×

LGBTQ Love & Family EP.2: สัมภาษณ์เต็ม ครอบครัว ‘คุณแม่-คุณแม่ และลูกสาว’ ในวันที่สังคมไทยยังไม่มีสมรสเท่าเทียม

21.11.2020
  • LOADING...
LGBTQ Love & Family EP.2: สัมภาษณ์เต็ม ครอบครัว ‘คุณแม่-คุณแม่ และลูกสาว’ ในวันที่สังคมไทยยังไม่มีสมรสเท่าเทียม

นิยามคำว่า ‘ครอบครัว’ ของคุณยังเป็นเหมือนแบบเรียนที่มีแค่ พ่อ แม่ และลูกเท่านั้นหรือเปล่า

 

ในวันที่สังคมโลกเปิดกว้างและโอบรับความหลากหลายมากยิ่งขึ้น นิยามคำว่า ‘ครอบครัว’ ที่คุณเคยรู้จักอาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

 

โปรเจกต์เล็กๆ ของ THE STANDARD อย่าง ‘LGBTQ Love & Family’ ในอีพีที่ 2 นี้เรามีโอกาสพูดคุยกับ เจี๊ยบ-มัจฉา พรอินทร์, จุ๋ม-วีรวรรณ วรรณะ และหงส์-ศิริวรรณ พรอินทร์ ‘ครอบครัวคุณแม่-คุณแม่ และลูกสาว’ อีกหนึ่งนิยามของครอบครัวที่หลากหลายในสังคมไทยในวันที่ยังไม่มีสมรสเท่าเทียม

 

เจี๊ยบ มัจฉา และจุ๋ม วีรวรรณ เป็นหนึ่งในคู่รักเพศเดียวกันในประเทศไทยที่ตัดสินใจสร้างครอบครัวที่หลากหลายร่วมกัน แม้ว่ากฎหมายของประเทศไทยจะยังคงไม่รับรองสถานะความเป็นครอบครัวให้กับพวกเขาก็ตาม เขาทั้งคู่สนับสนุนให้ลูกสาวอย่าง หงส์ ศิริวรรณ กล้าที่จะแสดงออกและร่วมเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมและหลากหลายในสังคม THE STANDARD จึงชวนพวกเขาทั้ง 3 คนมาร่วมพูดคุยถึงบทบาทการเป็นคุณแม่ เรื่องราวความรัก การเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ชีวิตในโรงเรียนของลูก คนรุ่นใหม่กับ #สมรสเท่าเทียม ในสังคมไทย รวมถึงความฝันและความหวังต่อประเด็น LGBTQ

 

มาร่วมทำความรู้จัก ‘ครอบครัวคุณแม่-คุณแม่ และลูกสาว’ อีกหนึ่งนิยามของครอบครัวที่หลากหลายไปพร้อมๆ กัน

 

 

ความเป็น ‘แม่’ ครอบครัว และความรัก

เจี๊ยบ มัจฉา: ก่อนที่จะมีลูก เราทำงานกับเด็กและเยาวชนหลายร้อยคน พี่เคยทำงานบ้านพักดูแลน้องๆ ที่ได้รับความรุนแรงทางเพศ ทำงานเรื่องการให้ทุนการศึกษาเยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองต่อเนื่องเป็นสิบปี ดูแลน้องๆ ให้สามารถเข้าเรียนได้ อบรมส่งเสริมศักยภาพให้พวกเขา 

 

พี่รู้สึกว่า ‘ความเป็นแม่’ หมายถึงการที่เรามีหน้าที่ช่วยดูแลเยาวชนให้เขาเติบโตไปเป็น ‘พลเมืองที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม’ (Active Citizen) ตอนที่ยังไม่มีน้องหงส์ พี่ดูแลน้องๆ หลายร้อยคน จนทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองไม่มีความจำเป็นต้องมีลูกก็ได้ ใครก็ได้ที่เขาต้องการการดูแล ความรัก ความอบอุ่น อันนี้คือก่อนมีลูก ก่อนมีพี่จุ๋ม ก่อนมีครอบครัวด้วยซ้ำไป

 

หลังจากมีพี่จุ๋มปุ๊บ เราก็เริ่มที่จะมีครอบครัวจริงๆ ที่จะต้องแชร์กัน แบ่งปันกัน ดูแลกัน มีครั้งหนึ่งพวกพี่ต้องไปธุระที่ห้างสรรพสินค้า พี่บอกพี่จุ๋มว่า เธอ ฉันจะอ้วก เป็นอะไรก็ไม่รู้ เดินในห้างเห็นแต่เด็ก มีแต่เด็กเต็มไปหมดจนคลื่นไส้ หลังจากนั้นไม่นาน น้องหงส์ ลูกสาวเรา เขาก็มากับแม่ของพี่ ซึ่งเป็นยายของเขา พอดีแม่พี่กำลังเลี้ยงเขาอยู่ แล้วเขาแค่มาเที่ยว แต่เราก็เห็นว่าไม่ได้แล้ว อายุแม่กับหลานห่างกันจนกระทั่งเราเริ่มเห็นว่าลูกเราไม่สามารถที่จะสื่อสารกับเราได้ เราก็เลยรู้สึกว่าต้องขอลูกมาดูแลเองแล้ว เราก็ต้องต่อสู้เหมือนกัน เพราะว่าด้วยความที่ครอบครัวก็ไม่ได้สนับสนุนเรื่องสิทธิความหลากหลายทางเพศ ไม่ได้สนับสนุนเราในฐานะ LGBTQ พี่ก็ต้องต่อสู้กับครอบครัวของน้อง ก็คือพ่อและแม่ของพี่เอง ซึ่งเป็นคนดูแลน้อง แต่ก็ไม่มีใครที่จะคัดค้านในแง่ของการที่เราจะดูแลเขาให้ดีที่สุด

 

 

จุ๋ม วีรวรรณ: จริงๆ แล้วพี่ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะสามารถเป็นแม่คนได้ หรือว่ามีลูกสาว เพราะว่าช่วงที่มาอยู่กับพี่เจี๊ยบใหม่ๆ ค่อนข้างที่จะปรับตัวเข้ากันยากมาก เพราะว่ามีความต่างด้วย การทำงานด้วยกันด้วย แล้วมาอยู่ด้วยกัน 2 ปีแรกพี่ร้องไห้ทุกวันเลย เพราะมีปัญหากันค่อนข้างเยอะ เราจะทำอย่างไร เราจะใช้ชีวิตร่วมกันอย่างไร ทำงานร่วมกันอย่างไร ไม่ได้คิดว่าจะต้องมีลูก อย่างพี่เจี๊ยบบอกว่าเรามีเด็กที่จะต้องดูแล แต่ในเมื่อน้องหงส์มาก็ไม่ได้คิด คือคนนี้ช็อกกว่าเพื่อน เนื่องจากไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจเลยว่าจะมีลูก แล้วจะต้องรับเขามาเป็นลูก แต่เราคิดว่า โอเค ในเมื่อมีเด็กคนหนึ่งมาแล้วเราก็จะดูแลเขาให้ดีที่สุด ตอนนั้นก็ยังไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นแม่ เนื่องจากเขาเรียกเราว่าป้า แรกๆ ที่เขามา เขาจะเรียกว่าป้าอยู่ 2 ปี แล้วอยู่ดีๆ เขาก็เริ่มเรียกเราว่าแม่ ทีนี้เรียกแม่แล้วยังไงต่อ เราเป็นแม่ เราเป็นแม่คนแล้ว

 

เจี๊ยบ มัจฉา: ตกใจค่ะ ฉันเป็นแม่แล้ว ไม่ใช่ป้าแล้ว

 

จุ๋ม วีรวรรณ: แสดงว่าเรามีลูกแล้ว เราก็ต้องทำหน้าที่แม่ แต่เนื่องจากตอนนั้นเราก็มีเด็กที่เราดูแลราว 10 คน ดูแลเหมือนกันเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นน้องหงส์หรือว่าจะเป็นเด็กคนอื่นๆ โชคดีที่เราอยู่ด้วยกันมาสักระยะหนึ่งแล้ว เราก็ปรับตัวเข้าหากันได้แล้ว น้องหงส์มาในช่วงจังหวะที่เรารู้สึกว่าพอที่จะรับมือได้แล้วที่จะดูแลเขา

 

เจี๊ยบ มัจฉา: ตอนนั้นเรียกใครก่อน หนูจำได้ไหม

 

หงส์ ศิริวรรณ: เรียกคนนี้ก่อน (ชี้ไปทางจุ๋ม วีรวรรณ) เพราะว่าเหมือนแม่มากกว่า แม่ที่แท้ทรู ส่วนคนนี้แม่เลี้ยง (ชี้ไปทางเจี๊ยบ มัจฉา) (หัวเราะ)

 

เจี๊ยบ มัจฉา: คนนี้แม่ที่แท้ทรู คนนี้แม่เลี้ยง (หัวเราะ)

 

จุ๋ม วีรวรรณ: ส่วนใหญ่เขาจะอยู่กับเรามากกว่า แต่ 1-2 ปีแรกเราทำงานและเดินทางตลอด เขาก็เล็กมาก บางทีก็ไม่ได้เอาเขาไปด้วย เราก็จะให้น้องๆ ที่อยู่ในบ้านพักช่วยกันดูแล ก็เลยอยู่กับพี่ๆ แล้วก็มีพี่ๆ ช่วยดูแล เราก็นับว่าคนเหล่านั้นก็คือครอบครัวของเราเหมือนกัน เวลาเราไม่อยู่ เราก็ไว้วางใจที่จะให้พี่ๆ เขาได้ดูแลน้องหงส์

 

เจี๊ยบ มัจฉา: จริงๆ ตอนนั้นเราเรียกว่า ‘แม่เลี้ยงกลุ่ม’ เพราะว่ามีหลายคน ตอนนั้นมีน้องๆ อยู่ 11 คน มีทั้งหลากหลายทางเพศและเป็นผู้หญิง เวลาพี่ไม่อยู่ เราก็จะให้ช่วยกันดูแลน้อง แล้วเราก็ไปทำงาน ลงพื้นที่ ในพื้นที่ที่เป็นชายแดน แล้วก็เป็นพื้นที่สงครามด้วย เช่น ชายแดนแม่ฮ่องสอน ช่วงแรกๆ เราเลยไม่ได้พาน้องหงส์ไปด้วย แล้วก็เดินทางทุกเสาร์-อาทิตย์ ช่วงนั้นก็เป็นช่วงที่เรารู้สึกว่าการเป็นแม่คืออะไร พี่คิดว่าการกระทำไม่ได้ต่างออกไป หมายถึงว่าเราดูแลเด็กคนไหนก็ตามที่อยู่ในบ้านเราเป็นแบบนั้นเหมือนกันหมด แต่ที่ต่างออกไปคือเรารู้สึกว่าเราต้องสู้เพื่ออะไรบางอย่าง เพื่อที่จะบอกว่าเรามีตัวตน เราต้องปกป้องลูกแล้ว เพราะถ้าลูกเป็นลูกเราปุ๊บ เรารู้เลยว่าสภาพโรงเรียน สภาพสังคมจะเป็นอย่างไรกับเขา ก็เลยมีเซนส์ของการที่จะต้องต่อสู้ปกป้องขึ้นมา

 

เราก็เหมือนต้องเริ่มวางแผนแล้วว่าเราจะทำอย่างไรดี เราต้องส่งลูกไปโรงเรียน เราต้องไปคุยกับครูที่โรงเรียน เราต้องไปรู้จักเพื่อนลูก เพื่อที่จะเริ่มติดตามว่าในระบบโรงเรียนเขาไม่ได้ถูกรังแก ถูกกดขี่

 

 

‘โรงเรียน’ บ้านหลังที่สองของลูกสาว 

เจี๊ยบ มัจฉา: ก่อนที่จะไปคุยกับโรงเรียน เราจะไปส่งเขาด้วยกันสองคนทุกวัน ก่อนจะส่งเขาที่โรงเรียนต้องหอมแก้มกันก่อน ทำอย่างนี้ทุกวัน ถ้ามีประชุมผู้ปกครองเราก็ไปกันสองคน ถ้าเราไปถึงโรงเรียนก่อนที่โรงเรียนจะเลิก เราก็จะไปนั่งรอเขาด้วยกัน เพราะฉะนั้นด้วยอัตลักษณ์ของพวกพี่ที่ชัดเจน คนมองแล้วจะรู้เลยว่าเราเป็นหญิงรักหญิง เวลาไปมอบตัวหรือไปทำอะไรก็ไปด้วยกันสามคนอย่างนี้ตลอด 

 

อันดับแรกเลยคือเราต้องรู้จักครูที่ปรึกษาก่อน เช็กครูที่ปรึกษาว่าคุยได้ไหม เข้าใจหรือเปล่า เราก็ต้องแนะนำตัวว่าเราทำงานอะไร ลูกเราจำเป็นจะต้องขาดเรียนบ่อย เพราะบางทีแม่ต้องเดินทางศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ จันทร์ หรือว่าบางทีแม่ไปต่างประเทศนานๆ ถ้าไม่มีใครดูแลจริงๆ อาจจะต้องหยุดเรียน หรือว่าถ้าต้องเดินทางไปกรุงเทพฯ ทั้งบ้านเขาก็อาจจะต้องไปด้วย 

 

เพราะฉะนั้นเราก็เหมือนกับใช้เงื่อนไขนี้ที่จะเริ่มทำงานกับครู ครูเขาก็รู้ว่าเราเป็นแม่ เป็นผู้ปกครองของลูก เราก็เปิดใจคุยกับครูว่าลูกเรามีเงื่อนไขอะไรบ้าง แล้วครูประจำชั้นทั้งหมดที่ผ่านมา โชคดีมากเลยค่ะ ทั้งหมดที่เราเข้าไปคุยโอเคหมดเลย โดยเฉพาะช่วงวัยที่สำคัญที่สุดของเขาก็คือช่วงประถม ตอนเป็นเด็กเขาเล่าให้ฟังว่าพอเขาเปลี่ยนโรงเรียน เพราะว่าเดิมทีเราอยู่ในเมือง แล้วเราก็ย้ายไปอยู่โรงเรียนในชุมชน ออกไปนอกเชียงใหม่ พอเราทำโครงการเรื่องเกษตร เราก็ไปอยู่ในชุมชนที่ทำเกษตร แล้วเขาก็ย้ายโรงเรียนไป เขาก็เล่าให้ฟังว่าเขาเดินเข้าไปในห้องแล้วก็เล่าให้ครูฟังว่าเขามีประวัติความเป็นมาอย่างไร

 

หลังจากโรงเรียนเดิมไปโรงเรียนใหม่ เขาเปลี่ยนแปลงหลายเรื่อง แล้วก็มีพัฒนาการ เพราะครูที่โรงเรียนเข้าใจและสนับสนุน เขาไม่ถูกเพื่อนๆ ในโรงเรียนรังแก ตอนประถมจึงโชคดีมาก แล้วก็กลับมาทำงานยากขึ้นอีกครั้งเมื่อเขาอยู่ระดับมัธยม เพราะว่ารูปแบบก็จะซับซ้อนขึ้น โรงเรียนใหญ่ขึ้น ครูหลากหลายขึ้น เราก็ใช้วิธีเดิมคือพยายามคุยกับลูก ถ้ามีใครถามอะไร ลูกตอบสนองอย่างไร แต่ไม่ได้สอนว่าต้องตอบว่าอะไรนะคะ เพียงแต่เราก็พยายามเช็กทุกวันว่าวันนี้ไปโรงเรียนเป็นอย่างไรบ้าง เล่าให้แม่ฟังหน่อย

 

 

หงส์ ศิริวรรณ: เล่าตั้งแต่ลงจากรถ

 

เจี๊ยบ มัจฉา: ตั้งแต่ลงจากรถหนูเรียนอะไร ตอนนั้นฝึกลูกให้สื่อสารด้วย เพราะน้องไม่สามารถเล่าเรื่องได้ ตอนที่เป็นเด็กนะคะ ไม่สามารถบอกได้ว่าวันนี้เกิดอะไรขึ้นบ้าง เราฝึกอย่างนั้นทุกวัน จนกระทั่งเขาสามารถที่จะสื่อสารได้ ซึ่งไม่ใช่ความผิดปกติ เพราะเราพบว่าตอนเป็นเด็ก ตอนอยู่กับยายเขาไม่ค่อยได้พูดคุยสื่อสารกับผู้สูงอายุ นั่นคือสิ่งที่เราทำและสู้มากับครู แต่ว่าเปลี่ยนโรงเรียนใหม่ช่วงมัธยมเป็นอย่างไรคะ

 

จุ๋ม วีรวรรณ: ตอนมัธยมปลาย จริงๆ เป็นโรงเรียนใหญ่ แล้วจำนวนเด็กก็มากขึ้น มีความหลากหลาย กลุ่มเพื่อนของเขาก็จะเป็นคนที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน จริงๆ แล้วมองว่าครูบางคนมีความเข้าใจ แต่บางคนก็ยังไม่เข้าใจที่น้องหงส์อยู่ในครอบครัวที่หลากหลาย ครูเข้ามาถามน้องหงส์ว่าอย่างไรบ้าง

 

หงส์ ศิริวรรณ: คำถามก็จะประมาณว่า “มีแม่สองคน มีปัญหาหรือเปล่า” หนูก็บอกว่าไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะว่าก็เป็นปกติเหมือนเด็กทั่วไป ถ้าจะมีปัญหา ทุกคนก็มีปัญหาของตัวเองเหมือนกัน เพื่อนส่วนใหญ่เขาจะไม่ค่อยถาม เพราะถ้าหนูเจอเพื่อนใหม่ หนูก็จะเล่าก่อนเลย ประวัติความเป็นมา เป็นคนที่ไหนอย่างไร แล้วจะมีแค่บางคนที่เขารู้แล้ว แต่เขาก็จะพยายามถามซ้ำเหมือนตอกย้ำเรา

 

เจี๊ยบ มัจฉา: เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจก็คือเขาจะไม่ชอบคนใช้อำนาจโดยธรรมชาติ เขาเรียนเรื่องอำนาจมาจากแม่ เขาก็จะรู้ว่าถ้าเขาอยู่กับใครแล้วรู้สึกตัวลีบเล็ก เขาจะไปอยู่กับเพื่อนที่เขารู้สึกว่าเขาปกป้องกันและกัน เพื่อนเขาก็จะเป็นชาติพันธุ์ LGBTQ เขาก็จะรวมกลุ่มกัน ถ้าใครถูกเพื่อนรังแกก็จะพยายามช่วยเหลือกัน เรื่องที่เกิดขึ้นก็คือกลุ่มเขาถูกบูลลี่ แล้วเขาก็มาปรึกษาแม่ว่าต้องทำอย่างไร เราก็ถามเขาว่าเขาอยากจะทำอย่างไร เขาบอกว่าเขาจะบอกครูประจำชั้นว่าเขาไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ น้องหงส์ก็เลยคุยกับครูประจำชั้น แล้วก็นำไปสู่การประชุมผู้ปกครองในระดับชั้น 

 

 

ตอนนั้นมีโอกาสได้คุยกับทั้งผู้ปกครองและครูประจำชั้นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับน้องๆ เรียกว่าการรังแกกันหรือว่าบูลลี่ ซึ่งจำเป็นจะต้องยุติ เพราะน้องๆ กลุ่มนี้มีความรู้สึกว่าไม่อยากไปโรงเรียน หวาดกลัว แล้วเพื่อนๆ ที่กลั่นแกล้งก็ไม่ยอมรับ เพราะฉะนั้นขอให้พ่อแม่และครูช่วยกันดูแลให้เด็กๆ สามารถที่จะอยู่ด้วยกันโดยที่ไม่รังแกกัน ซึ่งอันนี้พี่คิดว่าเป็นเรื่องหนึ่งที่เราซัพพอร์ตลูกเสมอ เรารู้จักเพื่อนๆ ของลูก ถ้ามีอะไรเกินกว่าที่เขาจะรับมือได้ เราก็จะเข้าไปคุยกับครูประจำชั้น ซึ่งข้อดีของระบบการศึกษาปัจจุบันก็คือครูประจำชั้นต้องลงมาเยี่ยมบ้าน เพราะฉะนั้นครูประจำชั้นจะได้คุยกับเรา เราถามปัญหาว่าลูกมีปัญหาอะไรบ้างเรื่องการเรียน เราก็ทำงานกับครูค่อนข้างใกล้ชิด

 

จุ๋ม วีรวรรณ: เพื่อนของน้องหงส์เองเขาก็กลัวมากในกรณีที่ถูกบูลลี่ ผู้ปกครองเขาเองก็พยายามที่จะซัพพอร์ต ก็มีการสื่อสารกันอยู่เพื่อที่จะแก้ปัญหา

 

เจี๊ยบ มัจฉา: พี่คิดว่ามันมีความซับซ้อนหลายเรื่อง ทั้งเรื่องอัตลักษณ์ ทั้งเรื่องรูปร่างหน้าตา แล้วเราก็รู้ว่าระบบการศึกษาทำให้เด็กกดขี่กันเป็นชั้นๆ เด็กเรียนเก่งไหม เด็กเป็นลูกใคร มีอัตลักษณ์อย่างไร พ่อแม่มีอาชีพอะไร พ่อแม่มีอัตลักษณ์อย่างไร เราคิดว่าสิ่งเหล่านี้สะท้อนระบบการศึกษาจริงๆ เด็กๆ ก็จะเรียนรู้ข้างนอก กดขี่กันเป็นชั้นๆ ใครตัวเล็กสุด ใครลีบเล็กสุดก็จะตกเป็นเหยื่อของการถูกบูลลี่ คราวนี้เราจะทำอย่างไรให้เขาเข้มแข็ง แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องทำงานกับระบบด้วย ก็คือทำงานกับครู แล้วก็พยายามที่จะทำให้เกิดการรับฟัง ถ้าขยายไปกว่านี้จริงๆ พี่ก็อยู่ในกระบวนการพยายามที่จะทำให้การศึกษาดีขึ้น พยายามรณรงค์เรื่องการไม่บูลลี่บนฐานของอัตลักษณ์ทางเพศ หรือแม้กระทั่งการเป็นชาติพันธุ์ ผู้พิการ ชนเผ่าพื้นเมือง ก็ไม่ควรที่จะถูกรังแก ผู้หญิงก็ควรที่จะปลอดภัยจากการถูกล่วงละเมิด

 

 

วิธีการรับมือ-ปกป้องครอบครัวจากสังคมเกลียดกลัว LGBTQ 

เจี๊ยบ มัจฉา: อย่างแรกเลยพี่คิดว่าเราทำงานกับครอบครัวเรานะคะ พี่จุ๋มเองก็ทำงานกับแม่ พี่ก็ทำงานกับครอบครัวของพี่ ซึ่งท้ายที่สุดพี่เกิดความเข้าใจว่า ถ้าสังคมไม่เปลี่ยน ไม่เข้าใจ คนจำนวนมากก็จะรู้สึกกังวลว่าถ้าลูกเป็น LGBTQ น่าจะเผชิญกับความลำบาก เพราะฉะนั้นถ้าจะให้เข้าใจผู้ปกครองของเราว่าทำไมถึงไม่ค่อยยินดีที่เราเป็น LGBTQ ก็เพราะเขาให้เหตุผลว่าเขาไม่อยากให้เราถูกรังแกหรือถูกเลือกปฏิบัติในสังคม 

 

เพราะฉะนั้นถ้าเราอยู่ในบรรทัดฐานเหมือนคนอื่น เขาก็จะสบายใจว่าอย่างน้อยที่สุดจะไม่ลำบาก แต่เราก็ทำงานกับแม่ พี่กางกระดาษปรู๊ฟเลย เลกเชอร์แม่เรื่อง Gender Role LGBTQ อยู่ตรงไหนของ Gender Role แล้วเราเผชิญกับอะไรบ้าง เราต้องการอะไรบ้างจากแม่ ซึ่งท้ายที่สุดเราก็ไม่ได้มีคำที่รู้สึกสะเทือนใจเรา หลังจากที่เราคุยกัน แต่ลึกๆ ก็เพราะระบบสังคมเป็นแบบนี้ เราดูข่าว ดูหนัง อ่านหนังสือพิมพ์ หรือมองสังคมโดยทั่วไป เขาไม่มีองค์ความรู้ที่จะเข้าใจเรื่องพวกนี้ได้ ระดับที่หนึ่งคือทำงานกับครอบครัวตัวเอง 

 

ระดับที่สอง พี่รณรงค์เรื่องสิทธิ LGBTQ พยายามที่จะเข้าไปช่วงชิงพื้นที่ในข่าว ในสังคม ในเฟซบุ๊กตัวเอง หรือแม้กระทั่งในเวทีระดับนานาชาติ เพื่อที่จะบอกว่าถ้าสังคมเป็นแบบนี้ สิ่งที่เราเผชิญคืออะไร และเราต้องการอะไร เราทำงานเกี่ยวพันกับทั้งรัฐ ทั้งกลไก UN ในระดับโรงเรียน พี่ทำงานกับน้องๆ ชนเผ่าพื้นเมืองที่มีความหลากหลายทางเพศ พี่ทำงานทั้งกับโรงเรียนเพื่อที่จะไปอบรมเรื่อง ‘เพศพูดได้’ ทำให้น้องๆ ปลอดภัย การตั้งครรภ์ในวัยเรียนก็สามารถป้องกันไม่ให้ตั้งครรภ์ได้ หรือว่าการเข้าถึงข้อมูล ถ้าต้องการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย แล้วก็ทำงานกับพ่อแม่ของน้องๆ ที่เป็นเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่เป็นชาติพันธุ์ด้วย ทำงานในชุมชนเรื่องเพศพูดได้ จัดเวทีแยกระหว่างแม่กับเยาวชน เมื่อมีความพร้อมแล้วเราก็พาแม่กับเยาวชนเข้ามาอบรมร่วมกัน อันนี้คือสิ่งที่เราทำ แล้วเราก็เรียกร้องให้เปลี่ยนแบบเรียน เราเรียกร้องให้เคารพสิทธิคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เรียกร้องการสมรสเท่าเทียมให้กับคนที่มีความหลากหลายทางเพศ พี่ว่าอันนี้คือเรื่องที่ต้องรณรงค์ 

 

แต่ทำไมพี่ถึงต้องออกไปรณรงค์อย่างนั้น เพราะว่าในชีวิตคู่ เราเผชิญกับการไม่ยอมรับของครอบครัวและสังคม ในโรงเรียนที่เราไปส่งลูก ลูกเราก็ถูกตั้งคำถาม แล้วก็ถูกรังแกในระบบการศึกษาที่ไม่เป็นมิตรต่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เพราะฉะนั้นที่เราเรียกร้องในเชิงนโยบายและออกไปเคลื่อนไหว ส่วนหนึ่งก็เพื่อที่จะไม่ให้ LGBTQ รวมทั้งตัวเราต้องเผชิญกับเรื่องนี้ในอนาคต เราอยากให้มันยุติ ก็เลยผลักให้พี่ไปทำงานระดับโลกด้วย พี่เป็นบอร์ดขององค์กรชื่อว่า International Family Equality Day ซึ่งออกมารณรงค์สิทธิในการก่อตั้งครอบครัวอย่างเท่าเทียมของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเป็นองค์กรระดับโลก แล้วก็มีบอร์ดอยู่ในหลายภูมิภาค อันนี้คือสิ่งที่เราทำเพื่อครอบครัวของเราและเพื่อชุมชน LGBTQ

 

จุ๋ม วีรวรรณ: สิ่งที่เจี๊ยบกับพี่ทำ น้องหงส์จะอยู่ในกระบวนการตลอด เขาจะเห็นว่าแม่ต่อสู้เรื่องครอบครัว ซึ่งเขาก็คือลูกของเรา หมายถึงว่าเราต่อสู้เพื่อเขาด้วย เพื่อที่จะทำให้สังคมยอมรับครอบครัวหลากหลายทางเพศ ทำให้เขาซึมซับและได้ข้อมูลชุดหนึ่งเพื่อที่จะทำให้เขาลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อครอบครัวของเราด้วย

 

เจี๊ยบ มัจฉา: พี่พยายามจะรณรงค์เรื่อง ‘วันครอบครัวเท่าเทียม’ ซึ่งเป็นวันระดับโลก วันที่ 5 พฤษภาคม เราก็อยากจะเขียนให้สังคมไทยได้รู้ว่ามีวันนี้อยู่ เวลาเราพูดถึงครอบครัวเท่าเทียม ไม่ได้มีแค่ครอบครัวที่เป็นคู่รักต่างเพศ แต่หมายถึงครอบครัวที่อาจจะมีแม่คนเดียว พ่อคนเดียว ผู้ปกครองคนเดียว หรือเป็น LGBTQ มีพ่อสองคน มีแม่สองคนก็ได้ 

 

เราก็เลยถามลูกว่าอยากจะเขียนจดหมาย อยากจะเขียนอะไรไหม เขาก็บอกว่าอยากเขียน แล้วเขาก็หายไป แล้วก็กลับมาพร้อมกับกระดาษหนึ่งแผ่น พออ่านแล้วเราก็ร้องไห้ พี่ยังไม่ได้วางแผนว่าจะเขียนอะไรดี มันก็เลยกลายเป็นจดหมายโต้ตอบกันระหว่างเขาที่เป็นลูกว่าเขารู้สึกอย่างไรที่เป็นลูกเรา เขาภูมิใจหรือเปล่า เราก็ตอบกลับไปว่าเราภูมิใจแค่ไหนที่มีเขาเป็นลูก และหลังจากนั้นเองเขาก็เขียนบทความในฐานะที่เราเป็นแม่ เราก็สนับสนุนให้เขาส่งเสียงออกไป แล้วในฐานะลูก คิดว่าลูกทำอะไรเพื่อครอบครัวของเราบ้างคะ

 

หงส์ ศิริวรรณ: หนูก็เขียนบทความด้วย แล้วก็มีบทสัมภาษณ์ด้วย

 

เจี๊ยบ มัจฉา: ยากไหมเวลาให้สัมภาษณ์ ยากตรงไหนเล่าให้ฟังหน่อย

 

หงส์ ศิริวรรณ: (ร้องไห้) 

 

เจี๊ยบ มัจฉา: ร้องได้ๆ

 

หงส์ ศิริวรรณ: จริงๆ ก็ยาก คือสังคมเราไม่ได้เข้าใจ แล้วเราก็ต้องต่อสู้กับความเชื่อของคนด้วย มันก็เหนื่อยอยู่ แต่ก็สู้ เพราะเราก็ไม่อยากให้คนที่เขาเหมือนเรา แต่เขายังเด็กอยู่ ต้องมาเจออะไรแบบนี้

 

 

ถ้าเราเป็นคู่รักต่างเพศ สังคมจะไม่…

เจี๊ยบ มัจฉา: ชีวิตเราจะไม่ต้องเผชิญกับเรื่องพวกนี้เลย ถ้าเพียงแต่เราเป็นคู่รักต่างเพศ ลูกเราจะไม่ถูกโจมตี และเราจะไม่ถูกสังคมเลือกปฏิบัติ ถ้าถามว่าพี่ถูกสังคมเลือกปฏิบัติขนาดไหน เมื่อประมาณ 4-5 ปีที่แล้วพี่มีบ้านและออฟฟิศอยู่กลางทุ่งนา อยู่ในหมู่บ้าน ซึ่งแยกออกมาประมาณ 1-2 กิโลเมตร เพราะว่าตอนนั้นเราทำเกษตร ทำบ้านดิน พี่ถูกเผารอบบ้านประมาณ 10 วันในช่วงสงกรานต์จนกระทั่งถึงวันที่ 20 ช่วง 10 วันนั้น 6 ครั้ง โดยที่เราไม่สามารถจับคนที่เผาได้ 

 

สำหรับพี่ เหตุผลเดียวที่เราถูกทำแบบนั้นเพราะว่าเราเป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เราอยู่กันเป็นครอบครัว และเรามีลูก เขาไม่เคยเห็น และเขาไม่ต้องการที่จะเห็น ก็เลยกลายเป็นว่าเราไม่ต้องเผชิญเรื่องพวกนี้เลย ถ้ากฎหมายปกป้องคุ้มครองเรา เราไปแจ้งความ ตำรวจรับแจ้งความ แล้วสืบสวน แล้วจับคนที่ทำแบบนั้น แต่ปรากฏว่าตำรวจก็ไม่ทำแบบนั้น ชุมชนก็ไม่ปกป้องเรา จนกระทั่งผ่านไป 4-5 ปี กลายเป็นว่าเราต้องอยู่เซฟเฮาส์ เพราะว่าเราไม่ได้รับการการันตีว่าถ้าเรากลับไปอยู่บ้านแล้วเราจะปลอดภัย แล้วเราก็เป็นนักเคลื่อนไหวที่เดินทางตลอด พี่ก็ไม่สามารถปล่อยลูกหรือปล่อยคู่ชีวิตให้เขาอยู่ตรงนั้นลำพังสองคนได้ กลายเป็นว่าเราต้องแบกรับความปลอดภัยด้วยตัวเอง ซึ่งมันมี cost ที่เป็นทั้งความรู้สึกและ cost ที่เป็นรายจ่ายที่เราต้องเสียไป แต่ที่แย่กว่านั้นก็คือตอนที่เราทำบ้านเสร็จ มีที่ดิน แล้วรู้สึกว่านี่คือบ้านเรา แล้วเราทำบ้านขึ้นมากับมือ คือบ้านของพี่ พวกพี่ทำบ้านดินกับเพื่อนๆ แล้ววันหนึ่งเมื่อเรากลับไปบ้าน เรารู้สึกไม่ปลอดภัย 

 

 

พี่คิดว่าเราไม่ต้องเผชิญเรื่องพวกนี้เลย ถ้ากฎหมายคุ้มครอง ถ้าสังคมเข้าใจ เพราะฉะนั้นมันก็เลยกลายเป็นแค่ภาพที่ควรจะเป็นที่เราสร้างได้แค่ระหว่างเราสามคน แต่ภาพที่สังคมปฏิบัติกับเรามันไม่เท่าเทียม แล้วส่งผลกระทบต่อเรา ทำให้เรารู้สึกไม่ปลอดภัย เราไม่ปลอดภัยจริงๆ ไม่ใช่ว่าเหมารวมหรือทึกทักไปเองว่าตัวเองเป็น LGBTQ แล้วต้องไม่ปลอดภัยนะคะ 

 

ลูกสาวเราอยู่กับเราในเวที มีคนที่ไม่เข้าใจเดินมาถามว่าคนไหนเป็นพ่อ คนไหนเป็นแม่ มีแม่สองคนเหรอ ซึ่งคำถามแบบนี้ แม้กระทั่งนักเคลื่อนไหวด้วยกันเองก็ยังมี เพราะฉะนั้นเราก็เลยรู้สึกว่าเราสู้เพราะว่าเรามีปัญหา นั่นคือส่วนหนึ่ง แต่เราสู้เพราะเราไม่ได้มีปัญหาแค่คนเดียว ทำไมเราถึงไม่เห็นครอบครัวหลากหลาย (LGBTQ) เพราะถ้าเขาเปิดตัว เขาต้องเผชิญกับเรื่องพวกนี้ใช่ไหม แล้วเขาไม่ใช่นักเคลื่อนไหว เขาจะเอาเครื่องมืออะไรไปต่อสู้ เขาจะมีแรงต่อสู้ได้อย่างไร 

 

เพราะฉะนั้นพี่ใช้สิทธิพิเศษในฐานะที่เป็นนักสิทธิมนุษยชน ในการที่จะต่อสู้เพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศ และเพื่อครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศ 

 

ไม่ว่าจะอยู่ในชนชั้นไหนก็เผชิญกับการเลือกปฏิบัติเมื่อกฎหมายไม่คุ้มครอง เพียงแต่ว่าอาจจะรูปแบบแตกต่างกัน เราต้องการให้มีกฎหมายคุ้มครอง แล้วกฎหมายก็จะสะท้อนความเข้าใจของสังคม ที่เรามีกฎหมายไม่ได้เพราะสังคมไม่เข้าใจ เพราะเราไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นเราต้องสู้เพื่อให้สังคมเข้าใจ แล้วก็พัฒนาระบอบประชาธิปไตยไปพร้อมๆ กัน

 

 

บัตรประชาชน พาสปอร์ต: กำแพงการเลือกปฏิบัติของรัฐ?

เจี๊ยบ มัจฉา: ตอนแรกเราไม่คิดว่ามันจะส่งผลกระทบกับลูกมากขนาดไหน ลูกเราเป็นคนชอบญี่ปุ่น เขาจะมีการ์ตูนญี่ปุ่น อยากแต่งตัวญี่ปุ่น รำแบบญี่ปุ่น มีลุงเป็นคนญี่ปุ่น เขาจะมาเที่ยวหาปีละครั้ง เราก็เลยเซอร์ไพรส์เขาว่าเราจะพาเขาไปเที่ยวญี่ปุ่น เราก็ไปค่ะ ไปทำพาสปอร์ตกัน ปรากฏว่าพอไปถึงเขาบอกว่าคุณไม่ใช่ผู้ปกครอง เราก็ถามว่าแล้วต้องทำอย่างไร พ่อกับแม่เขาก็ไม่ได้สมรสกัน แล้วสิทธิอยู่ที่แม่ แล้วพ่อเขาซึ่งเป็นน้องชายพี่ นามสกุลเดียวกันกับพี่ก็ไม่เคยติดต่อกันอีกเลยกับแฟนของเขา 

 

แม้กระทั่งพ่อ ถ้าจะไปมีสิทธิเหนือลูกก็ต้องไปร้องต่อศาล เพราะว่าสิทธิอยู่ที่แม่ แล้วแม่ก็หายไป มันซับซ้อนมากๆ เราไม่สามารถทำได้ เราก็เลยไปคุยกับน้องชายเพื่อที่จะให้ทำเรื่องในศาล เพื่อที่จะสามารถทำพาสปอร์ตได้ ทีนี้พอค้นลงไปลึกๆ เขาก็ไม่ได้อยากจะสนับสนุน กลายเป็นว่านอกจากกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อเรา สิทธิในการเดินทางของลูกที่มันไม่มีถูกลิดรอนไป เรากลายเป็นคนอื่น มันก็สะท้อนครอบครัวของเราเองด้วยที่ไม่ได้สนับสนุนเพื่อให้เราสามารถที่จะปกป้องดูแลลูก พาลูกเดินทางได้ทั้งในทางปฏิบัติและในทางกฎหมาย 

 

เพราะฉะนั้นก็กลายเป็นว่าจนถึงตอนนี้อายุ 18 ปี เขาก็ยังไม่สามารถที่จะเดินทางไปไหนกับแม่ได้เลย ทั้งๆ ที่แม่ก็เดินทางไปต่างประเทศเพื่อทำงาน ซึ่งในการทำงานหลายครั้งที่เป็นงาน Gay Pride ที่ฮ่องกง ไต้หวัน หรือแม้กระทั่ง Gay Pride ที่ผ่านมาที่ออสเตรเลีย ในทุกงานพี่ควรจะพาลูกและคู่ชีวิตพี่ไปถือธงด้วยกัน แต่กลับเป็นไปไม่ได้ แล้วเพื่อนๆ ในชุมชนเองก็อยากเห็นเรากับลูกไปถือธงด้วยกัน ซึ่งไปไม่ได้เพียงเพราะว่าเขาเป็นลูกของเรา นึกออกไหมคะว่านี่คือสิ่งที่เราต่อสู้ มันก็เลยขยายไปในเรื่องต่างๆ  

 

ครั้งแรกที่พี่ต้องพาเขาไปทำบัตรประชาชนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แทบจะทำไม่ได้ด้วยซ้ำไป เขามีบัตรอยู่แล้ว ต้องไปต่อ จริงๆ ต้องทำได้เลย แต่เพราะว่าเขาเห็นเราไม่ใช่พ่อแม่ของลูก เป็นแม่สองคนไปด้วย มันกลายเป็นว่าเราถูกสอบ ถูกสัมภาษณ์กว่าลูกจะได้ถ่ายบัตรอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเราก็รู้สึกว่ามันคือการเลือกปฏิบัติ ไม่สามารถที่จะเห็นแล้วสังคมรับรู้ได้ว่านี่คือ ‘ครอบครัว’ แล้วไม่ต้องมาตอบคำถาม แล้วเข้าสู่กระบวนการเหมือนคนอื่น กลายเป็นต้องมานั่งถูกสอบว่าใครคือผู้ปกครอง ผู้ปกครองอยู่ไหน ทั้งๆ ที่มีบัตรอยู่แล้ว แค่มาเปลี่ยนบัตร เราก็คิดว่าอันนี้คือตัวอย่าง 

 

เราก็ยังจินตนาการไปได้ถึงตลอดเวลาที่พี่มีคู่ชีวิตแล้วพี่ต้องเดินทาง คือพี่จินตนาการว่าพี่มีทรัพย์สินอะไรก็ตาม ถ้าพี่เสียชีวิตไป พี่จะไม่มั่นใจว่าคู่ชีวิตพี่จะได้ไหม หรือจริงๆ มันจะตกไปอยู่กับผู้ปกครอง พ่อแม่ของพี่ เพราะว่าเราไม่เป็นอะไรกันเลยในทางกฎหมาย หรือแม้กระทั่งถ้าพี่เป็นอะไรไป เขาจะถูกพรากจากกันไหม เพราะในทางปฏิบัติและในทางกฎหมาย สำหรับคนอื่นมองว่าเขาคือคนอื่นของกันและกัน ทั้งๆ ที่เขาคือแม่ลูกกัน แล้วเราก็เป็นแม่ลูกกันทั้งสามคน เพราะฉะนั้นพี่เดินทางด้วยความรู้สึกไม่สบายใจตลอดเวลา ในขณะเดียวกัน ถ้าแฟนพี่เป็นอะไร คู่ชีวิตพี่เป็นอะไร พี่เซ็นเอกสารไม่ได้ในการรักษาพยาบาล แม่เราก็อยู่ไกล อายุมากแล้ว เดินทางไม่ได้ เราก็ต้องพยายามระวังตัวเอง อย่าเกิดอุบัติเหตุ หรือแม้กระทั่งลูกเราเอง เวลาเราจะทำเอกสารอะไรสักอย่างกับทางโรงเรียน เราต้องมาตอบคำถามว่าเราไม่ใช่ผู้ปกครอง แล้วผู้ปกครอง พ่อแม่เขาอยู่ไหน คุณคือใคร นามสกุลเดียวกัน แต่ว่าเมื่อเขาเห็นว่าไม่ใช่ชื่อเดียวกัน เวลาเราต้องนำเสนอผ่านเอกสารทางราชการ เราก็ต้องมานั่งตอบคำถามซ้ำๆ อันนี้คือสิ่งที่เราเผชิญอยู่ ซึ่งแปลว่าเราเผชิญกับการที่จะต้องตอบคำถามซ้ำๆ เหมือนตอกย้ำว่าเราเป็นคนอื่นของกันและกัน ทั้งๆ ที่เราคือครอบครัว

 

หงส์ ศิริวรรณ: แต่ก็สู้

 

เจี๊ยบ มัจฉา: แม่ก็สู้ตายมากเลย พี่ก็สู้ตายทุกครั้งเลย เวลาสู้จริงๆ เราก็จะแบบ ค่ะ ก็เป็นครอบครัวนะคะ พี่ค่อนข้างภูมิใจ มีแม่ค้าเคยถามว่าหน้าตาเหมือนกันเลย เป็นพี่น้องกันเหรอ พี่ตอบกับแม่ค้าว่าเป็นเมียค่ะ หรือแม้กระทั่งช่างตัดผม โอ๊ย หน้าตาเหมือนกันเลย คุณเป็นพี่น้องกันเหรอ แฟนค่ะพี่ เป็นคู่ชีวิต พี่น้องกันแน่ๆ เลย แฟนค่ะ พี่รู้สึกว่ามันเป็นโฮโมโฟเบีย (โรคเกลียดกลัว LGBTQ) ที่เขาไม่สามารถที่จะยอมรับได้ แล้วเขาก็เลยบอกว่าเป็นเพื่อนกัน เป็นพี่น้องกัน พอเราย้ำ แต่ว่าเราก็บอกไปทั่วค่ะ พี่จะแนะนำว่าอีกคนเป็นคู่ชีวิตตลอดเลย ส่วนคนนี้ลูกสาว ภูมิใจมากค่ะ เราเป็นเลสเบี้ยนที่ Out & Proud พี่บอกก่อนเลยนะคะว่าเป็นเลสเบี้ยน ไปไหนพี่ต้องแนะนำตัวว่าฉันเป็นเลสเบี้ยนนะคะ เป็นชาติพันธุ์นะคะ เป็นชนกลุ่มน้อยนะคะ เราทำงานอะไรอยู่ เราเคลื่อนไหวในประเด็นอะไร 

 

 

มุมมองเรื่อง ‘สมรสเท่าเทียม’ ในวันที่สังคมไทยยังไปไม่ถึง

จุ๋ม วีรวรรณ: จริงๆ ในเรื่องของการสมรส ในแง่ทางด้านกฎหมาย เราสองคนก็พยายามที่จะผลักดันแล้วก็ต่อสู้เพื่อที่จะนำไปสู่การที่เราได้รับการปกป้องคุ้มครองจากกฎหมาย ซึ่งยังไม่เคยมีสำหรับ LGBTQ หรือว่าครอบครัว LGBTQ แต่ถ้าเป็นการสมรสในแง่ที่เป็นพิธีกรรม พี่ไม่ค่อยสนใจกับเรื่องนั้น เพราะพี่คิดว่ามันไม่จำเป็นที่จะต้องมีพิธีกรรมอะไรก็ได้ แต่ในแง่ทางด้านกฎหมายเพื่อที่จะรองรับเรา มันจำเป็นจริงๆ ครอบครัวของเรา เพราะเรามีคู่ชีวิต เรามีลูกสาว ซึ่งกฎหมายจะต้องคุ้มครองเราทั้งสามคน

 

เจี๊ยบ มัจฉา: เพราะฉะนั้นเราคิดว่ามันมีความหมายสองแง่ แง่ที่หนึ่งคือเรามีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับคนอื่น เราควรจะได้ใช้สมรสเท่าเทียมเหมือนกับคู่รักต่างเพศ และควรจะเป็นกฎหมายเดียวกัน ปฏิบัติเหมือนกัน แล้วถ้าเงื่อนไขในกฎหมายเหล่านั้นมีความไม่เป็นธรรมอยู่ เราคิดว่าเราก็ต้องสร้างกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่จะเปลี่ยนกฎหมายเรื่องสมรสให้มีความเท่าเทียมมากยิ่งขึ้น

 

แต่ว่าเรื่องที่จะต้องรวมเราเข้าไปในกฎหมาย นี่คือสิ่งที่เราขับเคลื่อนทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ ในยุคหนึ่งที่กระบวนการเคลื่อนไหวใช้การขับเคลื่อนแบบแยกกฎหมาย หรือ พ.ร.บ. คู่ชีวิต (Civil Partnership Bill) พบว่ามีปัญหาอยู่ 3 ระดับในประเทศไทย อันที่หนึ่งคือในฐานะที่เราเคลื่อนไหวเรื่องประชาธิปไตย เรารู้ว่ากระบวนการทางกฎหมายมันยึดโยงกับกระบวนการประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นกฎหมายที่ออกมาจากประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยก็ดูจะไม่เป็นประชาธิปไตยไปด้วย กระบวนการมันมีปัญหา อันนี้คืออันที่หนึ่งที่เรากังวลกัน 

 

อันที่สองคือการมีส่วนร่วม ซึ่งก็เชื่อมโยงกันว่าครอบครัวหลากหลายมีส่วนร่วมในกฎหมายนี้มากเท่าไร กลายเป็นว่าเสียงที่เราร้องขึ้นไปว่าเราไม่ต้องการกฎหมายที่เลือกปฏิบัติไม่ได้รับการถูกนำเอาไปพิจารณา อันที่สามคือมีการใช้เงื่อนไขที่จะให้เราไปแยกใช้กฎหมายอื่น เพราะฉะนั้นมันเหมือนกับการแบ่งแยกกีดกัน แล้วกฎหมายยังไม่เท่ากันอีก เราก็เลยสู้เพื่อที่จะมีสมรสเท่าเทียม (Marriage Equality) สู้ทั้งในไทยและนานาชาติ และถ้าสมรสเท่าเทียมผ่าน เราคิดว่ามีความจำเป็นต้องเยียวยาคนในระหว่างที่การแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ยังเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าจะผ่านก็ผ่านแบบที่เรารู้สึกว่ายังไม่ใช่สิทธิมนุษยชนของ LGBTQ อย่างเต็มรูปแบบ แต่มีเพื่อเยียวยา แล้วเราก็ต้องสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสมรสเท่าเทียม

 

 

กระแส #สมรสเท่าเทียม ในโลกออนไลน์

เจี๊ยบ มัจฉา: เราไม่คิดว่าจะขึ้นเทรนด์อันดับหนึ่งในทวิตเตอร์แล้วเด็กรุ่นใหม่จะเข้าใจได้มากขนาดนี้ เพราะเรามีอุปสรรคในเรื่องของงบประมาณในการเคลื่อนไหว เราไม่มีสื่อกระแสหลักสนใจ เราพูดอยู่ในวงแคบๆ เราจัดเวทีเล็กๆ คนสนใจเล็กๆ น้อยๆ นักวิชาการก็ไม่กี่คน ตอนนั้นพี่รู้สึกว่าก็เซอร์ไพรส์ที่คนรุ่นใหม่จริงๆ แล้วเข้าใจและกระตือรือร้นกับเรื่องนี้ จนกระทั่งนำไปสู่การขึ้นแฮชแท็กอันดับหนึ่งได้ 

 

เราดีใจมากๆ ที่คนรุ่นใหม่เขาแสวงหาข้อมูล เพราะว่ามันมีความต่างกันระหว่างสมรสเท่าเทียมกับ พ.ร.บ. ​คู่ชีวิต แล้วหลังจากนั้นไม่นาน พ.ร.บ. คู่ชีวิตก็ขึ้นอันดับหนึ่งเหมือนกัน แต่ขึ้นไม่เอา พ.ร.บ. คู่ชีวิต เพราะว่ามีข้อมูลจากกระบวนการเคลื่อนไหว จากพวกเรา ทั้งบทความ ทั้งบทสัมภาษณ์ต่างๆ บอกว่าถ้า พ.ร.บ. นี้ผ่าน หรือกระบวนการมีปัญหาอะไรบ้าง ทำไมชุมชน LGBTQ จำนวนหนึ่ง พี่ไม่อยากเรียกว่าส่วนใหญ่ ซึ่งมันส่วนใหญ่จริงๆ เพราะว่านับอัตลักษณ์ต่างๆ แล้วก็องค์กรต่างๆ กระบวนการเคลื่อนไหวที่ผ่านมา จำนวนมากเลยที่ไม่ได้เห็นด้วยกับ พ.ร.บ. คู่ชีวิต เพราะขั้นต้นมันไม่เป็นประชาธิปไตย ตัวกฎหมายเองเลือกปฏิบัติ แล้วก็ใช้การแบ่งแยกกีดกันพวกเราไปใช้กฎหมายต่างๆ ซึ่งนำไปสู่การไม่ยอมรับที่แท้จริง ทั้งจากรัฐและประชาชนทั่วไป เพราะฉะนั้นพี่คิดว่าเราดีใจที่ได้รับแรงสนับสนุน และเราดีใจที่น้องๆ รุ่นใหม่ยืนยันว่าการสมรสเท่าเทียมคือสิทธิที่ทุกคนควรจะได้รับอย่างเท่าเทียมกัน

 

จุ๋ม วีรวรรณ: พี่มองว่าสังคมก็ยังมีความไม่เข้าใจว่าสมรสเท่าเทียมกับ พ.ร.บ. คู่ชีวิต แตกต่างกันอย่างไร เมื่อ พ.ร.บ. คู่ชีวิตออกมา เพื่อนพี่ก็จะทักมาบอกว่าดีใจด้วยนะ ซึ่งจริงๆ เขาก็ยังไม่เข้าใจว่ายังมีกฎหมายอีกตัวที่เราพยายามที่จะผลักดันอยู่ สังคมเองก็ต้องเหมือนกับให้ข้อมูล ให้ความรู้ว่า พ.ร.บ. คู่ชีวิต กับสมรสเท่าเทียมมันต่างกันอย่างไร

 

เจี๊ยบ มัจฉา: พื้นที่สื่อกระแสหลักน้อย คนที่เขาไม่ได้ตามจริงๆ เขาก็งง แม้กระทั่งเราตาม เราก็ยังไม่รู้เลยว่าตอนนี้ถึงไหนแล้ว กระบวนการถึงไหน ตกลงผ่านแล้วเหรอ อยู่ขั้นไหนในรัฐสภาแล้ว เรารู้สึกว่ามันมีดีเทลที่ไม่ได้ถูกแชร์ออกไปในที่สาธารณะอย่างเพียงพอ คนจำนวนมากไม่ได้ดูทีวีทางเลือก ดูทีวีกระแสหลักปุ๊บ เรื่องพวกนี้ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ข่าว หรืออยู่แบบเล็กๆ น้อยๆ แล้วกลายเป็นว่าข้อมูลที่ออกไปบางทีก็ไม่รอบด้าน จนกระทั่งนำไปสู่การเข้าใจผิด

 

 

ภาพ LGBTQ และครอบครัวหลากหลายในสื่อบันเทิงไทย

เจี๊ยบ มัจฉา: พี่ต้องสารภาพว่าไม่ได้ดูโทรทัศน์เลยตั้งแต่ปี 2543 ไม่เคยมีโทรทัศน์เลยในบ้าน แล้วก็ไม่เคยดูโทรทัศน์กระแสหลัก ยกเว้นว่าจะมีละครหรือภาพยนตร์ที่เป็นกระแสแล้วเราก็ไปตามดูเพื่อที่จะดูว่าปัญหามันคืออะไร วิเคราะห์ แล้วที่ผ่านมาเราเสียใจมากๆ กับหนัง LGBTQ หลายเรื่อง เพราะว่ามีปัญหาอันที่หนึ่งก็คือ การที่มี Representation แบบเดียว เช่น ถ้าเป็นทรานส์ต้องตลก ถ้าเป็นทรานส์ต้องสวยต้องหล่อเท่านั้นถึงจะได้รับการยอมรับ หรือถ้าเป็นคู่หญิงรักหญิง ตอนจบก็คือต้องไปแต่งงานใหม่หรือตาย หรือถ้าเป็นคู่เกย์ชายรักชาย ชีวิตก็ดูเป็นสีชมพู ทุกอย่างเพอร์เฟกต์ ง่าย แฮปปี้เอนดิ้ง แล้วก็หล่อกล้ามใหญ่ 

 

คือเราคิดว่าภาพเหมารวมเหล่านั้นไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงทั้งหมดของเรา แล้วมันก็ไปสร้างเรื่องเล่าหรือภาพจำบางอย่าง ซึ่งทำให้สังคมเข้าใจผิด เช่น กลายเป็นสังคมมองว่ากะเทยต้องตลก กลายเป็นตัวตลกในหนังเหมือนกับที่สร้างร่องรอยให้กับคนอีสานหรือคนต่างจังหวัดที่ต้องเล่นเป็นคนใช้เท่านั้น แล้วก็ยังเป็นแบบนั้นอยู่ พี่คิดว่าภาพพวกนี้นำไปสู่ความเข้าใจผิดต่อพวกเรา นำไปสู่การที่พวกเราถูกเลือกปฏิบัติในโรงเรียน ในสถานศึกษา ในทางกฎหมาย คิดดูว่า 20 ปีที่พี่ไม่ดูหนัง แต่คนที่ดูหนังแบบนั้นซ้ำๆ คือผู้คนอีกมายมาย คือพ่อแม่พี่ก็ดูหนังแบบนั้น เขาก็ต้องเชื่อว่าคบกันเดี๋ยวก็ตาย กลายเป็นว่ายิ่งช่วยกระจายกระแสเกลียดกลัว LGBTQ แล้วยิ่งทำให้สังคมไม่เห็นภาพและไม่เชื่อว่า LGBTQ สามารถอยู่ด้วยกันได้ เราอยากจะสื่อสารกับคนผลิตว่าช่วยสะท้อนความเป็นจริงของสังคมแล้วก็ความหลากหลายด้วย ช่วยทำให้หนังมันจบเหมือนกับหนังทั่วไป ไม่ใช่จบแบบตายจากกัน ต้องหยุดได้แล้ว

 

เราอยากเห็นความหลากหลายของคนในสังคม เราอยากเห็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศอยู่ในนั้นอย่างเท่าเทียม มีบทที่สมเหตุสมผล มีสภาพร่างกายที่หลากหลาย มีผู้พิการ มีการสะท้อนถึงชาติพันธุ์ สะท้อนถึงความสามารถและศักยภาพ เราอยากเห็นความหลากหลาย สะท้อนกับสังคมที่เป็นจริง แล้วสร้างแรงบันดาลใจให้เราเชื่อว่าเราสามารถมีสังคมที่ดีกว่านี้ได้ หนังมันควรจะสร้างสรรค์ ไม่ใช่มาตบตีกันแย่งผู้ชาย ไม่ใช่ข่มขืนแล้วตอนสุดท้ายแฮปปี้เอนดิ้ง หรือไม่ใช่แค่เป็น LGBT มีแต่ตายเท่านั้น ทรานส์ก็ต้องสวยเท่านั้น หรือทรานส์ต้องตลกเท่านั้น 

 

เราคิดว่าเรื่องพวกนี้ควรจะถูกบอกออกไปดังๆ ว่าสื่อหรือผู้ผลิตละครกำลังผลิตอะไรที่สร้างร่องรอยและความเจ็บปวดให้กับชุมชนเรา เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องการแบบนั้น เราต้องการความหลากหลาย เราต้องการแรงบันดาลใจ เราต้องการให้สังคมเห็นภาพที่มันเป็นไปได้ สร้างสังคมที่ดีขึ้น นี่คือสิ่งที่อยากได้ พี่อยากเห็นพวกเราทุกคนมีความหลากหลายและงดงามในแบบของตัวเอง สามารถที่จะเป็นพระเอกนางเอกก็ได้ ไม่จำเป็นจะต้องมีแบบเดียว พิมพ์เดียวเท่านั้น แม้กระทั่ง LGBTQ เองก็ไม่ได้มีแต่คนชนชั้นกลาง เรามีเพื่อนที่เป็นแรงงานข้ามชาติที่เป็น LGBTQ มีเพื่อนที่เป็นชนเผ่าพื้นเมือง เพราะฉะนั้นเขาควรจะมีพื้นที่ในสื่อด้วยเช่นกัน

 

จุ๋ม วีรวรรณ: จริงๆ สื่อมีผลกระทบจริงๆ กับคนที่มีความหลากหลายทางเพศ อย่างเวลานำเสนอความเป็นครอบครัว ถ้าสมมติว่าแม่เราดูละครแล้วเห็นว่า เห็นไหม มันไม่สมหวัง เดี๋ยวก็เลิกกัน เพราะเขาเชื่อว่า โอเค มันไม่มีทางเป็นไปได้ที่เราจะมีครอบครัวที่สามารถที่จะอยู่ร่วมกันได้ตลอดไป นำไปสู่การไม่ยอมรับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศในสังคม

 

เจี๊ยบ มัจฉา: ก็เลยกลายเป็นว่าแม่หวังดี คิดว่าถ้าสามารถทำให้ลูกไปแต่งงานแล้วมีอัตลักษณ์แบบที่สังคมต้องการก็จะเป็นการปกป้องลูก ซึ่งในความเป็นจริงมันกลับทำร้ายพวกเราชุมชน LGBTQ เรายืนยันว่าคู่รัก คนที่มีความหลากหลายทางเพศ นอกจากจะเลือกอัตลักษณ์ตัวเองแล้ว ความรักเรายังเลือกเองด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อไรก็ตามที่พ่อแม่บังคับ สำหรับเรามันคือการบังคับข่มขืน เพราะจริงๆ แล้วความสัมพันธ์ทางเพศใดๆ ที่ไม่มีการยินยอม นั่นคือการข่มขืน ถ้าเราไม่ได้เต็มใจแต่งงาน เราถูกบังคับด้วยเงื่อนไขทางวัฒนธรรม ด้วยเงื่อนไขของอำนาจพ่อแม่ คือพ่อแม่อนุญาตให้ข่มขืนลูกตัวเอง เพราะคิดว่านั่นคือการปกป้อง พี่คิดว่าเรื่องนี้คือเรื่องใหญ่ หรือในทางที่พวกพี่เคลื่อนไหวเรียกว่า Corrective Rape คือการที่พยายามใช้เงื่อนไขในการข่มขืนเพื่อเปลี่ยนแปลงรสนิยมทางเพศ ซึ่งประเด็นนี้สังคมเราก็ยังพูดถึงน้อยมาก แล้วปรากฏว่าถ้าอยู่ในบางบริบท เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงที่พ่อแม่คิดว่าให้แต่งงานไปก็จบ แต่ว่ามันก็มีผลกระทบในเชิงสิทธิมนุษยชน เป็นความเจ็บปวดของคนที่มีความหลากหลายทางเพศที่จะต้องไปแต่งงานกับคนที่เราไม่ได้รักและไม่สามารถมีความสัมพันธ์ด้วยได้ พี่คิดว่าเรื่องพวกนี้ สื่อมีหน้าที่ที่จะนำเสนออย่างรอบด้านและสร้างความเข้าใจเพื่อยุติการบังคับแต่งงาน ซึ่งหมายถึงการบังคับข่มขืนในกรณีที่พ่อแม่ต้องการเปลี่ยนรสนิยมทางเพศของลูก 

 

 

ความหวัง ความฝันต่อสังคมไทย

หงส์ ศิริวรรณ: หนูก็ต่อสู้เหมือนกันนะ หนูหวังว่าสังคมเราจะดีขึ้น ยอมรับคนที่เป็น LGBTQ คนที่อยู่ในครอบครัว LGBTQ ด้วย ยอมรับคนที่มีความหลากหลายทางเพศ แล้วก็มีประชาธิปไตยได้แล้ว เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง แล้วในโรงเรียนก็อยากให้คุณครูเข้าใจเด็ก ปกป้องคุ้มครองเด็กที่เป็นคนหลากหลายทางเพศด้วย คนที่มีความพิการ และคนที่มีอัตลักษณ์ที่หลากหลาย ปกป้องคุ้มครองและไม่บูลลี่พวกเขา

 

จุ๋ม วีรวรรณ: จริงๆ ในสังคมอยากเห็นคนทุกคนเคารพกัน ไม่ว่าเขาจะเป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เป็นชาติพันธุ์ หรือว่าเป็นผู้พิการ เป็นแรงงานข้ามชาติ เพราะว่าบางทีในสังคมเราส่วนใหญ่ อย่างของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศหรือกลุ่มอัตลักษณ์ชายขอบอื่นๆ ก็จะถูกกันออกและไม่ได้รับการยอมรับ เพราะฉะนั้นอยากให้สังคมเข้าใจและเคารพในฐานะที่เขาเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่เราสามารถที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมได้ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศและครอบครัวสีรุ้ง ครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศที่สังคมอาจจะต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจนิยามคำว่าครอบครัวใหม่สักที ไม่ใช่เป็นแค่พ่อ แม่ ลูก ครอบครัวมันมีความหลากหลาย เพราะจริงๆ ครอบครัวเราแม่แม่ลูกก็มี พ่อพ่อลูกก็มี หรือว่าเด็กที่อยู่กับยาย เด็กที่อยู่กับปู่ เด็กที่อยู่กับแม่เลี้ยงเดี่ยว มันมีความหลากหลาย

 

 

เจี๊ยบ มัจฉา: พี่จะพูดในสามฐานะเลยนะคะ ในฐานะที่พี่เป็นลูกที่เป็น LGBTQ สิ่งที่พี่อยากเห็นจากพ่อแม่ของเรา ซึ่งเขาเป็นคู่รักต่างเพศ (Heterosexual) ก็คือการยอมรับเราโดยไม่สร้างเงื่อนไขว่าเราจะต้องเป็นคนดีหรือเราจะต้องเป็นอย่างไร แต่อยากให้ครอบครัวยอมรับและรักเราเหมือนกับที่รักลูกๆ คนอื่นๆ ไม่พยายามที่จะเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์และรสนิยมทางเพศของเรา เพราะมันเจ็บปวด และมันเป็นไปไม่ได้

 

อันที่สองในฐานะที่เราเป็นแม่ เราเป็นห่วงเด็กในรุ่นนี้ เพราะเขาเติบโตท่ามกลางข้อมูลข่าวสาร เขาเป็นนักเคลื่อนไหว เขาอยากแสดงออก หน้าที่ของเราคือการสนับสนุนให้เขาแสดงออก แล้วนอกจากพี่เป็นแม่แล้ว พี่เป็นนักอบรมให้กับเยาวชนที่เป็นนักเคลื่อนไหว พี่อยากให้พวกเขามีเครื่องมือที่จะไปต่อสู้แบบสันติวิธี การรณรงค์ กระบวนการเคลื่อนไหวสังคม จะต้องเคลื่อนไหวด้วยความปลอดภัย เพราะฉะนั้นเขาต้องรู้จักการประเมินความเสี่ยงแล้วครอบคลุม (Inclusive) ทำอย่างไรให้เพื่อนผู้พิการเข้าร่วมได้ พื้นที่แบบไหนที่จะสะท้อนความหลากหลายของกระบวนการเคลื่อนไหว พี่คิดว่าสิ่งที่พี่เป็นแม่แล้วพยายามทำอยู่ก็คือสนับสนุนให้ลูกเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อที่จะให้เขากำหนดอนาคตตัวเอง 

 

แล้วตัวเองในฐานะ LGBTQ อยากจะบอกกับสังคมไทยว่าไม่ว่าสังคมจะเลือกปฏิบัติอย่างไรก็แล้วแต่ เราภาคภูมิใจมากๆ ที่เป็นตัวเรา แล้วไม่มีใครพรากความภาคภูมิใจนี้ไปได้ แล้วเราก็อยากจะได้แรงสนับสนุนให้พวกเรามีศักดิ์ศรี แล้วก็ก้าวไปสู่ประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ปกป้องสิทธิ LGBTQ สิทธิเด็ก สิทธิผู้หญิง ชนเผ่าพื้นเมือง แรงงานข้ามชาติ ผู้พิการ แล้วก็คนชายขอบทั้งหมดจะต้องมีสวัสดิการ จะต้องมีกฎหมายคุ้มครองอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม อันนี้คือสังคมที่เราอยากเห็น

 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising