่มระดับของเซโรโทนินและนอร์อิพิเนฟรินด้วยนั่นเอง
จะเห็นได้ว่าในสภาวะสังคมและการใช้ชีวิตในปัจจุบันทำให้เกิดอาการปวดและอาการเครียดจนไปถึงโรคซึมเศร้าได้มากขึ้น หากเราเป็นหนึ่งคนที่เริ่มมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งจึงอยากให้เริ่มปรึกษาแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อให้อาการไม่เรื้อรังจนเกิดภาวะที่ซับซ้อนระหว่างร่างกายและจิตใจได้ แต่หากเริ่มมีอาการของโรคใดโรคหนึ่งแล้วก็ไม่ต้องกังวล เพราะในปัจจุบันมีการรักษาหลายแบบทั้งการใช้และไม่ใช้ยาที่ทำให้หายและกลับมาใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้อย่างแน่นอน