กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาเป็นปกติมากขึ้นในช่วงครึ่งปี 2565 และมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลังจากแรงขับเคลื่อนของทุกองค์ประกอบเศรษฐกิจที่กลับสู่ระดับก่อนสถานการณ์โควิดได้เร็ว ทำให้ตัวเลข GDP เศรษฐกิจไทยปี 2565 นี้มีแนวโน้มขยายได้ไม่ต่ำกว่า 3% ซึ่งเราเห็นสัญญาณบวกในภาคการผลิตและการลงทุนภาคเอกชนที่กลับมาขยายตัว และส่งผลเชื่อมโยงไปยังการจ้างงาน โดยสถานการณ์ด้านแรงงานทยอยฟื้นตัวใกล้เคียงกับระดับก่อนสถานการณ์โควิด แต่อย่างไรก็ดี แนวโน้มในครึ่งปีหลังหรือในช่วง 1-3 ปีข้างหน้า สถานการณ์แรงงานจะมีทิศทางดีต่อเนื่องหรือไม่ และมีแรงผลักดันการเติบโตจากปัจจัยใด ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะส่งผลให้การบริโภคเติบโตได้ดี
“การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุน” เป็นภาคเศรษฐกิจสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโต และยังเป็นปัจจัยหลักผลักดันให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งตั้งแต่ปี 2559 ภาครัฐเริ่มให้การสนับสนุน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ S-Curve ซึ่งประกอบด้วย First S-Curve หรือ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่แล้ว ได้แก่ ยานยนต์สมัยใหม่, อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ, การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และการแปรรูปอาหาร และ New S-Curve หรือ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ได้แก่ การบินและโลจิสติกส์, เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ, ดิจิทัล, หุ่นยนต์ และการแพทย์ครบวงจร ซึ่งในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันภาครัฐมีแผนลงทุนโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งเป็นเมกะโปรเจกต์เป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่ใช้นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีขั้นสูง โดยเฉพาะ 10 อุตสาหกรรม S-Curve
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- กูรูชี้ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์กำลังเขย่าห่วงโซ่การผลิตโลก เตือนไทยมัวแต่เหยียบเรือสองแคม สุดท้ายอาจตกขบวน
- วิเคราะห์ 5 สัญญาณ บ่งชี้ เงินเฟ้อ โลกใกล้ถึงจุดพีค
- ต่างชาติแห่ปักหมุด ลงทุนเวียดนาม ยอด FDI พุ่งแซงไทยแบบไม่เห็นฝุ่น สัญญาณบ่งชี้ ไทยเริ่มไร้เสน่ห์?
เมื่อมองในมุมการจ้างงาน สถานการณ์ด้านแรงงานของกลุ่ม S-Curve ขยายตัวสอดคล้องกับภาพรวมแนวโน้มการลงทุน โดยในปี 2562 ก่อนสถานการณ์โควิด พบว่าการจ้างงานในกลุ่ม S-Curve มีแนวโน้มการเติบโตดี สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในมาตรา 33 ที่อยู่ในกลุ่ม S-Curve 2.8 ล้านคน จากผู้ประกันตนทั้งหมด 12.2 ล้านคน หรือคิดเป็น 23% ของผู้ประกันตนทั้งหมด โดยกว่า 70% อยู่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวรายได้ดี การแปรรูปอาหาร และการบินและโลจิสติกส์ ต่อมาในปี 2563 จำนวนผู้ประกันตนในกลุ่มดังกล่าวลดลง ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด เช่นเดียวกับภาคธุรกิจอื่นๆ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีการจ้างงานลดลงไปเกือบ 50% แต่ในภาพรวมการจ้างงานในกลุ่ม S-Curve ก็ยังสามารถอยู่ที่ระดับ 2 ล้านคน อย่างไรก็ดี ในปี 2564 สถานการณ์การจ้างงานกลับสู่การฟื้นตัวได้รวดเร็ว โดยเฉพาะกลุ่ม New S-Curve ทั้ง 5 อุตสาหกรรมจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นและเทรนด์ New S-Curve รวมทั้งอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในกลุ่ม First S-Curve มีตัวเลขการจ้างงานสูงกว่าในปี 2562
หากกล่าวในมิติเชิงพื้นที่ ค่อนข้างชัดเจนว่า EEC ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดในภาคตะวันออก ได้แก่ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ปัจจุบันเป็นฐานรองรับอุตสาหกรรม S-Curve ที่สำคัญ โดยสิ้นปี 2564 มีการจ้างงาน S-Curve ใน EEC อยู่ที่ 2.9 แสนคน หรือคิดเป็น 14% ของการจ้างงาน S-Curve ทั้งประเทศ ซึ่งคาดว่าในปี 2565 จะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 3 แสนคน ถึงแม้ยังคงต่ำกว่าการประมาณการความต้องการแรงงานของผู้ประกอบการในพื้นที่ EEC ตามแผนงานก่อนเกิดสถานการณ์โควิดที่คาดว่าจะอยู่ที่ 4.7 แสนคนก็ตาม ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด
ด้านทิศทาง สถานการณ์จ้างงานของกลุ่ม S-Curve ในพื้นที่ EEC ในอนาคต ขึ้นอยู่กับสองปัจจัยหลักทั้งทิศทางการส่งออกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าจะส่งผลดีต่อการผลิตและการส่งออกสินค้าในพื้นที่ EEC และด้านการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวตามการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ใน EEC ที่ยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง โดยในช่วงปี 2566-2570 มีการกำหนดเป้าหมายการลงทุนเอาไว้ 2.2 ล้านล้านบาท โดยจะมีเงินลงทุนประมาณปีละ 4-5 แสนล้านบาท รวมทั้งนักลงทุนมีความสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ EEC ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 อยู่ที่ 1 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 48% ของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI หรือหากดูไปถึงขั้นตอนการออกบัตรส่งเสริมพบว่ามีมูลค่าสูงที่ 1 แสนล้านบาทเช่นกัน โดยเป็นกลุ่ม First S-Curve 28% และ New S-Curve 49% ประกอบด้วย อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์, การแพทย์, ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ และดิจิทัล
แนวโน้มการเติบโตของกลุ่ม S-Curve ใน EEC โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์, อิเล็กทรอนิกส์ และดิจิทัล ที่มีปัจจัยกระตุ้นจากการที่ผู้บริโภคมีความต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้มีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ จากการที่ EEC ไม่เพียงแต่เป็นฐานลงทุนของอุตสาหกรรมที่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญ ยังเป็นพื้นที่ดึงดูดการลงทุนและการจ้างงานในหลายธุรกิจที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมีส่วนช่วยเชื่อมโยงซัพพลายเชนไปยังพื้นที่อื่นๆ ใกล้เคียง ทำให้การเติบโตของแรงงานในพื้นที่ EEC ตอบโจทย์การเป็นปัจจัยที่ผลักดันเศรษฐกิจไทยในอนาคต
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP