×

มอลตา จากประเทศอนุรักษนิยม สู่หมุดหมายของ LGBT ที่สำคัญแห่งปี เขาเปลี่ยนแปลงกันอย่างไร?

11.01.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • จูเลียต ริกซ์ (Juliet Rix) นักเขียนไกด์บุ๊กผู้เขียนบทความให้กับสำนักข่าว The Telegraph ของประเทศอังกฤษ ที่เคยไปเยี่ยมเยือนประเทศมอลตา พบว่า ในปี 2011 มอลตายังเป็นเพียงประเทศเดียวในทวีปยุโรปที่ยังมีการระบุกฎหมายว่าการหย่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย
  • และเมื่อจูเลียตกลับไปอีกครั้ง แน่นอนว่าการหย่าไม่ใช่เรื่องผิดอีกต่อไป และคู่รักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสและแต่งงานกันได้ ทั้งหมดเกิดขึ้นในระยะเวลาเพียง 8 ปีเท่านั้น!

ในภูมิทัศน์การท่องเที่ยวโลก หนึ่งประเทศที่มีความน่าสนใจและควรค่าแก่การพูดถึงที่สุดในเวลานี้คือ ประเทศ ‘มอลตา’ เกาะขนาดกะทัดรัดในทวีปยุโรปใต้บู๊ตของคนอิตาลี โดยสิ่งที่สื่อในต่างประเทศให้ความสนใจอย่างมากคือประเด็นของการผลัดเปลี่ยนแนวคิดแบบอนุรักษนิยม (conservative) ของรัฐ กลายมาเป็นประเทศหนึ่งที่ได้ชื่อว่าเป็นหมุดหมายสำคัญของกลุ่ม LGBT ภายในเวลาอันรวดเร็วจนคุณเองไม่อาจเชื่อ

 

ลองเดาดูสิว่าพวกเขาใช้เวลากี่ปีกัน?

 

หากเดาเกินเลขหลักเดียวอาจไม่ถูกต้อง เพราะมอลตาใช้เวลาเพียง 8 ปีเท่านั้นที่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนตัวเอง แปลงรัฐและกฎหมายไปโดยสิ้นเชิง ลองนึกภาพเมื่อประมาณปี 2010 ที่ จูเลียต ริกซ์ (Juliet Rix) นักเขียนไกด์บุ๊กผู้เขียนบทความให้กับสำนักข่าว The Telegraph ของประเทศอังกฤษเคยไปเยี่ยมเยือนประเทศมอลตา เธอพบว่ามอลตาเป็นเพียงประเทศเดียวในทวีปยุโรปที่ยังมีการระบุกฎหมายว่าการหย่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย และเมื่อจูเลียตกลับไปอีกครั้งเมื่อปีก่อน แน่นอนว่าการหย่าไม่ใช่เรื่องผิดอีกต่อไป และคู่รักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสและแต่งงานกันได้ แถมยังมีดัชนีความเป็นมิตรกับกลุ่ม LGBT เป็นลำดับต้นๆ ของทวีปยุโรปอีกด้วย!

 

 

พวกเขาเปลี่ยนแปลงกันไปได้อย่างไร? คำถามนี้เกิดขึ้นหลังจากเราพบว่าระยะเวลาเพียง 8 ปีอาจไม่มากพอให้สังคมหรือรัฐเปลี่ยนแปลงทัศนคติเรื่องเพศไปได้อย่างรวดเร็วเช่นนี้ อาจต้องขึ้นไทม์แมชชีนย้อนกลับไปในช่วงที่ประเทศมอลตาเพิ่งได้รับอิสรภาพในการปกครองตัวเองในปี 1964 พวกเขากลายเป็นประเทศเกิดใหม่ที่มีอายุราว 50 กว่าปีเท่านั้น ฉะนั้นสิ่งที่ประเทศดำเนินไปคือ การอยู่ภายใต้กรอบความคิดของประเทศที่เข้ามาปกครองก่อนหน้านั้นอย่างประเทศอังกฤษ พวกเขากลับไม่พบซึ่งความเป็นตัวของตัวเอง หรือความเป็นมอลตาอย่างที่ฝันอยากจะเป็น ดังนั้น แรงกระเพื่อมแรกที่เกิดขึ้นในปี 2011 อย่างการโหวตให้การหย่าเป็นเรื่องถูกกฎหมาย จึงนับเป็นปรากฏการณ์ที่ส่งให้มอลตาก้าวเข้าสู่ยุคใหม่อย่างแท้จริง แยกเรื่องของรัฐและศาสนาออกจากกันอย่างสิ้นเชิง

 

นอกเหนือจากการหย่าที่เคยผิดกฎหมายแล้ว เรื่องของความเท่าเทียมกันทางเพศก็มีแนวโน้มในทางที่ดีขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะเพศหญิงที่เมื่อก่อนเป็นได้เพียงกลุ่มคนไร้ตัวตน ต้องมีแนวคิดเป็นเพียงแม่บ้าน และไม่มีบทบาทในที่ทำงานหรือออกปากออกเสียงใดๆ ปัจจุบันทุกอย่างกลับตาลปัตรไปทั้งหมด เพราะเพศแม่เองก็เข้ามามีบทบาทในสังคมมากขึ้นไม่น้อย

 

 

หลังจากนั้นไม่นานในปี 2017 ประเด็นของเรื่อง ‘Civil Partnership’ หรือ การจดทะเบียนคู่ชีวิตก็ถูกนำเข้ามาเป็นประเด็นใหม่ในสังคมทันที และแน่นอนว่ากลับมีเสียงปฏิเสธลั่นดังมาจากศาสนจักรในประเทศ ซึ่งรู้หรือไม่ว่า 98% ของประชากรมอลตานับถือศาสนาคริสต์ นิกายคาทอลิก จึงไม่แปลกใจหากจะมีการปฏิเสธให้การจดทะเบียนระหว่างเพศเดียวกันเป็นสิ่งถูกต้อง แต่เรื่องราวทั้งหมดก็ผ่านไปได้ด้วยดี ด้วยการโหวตที่คนส่วนใหญ่มองเห็นว่าการจดทะเบียนคู่ชีวิตของคู่รักเพศเดียวกันนั้นเป็นเรื่องสำคัญ

 

อีกเรื่องที่เราชื่นชอบคือ การที่มอลตาเป็นประเทศแรกในยุโรปที่บัญญัติให้ ‘Gay Conversion Therapy’ หรือการบำบัดแก้เพศวิถี เป็นเรื่องผิดกฎหมาย เพราะเชื่อว่าความหลากหลายทางเพศไม่ใช่เรื่องที่จะต้องแก้ไข และยังสามารถแก้ไขคำนำหน้าเพศของตัวเองได้อย่างที่ต้องการบนพาสปอร์ตของประเทศมอลตาได้โดยผ่านกระบวนการของรัฐ ซึ่งหนึ่งในเพศที่พวกเขาบัญญัติขึ้นตามความหลากหลายคือ ‘X’ สำหรับกลุ่มของคนที่ไม่ต้องการระบุเพศ หรือไม่เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง อันหมายถึงการสลายเส้นแบ่งของเพศให้ทุกคนกลายเป็นเพียงมนุษย์ที่มีสิทธิชอบธรรมในชีวิตของตัวเองอย่างแท้จริง

 

View this post on Instagram

The Queen of the Mediterranean

A post shared by Aleksandar Gligic (@ingmarov) on

 

นี่เป็นเพียงเหตุผลเบื้องต้นที่ทำให้ประเทศมอลตากลายเป็นปลายทางในการท่องเที่ยวที่สำคัญสำหรับกลุ่ม LGBT ด้วยความเป็นมิตรกับทุกเพศ และทัศนคติของคนในประเทศเองที่พร้อมจะก้าวไปข้างหน้าเพื่อตอบรับสิ่งที่ดีกว่า และเท่าทันโลกมากกว่า และแน่นอนว่าในฐานะ LGBT คนหนึ่ง มอลตาคือหมุดหมายที่เราปักไว้เพื่อเดินทางไปเที่ยวเร็วๆ นี้!

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising