ธนาคารกรุงไทยประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสูงสุด 0.825% ต่อปี พร้อมตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้รายย่อยช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ปรับขึ้นเฉพาะอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR และ MOR 0.25% ต่อปี มีผล 4 ตุลาคม 2565
ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 2 ของปี 2565 อีก 0.25% ต่อปี ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการดูแลเงินเฟ้อให้กลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายและรักษาเสถียรภาพด้านราคาและเศรษฐกิจในระยะยาว ธนาคารกรุงไทยยึดมั่นพันธกิจ ‘กรุงไทย เคียงข้างไทย สู่ความยั่งยืน’ ตระหนักถึงผลกระทบต่อลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง จึงใช้แนวทางการปรับอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปสอดคล้องกับนโยบายของ ธปท. และพร้อมดูแลช่วยเหลือลูกค้าให้ปรับตัวได้อย่างราบรื่น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ไม่ตกขบวน! ไทยพาณิชย์ ปรับขึ้นดอกเบี้ย MLR และ MOR 0.25% พร้อมขยับดอกเบี้ยเงินฝากประจำสูงสุด 0.50%
- อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยสูง-ต่ำแค่ไหน? เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ
- ภาระ ‘ผ่อนบ้าน’ อาจเป็นพายุลูกใหม่ซ้ำเติมเศรษฐกิจโลก เมื่อดอกเบี้ยบ้านแพงสุดรอบ 15 ปี
ธนาคารประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำระหว่าง 0.15-0.825% ต่อปี สำหรับเงินฝากประจำ 24 เดือน และ 36 เดือน เพิ่มขึ้นสูงสุด 0.825% ต่อปี เป็น 1.20% ต่อปี เพื่อดูแลผู้ฝากเงินให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และส่งเสริมการออมในระยะยาว เพื่อเสริมสร้างเงินออมที่มีความมั่นคงในภาวะที่เศรษฐกิจยังเผชิญความท้าทายรอบด้าน
พร้อมคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้รายย่อย (MRR) โดยปรับขึ้นเฉพาะอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) 0.25% ต่อปี เป็น 5.50% ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทวงเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) 0.25% ต่อปี เป็น 6.07% ต่อปี มีผลตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป ซึ่งหลังการปรับขึ้นครั้งนี้ อัตราดอกเบี้ย MLR และ MOR ของธนาคารยังอยู่ในระดับต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่
“ธนาคารได้พิจารณาอย่างรอบคอบ โดยตรึงอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อสำหรับรายย่อย เนื่องจากคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่รายได้ยังไม่กลับมาปกติ ลูกค้ารายย่อย และผู้ประกอบการรายเล็ก ให้สามารถฟื้นตัวได้ในสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน” ผยงกล่าว