ยุคที่กระแสการรักษาสุขภาพกำลังมาแรง หลายคนอาจเคยได้ยินเกี่ยวกับอัลคาไลน์ไดเอต (Alkaline Diet) ซึ่งเป็นการกินอาหารเพื่อปรับสมดุล pH ในร่างกายให้เป็นด่าง โดยอ้างว่าจะช่วยป้องกันโรคต่างๆ และทำให้สุขภาพดีขึ้น แต่แท้จริงแล้ว Alkaline Diet มีประสิทธิภาพเพียงใด และมีข้อเท็จจริงอะไรบ้างที่เราควรรู้ ซึ่งจากข้อมูลของ National Library of Medicine ที่เขียนโดย Schwalfenberg, G.K. ในหัวข้อที่ตั้งคำถามว่า อาหารที่มี pH ที่เป็นด่างมีประโยชน์ต่อสุขภาพหรือไม่? (The Alkaline Diet: Is There Evidence That an Alkaline pH Diet Benefits Health?) สามารถช่วยทำให้เราเข้าใจข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ Alkaline Diet ได้ดีขึ้นในระดับหนึ่งว่า มันอาจช่วยให้หลายๆ คนหันมากินผักและผลไม้มากขึ้น ซึ่งก็มีประโยชน์ต่อสุขภาพอยู่แล้ว แต่! ไม่ได้มีผลในการปรับสมดุลความเป็นกรด-ด่างในร่างกาย และไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนข้ออ้างว่าช่วยป้องกันหรือรักษาโรคร้ายแรงได้ ดังนั้น แทนที่จะเน้นทำ Alkaline Diet สิ่งสำคัญคือการกินอาหารหลากหลายให้ครบ 5 หมู่ มีสัดส่วนพอเหมาะ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาว น่าจะเป็นวิธีที่ทำได้จริงในชีวิตประจำวัน ปลอดภัย และยั่งยืน
- Alkaline Diet เป็นการกินอาหารเพื่อปรับสมดุล pH ในร่างกายให้เป็นด่าง โดยอ้างว่าจะช่วยป้องกันโรคต่างๆ และทำให้สุขภาพดีขึ้น
- รู้หรือไม่ว่าร่างกายคนเรามีระบบควบคุมสมดุลกรด-ด่างตามธรรมชาติ โดยรักษาค่า pH ของเลือดในช่วง 7.35-7.45 อยู่แล้ว
- ชนิดของอาหารที่กินไม่ได้ส่งผลต่อ pH ของเลือดและเซลล์ จึงไม่จำเป็นต้องปรับให้เป็นด่างเป็นพิเศษ
- ผู้ที่เลือกใช้วิธี Alkaline Diet เชื่อว่าอาหารจะทิ้งเถ้าที่มีผลต่อความเป็นกรด-ด่างในร่างกาย แต่ความจริงร่างกายมีกลไกควบคุม pH อยู่แล้ว สิ่งที่กินจึงไม่ได้เปลี่ยนแปลงความเป็นกรด-ด่างของเลือดหรือเซลล์
- ยังไม่มีงานวิจัยที่พิสูจน์ว่า Alkaline Diet ช่วยป้องกันหรือรักษาโรคร้ายแรงอย่างมะเร็งได้
- ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่าง pH กับสาเหตุการเกิดโรคมะเร็ง
- Alkaline Diet แนะนำให้กินผักและผลไม้มากขึ้น ซึ่งดีต่อสุขภาพเพราะมีประโยชน์ทางโภชนาการ แต่ประโยชน์ของผักและผลไม้ไม่ได้มาจากฤทธิ์ความเป็นด่างแต่อย่างใด
- Alkaline Diet ให้หลีกเลี่ยงโปรตีนและธัญพืช อาจทำให้ได้รับสารอาหารบางอย่างไม่เพียงพอ
- หากใครทำ Alkaline Diet เป็นเวลานาน อาจขาดโปรตีน กรดอะมิโน และแร่ธาตุสังกะสี เสี่ยงต่อสุขภาพได้
อ้างอิง: