เชื่อว่าไม่มีใครไม่รู้จักเขาคนนี้ เชฟเอียน-พงษ์ธวัช เฉลิมกิตติชัย นักทำอาหารมากฝีไม้ลายมือทั้งในและนอกจอ เพราะเรามักเห็นเขารับบทพิธีกรและกรรมการในรายการแข่งขันทำอาหารอยู่บ่อยๆ รวมถึงบทบาทพ่อครัวเบื้องหลังร้านอาหารอีกหลายแห่งที่เราเองก็สงสัยว่าเชฟแบ่งเวลาดูแลร้านทั้งหมดได้อย่างไร เพราะเขาไม่ได้มีเพียงร้านอาหารในประเทศไทย แต่ยังรวมถึงร้านอาหารมากกว่า 10 แห่งในหลายๆ ประเทศ ซึ่งเชฟต้องบินไปดูแลเองอยู่เรื่อยๆ ด้วย
เอาเป็นว่า เขาคือเชฟชื่อดังที่กิจกรรมแน่นสุดๆ เพราะแม้กระทั่งวันพักผ่อนสบายๆ ที่เราขอตามติดเชฟไปด้วยใน ‘4 HOURS LIFE with เชฟเอียน พงษ์ธวัช’ กิจกรรมโปรดของเชฟก็ดูไม่ธรรมดาเลยสักนิดเดียว
ถ้าใครอยากรู้ว่า หากเชฟเอียนมีเวลาพักผ่อนนอกจอ เขาจะทำกิจกรรมอะไร แวะไปร้านอาหารไหนบ้าง มาติดตามชมพร้อมๆ กันได้ใน 3 2 1 เริ่ม!
ตื่นตี 4 มาเลี้ยง ‘พอร์คช็อป’ และ ‘แฟรงก์กี้’
เชฟบอกว่าเขาจะตื่นมาประคบประหงมลูก 2 คนนี้ทุกเช้า ซึ่งลูกที่ว่าก็คือ ‘ยีสต์ธรรมชาติ’ ที่เชฟเลี้ยงเองเพื่อใช้ทำขนมปังซาวโดวจ์ ตัวแรกคือ พอร์คช็อป อายุ 6 ปี เป็นยีสต์ที่เชฟสร้างมาขึ้นเอง เชฟเอียนบอกว่าที่เรียกยีสต์ด้วยชื่อนี้ก็เพราะ “จริงๆ ผมอยากตั้งชื่อสุนัขว่าพอร์คช็อป แต่ว่าสุนัขของผมไม่ได้อ้วนเหมือนพอร์คช็อปขนาดนั้น ก็เลยเอามาตั้งเป็นชื่อยีสต์แทน”
ส่วนตัวที่สอง แฟรงก์กี้ เชฟบอกว่าได้มาจากรัฐวิสคอนซิน ยีสต์ตัวนี้อายุ 31 ปีแล้ว และหลายๆ ครั้งเชฟชอบพายีสต์ทั้งสองตัวเดินทางไปพร้อมๆ กับเขาด้วย ทั้งในและต่างประเทศเลย ตั้งแต่ปราณบุรีจนถึงนิวยอร์ก
“ผมเลี้ยงยีสต์ 2 ตัวนี้ไว้ทำซาวโดวจ์กินเอง หรือทำให้คนใกล้ตัว บอกเลยว่าคนที่ได้ซาวโดวจ์ของเราไปแปลว่าเรารักเขามากนะ เพราะเป็นขนมปังที่ต้องใช้เวลาทำ 2 วันเลย”
Happy and Healthy Bike Lane
สิ่งที่เชฟเอียนทำประจำจนกลายเป็นเรื่องปกติเหมือนการทำอาหารก็คือ การตื่นตี 4 เพื่อมาปั่นจักรยานเสือหมอบ 70 กิโลเมตร เชฟเล่าว่าหากวันไหนไม่ต้องเดินทางหรือมีคิวถ่ายรายการ เชฟจะตื่นเช้าตรู่เพื่อเตรียมตัวมาสนามปั่นจักรยานที่ Happy and Healthy Bike Lane แถวสุวรรณภูมิ และเริ่มปั่นพร้อมก๊วนแรกประมาณ 6 โมงเช้า
“สัปดาห์หนึ่งผมปั่นประมาณ 3-4 วัน ถ้าวันไหนผมมาทันตอน 6 โมง 5 นาที ก็จะเริ่มปั่นพร้อมชุดแรก ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงก็ครบ 3 รอบ ระยะทาง 70 กิโลเมตร หรือถ้าวันไหนมาพร้อมกรุ๊ปที่ 2 ก็จะเริ่มประมาณ 6 โมง 15 นาที” เชฟบอก
ส่วนจุดเริ่มต้นที่ทำให้เชฟเอียนชอบปั่นจักรยานจนเป็นกิจวัตร เชฟเล่าว่าเป็นเพราะตอนเด็กๆ ชอบปั่น BMX มาก พอโตขึ้นก็ได้ปั่นจักรยานเสือภูเขากับเพื่อนร่วมงาน แล้วรู้สึกว่าเป็นกิจกรรม Team Building ที่ดี อีกอย่างการปั่นจักรยานก็เป็นการออกกำลังกาย ทำให้พอเหงื่อออกแล้วมีความสุขมาก
ก๋วยเตี๋ยวหมูโบราณ ลานสุข
หลังจากเชฟเอียนปั่นจักรยานเสร็จ เชฟบอกว่ามีก๋วยเตี๋ยวแนะนำ 2 ร้านใกล้ๆ สนามปั่นจักรยาน ถ้าหากวันไหนไม่รีบกลับบ้านก็จะแวะกินก๋วยเตี๋ยวที่นี่ ซึ่งร้านแรกก็คือร้านลานสุข
“ร้านลานสุขจะเป็นก๋วยเตี๋ยวน้ำใส เครื่องค่อนข้างอร่อยมาก ไม่ว่าจะเป็นเครื่องต้มยำ หรือพวกลูกชิ้นปลาต่างๆ ร้านนี้ผมกินบ่อยจนเดี๋ยวนี้ไม่ต้องสั่งเลย เมนูประจำของผมคือเกาเหลากับบะหมี่ ปรุงพริกน้ำส้มเยอะๆ เพราะชอบกินเปรี้ยว”
ก๋วยเตี๋ยวเรือยกพลขึ้นบก
ด้วยความที่เชฟเอียนชอบกินก๋วยเตี๋ยวมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะก๋วยเตี๋ยวเรือ อีกร้านใกล้สนามจักรยานที่เชฟแนะนำก็คือที่นี่
“ผมชอบกินก๋วยเตี๋ยวมาก อาจเพราะเราก็เป็นคนไทยคนหนึ่ง ก๋วยเตี๋ยวก็เป็นเหมือนคอมฟอร์ตฟู้ดที่คุ้นเคย กินสลับได้เกือบทุกวัน อย่างร้านนี้ส่วนใหญ่ก็จะสั่งเกาเหลาเหมือนกัน เพราะว่าผมไม่กินแป้ง ก็จะสั่งเกาเหลาทุกอย่าง”
ส่วนใครที่สงสัยว่าทำไมเชฟไม่กินแป้งและสั่งแต่เกาเหลาหรือเส้นบะหมี่ เชฟเล่าให้ฟังว่าเป็นเพราะเขาไปตรวจสุขภาพและพบว่าร่างกายแพ้อาหารหลายอย่าง จึงเริ่มหันมาทำอาหารกินเองเป็นหลัก ซึ่งแป้งทำจากข้าวก็เป็นอาหารชนิดหนึ่งที่เชฟกินแล้วไม่สบายท้อง เชฟจึงต้องกินเกาเหลาหรือบะหมี่แทน
“ตั้งแต่รู้ว่าแพ้อะไรบ้างเราก็เริ่มทำอาหารกินเองหมดทุกอย่าง เริ่มทำแบบนี้มาเกือบ 4 ปีแล้ว พอเราทำอาหารเองก็พยายามเลือกแต่ของที่มีประโยชน์ด้วย เพราะเราออกกำลังกาย”
ภาพ: Cuisine Concept
Cuisine Concept
นอกจากครัวในจอ เชฟก็มีครัวที่เป็นเหมือนออฟฟิศของตัวเองด้วย เชฟเอียนบอกว่าที่นี่เป็นเหมือนห้องทำงานของเขา หรือแม้กระทั่งตอนเชฟจัดเวิร์กช็อปต่างๆ ให้ทุกคนมาเรียนได้ เชฟก็จัดที่นี่เช่นกัน
“หลังจากกินข้าว กลับบ้าน ก็จะเตรียมตัวไปออฟฟิศในย่านเอกมัยต่อ Cuisine Concept เปิดมาตั้งแต่ปี 2008 เป็นบริษัทให้คําปรึกษา (Consulting) ด้านอาหาร ธุรกิจอาหาร การทำมีเดียคอนเทนต์ หรือเวลาเราเปิดคลาสสอนทำอาหารก็จะจัดที่นี่เหมือนกัน”
อย่างเราได้ลองไปเข้าคลาสทำขนมปังซาวโดวจ์กับเชฟที่ Cuisine Concept ด้วย ถ้าใครชอบทำอาหารและอยากได้เทคนิคดีๆ แบบถามโดยตรงกับเชฟได้เลย เราว่าต้องลองมาเรียนที่นี่ดู แต่เชฟจะเปิดเป็นรอบๆ ตามเวลาที่เชฟว่าง หรือตอนที่เชฟไม่ต้องเดินทางไปดูแลร้านอาหารในต่างประเทศกว่า 10 แห่งนั่นเอง