×

LGBTQ Photo of the Year 2019

30.12.2019
  • LOADING...

THE STANDARD ร่วมบันทึกการเคลื่อนไหวทางสังคมของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) ทั้งในไทยและต่างประเทศในปี 2019 ไม่ว่าจะเป็นงาน Pride ที่เชียงใหม่และย่างกุ้ง ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้ งานขบวนพาเหรด Pride ที่โฮจิมินห์และอัมสเตอร์ดัม ภาพบรรยากาศจากเวทีการประกวดที่เปิดโอกาสให้ LGBTQ ร่วมประกวด ไม่ว่าจะเป็น Miss Tiffany’s Universe และ Mr.Gay World Thailand รวมทั้งการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อเรียกร้องสิทธิที่เท่าเทียมเพื่อกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีสิทธิสมรสเท่าเทียม (Equal Marriage) รวมทั้งยังมีการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศในสังคม แม้ว่าจะมี พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศแล้วก็ตาม

 

 

28 มกราคม 2562

Yangon Pride 2019 งานไพรด์เพื่อความหลากหลายทางเพศครั้งแรกในย่างกุ้ง อดีตเมืองหลวงของเมียนมา นอกเหนือจากการแสดงความสามารถบนเวทีและบูธกิจกรรมต่างๆ มากมายภายในสวนสาธารณะ Thakhin Mya Park แล้ว อีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญคือ การล่องเรือไพรด์พาเหรดเหนือแม่น้ำย่างกุ้ง รายล้อมไปด้วยกองคาราวานเรือขนาดเล็ก ประดับประดาด้วยธงสีรุ้ง แสดงถึงความหลากหลายทางเพศในสังคมเมียนมา ประเทศที่กลุ่ม LGBTIQ ยังคงถูกทำให้กลายเป็นคนชายขอบของสังคม ถูกดูถูกเหยียดหยามและเลือกปฏิบัติจากผู้ที่มีเพศสภาพตรงตามเพศกำเนิด ซึ่งบ่อยครั้งมักจบลงด้วยการใช้ความรุนแรง

ภาพ: วรรษมน ไตรยศักดา / THE STANDARD

ชมภาพเพิ่มเติม: thestandard.co/yangonpride2019/

ชมวีดีโอ: thestandard.co/yangon-pride-2019/

 

 

 

9 กุมภาพันธ์ 2562

นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมขบวนพาเหรดสนับสนุนกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในขบวนพาเหรดที่พูดถึงประเด็นทางสังคม ในงานฟุตบอลประเพณี ธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ครั้งที่ 73

ภาพ: วรรษมน ไตรยศักดา / THE STANDARD

ชมภาพเพิ่มเติม: thestandard.co/tucuball73/

 

 

 

22 กุมภาพันธ์ 2562

งาน Chiang Mai Pride 2019 (เชียงใหม่ไพรด์ 2019) งานไพรด์ครั้งแรกในรอบ 10 ปีของจังหวัดเชียงใหม่ นับตั้งแต่งานเกย์ไพรด์เมื่อวันเสาร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ 2552 ที่ถูกต่อต้านจากกลุ่มการเมืองท้องถิ่นในขณะนั้นจนต้องยุติการจัดงาน

 

ในปีนี้มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก ทั้งผู้คนในพื้นที่ นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ รวมถึงนิสิตนักศึกษา กลุ่มคนรุ่นใหม่ กลุ่มองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆ โดยขบวนเชียงใหม่ไพรด์เริ่มตั้งต้นที่พุทธสถานเชียงใหม่ ผ่านไนต์บาซาร์และเข้าสู่พื้นที่ลานอเนกประสงค์ช่วงประตูท่าแพ 

ภาพ: วรรษมน ไตรยศักดา / THE STANDARD

ชมภาพเพิ่มเติม: thestandard.co/chiang-mai-pride-2019/

ชมวีดีโอ: thestandard.co/chiangmaipride2019/

 

 

 

 

9 เมษายน 2562

กลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศ รวมถึงตัวแทนภาคประชาสังคมต่างๆ ทั้งไทยและอาเซียนประมาณ 20-30 คน รวมตัวกันบริเวณหน้าสถานเอกอัครราชทูตบรูไนดารุสซาลาม ประจำประเทศไทย เพื่อแสดงจุดยืนและเรียกร้องให้รัฐบาลบรูไนพิจารณาการบังคับใช้กฎหมายอิสลามที่มีโทษรุนแรงถึงขั้นตัดมือ แขวนคอ หรือปาหินจนเสียชีวิตใหม่ เพราะอาจเป็นกฎหมายที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

ภาพ: วรรษมน ไตรยศักดา / THE STANDARD

ชมภาพเพิ่มเติม: thestandard.co/lgbtq-sharia-penal-code/

 

 

 

15 เมษายน 2562

ปาร์ตี้เกย์ระดับนานาชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโซนเอเชียในนาม gCircuit จัดปาร์ตี้ส่งท้ายมหกรรมเทศกาลสงกรานต์ ‘Wet Edition’ ซึ่งมีการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นหนึ่งในสปอนเซอร์การจัดงานที่มีกิจกรรมตลอด 3 วัน (12-14 เมษายน) ในชื่องาน Aquatica The Wet Closing Party จัดที่ Centerpoint Studio สุขุมวิท 105 ในค่ำคืนนี้ (14 เมษายน) โดยตลอดมหกรรมมีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 5,000 คนจากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก ภายในงานมีการแสดงบนเวทีและดนตรีจากดีเจมากมาย รวมทั้งไฮไลต์ฝนตกสร้างความชุ่มฉ่ำให้แก่ผู้ร่วมงาน

ภาพ: วรรษมน ไตรยศักดา / THE STANDARD

ชมภาพเพิ่มเติม: thestandard.co/gcircuit2019/

 

 

 

17 พฤษภาคม 2562

วันที่ 17 พฤษภาคมของทุกปี ตรงกับวันสากลยุติความหวาดกลัว คนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ และคนรักสองเพศ (IDAHOT) ซึ่งนักกิจกรรมและกลุ่มผู้สนับสนุนสิทธิความหลากหลายทางเพศกว่า 130 ประเทศทั่วโลก จะร่วมกันจัดกิจกรรมขึ้นพร้อมกัน โดยงาน #IDAHOTThailand2019 บริเวณหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครในปีนี้ จัดขึ้นโดยสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทยและโครงการบีวิซิเบิลเอเชีย ภายใต้การสนับสนุนของกรมสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ในธีมงาน ‘ความยุติธรรมและการปกป้องสำหรับทุกคน’ (Justice And Protection For All) เพื่อสร้างความตระหนักรู้ ลดอคติ ไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ เพื่อปูทางไปสู่การสร้างสังคมที่เท่าเทียมกันทางเพศในอนาคต

ภาพ: ธานิส สุดโต / THE STANDARD

ชมภาพเพิ่มเติม: thestandard.co/idahotthailand2019/

 

 

 

6 กรกฎาคม 2562

‘แตกต่างเหมือนกัน’ รวมภาพบรรยากาศงาน THE STANDARD POP Talk Our Pride

 

เพราะเราเชื่อมั่นในการอยู่ร่วมกันได้อย่างเท่าเทียม จึงเกิดงานทอล์กครั้งนี้ขึ้น เพื่อขับเคลื่อนความเข้าใจของสังคมในเรื่องความหลากหลายทางเพศ ผ่านการเล่าเรื่องของสปีกเกอร์ทั้ง 6 คน ต่างเพศ ต่างวัย ต่างที่มา แต่เราล้วนเป็นมนุษย์เหมือนกัน

 

  • เชฟตาม-ชุดารี เทพาคำ
  • อาจารย์เคท ครั้งพิบูลย์
  • หมอเอ้ก-คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์
  • อ๊อฟ-นพณัช ชัยวิมล ผู้กำกับซีรีส์ เขามาเชงเม้งข้างๆ หลุมผมครับ
  • ดีเจอ๋อง-เขมรัชต์ สุนทรนนท์
  • แคนดี้-กุลชญา ตันศิริ ผู้ชนะจากรายการ The Face Thailand 5

 

ชม THE STANDARD POP Talk Our Pride ย้อนหลังได้ที่ 

 

https://www.youtube.com/watch?v=oRwzinXqBFk

 

ภาพ: วรรษมน ไตรยศักดา / THE STANDARD

 

 

21 กรกฎาคม 2562

การประกวด Miss Tiffany’s Universe 2019 ในปีนี้ได้แจ้งเกิดดาวดวงใหม่ เดียร์-ฤทัยปรียา เนื่องลี คว้ามงกุฎเป็นคนที่ 22 ของประเทศไทย หลังจากขับเคี่ยวกันมาอย่างเข้มข้น จากการคัดเลือกผู้เข้าประกวด 100 คนเพื่อเข้าร่วมเรียลิตี้โชว์ จนกระทั่งรอบ Grand Finale ที่สาวงามทั้ง 28 คน ได้มาประชันกัน ณ โรงละครทิฟฟานี่ โชว์ พัทยา

ภาพ: วรรษมน ไตรยศักดา / THE STANDARD

ชมภาพเพิ่มเติม: thestandard.co/miss-tiffanys-universe-2019-finale/

 

 

 

27 กรกฎาคม 2562

สัปดาห์แห่งความภาคภูมิใจและการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่เริ่มต้นขึ้นที่เมืองหลวงแห่งเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นประเทศแรกของโลกที่ผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมสำหรับคู่รักเพศเดียวกัน Pride Amsterdam 2019 ในปีนี้จัดในธีม ‘Remember the Past, Create the Future’ เพื่อรำลึกเหตุการณ์ Stonewall Riot ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของงาน Pride ของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) ทั่วโลก โดยขบวน Pride Walk มีผู้เข้าร่วมหลายพันคนจากทั่วโลก 

ภาพ: วรรษมน ไตรยศักดา / THE STANDARD

ชมภาพเพิ่มเติม: thestandard.co/pride-amsterdam-2019/

 

 

3 สิงหาคม 2562

ผู้คนมากกว่า 5 แสนคนจากทั่วโลก ร่วมเฉลิมฉลองในงาน Canal Pride ที่มีเรือจากองค์กรต่างๆ เข้าร่วมงานมากกว่า 80 ลำ ไฮไลต์ของงาน Pride Amsterdam 2019 ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของยุโรป ณ กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ 

 

ในงาน Canal Pride ครั้งนี้ THE STANDARD ได้รับเชิญให้เข้าร่วมเรือของ Filipino LGBT Europe เป็นองค์กรที่ทำงานเพื่อสนับสนุนสิทธิมนุษยชนและสวัสดิการของชาวฟิลิปปินส์ที่มีความหลากหลายทางเพศ ถือเป็นเรือลำแรกของชาติอาเซียน ซึ่งจัดในธีม Balangay หรือคอนเซปต์การแต่งกายชุดประจำชาติของกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลายในฟิลิปปินส์ของผู้เข้าร่วมกิจกรรมการแสดงมากกว่า 60 คน และยังต้องการสะท้อนถึงการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมของกลุ่ม LGBTQ ในฟิลิปปินส์ ผ่านการแสดงในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในเรือ 80 ลำขององค์กรต่างๆ ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับกลุ่ม LGBTQ รวมทั้งภาคเอกชนที่ล่องคลองของเมืองอัมสเตอร์ดัมในครั้งนี้

ภาพ: วรรษมน ไตรยศักดา / THE STANDARD

ชมภาพเพิ่มเติม: thestandard.co/canal-parade-pride-amsterdam-2019/

 

 

 

14 กันยายน 2562

กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) ชาวเวียดนามนับพันคน ร่วมเดินขบวนจาก 6 จุดนัดหมายรอบเมืองโฮจิมินห์ เพื่อมารวมตัวที่ถนนคนเดิน Nguyen Hue ใจกลางเมืองในย่านเขตที่ 1 เพื่อเฉลิมฉลองปีที่ 8 ของงาน Viet Pride ซึ่งจัดขึ้นตั้งแต่ปี 2012 ในธีม ‘Out & Proud’

ภาพ: วรรษมน ไตรยศักดา / THE STANDARD

ชมภาพเพิ่มเติม: thestandard.co/viet-pride-2019/

 

 

 

22 พฤศจิกายน 2562

คู่รัก LGBTQ พร้อมด้วยเครือข่ายคณะทำงานเคลื่อนไหวเพื่อสร้างกฎหมายสมรสที่เท่าเทียม มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ ทีมทนายความ และผู้สนับสนุน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 พระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478 ซึ่งระบุว่า การแต่งงานนั้นเกิดขึ้นระหว่างชายและหญิงนั้นขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากเป็นการเลือกปฏิบัติ ทำให้คู่รักเพศเดียวกันและคู่รัก LGBTQ ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสได้

ภาพ: วรรษมน ไตรยศักดา / THE STANDARD

ชมภาพเพิ่มเติม: thestandard.co/lgbtq-marriage-registration-denied-case/

 

 

24 พฤศจิกายน 2562

เวทีการประกวด Mr.Gay World Thailand 2020 จัดขึ้นเป็นปีที่ 4 ภายในแนวคิด ‘We Are Family’ เพื่อสื่อสารถึงความสำคัญของครอบครัวของผู้เข้าประกวด รวมถึงมิตรภาพระหว่างผู้เข้าประกวดด้วยกัน และความเป็นครอบครัวของผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) ทั่วโลก ซึ่งล้วนเป็นครอบครัวเดียวกัน มีผู้เข้าประกวดในรอบไฟนอล 30 คน ที่ผ่านการคัดเลือกจากผู้สมัครทั้งหมดเกือบ 70 คน จากการสัมภาษณ์ การสอบข้อเขียน และการนำเสนอแคมเปญเพื่อสังคมที่หลากหลาย ซึ่ง โก้-ภัทรพล ใจเย็น คว้าตำแหน่ง Mr.Gay World Thailand 2020 เป็นตัวแทนเกย์ไทยสู่การต่อสู้เพื่อสิทธิ LGBTQ บนเวทีโลก

ภาพ: วรรษมน ไตรยศักดา / THE STANDARD

ชมภาพเพิ่มเติม: thestandard.co/mr-gay-world-thailand-2020/

 

 

 

10 ธันวาคม 2562

เนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากล (International Human Rights Day) ทางกลุ่มไทpride ได้จัดงาน ‘ไทpride: Be Proud of Diversity’ ครั้งที่ 1 ณ สวนครูองุ่น มาลิก ถนนสุขุมวิท 55 (ทองหล่อ) เพื่อเป็นพื้นที่ในการรวมตัวและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ and Non-Binary) ซึ่งภายในสวนแห่งนี้ประดับประดาไปด้วยธงสีรุ้ง และเรียงรายไปด้วยบูธจากองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนต่างๆ รวมทั้งมีเวทีซึ่งเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์และการแสดง โดยมีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้ความสนใจเข้าร่วมงานจำนวนมาก

ภาพ: วรรษมน ไตรยศักดา / THE STANDARD

ชมภาพเพิ่มเติม: thestandard.co/taipride/

 

 

 

18 ธันวาคม 2562

กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) คู่หนึ่งจูบกันต่อหน้าสื่อมวลชนภายในอาคารรัฐสภา เกียกกาย เป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ หลังยื่นหนังสือเกี่ยวกับข้อเสนอของภาคประชาสังคมเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพื่อการคุ้มครองการสมรสในครอบครัวเพศหลากหลาย

ภาพ: ธานิส สุดโต / THE STANDARD

ชมภาพเพิ่มเติม:  thestandard.co/lgbtq-181219/

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X