สเปนกลายเป็นประเทศแรกในยุโรปที่ให้สิทธิ์พนักงานผู้หญิงลางานเนื่องจากเจ็บป่วยจากการมีประจำเดือนจำนวน 3 วัน และขยายเป็น 5 วันได้หากจำเป็น เนื่องจากผ่านกฎหมายสิทธิทางเพศและการเจริญพันธุ์หลายฉบับ รวมถึงกฎหมายที่ขยายสิทธิการทำแท้งและคนข้ามเพศ
“หากปราศจากสิทธิดังกล่าว ผู้หญิงก็ไม่ใช่พลเมืองโดยสมบูรณ์” Irene Montero รัฐมนตรีกระทรวงความเสมอภาคของแดนกระทิงดุ กล่าวในรัฐสภา นอกจากนี้ยังกล่าวว่า การเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นการก้าวไปสู่การจัดการปัญหาสุขภาพที่ถูกซุกไว้ใต้พรม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ราคาที่ต้องจ่ายเพิ่มสำหรับการมีประจำเดือน เมื่อ ‘ผ้าอนามัย’ กำลังขึ้นราคาจาก ‘ภาวะเงินเฟ้อ’ ขณะที่ความช่วยเหลือจากรัฐยังไปไม่ถึง
- ถกปมแจก ‘ผ้าอนามัยฟรี’ ใช้ภาษีถูกทางหรือไม่
- ที่แรกในโลก! สเปนประกาศให้หยุดงานได้หากปวดประจำเดือน
การลาต้องมีใบรับรองแพทย์ ซึ่งเกิดขึ้นด้วยอาการคลื่นไส้ เวียนหัว และแม้กระทั่งอาเจียน โดยระบบประกันสังคมของรัฐจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้หญิงต้องทนทุกข์ทรมานจากอาการปวดประจำเดือนอย่างรุนแรง ตามรายงานของสมาคมสูตินรีเวชแห่งสเปน
“ไม่ต้องไปทำงานด้วยความเจ็บปวด ไม่ต้องกินยาก่อนไปถึงที่ทำงานอีกต่อไป แลไม่ต้องปิดบังความจริงที่ว่าเราเจ็บปวดจนทำงานไม่ได้”
ทว่ากฎหมายดังกล่าวสร้างความแตกแยกระหว่างนักการเมืองและสหภาพแรงงาน โดย CCOO ซึ่งเป็นหนึ่งในสหภาพแรงงานหลักของสเปน ยินดีกับความเคลื่อนไหวดังกล่าวในฐานะ ‘ความก้าวหน้าทางกฎหมาย’ ที่สำคัญในการรับรู้ถึงปัญหาที่ถูก ‘เพิกเฉย’ จนถึงขณะนี้ แต่ UGT ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานหลักอีกแห่งของสเปน เตือนว่าอาจเป็นการตีตราผู้หญิงในที่ทำงานและขัดขวางการเข้าถึงตลาดแรงงานทางอ้อม
“อย่างไรก็ตาม ฝ่ายตรงข้ามกังวลว่าการลาเพราะมีประจำเดือนจะยิ่งตอกย้ำทัศนคติเชิงลบทางเพศ และแนวคิดเรื่องการกำหนดปัจจัยทางชีวภาพ นำไปสู่การเลือกปฏิบัติของนายจ้างต่อผู้หญิงมากขึ้น” Marian Baird ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างเพศและการจ้างงานที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์กล่าว พร้อมเสริมว่ายังไม่ง่ายที่จะประเมินผลกระทบของนโยบายเหล่านี้
ปัจจุบันการลาป่วยจากประจำเดือนมีให้เห็นในไม่กี่ประเทศทั่วโลก เช่น ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และแซมเบีย
นอกจากกฎหมายเรื่องประจำเดือนแล้ว ผู้เยาว์ที่อายุน้อยกว่า 16 ปีจะได้รับอนุญาตให้ทำแท้งในโรงพยาบาลของรัฐโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากพ่อแม่หรือผู้ปกครองตามกฎหมาย
ทั้งนี้ ประเทศสเปนเป็นผู้นำด้านสิทธิสตรีของยุโรป สะท้อนจากการออกกฎยุติการทำแท้งในปี 1985 และในปี 2010 ได้ออกกฎหมายที่อนุญาตให้ผู้หญิงเลือกทำแท้งได้อย่างอิสระในช่วง 14 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ในกรณีส่วนใหญ่
อ้างอิง:
- https://www.washingtonpost.com/world/2023/02/17/spain-paid-menstrual-leave-countries/
- https://www.euronews.com/next/2023/02/16/spain-set-to-become-the-first-european-country-to-introduce-a-3-day-menstrual-leave-for-wo
- https://www.france24.com/en/live-news/20230216-spain-passes-law-for-europe-s-first-menstrual-leave