×

ไป ‘ล้ง’ กันไหม? 5 เหตุผลที่เราอยากชวนคุณนับถอยหลังรอ ‘LHONG 1919’

27.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Raed
  • ‘โครงการล้ง 1919’ บูรณะพัฒนาท่าเรือ ‘ฮวย จุ่ง ล้ง’ ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2393 ท่าเรือกลไฟแห่งนี้ตั้งอยู่บนท้องน้ำโค้งมังกร ซึ่งถือว่าดีตามหลักฮวงจุ้ย มีพื้นที่ประมาณ 6 ไร่ พร้อมพื้นที่อาคาร 6,800 ตารางเมตร นอกจากจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แล้ว ยังเป็นศูนย์รวมไลฟ์สไตล์แห่งใหม่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ณ ฝั่งธนบุรีอีกด้วย
  • พบกับภาพวาดพู่กันจีนโบราณที่เกือบจะสาบสูญ และสถาปัตยกรรมหมู่อาคารแบบ ‘ซาน เหอ หยวน’ ซึ่งเป็นการออกแบบวางผังอาคารแบบจีนโบราณ ที่ยังหลงเหลืออยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
  • The Great Outdoor Market งานตลาดนัดสุดชิลล์ ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของใครหลายๆ คน จะจัดขึ้นที่นี่ระหว่างวันที่ 3-5 พฤศจิกายน ภายหลังการเปิดตัวโครงการฯ เพียงแค่วันเดียว

     ตั้งอยู่ ณ สุดถนนเชียงใหม่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี ตรงข้ามกับย่านตลาดน้อย-เยาวราช ซึ่งทุกวันนี้รู้จักในนามโกดังบ้าน ‘หวั่งหลี’ โครงการ ‘ล้ง 1919’ (LHONG 1919) คือโครงการที่เราตั้งตารอคอยให้บูรณะสร้างเสร็จสมบูรณ์ไวๆ ด้วยที่นี่มีทั้งประวัติความเป็นมาอันเปี่ยมคุณค่า นอกจากจะสำคัญสำหรับคนไทยเชื้อสายจีนแล้ว ยังถือเป็นมรดกชิ้นสำคัญของประเทศอีกด้วย

     แต่ก่อนที่โครงการซึ่งเป็นหมุดหมายทางด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่ผนวกกับไลฟ์สไตล์สมัยใหม่แห่งนี้ จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่กำลังจะมาถึง THE STANDARD อยากจะขอนำเสนอ 5 เหตุผลดังต่อไปนี้ซึ่งเราคิดว่า น่าจะกระตุ้นต่อมทำให้คุณๆ อยากตั้งตารอให้โครงการนี้แล้วเสร็จไวๆ เพื่อไปเยือน ล้ง 1919 กันดูสักหลายๆ รอบเหมือนกันกับเรา

 

บ้านหวั่งหลี ตั้งอยู่บริเวณเดียวกับโครงการ ล้ง 1919

เป็นอีกหนึ่งสถาปัตยกรรมที่จะได้ยลเมื่อไปเยือน ‘ล้ง’ น่าเสียดายที่ชมได้เพียงภายนอกเท่านั้น

 

1. รำลึกอดีตท่าเรือประวัติศาสตร์ที่บรรพบุรุษคนไทยเชื้อสายจีนขึ้นฝั่ง

     ชื่อ ‘ล้ง’ มาจากชื่อเดิมของสถานที่นี้ว่า ‘ฮวย จุ่ง ล้ง’ เป็นภาษาจีน ท่าเรือแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2393 (ค.ศ. 1850) โดย พระยาพิศาล ศุภผล (ชื่น พิศาลบุตร) ต้นตระกูลพิศาลบุตร ซึ่งเป็นคนจีนที่เกิดบนแผ่นดินสยาม ท่าเรือนี้ตั้งอยู่บนท้องน้ำโค้งมังกรซึ่งถือว่าดีตามหลักฮวงจุ้ย มีพื้นที่ประมาณ 6 ไร่ พร้อมพื้นที่อาคาร 6,800 ตารางเมตร ท่าเรือ ฮวย จุ่ง ล้ง ใช้เป็นท่าเรือกลไฟ คือเรือโดยสารหรือเรือบรรทุกสินค้าที่ใช้ฟืนเป็นต้นเชื้อเพลิง มีขนาดใหญ่กว่าเรือไฟ นิยมใช้แล่นในทะเลหรือมหาสมุทร โดยชาวจีนในอดีตนิยมใช้เดินทางทางทะเลเพื่อเข้ามาค้าขายหรือย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากยังประเทศไทย และมาถึงก็ลงทะเบียนชาวต่างชาติที่ท่าแห่งนี้ ดังนั้นหากคุณเป็นลูกหลานชาวจีน จะไม่อยากมาชมพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับบรรพบุรุษสักหน่อยหรือ?

 

บานประตูไม้ของศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว คลองสาน ที่อยู่ภายในโครงการล้ง 1919

ภายในประดิษฐานองค์เจ้าหม่าโจ้วโบราณทำจากไม้ 3 ปาง

 

2. ขอพรจากศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว คลองสาน

     เวลาคนจีนโพ้นทะเลมาถึงฝั่งประเทศไทย ก็มักจะมากราบสักการะเจ้าแม่หม่าโจ้ว (MAZU) เพื่อเป็นการขอบคุณที่ช่วยทำให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ และเมื่อจะเดินทางกลับไปประเทศจีนก็จะมากราบลาเจ้าแม่ที่นี่เช่นกัน ศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว คลองสาน ประดิษฐานอยู่คู่ ‘ฮวย จุ่ง ล้ง’ มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน รูปเคารพองค์เจ้าหม่าโจ้วโบราณทำจากไม้ มี 3 ปาง มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4

     ปางแรกคือปางเด็กสาว ตำนานเล่าว่าท่านชอบปฏิบัติธรรม ในตอนเช้าจะไปเก็บน้ำค้างมารักษาผู้คน ปางนี้จึงให้พรด้านการขอบุตร ส่วนปางที่สองคือปางผู้ใหญ่ให้พรในด้านการค้าขายเงินทอง และปางที่สามคือปางผู้สูงอายุ ซึ่งเชื่อว่าท่านประทับอยู่บนสวรรค์ มีเมตตาจิตสูง เจ้าแม่หม่าโจ้วทั้ง 3 ปางนี้ เป็นองค์ที่ชาวจีนนำขึ้นเรือเดินทางมาจากเมืองจีน เมื่อมาถึงเมืองไทยจึงอัญเชิญประดิษฐานที่ศาลแห่งนี้ อายุเก่าแก่มากกว่า 167 ปี เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนจีนในแผ่นดินไทย ซึ่งชาวจีนที่ทำการค้าในไทยจนเจริญร่ำรวยเป็นเศรษฐีหลายราย ต่างก็ได้รับกำลังใจในการก่อร่างสร้างตัวจากที่นี่    

สถาปัตยกรรมแบบ ‘ชาน เหอ หยวน’

 

3. ชมสถาปัตยกรรมแบบ ‘ชาน เหอ หยวน’

     ก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมจีนซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน พื้นสร้างจากไม้ หลังคาสร้างจากกระเบื้อง เรียกว่าหมู่อาคารแบบ ‘ซาน เหอ หยวน’ เป็นการออกแบบวางผังอาคารแบบจีนโบราณ ลักษณะอาคารทั้ง 3 หลังเชื่อมต่อกัน 3 ด้าน เป็นรูปทรงตัว U มีพื้นที่ว่างตรงกลางระหว่างอาคารทั้งสามหลังเป็นลานอเนกประสงค์ ทั้งนี้ ‘ฮวย จุ่ง ล้ง’ เป็นอาคารแถวที่ออกแบบด้วยการวางผังสถาปัตยกรรม ซาน เหอ หยวน แบบจีนโบราณที่ยังหลงเหลืออยู่บนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จึงเปี่ยมไปด้วยคุณค่าทั้งเชิงประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรม

 

งานศิลปะพู่กันจีนอายุ 167 ปี

 

4. พบกับจิตรกรรมฝาผนังลายพู่กันจีนเก่าแก่ที่สาบสูญ

     งดงามด้วยศิลปะภาพวาดลวดลายอันเป็นมงคลและภาพวิถีชีวิตชาวจีนรอบวงกบหน้าต่าง ซึ่งมีอายุเก่าแก่กว่า 167 ปี ก่อนหน้าที่จะมีการบูรณะโครงการล้ง 1919 ที่ผ่านมาภาพวาดฝาผนังดังกล่าวได้ถูกทาสีทับซ่อนเอาไว้หลายชั้น เมื่อมีการใช้น้ำยาลอกสีผนัง ทำให้ค้นพบจิตรกรรมฝาผนังจีนโบราณที่ถูกซ่อนอยู่ด้านใน โดดเด่นด้วยการใช้สีแบบ ‘สีเบญจรงค์’ หมายถึงจิตรกรรมที่ใช้สีทั้งหมด 5 สี ด้วยปลายพู่กันจีนของช่างฝีมือโบราณที่เกือบจะสูญหาย

 

ภาพ perspective เมื่อแล้วเสร็จ

 

5. ศูนย์รวมไลฟ์สไตล์แห่งใหม่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

     นอกจากที่กล่าวมาแล้วโครงการล้ง 1919 ยังเป็นศูนย์รวมไลฟ์สไตล์สมัยใหม่ซึ่งมีทั้ง co-working space ร้านอาหารและเครื่องดื่มชั้นนำ อย่าง ร้านนายห้าง, ร้านอาหารโรงสี ของคุณปลา-อัจฉรา บุรารักษ์ เจ้าของร้าน Iberry อันโด่งดัง, ร้าน Vanilla ของ คุณเนม-ปราการ ไรวา, ร้านกาฟงกาแฟ ฯลฯ บริเวณที่นั่งพักผ่อนชมทิวทัศน์ระเบียงริมแม่น้ำเจ้าพระยา, ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดีไซน์ งานฝีมือ ที่มุ่งสนับสนุนศิลปินรุ่นใหม่, อาคารจัดงานอีเวนต์ และลานกิจกรรมกลางแจ้งซึ่งจะจัดขึ้นพร้อมๆ กับการเปิดโครงการด้วย The Great Outdoor Market งานตลาดนัดสุดชิลล์ ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของใครหลายๆ คน ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-5 พฤศจิกายน หลังการเปิดตัวโครงการเพียงแค่วันเดียว

     ทีนี้ก็เหลือเพียงแค่นับถอยหลังรอให้โครงการนี้เปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 พฤศจิกายนเท่านั้น เราก็จะได้มีสถานที่แฮงเอาต์แห่งใหม่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้ไปใช้เวลาดีๆ กันแล้ว เชื่อแน่ว่าอีกสักพักใครต่อใครก็จะต้องชักชวนกันว่า “ไป ‘ล้ง’ กันไหม” อย่างแน่นอน

 

FYI
  • หัวเรือใหญ่ในการบูรณะและก่อตั้งโครงการล้ง 1919  คือ คุณรุจิราภรณ์ หวั่งหลี นักออกแบบหัวใจอนุรักษ์ เจ้าของบริษัท พี ไอ เอ อินทีเรีย จำกัด (PIA Interior Company Limited) ที่ได้การยอมรับในระดับสากล ในฐานะลูกหลานของตระกูล หวั่งหลี เธอกล่าวว่าโครงการล้ง 1919 เป็นมากกว่าการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดกของครอบครัว แต่ยังเป็นการดำรงรักษามรดกเชิงศิลปวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ศิลป์อันเป็นมรดกของชาติ
  • ตัวเลข 1919 ที่เป็นส่วนหนึ่งของชื่อโครงการ คือปี ค.ศ. ที่ตระกูลหวั่งหลีรับช่วงดูแลพื้นที่นี้ต่อจากตระกูลพิศาลบุตร
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising